เมื่อธรรมชาติทวงคืน แบบเรียนจากสะเอียบ สู่บทเรียนที่ลับแล

fas fa-pencil-alt
ภาสกร จำลองราช - มติชน
fas fa-calendar
4 มิถุนายน 2549

เสียงฟ้าคำรามอยู่เป็นระยะๆ แม้วันนี้ฝนไม่ตก แต่บรรยากาศตกอยู่ในสภาพครึ้มฟ้าครึ้มฝน เลยทำให้ชาวบ้านอดหวั่นใจไม่ได้ หากฝนเทลงมาภายในวันสองวันนี่ คงทำให้การต้อนรับแขกต่างถิ่นที่มาร่วมงานต้องพลอยทุลักทุเลไปด้วย 


 ห่างจากพื้นที่เกิดเหตุน้ำท่วมและโคลนถล่มใน อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ไปไม่เท่าไหร่ ชุมชนบ้านสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้จัดงาน "รายงานผลงานวิจัยจาวบ้าน" เรื่อง "แม่น้ำยม ป่าสักทอง... วิถีของคนสะเอียบ" 


 "พวกเราต่อสู้มานับสิบปี จนบางครั้งคนสะเอียบถูกมองว่าก้าวร้าว เพราะเขาไม่เข้าใจถึงสิ่งที่เราได้ปกป้องผืนป่าสักทอง แต่ตอนนี้พิสูจน์ชัดได้แล้วว่าแนวทางที่พวกเรายึดถือมาเป็นสิ่งที่ถูกต้อง" เสียงประกาศก้องนายวาด เทือกฉิมพลี ตัวแทนชาวสะเอียบ ซึ่งผู้ร่วมงานทุกคนต่างเห็นด้วยกับเขา ยิ่งในยามที่ธรรมชาติกำลังทวงคืน หลังจากถูกมนุษย์รุกรานมานาน ทำให้เห็นภาพชัดเจนของการเลือกในการปฏิบัติต่อธรรมชาติ 


"ผมเชื่อว่าบ้านเราจะไม่เกิดโคลนหรือท่อนซุงถล่มเด็ดขาด เพราะพวกเราช่วยกันอนุรักษ์ต้นไม้และปลูกป่าเพิ่ม ต้นไม้ไม่ใช่แค่ให้ความร่มเย็นเท่านั้น ใบไม้ยังช่วยทำให้เม็ดฝนแตกกระจายก่อนตกลงดิน มันช่วยลดความรุนแรงลงได้" 


 นานหลายปีแล้วที่ชาวสะเอียบตกเป็นจำเลยเพราะขัดขวางโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งมักถูกอ้างอิงอยู่บนเหตุผลน้ำท่วมและฝนแล้ง แต่ชาวบ้านเชื่อว่าการลุกขึ้นมาปกป้องผืนป่าเท่านั้นที่จะช่วยได้ โดยเฉพาะป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศที่มีอยู่เกือบ 3 หมื่นไร่ 


 ในอดีตหลังจากรัฐบาลประกาศยกเลิกสัมปทานป่าไม้ทั่วประเทศแล้ว แต่ไม้สักในป่าแม่ยมยังคงถูกนายทุนทรงอิทธิพลตัดและขนย้ายออกมาวันละหลายคันรถสิบล้อ โดยเจ้าหน้าที่พิทักษ์กฎหมายได้แต่มองตาปริบๆ 


 "พวกเราคิดว่า หากปล่อยไปเช่นนี้หมดแน่ เลยประสานไปยังทหารให้ช่วยมาตั้งด่าน โดยชาวบ้านผลัดเวรกันไปร่วมดูแล" นายวาดเล่าถึงที่มาของการก่อตั้งกลุ่มราษฎรรักษาป่า ซึ่งเริ่มจากชาวบ้านใน 2 หมู่บ้าน "ตอนนั้นคิดเพียงว่า ทำอย่างไรไม่ให้เขาเอาไม้ออกจากป่าไปได้อีก" 


 แต่กระแสการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นกั้นลำน้ำยม ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมผืนป่าสักทองทั้งหมด ได้ดังปะทุขึ้นเป็นระยะๆ ทำให้เกิดการเผชิญหน้าขึ้นระหว่างชาวสะเอียบและทางการอยู่หลายคราว แรกทีเดียวสายตาของคนภายนอกก็ไม่เข้าใจถึงเหตุผลการคัดค้านของชาวบ้าน 


 "ตอนนั้นเคยมีฝรั่งจากธนาคารโลกเข้ามาสำรวจ แต่เขาพูดอะไรเราฟังไม่รู้เรื่อง และห้ามเขาเข้ามาเก็บข้อมูล แต่เขาฝ่าฝืน พวกเราเลยเอาก้อนหินขว้างปารถเขา จนเขาหยุดไป แต่ข่าวที่ออกมากลายเป็นว่าคนสะเอียบป่าเถื่อน ทำให้เสียภาพพจน์มาก แต่เราไม่มีทางเลือก มันเสียดแทงใจชาวบ้านมาก เพราะเราพยายามปกป้องป่า" 


 ชาวสะเอียบได้เผชิญกับสถานการณ์ท้าทายในหลายลักษณะ ขณะเดียวกันพวกเขาก็ได้เรียนรู้กระบวนการต่อสู้ต่างๆ ร่วมกัน โชคดีที่ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเครือญาติกันหมด จึงสามารถพัฒนาชุมชนจนเข้มแข็ง มีการตั้งกฎระเบียบของหมู่บ้าน 


"กฎหมายบ้านเมืองมันล้าสมัย มีช่องโหว่อยู่มาก พวกคนต่างถิ่นยังรับจ้างนายทุนลักลอบตัดไม้อยู่เรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีใครมาจับ เราเลยต้องดูแลกันเอง" นายวาดและชาวสะเอียบช่วยกันเป็นหูเห็นตาปกป้องผืนป่า แต่นายทุนเปลี่ยนแปลงวิธีการโดยมาซื้อไม้จากบ้าน 

บ้านแทบทุกหลังในสะเอียบสร้างจากไม้สัก บางหลังมีเสาขนาดใหญ่ บางหลังใช้ฝากระดานแผ่นโตและหนา เนื่องจากในอดีตทรัพยากรท้องถิ่นที่สมบูรณ์ที่สุดคือป่าสัก เพราะฉะนั้นแต่ละบ้านจึงใช้ทรัพยากรที่มีอย่างคุ้มค่า แต่ระยะหลังเมื่อป่าถูกปิดทำให้นายทุนพยายามใช้วิธีซิกแซ็กโดยซื้อไม้เก่าจากบ้านแทน 

"เราเลยออกกฎห้ามใครเอาไม้ออกจากหมู่บ้าน ถ้าซื้อขายและปลูกบ้านกันอยู่แถวนี้ได้" เขาเล่าถึงกฎชุมชนที่พัฒนาอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ทันกับสถานการณ์"

"เมื่อปีที่แล้วมีข้าราชการต่างถิ่นคู่หนึ่งซึ่งเป็นสามี-ภรรยากัน เข้ามาอยู่ และซื้อไม้เก่าปลูกบ้าน พวกเขาอยู่ไม่เท่าไหร่ก็ขอย้ายไปที่อื่น พร้อมกับลื้อบ้านเตรียมขนไม้ไปด้วย แต่พวกเราไม่ยอม เพราะฝ่าฝืนกฎที่ชาวบ้านตั้งไว้ พวกเขาพยายามอ้างกฎหมายของประเทศ แต่เราก็ไม่ยอม ในที่สุดพวกเขาก็เอาไปไม่ได้ เพราะเรามีเหตุผลพอ ไม่เช่นนั้นคนอื่นๆ ก็ทำอย่างนี้กันหมด" ความสามัคคีของชุมชนทำให้กฎระเบียบเข้มแข็ง 


 "อยู่น่ะอยู่ได้ แต่ห้ามเอาไม้ออกไป" น้ำเสียงเด็ดเดี่ยวของนายวาดเป็นเช่นเดียวกับใจของชาวสะเอียบ "ใครอยากมีบ้านไม้สักให้มามีเมียที่สะเอียบซิ" เขาพูดทีเล่นทีจริงพร้อมกับหัวเราะ เพราะตัวเขาเองก็มาได้เมียที่นี่เมื่อหลายสิบปีก่อน 


 นอกจากปกป้องป่าแล้ว ชาวบ้านยังร่วมแรงร่วมใจกันปลูกต้นสักไว้จำนวนมากติดต่อกันมาแล้วหลายปี เนื่องจากในอดีตพวกเขามักถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำลายป่าอยู่ร่ำไป 


 "ตอนนั้นพวกเราทำทุกอย่างก็แล้ว แต่ก็ยังมีข่าวออกไปว่าชาวสะเอียบทำลายป่าอยู่เรื่อยๆ พวกเรากลัวว่าเขาจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อสร้างเขื่อน เลยช่วยปลูกต้นสักกันขนานใหญ่ แม้ช่วงนั้นเป็นหน้าแล้ง" เขาเล่าถึงการปลูกต้นสักในยุคแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน 


"คนข้างนอกเห็นก็หัวเราะ เพราะดินมันแล้ง ชาวบ้านต้องขนขี้วัวขี้ควายกันคนละถุง น้ำคนละกระติ๊บไปด้วย พอปลูกเสร็จ ปักป้ายชื่อของใครของมัน ทุกๆ 7 วันพากันไปรดน้ำครั้งหนึ่ง ทำกันอยู่ 2-3 ปีจนอุทยานฯรับไปดูแลต่อ" เขาเล่าด้วยน้ำเสียงปลาบปลื้ม ซึ่งตอนนี้ป่าประวัติศาสตร์ของชาวสะเอียบเติบใหญ่ขึ้นมาก 


 ขณะเดียวกันเมื่อ 2 ปีก่อนชาวบ้านได้ตกลงใจกันรวบรวมและจัดเก็บความรู้ด้านต่างๆ ในท้องถิ่น หรือที่รู้จักกันในชื่อ "วิจัยจาวบ้าน" เพื่อเป็นองค์ความรู้ไว้ใช้อ้างอิงและนำเสนอสู่สังคม 


 หน้าฝนปีนี้เสียงฟ้าร้องและห่าฝน ทำให้ชาวบ้านในหลายท้องถิ่นหวั่นวิตก เพราะกลัวจะเกิดเหตุร้ายเช่นเดียวกับพี่น้องบ้านลับแล ยิ่งคนที่อยู่ติดป่าติดเขายิ่งนอนแทบไม่หลับ 


 แต่สำหรับชาวสะเอียบ วันนี้พวกเขาหลับได้อย่างเต็มตา เพราะไม่ต้องกลัวน้ำทะลักมากับท่อนซุง ไม่ต้องกลัวโคลนถล่มมาจากเขาสูง และไม่ต้องกลัวว่าเขื่อนจะแตก ฃ


กฎประจำชุมชนสะเอียบ 


 ชาวสะเอียบ 4 หมู่บ้านได้ร่วมกันจัดตั้งระเบียบเพื่อช่วยกันรักษาป่าสักทองเอาไว้ ซึ่งระเบียบนี้ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2534 ดังนี้ 1.ห้ามตัดไม้ทำลายป่า 2.ห้ามถางไร่เลื่อนลอย 3.ห้ามชักนำพ่อค้าและนายทุนที่เกี่ยวกับการตัดไม้ทำลายป่าเข้ามาในพื้นที่ ต.สะเอียบ 4.มอบเครื่องมือเครื่องใช้ในการตัดไม้ทำลายป่าและเครื่องมือล่าสัตว์ป่าให้แก่ทางการ 5.ให้ปลูกป่าเพิ่มในพื้นที่ ต.สะเอียบให้แก่ทางการ 6.ส่งเสริมอาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่สะเอียบให้ปลูกพืชยืนต้น 


 ในปี 2535 ได้ออกกฎระเบียบเพิ่ม คือ 1.ห้ามขายบ้านเรือนเก่า 2.ห้ามขนย้ายไม้และเรือนเก่าหรือเฟอร์นิเจอร์ทุกชนิดออกจากพื้นที่ ต.สะเอียบ 3.ห้ามตัดไม้เผาถ่านเพื่อการค้าขาย 


 ในปี 2540 ชาวบ้านได้ร่วมกันจัดตั้งระเบียบเพิ่มเติมเพื่อการอนุรักษ์พันธุ์ปลาโดยห้ามระเบิดปลา ห้ามช็อร์ตปลา และห้ามเบื่อปลา นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาขึ้นที่วังผาอิง และมีกฎระเบียบที่ต้องปฏิบัติดังนี้ 1.ผู้ใดฝ่าฝืนใช้วัตถุระเบิดถูกปรับลูกละ 5 หมื่นบาท 2.หากมีการฝ่าฝืนเป็นครั้งที่ 2 ถูกปรับลูกละ 1 แสนบาท 3.หากมีการฝ่าฝืนครั้งที่ 3 มอบให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย 4.บุคคลที่ฝ่าฝืนทำถูกปรับคนละ 1 พันบาท 5.ผู้ฝ่าฝืนหาปลาวังผาอิง เช่น ดำยิง ใส่แน่งหรือใส่มอง ตกเบ็ด หว่านแห ถูกปรับคนละ 1 พันบาทต่อครั้ง

อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/matichon/matichon_detail.php?s_tag=01way01040649&day=2006/06/04


ที่มาภาพ ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง