แม่น้ำโขงวันนี้มีค่าแค่ "เขื่อน" อินไซด์จากเวทีพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ เวียงจันทน์
เมื่อสัปดาห์ก่อนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) จัดงานประชุมเรื่องการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงสายหลัก ณ กรุงเวียงจันทน์ ผู้เข้าร่วม 200 คน เป็นตัวแทนจากรัฐบาล 4 ประเทศสมาชิก หน่วยงานภาครัฐ บริษัทเอกชน และแหล่งทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม เวทีที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า "เวทีปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียต่อการสร้างเขื่อน" แต่กลับไร้เงาผู้แทนชาวบ้านริมน้ำโขง
นับตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมา แม่น้ำโขงตอนล่างคึกคักไปด้วยบรรดานักสร้างเขื่อนที่พากันจับจองโครงการเขื่อนต่างๆ นับตั้งแต่ในลาว พรมแดนไทย-ลาว เรื่อยลงมาจนถึงกัมพูชา รวม 11 แห่ง แม้โครงการเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เขื่อนลุ่มน้ำโขงแทบทั้งหมดสหรัฐออกแบบไว้ครั้งสมัยสงครามเวียดนามและต้องล้มไปเมื่อสหรัฐพ่ายแพ้สงคราม แต่แนวโน้มขณะนี้คือมีการขับเคลื่อนด้วยภาคเอกชน บริษัทข้ามชาติโดยใช้วิธีเจรจาลงนามโดยตรงกับรัฐบาลเจ้าของพื้นที่เพื่อพัฒนาโครงการในรูปแบบทวิภาคี จากนั้นจึงสัมปทานก่อสร้างและขายไฟฟ้า
เวทีที่เวียงจันทน์นับเป็นการประกาศเดินหน้าสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักอย่างเป็นทางการ แม้จะไม่มีคำตอบให้แก้ประเด็นสำคัญที่ชะลอโครงการเหล่านี้ตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา คือ หายนะต่อพันธุ์ปลา ซึ่งรายงานของ MRC ในอดีตถึงกับระบุว่า "ต้องเลือกว่าจะรักษาพันธุ์ปลา หรือจะสร้างเขื่อน"
เป็นที่ทราบกันดีว่าพันธุ์ปลาในลุ่มน้ำโขงหลากหลายถึง 1,300 ชนิด การประมงมีมูลค่าถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นประมงน้ำจืดอันดับ 1 ของโลก โดย ดร.แพททริก ดูแกน นักวิชาการจาก World Fish Center กล่าวว่า เขื่อนทั้งหมดที่จะสร้างกั้นแม่น้ำโขงจะสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อพันธุ์ปลา นำมาสู่ความเดือดร้อนแก่ประชาชน 60 ล้านคน ที่พึ่งพาทรัพยากรปลาจากแม่น้ำโขง ซึ่งเฉลี่ยแล้วประชากรน้ำโขงตอนล่างได้รับสารอาหารจากปลาเฉลี่ยปีละ 29-39 กิโลกรัมต่อคน
จากการประชุมของคณะผู้เชี่ยวชาญปลาทั่วโลกต่อเรื่องเขื่อนน้ำโขง ดร.แพททริก รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญปลาเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันไม่มีเทคโนโลยีใดๆ ที่จะบรรเทาผลกระทบได้ เนื่องจากปลาในลุ่มน้ำโขงร้อยละ 70 เป็นปลาที่อพยพเพื่อขึ้นไปวางไข่ทางตอนบน เส้นทางอพยพนับตั้งแต่ปากน้ำ ทะเลสาบเขมร ขึ้นไปจนถึงพรมแดนไทย-ลาว ที่สามเหลี่ยมทองคำ จ.เชียงราย
"เขื่อนบนแม่น้ำโคโรราโด อเมริกา มีบันไดปลาโจนที่ช่วยปลาแซลมอนได้บ้าง แต่เป็นปลาเพียง 7 ชนิดซึ่งล้วนเป็นสายพันธุ์แซลมอน ปลาที่แข็งแรงที่สุด ผิดกับในแม่น้ำโขงที่มีปลาหลากหลาย แม้ผู้เชี่ยวชาญจะเลือกปลาเศรฐษกิจจากน้ำโขงเพียง 50 ชนิด แต่ปลาก็หลากหลาย มีรูปแบบการอพยพอ่อนไหวต่อระบบนิเวศ อุทกวิทยา และระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล หากจะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงจริง ในแต่ละเขื่อนจำเป็นต้องมีเครื่องมือหลายวิธี เช่น บันไดปลาโจน ทางปลาผ่านอ้อมตัวเขื่อน แต่ก็จะนำปลาผ่านไปได้สูงสุดเพียง 3 ล้านตัวต่อปี ซึ่งในสภาพธรรมชาติ มีปลาอพยพผ่านน้ำโขงในช่วงเข้มข้นถึง 3 ล้านตัว ต่อชั่วโมง"
สิ่งที่ยากยิ่งกว่าการนำปลาผ่านเขื่อนขึ้นไปวางไข่ คือ การพาปลาและลูกปลาผ่านเขื่อนกลับมายังน้ำโขงตอนล่าง แม้จะมีการออกแบบเครื่องปั่นไฟที่มีช่องให้ปลาขนาดกลางลอดผ่านกังหันลงมาได้ แต่เป็นเพียงทฤษฎี ยังไม่การทดลองใช้จริง คาดการณ์ว่าปลาที่รอดชีวิตผ่านกังหันปั่นไฟลงมาได้ก็อยู่ในอัตราน้อยมาก นักมีนวิทยาทั้งหมดได้ข้อสรุปว่า "หากเลือกสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง ก็ไม่มีปลาอีกแล้ว"
ส่วนประเด็นผลกระทบท้ายน้ำจากเขื่อนแม่น้ำโขงตอนบนในจีน เจ้าหน้าที่จากบริษัท ไฮโดรไชน่า นำเสนอว่าเขื่อนในจีนที่สร้างแล้วเสร็จ 3 แห่ง ไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนท้ายน้ำแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นเขื่อนขนาดเล็ก เจ้าหน้าที่ระบุว่า "แต่หากเขื่อนแม่น้ำโขงทั้งหมด 8 แห่ง ในจีนดำเนินการเต็มรูปแบบภายใน พ.ศ.2568 ก็จะส่งผลกระทบต่อปริมาณไหลของน้ำทางด้านท้ายน้ำบ้าง ปริมาณตะกอนจะน้อยลงเนื่องจากถูกกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำโดยเฉพาะเขื่อนใหญ่ 2 แห่ง คือ เขื่อนเสี่ยวหวาน (สูง 300 เมตร) และเขื่อนนั่วจาตู (สูง 254 เมตร) แต่เขื่อนจีนก็จะช่วยควบคุมปริมาณน้ำในฤดูแล้งให้มากขึ้น และช่วยป้องกันน้ำท่วมในฤดูฝน"
นับว่าเวทีที่เวียงจันทน์เป็นความสำเร็จของ MRC ที่สามารถรวบรวมตัวละครสำคัญซึ่งขับเคลื่อนเขื่อนบนแม่น้ำโขงมาได้ทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รัฐบาลในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง และกลุ่มบริษัทพลังงาน แต่น่าเสียดายที่เป็นเพียงการประชุมเสนอข้อมูลโครงการ ในขณะที่ต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ประชาชนในลุ่มน้ำต้องแบกรับ กลับไม่ได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง นอกจากนี้เหตุผลของการสร้างเขื่อนทั้ง 11 แห่งบนแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ สนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นสูงในภูมิภาค แต่กลับไม่มีรายงานชิ้นใดศึกษาความต้องการไฟฟ้าที่แท้จริงในของทั้ง 6 ประเทศในภูมิภาคว่าจะสูงจริงตามที่กล่าวอ้างหรือไม่
ในฐานะองค์กรจัดการลุ่มน้ำ MRC ควรใช้อำนาจในข้อตกลงแม่น้ำโขง ค.ศ.1995 ระงับโครงการทั้งหมดทันทีแล้วเร่งศึกษาความต้องการด้านพลังงาน ทางเลือกพลังงาน ผลกระทบระยะยาวทั้งลุ่มน้ำ และวางมาตรฐานของภูมิภาค มิเช่นนั้นแล้วมาตุธารแห่งอุษาคเนย์จะเป็นเพียงแหล่งผลประโยชน์ของธุรกิจพลังงานและบางรัฐบาลที่ไม่แยแสต่อประชาชนของตนเอง