เมื่อเขื่อนกั้นแม่โขง สรุปผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก
สายน้ำโขงที่ไหลยาวไกลจากต้นกำเนิดบนที่ราบสูงทิเบต หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตบนแผ่นดินสุวรรณภูมิลงไปจรดทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม วันนี้กำลังถูกคุกคามด้วยกระแสการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่มองสายน้ำอันเป็นสายเลือดของผู้คนกว่า ๑๐๐ ล้านคนตลอดลุ่มน้ำ เป็นเพียงแหล่งผลิตพลังงาน
แม่น้ำโขงตอนบนในเขตมณฑลยูนนานของจีนนั้นมีการสร้างเขื่อนไปแล้ว ๒ แห่ง และแผนที่จะสร้างทั้งหมด ๘ เขื่อน ส่วนทางลุ่มน้ำโขงตอนล่าง สายน้ำโขงยังคงไหลอย่างอิสระ แต่ก็คงเป็นแบบนี้ได้อีกไม่นานเมื่อแผนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ในฐานะของการพัฒนาและทุนนิยมที่เคยวางไว้โดยสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน กำลังถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ด้วยแรงผลักดันของกลุ่มธุรกิจพลังงานในภูมิภาค
โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่างของลุ่มน้ำ
ช่วงปีที่ผ่านมามีการดำเนินการอย่างเงียบๆ และรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในลาวและกัมพูชา ซึ่งโครงการเขื่อนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในขณะนี้ มีทั้งหมด ๖ แห่ง ประกอบด้วย
๑. เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว ขนาดกำลังการผลิต ๑,๓๕๐ เมกะวัตต์ มีการลงนามในเอ็มโอยู ระหว่างบริษัท ต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล พาวเวอร์ เจเนเรชั่น จำกัด หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากจีน กับรัฐบาลลาว เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๐ เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
๒. เขื่อนไซยะบุรี กั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยบุรี ขนาดกำลังการผลิต ๑,๒๖๐ เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยบริษัท ช.การช่าง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และมีแผนจะเริ่มก่อสร้างได้ราวต้นปี ๒๕๕๔ บริษัทยังได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา ๓๐ ปี โดยคาดว่าจะสามารถขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ในปี ๒๕๕๘
๓. เขื่อนปากลาย กั้นแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของแขวงไซยบุรีติดกับแขวงเวียงจันทน์ ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลสู่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงไม่กี่กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้มีขนาดกำลังการผลิต ๑,๓๒๐ เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ ๖๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีนที่ชื่อไซโนไฮโดร และไชนาเนชันแนลอิเล็กทรอนิกส์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ และจะได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา ๓๐ ปี ทั้งนี้ บริษัทไซโนไฮโดร คือ บริษัทเดียวกันกับที่ได้ลงนามเพื่อร่วมสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวินในพม่า
๔. เขื่อนบ้านกุ่ม ชายแดนไทย-ลาว บริเวณ ต.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ตรงข้ามกับแขวงจำปากศักดิ์ ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ว่าจ้างให้บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท มาโก้ คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
๕. เขื่อนดอนสะฮอง กั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง ในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของลาว ห่างจากชายแดนกัมพูชาเพียง ๑ กิโลเมตร มีขนาดกำลังผลิต ๒๔๐ เมกะวัตต์ โดยเมื่อปี ๒๕๔๙ รัฐบาลลาวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท เมกะเฟิรสท์คอร์ป ของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาโครงการซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการศึกษา โดยจะใช้เงินลงทุนราว ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท และวางแผนที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๓
๖. เขื่อนซำบอ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง ๓,๓๐๐ เมกะวัตต์ โดยบริษัท ไชนาเซาเทิร์นพาวเวอร์กริด บริษัทพลังงานจากจีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และให้บริษัทลูกทำการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการเพื่อนำเสนอรัฐบาลกัมพูชา
ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าเขื่อนซำบอจะพาดขวางกลางลำน้ำโขง ที่ซำบอ เหนือเมืองกระแจ๊ะ ตัวเขื่อนคอนกรีตจะมีความยาวมากกว่า ๑ กิโลเมตร มีบานประตูทั้งหมด ๔๔ บาน (เขื่อนปากมูลมีบานประตู ๘ บาน) พร้อมด้วยเขื่อนดินขนาบปิดกั้นลำน้ำทางฝั่งซ้ายและขวาอีกร่วม ๔ กิโลเมตร
ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของเขื่อนแห่งที่ ๗ คือ เขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขงชายแดนไทย-ลาว บริเวณอ.ปากชม จ.เลย ตรงข้ามกับแขวงเวียงจันทน์ ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ว่าจ้างให้บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งรายงานระบุว่า เขื่อนแห่งนี้มีกำลังผลิตติดตั้ง ๑,๔๘๒ เมกกะวัตต์
ข้อมูลจากพื้นที่ จ.เลย ระบุว่าเมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๐ ระบุว่าสถาบันการศึกษาท้องถิ่นแห่งหนึ่งได้รับว่าจ้างให้ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบทางสังคมในหมู่บ้านต่างๆ ในเขตอ.ปากชม โดยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการอย่างเป็นทางการ
อนึ่ง เขื่อนแห่งนี้เคยได้รับการผลักดันอย่างหนักในช่วง ๓๐ ปีก่อน แต่ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากกระแสการต่อต้านจากชาวบ้านในพื้นที่เนื่องจากโครงการในขณะนั้นจะต้องทำให้อพยพชาวบ้านจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน จนเป็นที่มาของหนังต้องห้ามเรื่อง “ทองปาน”
ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำโขงในเขตจีนได้ส่งผลกระทบท้ายน้ำข้ามพรมแดนลงมานับร้อยกิโลเมตรสู่ประเทศอื่นๆ ชุมชนริมโขงชายแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย สามารถยืนยันได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศของแม่น้ำและความผันผวนของระดับน้ำที่ถูกควบคุมโดยเขื่อน การลดจำนวนลงของปลาที่จับได้ ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำ
การพัฒนาเขื่อนถึง ๖-๗ แห่ง บนแม่น้ำโขงตอนล่างในลาว ชายแดนไทย-ลาว และกัมพูชา จะทำให้แม่น้ำโขงที่มีระบบนิเวศสลับซับซ้อน ประกอบกอบด้วยระบบนิเวศย่อย เช่น วังน้ำ เกาะแก่ง สันดอน อันเอื้อต่อการดำรงอยู่ของพันธุ์ปลา และวิถีชีวิตชุมชน ต้องกลายเป็นเพียงอ่างเก็บน้ำนิ่งๆ
ความเปลี่ยนแปลงทางระบบนิเวศที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบมหาศาลกว่า ๖๐ ล้านชีวิตในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง นับตั้งแต่ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม
ผลกระทบต่อพันธุ์ปลาและการประมง
คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า ลุ่มน้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นรองแต่เพียงลุ่มน้ำอะเมซอนเท่านั้น พันธุ์ปลากว่า ๑,๓๐๐ ชนิด ในลุ่มน้ำแห่งนี้ทำให้การประมงมีมูลค่าสูงถึง ๗๐,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี และลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นจัดว่าเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่ชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงโลมาอิรวดี โลมาน้ำจืดซึ่งมีสถานะใกล้สูญพันธุ์
ในลาว World Fish Center ระบุว่า มูลค่าของการประมงจากการจับปลาในธรรมชาติ มีสัดส่วนราวร้อยละ ๖-๘ ของรายได้มวลรวมประชาชาติ และครัวเรือนทางตอนใต้ของลาวอย่างน้อยร้อยละ ๘๐ มีรายได้จากทรัพยากรแม่น้ำ
เขื่อนดอนสะฮอง ซึ่งจะสร้างกั้น 'ฮูสะฮอง' ซึ่งเป็นช่องหนึ่งของแม่น้ำโขงในบริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง จะสร้างผลกระทบมหาศาลต่อพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง World Fish Center ระบุว่า ฮูสะฮองซึ่งเป็นช่องลึก มีความลาดเอียง และยาวถึง ๗ กิโลเมตร เป็นช่องทางสำคัญที่ปลาสามารถอพยพผ่านน้ำตกไปยังตอนบนของแม่น้ำได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากช่องน้ำอื่นๆ เป็นน้ำตกสูงชันที่ปลาส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านไปได้ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าความหนาแน่นของปริมาณปลาที่อพยพนั้นมีสูงมาก โดยบางจุดมีปลาอพยพผ่านสูงถึง ๓๐ ตันต่อชั่วโมง
ปลาจากลุ่มน้ำตอนล่างเหล่านี้จะเดินทางไกลไปวางไข่และอาศัยอยู่ตามเกาะแก่งและวังน้ำทางตอนบนของน้ำโขง รวมถึงน้ำสาขาน้อยใหญ่อีกนับร้อยสาย
ในส่วนของประเทศไทย ปลาในลำน้ำสาขาของแม่โขงทั้งในภาคเหนือและอีสาน เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำมูน/ชี และแม่น้ำสงคราม มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับแม่น้ำโขงสายหลัก
งานวิจัยไทบ้านที่ปากมูล ซึ่งพบว่า ในจำนวนพันธุ์ปลาธรรมชาติ ๑๒๙ ชนิด ที่กลับสู่แม่น้ำมูลเมื่อเปิดเขื่อนปากมูลในปี ๒๕๔๕ เป็นพันธุ์ปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขงถึง ๑๐๔ ชนิด เช่นเดียวกับงานวิจัยไทบ้านที่น้ำสงครามซึ่งระบุว่าพันธุ์ปลาธรรมชาติ ๑๑๖ ชนิดนั้นเป็นปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงถึง ๕๘ ชนิด
การอพยพประชาชนจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ
ข้อมูลที่มีชี้ให้เห็นว่าเขื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนอย่างน้อย ๑๗,๓๐๐ คน ถึง ๗๕,๐๐๐ คน ที่จะต้องถูกย้ายจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จำนวนประชากรดังกล่าวยังไม่เป็นที่ชัดเจน ข้อมูลจากรายงานฉบับต่างๆ ที่เคยศึกษามา แตกต่างกันไป ดังนี้
เขื่อนปากแบ่ง ๑,๖๕๗ คน
เขื่อนไซยะบุรี ๑,๒๘๒ หรือ ๑,๗๒๐ คน
เขื่อนปากลาย ๑๑,๒๕๗ หรือ ๑๑,๗๘๐ คน
เขื่อนผามอง ๒,๑๔๖ หรือ ๒๓,๒๖๐ หรือ ๕๒,๐๐๐ คน
เขื่อนบ้านกุ่ม ๙๘๗ หรือ ๒,๕๗๐ คน
เขื่อนดอนสะฮอง ๑๔ ครัวเรือน
เขื่อนซำบอ ๔๙๔ หรือ ๕,๑๒๐ คน
วันนี้ แม่น้ำโขงกำลังไม่ใช่สายน้ำนานาชาติของสุวรรณภูมิอีกต่อไป เพราะกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่ พากันตีตั๋วจับจองจุดต่างๆ จากรัฐบาลประเทศแม่น้ำโขง เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยละเลยวิถีชีวิตชุมชนที่พึ่งพาสายน้ำโขงดังสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตตลอดมา
เชิงอรรถ
1 โครงการศึกษาศักยภาพการก่อสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบขั้นบันไดในแม่น้ำโขง, เสนอโดยบริษัทบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท มหานคร คอนซัลแตนท์
2 CNMC and World Fish Center, Infrastructure and Tonle Sap Fisheries: How to balance infrastructure development and fisheries livelihoods? The Challenge facing decision-makers in Cambodia
3 World Fish Center, The Don Sahong Dam and Mekong Fisheries, June 2007
4 Mekong Mainstream Run-of-River Hydropower, Mekong Secretariat Study Team,1994