เมื่อแม่น้ำโขงถูกทึ้ง สารพัดเขื่อนรุมจับจอง

fas fa-pencil-alt
มติชน
fas fa-calendar
26 สิงหาคม 2550

สายน้ำโขงที่ไหลยาวไกลจากต้นกำเนิดบนที่ราบสูงทิเบต หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตบนแผ่นดินสุวรรณภูมิลงไปจรดทะเลจีนใต้ที่เวียดนาม วันนี้กำลังถูกคุกคามด้วยกระแสการพัฒนาที่มองสายน้ำเป็นเพียงแหล่งน้ำเพื่อผลิตพลังงาน

แม่น้ำโขงตอนบนในเขตมณฑลยูนนานของจีนนั้นมีการสร้างเขื่อนไปแล้ว 2 แห่ง และแผนที่จะสร้างทั้งหมด 8 เขื่อน ส่วนทางลุ่มน้ำโขงตอนล่าง สายน้ำโขงยังคงไหลอย่างอิสระ แต่ก็คงเป็นแบบนี้ได้อีกไม่นานเมื่อแผนสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขง ในฐานะของการพัฒนาและทุนนิยมที่เคยวางไว้โดยสหรัฐอเมริกาตั้งแต่สมัยสงครามอินโดจีน กำลังถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง ด้วยแรงผลักดันของกลุ่มธุรกิจพลังงานในภูมิภาค

โครงการเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักทางตอนล่างของลุ่มน้ำ มีการดำเนินการอย่างเงียบๆ และรุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในลาวและกัมพูชา ซึ่งโครงการเขื่อนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในขณะนี้ มีทั้งหมด 4 แห่ง ประกอบด้วย

1.เขื่อนไซยบุรี กั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยบุรี ขนาดกำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยบริษัท ช.การช่าง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และมีแผนจะเริ่มก่อสร้างได้ราวต้นปี 2554 บริษัทยังได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา 30 ปี โดยคาดว่าจะสามารถขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ในปี 2558

2.เขื่อนปากลาย กั้นแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของแขวงไซยบุรีติดกับแขวงเวียงจันทน์ ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลสู่ อ.เชียงคาน จ.เลย เพียงไม่กี่กิโลเมตร เขื่อนแห่งนี้มีขนาดกำลังการผลิต 1,320 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยบริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของจีนที่ชื่อไซโนไฮโดร และไชนาเนชันแนลอิเล็กทรอนิกส์ ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ และจะได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา 30 ปี ทั้งนี้ บริษัทไซโนไฮโดร คือ บริษัทเดียวกันกับที่ได้ลงนามเพื่อร่วมสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวินในพม่า

3.เขื่อนดอนสะฮอง กั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง ในเขตเมืองโขง แขวงจำปาสัก ทางตอนใต้ของลาว ห่างจากชายแดนกัมพูชาเพียง 1 กิโลเมตร มีขนาดกำลังผลิต 240 เมกะวัตต์ โดยเมื่อปี 2549 รัฐบาลลาวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับบริษัท เมกะเฟิรสท์คอร์ป ของมาเลเซีย เพื่อพัฒนาโครงการซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างทำการศึกษา โดยจะใช้เงินลงทุนราว 10,000 ล้านบาท และวางแผนที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2553

4.เขื่อนสามบอ ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 3,300 เมกะวัตต์ โดยบริษัท ไชนาเซาเทิร์นพาวเวอร์กริด บริษัทพลังงานจากจีนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และให้บริษัทลูกทำการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการเพื่อนำเสนอรัฐบาลกัมพูชา ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่าเขื่อนสามบอจะพาดขวางกลางลำน้ำโขงที่เมืองกระแจะ ตัวเขื่อนคอนกรีตจะมีความยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร มีบานประตูทั้งหมด 44 บาน (เขื่อนปากมูลมีบานประตู 8 บาน) พร้อมด้วยเขื่อนดินขนาบปิดกั้นลำน้ำทางฝั่งซ้ายและขวาอีกร่วม 4 กิโลเมตร

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การสร้างเขื่อนตอนบนของแม่น้ำโขงในเขตจีนได้ส่งผลกระทบท้ายน้ำข้ามพรมแดนลงมานับร้อยกิโลเมตรสู่ประเทศอื่นๆ ชุมชนริมโขงชายแดนไทย-ลาว ที่ จ.เชียงราย สามารถยืนยันได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศของแม่น้ำและระดับน้ำที่ถูกควบคุมโดยเขื่อน การลดจำนวนลงของปลา ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านที่พึ่งพาทรัพยากรจากแม่น้ำ

การพัฒนาเขื่อนถึง 4 แห่ง บนแม่น้ำโขงตอนล่างในลาวและกัมพูชา จึงสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะส่งผลกระทบมหาศาลกว่า 60 ล้านชีวิตในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง นับตั้งแต่ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงระบุว่า ลุ่มน้ำโขงมีความอุดมสมบูรณ์เป็นรองแต่เพียงลุ่มน้ำอะเมซอนเท่านั้น พันธุ์ปลากว่า 1,300 ชนิด ในลุ่มน้ำแห่งนี้ทำให้การประมงมีมูลค่าสูงถึง 70,000 ล้านบาทต่อปี และลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้นจัดว่าเป็นแหล่งปลาน้ำจืดที่ชุกชุมที่สุดแห่งหนึ่งของโลก รวมถึงโลมาอิรวดี โลมาน้ำจืด

ในลาว World Fish Center ระบุว่า มูลค่าของการประมงจากการจับปลาในธรรมชาติ มีสัดส่วนราวร้อยละ 6-8 ของรายได้มวลรวมประชาชาติ และครัวเรือนทางตอนใต้ของลาวอย่างน้อยร้อยละ 80 มีรายได้จากทรัพยากรแม่น้ำ

เขื่อนดอนสะฮอง ซึ่งจะสร้างกั้น 'ฮูสะฮอง' ซึ่งเป็นช่องหนึ่งของแม่น้ำโขงในบริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง จะสร้างผลกระทบมหาศาลต่อพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขง World Fish Center ระบุว่า ฮูสะฮองซึ่งเป็นช่องลึก มีความลาดเอียง และยาวถึง 7 กิโลเมตร เป็นช่องทางสำคัญที่ปลาสามารถอพยพผ่านน้ำตกไปยังตอนบนของแม่น้ำได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากช่องน้ำอื่นๆ เป็นน้ำตกสูงชันที่ปลาส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านไปได้ ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าความหนาแน่นของปริมาณปลาที่อพยพนั้นมีสูงมาก โดยบางจุดมีปลาอพยพผ่านสูงถึง 30 ตันต่อชั่วโมง

ปลาจากลุ่มน้ำตอนล่างเหล่านี้จะเดินทางไกลไปวางไข่และอาศัยอยู่ตามเกาะแก่งและวังน้ำทางตอนบนของน้ำโขง รวมถึงน้ำสาขาน้อยใหญ่อีกนับร้อยสาย

ในส่วนของประเทศไทย ปลาในลำน้ำสาขาของแม่โขงทั้งในภาคเหนือและอีสาน เช่น แม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำมูล/ชี และแม่น้ำสงคราม มีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับแม่น้ำโขงสายหลัก งานวิจัยไทบ้านที่ปากมูลพบว่า ในจำนวนพันธุ์ปลาธรรมชาติ 129 ชนิด ที่กลับสู่แม่น้ำมูลเมื่อเปิดเขื่อนปากมูลในปี 2545 เป็นพันธุ์ปลาที่อพยพมาจากแม่น้ำโขงถึง 104 ชนิด เช่นเดียวกับงานวิจัยไทบ้านที่น้ำสงครามซึ่งระบุว่าพันธุ์ปลาธรรมชาติ 116 ชนิดนั้นเป็นปลาที่อพยพจากแม่น้ำโขงถึง 58 ชนิด

วันนี้ แม่น้ำโขงกำลังไม่ใช่สายน้ำนานาชาติของสุวรรณภูมิอีกต่อไป เพราะกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่พากันตีตั๋วจับจองจุดต่างๆ เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ โดยละเลยวิถีชีวิตชุมชนที่พึ่งพาสายน้ำโขงดังสายเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตตลอดมา

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง