ลอกคราบเขื่อนปากมูล: "ความจริง 9 ประการที่ไม่ถูกเปิดเผย"
ตลอดทศวรรษของความขัดแย้งกรณีเขื่อนปากมูล ภาพของเขื่อนปากมูลถูกผูกขาดการอธิบายโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แห่งประเทศไทย(กฟผ.)มาโดยตลอด โดยเฉพาะจากการที่ กฟผ.ใช้ยุทธการประชาสัมพันธ์เชิงรุกด้วยการทุ่มเงินซื้อหน้า โฆษณา เพื่อสร้างภาพด้านเดียวของเขื่อนปากมูลจนกระทั่งความจริงของเขื่อนปากมูลบิดเบี้ยวไป โชคดีของสังคมไทยที่ใน ปี 2540 ธนาคารโลกซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนทุนให้กับการสร้างเขื่อนใหญ่ทั่วโลกรวมทั้งเขื่อนปากมูล ด้วยได้ตกลงกับองค์กร พัฒนา เอกชนตั้งคณะกรรมการเขื่อนโลก(WCD)เพื่อเป็นคณะกรรมการอิสระเพื่อประเมินเขื่อนทั่วโลก และคณะกรรมการ เขื่อนโลกก็ได้เลือกเขื่อนปากมูลเป็น 1 ใน 10 เขื่อนจากทั่วโลกเพื่อเป็นเขื่อนหลักในการประเมินทุกแง่มุม
บทความนี้เรียบเรียงจากผลสรุปการศึกษากรณีเขื่อนปากมูลของคณะกรรมการเขื่อนโลก(WCD) ซึ่งศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ ด้าน ต่าง ๆ โดยที่กระบวนการศึกษานี้ กฟผ. และธนาคารโลกได้เข้าร่วมในฐานะของผู้มีส่วนได้เสียเช่นเดียวกับชาวบ้าน นักวิชาการ และนักพัฒนาเอกชน รายงานนี้จึงเป็นรายงานที่ให้ภาพความเป็นกลางและเป็นจริงของเขื่อนปากมูลได้ดีที่สุด ในขณะนี้
ประเด็นสำคัญที่คณะกรรมการเขื่อนโลกศึกษาพบสามารถสรุปได้มีดังนี้
1.ต้นทุนโครงการ
ผลการศึกษาพบว่า ต้นทุนที่ได้ประเมินไว้ครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการตัดสินใจสร้างเขื่อนปากมูลและก่อนที่ธนาคารโลกจะ อนุมัติเงินกู้คือ 135 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งรวมเอา 11 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ สำหรับการลดผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวด ล้อม ด้วย ต้นทุนการก่อสร้างที่แท้จริงได้เพิ่มขึ้นเป็น 233 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ ซึ่งรวมเอา 32 ล้านเหรียญสหรัฐ ฯ สำหรับ การลดผลกระทบเข้าไปด้วย ต้นทุนที่แสดงทั้งหมดในปี 2537 ได้สมมติให้เพิ่มขึ้น 2 % ต่อปี ขณะที่ดอกเบี้ยระหว่างการ ก่อสร้างก็ ไม่ได้ถูกรวมเอาไว้ด้วย นั่นหมายความว่า ต้นทุนการก่อสร้างเขื่อนปากมูลได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 70% โดยที่ยังไม่รวมดอกเบี้ย ระหว่างการก่อสร้าง
2.การผลิตพลังงานไฟฟ้า
ผลการศึกษาพบว่า โรงไฟฟ้าขนาด 136 เมกะวัตต์ของเขื่อนปากมูลได้ออกแบบให้เป็นโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องในช่วงที่มีความ ต้องการสูงสุด(peaking plant) (หมายถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้สำหรับเดินเครื่องช่วง 4 ชั่วโมงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุดคือ ระหว่าง 18.00-22.00 น.) โดยใช้น้ำที่กักเก็บในอ่างสำหรับการเดินเครื่องในแต่ละวัน แต่ในความเป็นจริง ในฤดูฝนเขื่อน ปากมูลไม่สามารถเดินเครื่องได้ตลอดทั้ง 4 ชั่วโมงของช่วงที่มีความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงสุดและต้องผลิตไฟฟ้าในช่วง เวลาปกติเป็นประจำ
ผลการศึกษาได้ชี้ว่า ในบางช่วงเขื่อนปากมูลไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เลยเพราะ "เมื่อระดับน้ำในแม่น้ำโขง สูงขึ้นมากๆ โรงไฟฟ้าก็ต้องหยุดเดินเครื่อง เนื่องจากระดับน้ำเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนไม่แตกต่างกันจน ไม่สามารถปล่อยน้ำหมุน กังหันได้"
"ในเดือนเมษายนและพฤษภาคมซึ่งเป็นช่วงที่วิกฤตเนื่องจากความต้องการกระแสไฟฟ้าของระบบสูงสุดและปริมาณน้ำใน เขื่อนมีความเหมาะสม ปรากฏว่าเขื่อนปากมูลผลิตกระแสไฟฟ้าได้ไม่เกิน 5 จิกะวัตต์/ชั่วโมง หากให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิต ได้นี้เกิดขึ้นสม่ำเสมอตลอด 4 ชั่วโมงซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความต้องการกระแสไฟฟ้าสูงสุด(18.00-22.00 น.)และเทียบ กระแส ไฟฟ้าที่ได้นี้เป็นกำลังผลิตติดตั้งก็จะเท่ากับว่าเขื่อนปากมูลมีการเดินเครื่องประมาณ 40 เมกกะวัตต์เท่านั้น แน่นอนว่าเขื่อน ปากมูลอาจจะมีการเดินเครื่องมากกว่า 40 เมกกะวัตต์ได้ แต่ช่วงเวลาที่จะเดินเครื่องได้ก็จะสั้นลงไม่ถึง 4 ชั่วโมง กำลังผลิต 40 เมกกะวัตต์นี้เองที่ กฟผ.ได้อ้างว่าสามารถชดเชยกับการที่ไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซขนาด 150 เมกะวัตต์ ซึ่งค่าเปรียบเทียบนี้ก็ได้รับการอนุญาตให้ใช้จากธนาคารโลก ซึ่งเป็นที่ชัดเจนว่ามีการคาดการณ์ผลได้ไว้สูงเกิน จริงมาก"
ผลการศึกษายังชี้อีกว่า รายงานโครงการล่าสุดของ กฟผ. ที่ระบุว่า ไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงชั่วโมงปกติ(22.00 น-18.00 น.) สามารถทดแทนโรงไฟฟ้ากังหันก๊าซที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงประมาณ 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตติดตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิด เพราะโรง ไฟฟ้าสำรองสำหรับชั่วโมงปกติคือโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมที่ใช้น้ำมันและลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงเนื่องจากราคาเชื้อเพลิง ถูกกว่าน้ำมันมาก
นั่นหมายความว่า ยิ่งเดินเครื่องเขื่อนปากมูลเพื่อผลิตไฟฟ้ามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งขาดทุนมากขึ้นเท่านั้น
ในประเด็นนี้ ผลการศึกษาสรุปอย่างฟันธงว่า "ถ้าหากผลประโยชน์ที่แท้จริงนี้ถูกนำไปใช้ในการวิเคราะห์ทาง เศรษฐศาสตร์ เขื่อนปากมูลอาจจะไม่ถูกสร้างขึ้นมาก็ได้"
3.ผลประโยชน์ด้านชลประทาน
ผลการศึกษาชี้ว่า ชื่อของเขื่อนปากมูลที่เรียกว่าโครงการเอนกประสงค์นั้นเป็นการชี้นำที่ผิด เอกสารโครงการของ กฟผ.ได้ อ้างว่ามีพื้นที่ที่มีศักยภาพการชลประทาน 160,000 ไร่ โดยรายงานการศึกษาล่าสุดของ กฟผ.ได้อ้างว่าผลประโยชน์จาก การชลประทานของเขื่อนคิดเป็น 3 % แต่ในความเป็นจริงผลประโยชน์นี้มีค่าเท่ากับศูนย์ แม้แต่รายงานการประเมินของ เจ้าหน้าที่ของธนาคารโลกในปี 2534 ก็ไม่นับรวมผลประโยชน์ด้านชลประทานนี้เข้าวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ด้วย
4.ผลประโยชน์ด้านการประมง
ผลประโยชน์ด้านการประมงของเขื่อนปากมูลถูกวางไว้คิดเป็น 7% ของผลประโยชน์โครงการทั้งหมด อ่างเก็บน้ำ 60 ตารางกิโลเมตรถูกคาดหวังว่าจะให้ผลผลิตปลา 100 กิโลกรัม/แฮคแตร์(6.25 ไร่)/ปี ถ้าหากไม่มีการปล่อยพันธุ์ปลาลงไป และถ้าหากมีโครงการปล่อยพันธุ์ปลาจะให้ผลผลิตปลาเป็น 220 กิโลกรัม/แฮคแตร์/ปี แต่ผลการศึกษาของคณะกรรม การเขื่อนโลกพบว่า ผลผลิตปลาที่ได้จริง ๆ มีเพียง 10 กิโลกรัม/แฮคแตร์เท่านั้น นั่นหมายความว่า ผลประโยชน์ด้าน ประมงต่ำกว่าที่คาดไว้ถึง 22 เท่า
ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษายังพบว่า "การจับปลาที่ได้จริงจากอ่างของเขื่อนปากมูลและบริเวณตอนปลายของอ่างน้อยกว่าช่วง ก่อนการสร้างเขื่อน 60% และ 80% ตามลำดับ"
5.การอพยพชาวบ้าน
กฟผ.คาดไว้ว่าเขื่อนและอ่างเก็บน้ำจะส่งผลกระทบต่อชาวบ้าน 31 หมู่บ้าน จะได้รับผลกระทบโดยตรง 241 ครอบครัวใน 11 หมู่บ้าน แต่การศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกพบว่า ในความเป็นจริงมีชาวบ้านถึง 1,700 ครอบครัวที่สูญเสียบ้าน ที่ดิน หรือ ทั้งสองอย่าง ชาวบ้านเหล่านี้ยังได้เรียกร้องค่าชดเชยอันเนื่องมาจากการสูญเสียรายได้จากการประมงซึ่งไม่มีการ คาดการณ์ถึงผลกระทบของเขื่อนในเรื่องนี้มาก่อน
6.ผลกระทบต่อการลดลงของพันธุ์ปลา
การศึกษาพบว่า หลังจากการสร้างเขื่อน ความอุดมสมบูรณ์ของปลาและผลผลิตปลาลดลงอย่างน่าตกใจ รายได้ในครอบ ครัวชาวประมงลดลง ชาวประมงต้องเปลี่ยนอาชีพ รูปแบบการประมงปลี่ยนไป ค่าใช้จ่ายด้านอาหารของชาวบ้านเพิ่มขึ้น และก่อให้เกิดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองตามมา
"เขื่อนปากมูลส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำและความอุดมสมบูรณ์ของประชากรปลาทั้งเหนือ เขื่อนและใต้เขื่อน อ่างเก็บน้ำของเขื่อนปากมูลท่วมและทำลายแหล่งวางไข่ที่สำคัญของปลา ได้แก่ แก่งต่าง ๆ ปัจจุบัน เป็นที่ชัดเจนว่าบันไดปลาโจนไม่ได้ช่วยให้ปลาอพยพตามฤดูกาลจากแม่น้ำโขงเข้าสู่ลุ่มน้ำชี/มูลได้ เขื่อนปากมูลที่มี กำลังการผลิตติดตั้งเพียง 136 เมกกะวัตต์ได้ปิดตายระบบลุ่มน้ำที่มีขนาดถึง 117,000 ตารางกิโลเมตร"
"ถ้าหากปลาจะสามารถเดินทางผ่านเขื่อนไปได้ก็ในช่วงน้ำหลากเดือนสิงหาคมและกันยายนเนื่องจากบางครั้งได้มีการยก บานประตูเขื่อนขึ้น ขณะที่ในความเป็นจริงช่วงที่ปลาอพยพสูงสุดคือต้นฤดูฝนช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคม"
การศึกษายังระบุอีกว่า "จากพันธุ์ปลาในแม่น้ำมูลที่มีการบันทึกไว้ในปี 2537 จำนวน 265 ชนิดนั้น มีพันธุ์ปลา 77 ชนิดที่ เป็นปลาอพยพ ยิ่งไปกว่านั้นพันธุ์ปลา 35 ชนิดเป็นปลาที่อาศัยอยู่ตามแก่ง แต่ตอนนี้แก่งต่าง ๆ ได้จมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ เขื่อนปากมูล การสำรวจล่าสุดหลังการสร้างเขื่อนพบว่าเหนือเขื่อนมีปลาเพียง 96 ชนิด เป็นที่ชัดเจนว่ามีพันธุ์ปลาถึง 169 ชนิดที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล และมีพันธุ์ปลาถึง 56 ชนิดที่ไม่ปรากฏว่าจับได้อีกเลยภายหลังการสร้างเขื่อน"
ขณะเดียวกันก็ได้ชี้ว่า การปล่อยพันธุ์ปลาและกุ้งก้ามกรามของกรมประมงที่ กฟผ.หยิบมาโฆษณามาโดยตลอดว่าสำเร็จ นั้นล้มเหลว โดยผลการศึกษาระบุว่า "โครงการปากมูลได้จัดตั้งหน่วยอนุรักษ์และพัฒนาประมง ได้มีการปล่อยพันธุ์ปลาลง สม่ำเสมอรวมทั้งกุ้งก้ามกราม แต่กุ้งก้ามกรามวางไข่ในน้ำเค็มหลังจากนั้นก็อพยพมายังเขตน้ำจืด ดังนั้นกุ้งก้ามกรามจึง ไม่สามารถขยายพันธุ์ในอ่างเก็บน้ำได้และจำเป็นที่จะต้องปล่อยกุ้งสม่ำเสมอ ผลผลิตกุ้งในแต่ละปีระหว่างปี 2538-2541 อยู่ในช่วง 6-15 ตัน แต่ผลผลิตนี้รวมถึงกุ้งอื่นๆ ที่เติบโตตามธรรมชาติด้วย"
ผลการศึกษาได้ชี้ให้เห็นผลกระทบที่ตามมาว่าแรกสุด มีชาวบ้าน 241 ครอบครัวที่ถูกจัดว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการ สร้างเขื่อนและต้องจ่ายค่าชดเชย ผลกระทบของเขื่อนต่อการประมงได้เกิดขึ้นเต็มที่เมื่อเขื่อนสร้างใกล้เสร็จ รัฐบาลได้ตั้ง คณะกรรมการขึ้นมาหลายชุดเพื่อหาจำนวนชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียรายได้จากการประมง ผลสำรวจ ของคณะกรรมการทำให้ ในปี 2538 กฟผ.ต้องจ่ายค่าชดเชย 90,000 บาทต่อครอบครัวให้แก่ชาวประมง 3,955 ครอบครัว และในเดือนมีนาคม 2543 ได้มีการอนุมัติให้จ่ายค่าชดเชยเพิ่มให้ชาวประมงอีกกลุ่มหนึ่งจำนวน 2,200 ครอบครัว(คือกลุ่ม กำนันผู้ใหญ่บ้านที่ กฟผ.สนับสนุน) ครอบครัวละ 60,000 บาท ทุกวันนี้ชาวบ้านจำนวนมากที่อยู่เหนือเขื่อนก็ยังคงรอรับ ค่าชดเชยอาชีพประมง ต้นทุนที่ไม่คาดคิดของโครงการได้รวมถึงค่าชดเชยการสูญเสียอาชีพประมง(จนถึงเดือนมีนาคม ได้จ่ายไปแล้ว 488.5 ล้านบาท) ต้นทุนนี้ยังรวมถึงค่าใช้จ่ายในโครงการปล่อยพันธุ์ปลาและพันธุ์กุ้งด้วย
"รัฐบาลได้ยอมจ่ายค่าชดเชย 60,000-90,000 บาท ต่อครอบครัวซึ่งเป็นค่าชดเชยการสูญเสียรายได้จากการประมงในช่วง 3 ปีระหว่างการสร้างเขื่อน การแก้ปัญหาล่าสุดสำหรับการสูญเสียรายได้จากการประมงในระยะยาวเกิดจากผลของการเจรจา กันในปี 2538 วันที่ 25 มกราคม 2540 ชาวบ้านปากมูลได้ร่วมชุมนุมที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเป็นเวลา 99 วัน เรียกร้องให้ รัฐบาลจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมสำหรับการสูญเสียวิถีชีวิตชาวประมงอย่างถาวร ต่อมา ข้อตกลงที่ว่าจะมีการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งได้สัญญาไว้ในเดือนเมษายนปีเดียวกันก็ถูกยกเลิกหลังจากมีการเปลี่ยนรัฐบาลในปี 2541 ในเดือนมีนาคม 2542 ชาวบ้านประมาณ 5,000 ครอบครัวได้ยึดหัวงานเขื่อนปากมูลอย่างถาวรประท้วงให้มีการจ่ายค่าชดเชยจากรัฐบาลและ ธนาคารโลกซึ่งไม่ยอมรับว่ามีการสูญเสียอาชีพประมงอย่างถาวร"
7.ความเสื่อมโทรมของแก่งธรรมชาติ
ผลการศึกษาพบว่า การสร้างเขื่อนปากมูลทำให้แก่งธรรมชาติกว่า 50 แก่งจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำอย่างถาวร แก่งเหล่านี้เป็นที่รู้ กันว่าเป็นถิ่นอาศัยของปลากว่า 20 ชนิด เพราะไม่มีฐานข้อมูลก่อนการสร้างเขื่อนที่เพียงพอจึงไม่สามารถระบุมูลค่าทาง เศรษฐกิจได้ อย่างไรก็ตามการลดลงของประชากรปลาก็มีสาเหตุมาจากการสูญเสียแก่งเหล่านี้ การสูญเสียแก่งธรรมชาติยัง ได้ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบก็คือ การสูญเสียถิ่นที่อยู่ของพันธุ์สัตว์น้ำ การเกิดตะกอนทับถมแก่ง และการเกิดวัชพืช ตามแก่ง การสูญเสียความงดงามซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของแก่งธรรมชาติต่างๆ ความเสื่อมโทรมของคุณค่าทางสุนทรียภาพ สำหรับการท่องเที่ยว และการสูญเสียกิจกรรมทางสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมทางวัฒนธรรมซึ่งใช้แก่งธรรมชาติต่าง ๆ เป็นสถานที่ประกอบกิจกรรม
8.การสูญเสียพืชผักริมน้ำ ป่าธรรมชาติและป่าชุมชน
ผลการศึกษาพบว่า อย่างน้อยที่สุดมีพืชอาหาร 40 ชนิด ไผ่ 10 ชนิด และเห็ด 50 ชนิดที่ชาวบ้านหามาสำหรับการบริโภค ในครัวเรือนโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แม้รายได้นี้จะเล็กน้อยแต่ก็เป็นรายได้ประจำวันที่มีความยั่งยืน นอกจากนั้นยังพบ พันธุ์พืชสมุนไพรมากกว่า 100 ชนิดตามบริเวณใกล้กับแม่น้ำมูล
"การสูญเสียพืชเหล่านี้จากการที่ถูกน้ำท่วมนั่นหมายถึงการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และการสูญเสียความ มั่นคงทางด้านอาหารและอนามัยของชาวบ้านท้องถิ่น" ผลการศึกษาระบุ
9.เขื่อนปากมูล ใครได้-ใครเสีย?
ผลการศึกษาระบุว่า ประสบการณ์อย่างต่อเนื่องของชาวประมงคือการจับปลาได้น้อยลงนับตั้งแต่สร้างเขื่อนเสร็จ ขณะที่ รัฐบาลไทยถูกโจมตีจากผลกระทบด้านลบของเขื่อนต่อวิถีชีวิตชาวประมงที่เกิดขึ้นจริงและได้หาวิธีการต่าง ๆ ในการชดเชย
"การชดเชยที่เป็นเงินนั้น สำหรับชาวบ้านแล้ว รายได้แต่ละปีจากการประมงทั้งหมดในระยะยาวคิดเป็นเงินที่มากกว่าการ จ่ายค่าชดเชยในรูปเงินสดและหุ้นสหกรณ์ที่ชาวบ้านแต่ละครอบครัวได้รับจำนวน 90,000 บาท ขณะที่รัฐบาลไทยต้องแบก รับภาระจากการเรียกร้องค่าชดเชยอย่างต่อเนื่องจากการสูญเสียวิถีชีวิตชาวประมง"
การไฟฟ้าอาจสร้างภาพให้ชาวบ้านปากมูลว่าเป็นคนที่ "เรียกร้องไม่สิ้นสุด" "ได้คืบจะเอาศอก" "ได้รับค่าชดเชยอย่างเหลือ เฟือ" แต่ผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกกลับชี้ให้เห็นว่า ประวัติศาสตร์ของโครงการเขื่อนปากมูลไม่ได้เป็นประวัติ ศาสตร์ของการต่อสู้เพื่อให้มีการจ่ายค่าชดเชยที่เป็นธรรมจากการที่ชาวบ้านต้องถูกอพยพและสูญเสียรายได้จากการประมง แต่การต่อสู้ของชาวบ้านปากมูลก็เพื่อปกป้องวิถีชีวิต สภาพแวดล้อม และเพื่อการมีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการที่เข้ามา กระทบต่อชีวิตของพวกเขา การต่อสู้นี้ไม่ใช่แค่ระหว่างชาวปากมูลกับ กฟผ. เท่านั้น แต่ยังเป็นการต่อสู้กันระหว่างชาว บ้านที่ได้รับผลกระทบกับหน่วยงานรัฐ รวมถึง กฟผ.ซึ่งได้กล่าวไปแล้วและธนาคารโลกซึ่งเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้
"การที่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบมีทัศนะที่ลบนั้นไม่ได้เป็นเพราะต้องการการจ่ายค่าชดเชยอย่างเหลือเฟือและให้ฐานะดีขึ้น ตรงกันข้าม ปฏิกิริยานี้ก็เนื่องมาจากการที่ชาวบ้านถูกบังคับให้ไปอยู่ที่จุดของการไร้ซึ่งอำนาจซึ่งเสียงของพวกเขาไม่เป็นที่ ได้ยิน พวกเขาถูกปิดกั้นโอกาสที่จะแสดงทัศนะเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากมูล โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏว่ามีทัศนะที่ หลากหลายเกี่ยวกับข้อดีและผลกระทบด้านลบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่เกิดจากโครงการ พวกเขาถูกกีดกันออก จากการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ รวมไปถึงการระบุว่าใครบ้างที่จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นผู้ได้รับผลกระทบ สิ่งที่ มีการกล่าวกันว่ามีการจ่ายค่าชดเชยอย่างเหลือเฟือนั้นคือผลของการเรียกร้อง ประท้วง เดินขบวน และการเผชิญหน้า นั่นเอง"
ผลการศึกษาของคณะกรรมการเขื่อนโลกดังที่กล่าวมานี้แม้ว่าไม่ได้ผูกพันธ์กับรัฐบาลไทย แต่อย่างน้อยที่สุดการ ศึกษานี้ก็ได้ทำให้สังคมไทยมองเห็นภาพความจริงของเขื่อนปากมูลชัดมากขึ้น
หากสังคมไทยยอมรับความจริงและเป็นสังคมที่มีเหตุผลแล้ว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าทางออกที่ดีที่สุดในกรณีเขื่อน ปากมูลก็คือ การยกเลิกการใช้เขื่อน(decommissioning) โดยการหยุดการผลิตไฟฟ้าเพื่อมิให้ขาดทุนไปกว่านี้ และยกบานประตูเขื่อนเพื่อให้ปลาเดินทางจากแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่และให้ชาวบ้านในลุ่มน้ำชี/มูล 117,000 ตารางกิโลเมตร จับปลาดำรงชีวิตและเป็นรายได้ทางเศรษฐกิจของชุมชน แก่งธรรมชาติต่าง ๆ 50 แก่งที่จมอยู่ ใต้อ่างเก็บน้ำเขื่อนปากมูลก็จะโผล่ขึ้นมาสามารถฟื้นฟูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาตินำรายได้เข้าท้องถิ่น ภาคอีสาน และเข้าประเทศต่อไป