ลอยไปกับสายน้ำ: “เพ็ญเดือน ๖ ตามรอยธรรมในงานบวชน้ำ สร้างวังสงวน”

fas fa-pencil-alt
สุมาตร ภูลายยาว-โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
fas fa-calendar
2553

สียงไก่ขันสลับกับเสียงกลองจากวัดบนภูเขาดังกระชันถี่ขึ้น เหมือนเป็นสัญญาณบอกว่ายามเช้าใกล้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ในรอบหนึ่งเดือน เสียงกลองยามเช้าจากวัดจะดังอยู่ ๘ ครั้งต่อเดือน เพื่อเป็นสัญญาณบอกให้ชาวบ้านรู้ว่า ‘วันนี้วันพระ’

            เมื่อลองมาไล่เรียงตัวเลขบนปฏิทินก็รู้ว่า วันนี้เป็นวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ ในทางพุทธศาสนาแล้ว วันนี้ถือเป็นวันก่อเกิดสิ่งมหัศจรรย์ ๓ อย่างพร้อมกัน คือวันนี้เป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นปฐมบทแห่งศาสนาพุทธ

            ไก่ขันครั้งสุดท้ายล่วงเข้ามา หลายบ้านเริ่มตื่นขึ้นมาก่อไฟหนึ่งข้าว และทำอาหารเช้า พอพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้าได้ไม่นาน ทิวแถวของผู้คนในหมู่บ้านก็เดินตามกันขึ้นไปตามทางเดินอันไปสู่ลานวัด ในมือของแต่ละคนมีกระติ๊บข้าวเหนียว และอาหาร บางคนมีดอกไม้ และน้ำสำหรับนำไปกรวด เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปหาเจ้ากรรมนายเวรทั้งหลาย บนบ่าของแต่ละคนจะมีผ้าสไบขนาดกว้างประมาณ ๒ คืบพาดเฉียงเอาไว้ทั้งชายหญิง ใบหน้าของแต่ละคนอิ่มเอิบ ในทิวแถวของชาวบ้านที่เดินขึ้นไปบนวัด ใช่ว่าจะมีแต่คนในหมู่บ้านเท่านั้น ยังมีชาวบ้านจากหมู่บ้านอื่นๆ อยู่ในกลุ่มของชาวบ้านทั้งหมดด้วย

            ในความเป็นจริงแล้ว วัดแห่งนี้มีพระจำพรรษาอยู่เพียงรูปเดียว แต่วันนี้ถือเป็นกรณีพิเศษ พระในวัดจึงเพิ่มขึ้นมาอีก ๕ รูป ความพิเศษของวันนี้จะมีขึ้นหลังพระฉันภัตตาหารเช้าเสร็จสิ้น เพราะในตอนสายของวันนี้ ชาวบ้านจะได้ร่วมกันจัดงาน ‘บวชน้ำ สร้างวังสวงน’

            ‘บวชน้ำ’ เมื่อได้ฟังคำนี้ครั้งแรกความฉงนสนเท่ห์ก็ตามมา เพราะไม่เคยได้ยินมาสักครั้งเลยว่าแม่น้ำทั้งสายสามารถบวชได้เช่นเดียวกับคน แต่ความฉงนสนเท่ห์อยู่ได้ไม่นาน คำเฉลยเพื่อคลายความสงสัยก็เกิดขึ้น เมื่อแนวโฮมของหมู่บ้าน และนายบ้านได้นั่งถกเถียงกันเรื่องนี้

            “อาจารย์อยู่วัดเพิ่นเว้าว่า ท่าเฮาจะบวชน้ำนี่ เฮาต้องยกสิม (อุโสถ) ลงไปไว้ในน้ำ พระก็ต้องมี ๑๒ ตนขึ้นไป ท่าจั่งซั่นมันสิบวชบ่ได้” แนวโฮม (ผู้อาวุโสและเป็นที่เคารพนับถือของคนในหมู่บ้าน) ออกความเห็นพร้อมกับเล่าเรื่องที่พระอาจารย์ที่วัดฝากมาถามนายบ้าน

            “มันบ่มันบวชแนวนั้นหนา คือเอาเพิ่นมาสูดเจริญพระพุทธมนต์ เพราะท่าเฮาสิบวชแท้มันกะบ่ได้ แต่นี่เฮาเอาเพิ่นมาสูด และกะให้ศีลให้พร ท่าเอาอาจราย์มาสูดแล้วคนมันกะสิย้าน บ่กล้ามาเฮ็ดหยังกับบ่อนที่เฮาบวช” นายบ้าน (ผู้ใหญ่บ้าน) อธิบาย

            “ท่าจั่งซั่นกะฮู้แล้ว เดียวสิได้ขึ้นไปบอกพระอาจารย์เพิ่น”

            จากคำตอบที่ได้รับมาการ ‘บวชน้ำ’ ในความหมายของชาวบ้านแตกต่างจากการบวชเป็นพระในพุทธศาสนา เพราะการบวชน้ำไม่ต้องมีการเสพงัน ไม่มีการไปอยู่วัด เพื่อเป็นนาค ไม่มีไตรจีวร การบวชน้ำในความหมายของชาวบ้านคือ การร่วมกันอุปโลกน์พื้นที่แห่งใดแห่งหนึ่งในแม่น้ำให้เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ และพื้นที่แห่งความเคารพนับถือ ความเชื่อของคนทั้งหมู่บ้าน

            “ทำไมต้องบวชน้ำ?” ใครบางคนเอ่ยถามนายบ้าน หลังร่วมกันกินข้าวสามัคคีในตอนเย็นแล้วเสร็จ

            “เฮาต้องบวช พอบวชน้ำแล้ว ซาวบ้านเพิ่นสิเคารพนับถือ มันคือกับเฮาบวชคนให้เป็นพระ พอบวชเป็นพระแล้ว คนกะให้ความเคารพนับถือ”

            บางทีการเริ่มต้นจากจุดเล็กๆ ก็ก้าวไปสู่กฏเกณฑ์ใหญ่ๆ เช่นกันพื้นที่เล็กๆ แห่งนี้เมื่อมีการบวชแล้ว และชาวบ้านให้ความเคารพก็จะไม่มีผู้ใดจะเข้าไปทำอะไรไม่ดีในพื้นที่แห่งนั้น เพราะหากใครทำก็จะเป็นบาปติดตัวไป

            หลังชาวบ้านกลับลงมาจากวัด คนหนุ่มสาวของหมู่บ้านได้พากันมาขนของขึ้นใส่รถ ทั้งเก้าอี้ โต๊ะ ถ้วย จาน ชาม และหม้อแกง รถไถนาเดินตามดัดแปลงแบบนั่งขับส่งเสียงคำรามก้อง ก่อนที่คนขับจะหักพวงมาลัยพารถเลี้ยวออกสู่ถนนไปสู่บริเวณจัดงาน

            ก่อนที่คนหนุ่มสาวจะมาช่วยกันขนของ คนเฒ่า แนวโฮม เฒ่าจ้ำได้เดินทางออกไปบริเวณจัดงานล่วงหน้าแล้ว เพื่อบอกกล่าวให้เจ้าที่รับรู้ว่า วันนี้ชาวบ้านจะได้จัดงานขึ้นที่บริเวณแห่งนี้  เมื่อเฒ่าจ้ำจุดเทียนบอกกล่าวเจ้าที่เสร็จ เหล้าขาว หมากพูลก็ถูกนำมาวางไว้ข้างกัน

            ตะวันสายโด่งขึ้นมาแล้ว เสียงประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านออกเดินทางไปยังบริเวณพิธีดังแว่วมา สิ้นเสียงประกาศได้ไม่นาน ชาวบ้านก็ทยอยกันไปสู่บริเวณงาน หลายคนในหมู่บ้านได้รับมอบหมายหน้าที่แตกต่างกันออกไป กลุ่มสาวหนุ่มได้รับหน้าที่ดูแลแขกที่มาร่วมงาน กลุ่มปกส.บ้านมีหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อย ในมือปกส.บ้านจึงมีอาวุธอยู่ในมือดูน่าเกรงขาม ส่วนเฒ่าแก่ แนวโฮมได้รับหน้าที่ให้ดูแลพิธีกรรมทางศาสนา ส่วนรองนายบ้านคนที่ ๑ ได้รับหน้าที่เป็นพิธีกรดำเนินรายการตลอดงาน ดูเหมือนว่างานนี้จะเป็นงานแรกของรองนายบ้าน เพราะเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา แกเพิ่งเสร็จจากการอบรมวิธีการพูด และการเป็นพิธีกร

            สถานที่บวชน้ำห่างออกมาจากหมู่บ้านประมาณ ๓๐๐ เมตร ชาวบ้านเรียกว่า ‘วังคกห้วยก่อง –คก หมายถึง บริเวณที่เว้าเข้าไปในริมฝั่งแม่น้ำมีขนาดลึก และเป็นที่วางไข่ของปลา คกเป็นหนึ่งในระบบนิเวศของแม่น้ำโขง’ ที่มาที่ไปของชื่อคกแห่งนี้ นายบ้านบอกว่า ถามผู้เฒ่าผู้แก่ก็ไม่ค่อยรู้ แต่หลายคนบอกว่าเรียกตามที่คนไทยมาตั้งไว้ เพราะบริเวณแถบนี้เคยมีคนไทเลยมาอาศัยอยู่ก่อน

            พูดถึงการอพยพเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในบริเวณนี้ ใช่ว่าจะมีแต่คนไทยที่เข้ามาอยู่ก่อน หลังคนไทยกลุ่มแรกที่มาตั้งถิ่นฐานเคลื่อนย้ายกลับข้ามไปยังฝั่งขวาแม่น้ำโขงแล้ว ชาวบ้านปากส่วนจากบ้านปากเซือม แขวงหลวงพระบางก็อพยพเคลื่อนย้ายหนีภัยสงครามฝรั่งมาอยู่เป็นกลุ่มถัดมา ในช่วงเริ่มแรกของการตั้งหมู่บ้าน คนไม่มากมีบ้านเพียง ๖ หลัง ตั้งกระจายไปตามลำห้วยหาง จากนั้นก็มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น จนกลายมาเป็นหมู่บ้านที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการว่า บ้านห้วยหาง อยู่ในเขตปกครองของเมืองสังข์ทอง แขวงนครหลวงเวียงจัน หลังขึ้นตรงกับเขตการปกครองเมืองสังข์ทอง บ้านห้วยหางก็กลายเป็นหมู่บ้านสุดท้ายในเขตปกครองของเมืองสังข์ทองที่เชื่อมต่อกับเขตปกครองของเมืองสานคามไปโดยปริยาย ปัจจุบันบ้านห้วยหางมี ๘๘ หลังคาเรือนมีประชากร ๒๑๕ คน มีโรงเรียนที่สอนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ ๑ แห่ง มีวัด ๑ แห่ง และในวัดมีพระจำพรรษา ๑ รูป บ้านห้วยหางอยู่ตรงข้ามกับบ้านห้วยเหียม บ้านปากครอบ และบ้านคกเว้า ตำบลหาดคำภีร์ อำเภอปากชม จังหวัดเลยในทางฝั่งไทย

            เมื่อต่างหน้า (ตัวแทน) ของทางเจ้าเมือง (นายอำเภอ) เดินทางมาถึง พิธีการบวชน้ำจึงเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ เสียงพระสงฆ์สวดมนต์ดังขึ้นมาจากตลิ่งริมแม่น้ำสิ้นสุดลงเอาเมื่อพิธีเริ่มดำเนินไปได้ร่วม ๒ ชั่วโมง หลังเสร็จพิธี พระสงฆ์ ๑ รูป และเฒ่าแก่แนวโฮมอีก ๔-๕ คนก็เดินนำหน้าพระไปยังริมแม่น้ำ เพื่อปล่อยปลาดุกลงสู่แม่น้ำ เพื่อเป็นหมุดหมายแรกว่า การบวชน้ำ และสร้างวังสงวนได้ผ่านพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้นแล้ว

            ภายหลังเมื่อพิธีกรรมทางศาสนาเสร็จสิ้นลง รองนายบ้านก็ได้กล่าวแนะนำแขกที่มาร่วมงาน ซึ่งส่วนมากมาจากกลุ่มท้อนเงิน (กลุ่มออมทรัพย์) ภายใต้การนำพาของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิง สหพันธ์แม่ญิงลาวของหลายหมู่บ้านในเมืองสังข์ทอง รวมทั้งต่างหน้า (ตัวแทน) ของท่านเจ้าเมืองสังข์ทอง

            ผ้าแพรสีแดงคลุมป้ายขนาดใหญ่ค่อยๆ เลื่อนออกจากกัน เสียงลูกโป่งแตกดังขึ้น นิมิตรหมายแห่งพิธีการทางฆาราวาสก็ได้เริ่มขึ้นเช่นกัน บนป้ายไม้ดู่ขนาดใหญ่ที่ซ่อนอยู่หลังผ้าแพรสีแดง มีข้อความเขียนเอาไว้ว่า กฏระเบียบเขตวังสงวนคกห้วยก่อง

            ‘วังสวงน’ หมายถึงเขตอนุรักษ์พันธ์ปลาที่ชาวบ้านร่วมกันจัดตั้งขึ้น

            พีธีการต่างๆ ได้สิ้นสุดลงเมื่อเวลาล่วงเข้าไปเกือบเที่ยง ในที่สุดเวลาที่หลายคนรอคอยก็มาถึง เมื่อพาบายศรีถูกยกออกมาวาง และการบายศรีสู่ขัวญก็เริ่มขึ้น เมื่อการบายศรีสู่ขัวญจบลงวงข้าวสามัคคีจึงถูกจัดขึ้นพร้อมกับเสียงขับทุ่มหลวงพระบาง ด้วยสำเนียงคนหลวงพระบางดั้งเดิมที่คลอไปกับเสียงระนาด เสียงกลอง และเสียงซ้อ

            “ต่อไปมื้อหน้าแต่ละบ้านฮิมน้ำของอยู่เมืองสังข์ทองนี่ต้องมีวังสงวนทั้งเหมิด บ่ซั่นมื้อหน้าลูกหลานสิบ่มีปลากิน”

            เอื้อยจากกลุ่มท้อนเงินบางคนเอ่ยออกมา ขณะการเดินทางจากกันเพื่อไปสู่เป้าหมายต่อไปของแต่ละคนได้เริ่มต้นขึ้นในตอนบ่ายคล้อย...

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง