เมื่อคนจนจากเขื่อนปากมูล…ถวงถามรัฐบาลอีกครั้ง...อีกแล้ว

fas fa-pencil-alt
กนกวรรณ มะโนรมย์-คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
fas fa-calendar
23 มกราคม 2556

การยกขบวนคนจนไปถวงถามรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลให้ยั่งยืนที่กำลังเกิดขึ้นในวันที่ 23 มกราคม 2556 นี้ ไม่ใช่ครั้งแรกแน่นนอน หากแต่เกิดขึ้นมานานนับๆสิบปี ผ่านรัฐบาลมาหลายยุคหลายสมัยจนกลายมหากาพย์เป็นที่รับรู้กันทั่วโลก

                สิ่งที่คนจนตั้งคำถามมาตลอดเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาของพวกเขานั้นคือ เขื่อนไม่ได้สร้างประโยชน์ อย่างเอนกอนันต์ตามที่คาดไว้ แต่กลับสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศและวิถีประมงพื้นบ้านที่เป็นเศรษฐกิจหลักของคนในพื้นที่แล้วจะใช้เขื่อนไปทำไม? ทางออกของปัญหาที่คนจนเรียกร้องคือให้มีการหยุดใช้เขื่อนและชดเชยความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครัวเรือนที่เคยหาปลาขายก่อนมีเขื่อน

                ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและงานศึกษาสำคัญจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น คณะกรรมการเขื่อนโลก และอื่นๆได้ข้อสรุปทางวิชาการที่สอดคล้องกันคือเขื่อนได้ทำลายสภาพนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนลงอย่างชัดเจนและการผลิตไฟฟ้าไม่เป็นไปตามเป้าหมาย

                รัฐบาลทักษิณได้แก้ไขปัญหาโดยให้เปิดประตูเขื่อนปากมูลอันเป็นผลมาจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แต่ให้เปิดเพียง 4 เดือนต่อปีโดยเลือกให้เปิดช่วงฤดูฝนที่มีปริมาณน้ำมากซึ่งโดยปกติชาวบ้านก็หาปลาได้น้อยกว่าช่วงฤดูแล้ง และข้อมูลจากชลประทานพบว่าการเก็บน้ำเพื่อชลประทานหน้าแล้งนั้นก็พบว่าใช้ประโยชน์น้อยกว่าร้อยละ 20 ของพื้นที่ชลประทานในฤดูแล้ง ซึ่งการศึกษาของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีพบว่าสาเหตุมากจากเกษตรกรมีต้นทุนสูง สภาพดินไม่ดี และขาดแรงงาน ส่วนการผลิตไฟฟ้านั้นพบว่าไม่เป็นไปตามแผนการณ์ที่คาดไว้ (ข้อมูลจากคณะกรรมาธิการเขื่อนโลก)

                การทวงถามของคนจนต่อรัฐไม่ว่ารัฐชุดใดนั้นไม่ใช่เป็นลักษณะการลุกขึ้นมาทวงถามแบบ ‘ได้ไม่รู้จักพอ’ดังที่คนจำนวนหนึ่งก่นว่าพวกเขาที่ปรากฎตามสื่อต่างๆหรือคนบางกลุ่มได้สร้างวลีนี้มาประทับตราให้พวกเขา แต่การทวงถามของพวกเขามาจากหลักการพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคือต้องการความเป็นธรรม การมีธรรมาภิบาลในการจัดการทรัพยากรน้ำ และต้องการพัฒนาและจัดการทรัพยากรอย่างโปร่งใสและเหมาะสม ต่างหาก
                ที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ปัญหาให้ชาวบ้านปากมูลสามอย่าง อย่างแรก การชดเชยน้ำท่วมบ้านและที่ทำกิน (บางครอบครัว) อย่างที่สอง ชดเชยการเสียอาชีพประมงแก่ชาวบ้านเพียง 3 ปีเท่านั้น (ระหว่างการก่อสร้างเขื่อน โดยให้ครอบครัวละ 60,000 บาท ซึ่งจ่ายเงินสด 30,000 บาท และเข้าสู่สหกรณ์ปากมูล 30,000 บาท) และอย่างที่สามคือการเปิดประตูเขื่อนปากมูล 4 เดือนดังที่กล่าวมาข้างต้น

                การดำเนินการสามอย่างข้างต้นของรัฐบาล ถามว่าพอเพียง ยุติธรรม มีธรรมาภิบาลและเป็นไปตามหลักวิชาการหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าไม่เป็นไปตามนั้นอย่างที่ควรจะเป็น ผู้เขียนขอเสนอว่าการแก้ปัญหาเรื่องเขื่อนปากมูลนั้นต้องยึดหลักวิชาการและธรรมาภิบาลการจัดการน้ำ ซึ่งสอดคล้องกับคณะกรรมการที่อดีตนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ตั้งขึ้นที่ได้เสนอให้กับรัฐบาลนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีคือ การเปิดประตูเขื่อน ชดเชยการสูญเสียอาชีพประมงของชาวบ้านตามความเหมาะสม ฟี้นฟูระบบนิเวศ พัฒนาสายส่งไฟฟ้าในภาคอีสาน ตลอดจนการจัดเตรียมการจัดหาน้ำเพื่อฤดูแล้ง ซึ่งมีวิธีการมากมายในการเก็บน้ำในลำน้ำมูลและเพิ่มพื้นที่การเก็บน้ำรวมทั้งการพัฒนาในพื้นที่แบบมีส่วนร่วม 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง