มูลเหตุอุทกภัยแม่นํ้าโขง

fas fa-pencil-alt
ไทยรัฐ
fas fa-calendar
9 สิงหาคม 2551

คงจะมีคนไทยไม่ใช่น้อยที่สงสัย ทำไมภาวะนํ้าท่วมหรืออุทกภัยจากแม่นํ้าโขง ในปีนี้จึงมาถึงเร็วกว่าปกติ และรุนแรงกว่าปกติ ถึงกับมีข่าวบางกระแสระบุว่าเป็นอุทกภัยที่ร้ายแรงที่สุดในรอบ 100 ปี ที่ไม่ได้กระทบแต่เฉพาะหลายจังหวัดในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้ส่งผลกระทบถึง 4 ประเทศ คือ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

ในประเทศไทย กระแสนํ้าจากแม่นํ้าโขงได้ไหลทะลักท่วมที่อยู่อาศัย และท่วม ไร่นาของประชาชน ได้รับความเสียหายอย่างน้อย 223 ล้านบาท ในพื้นที่จังหวัดเชียงรายทางภาคเหนือ และจังหวัดหนองคาย เลย มุกดาหาร และนครพนม ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเกิดอุทกภัยร้ายแรงที่สุดในรอบ 10 ปี ในพื้นที่แขวงหลวงพระบาง และนครเวียงจันทน์ ของประเทศลาว

ประชาชนใน 4 ประเทศ ซึ่งตั้งอยู่ในลุ่มแม่นํ้าโขงตอนล่าง ยังไม่ได้รับคำชี้แจงที่น่าเชื่อถือว่า นํ้าท่วมใหญ่ครั้งนี้เกิดจากสาเหตุใด คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนจาก 4 ประเทศ ชี้แจงว่าเกิดจากฝนตกหนักเนื่องจากพายุเขตร้อนคามูริ ทำให้ ปริมาณนํ้ามากผิดปกติ พร้อมทั้งปฏิเสธว่าไม่ได้เกิดจากการปล่อยนํ้าจากเขื่อน 3 แห่ง ในประเทศจีน ตามที่องค์กรเอกชนสงสัย

รัฐบาลไทยและหน่วยงานของรัฐ ก็ดูเหมือนจะเห็นดีเห็นงาม ไปตามคำชี้แจงของคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง กรมทรัพยากรทางนํ้าจะยอมรับว่ามีข้อมูลเพียงเล็กน้อย เกี่ยวกับเขื่อนกั้นแม่นํ้าโขง 3 แห่งในจีน แต่ หนังสือพิมพ์จีนรายงานข่าวว่าได้เกิดนํ้าท่วมอย่างหนัก ในมณฑลยูนนาน ตอนบนแม่นํ้าโขง มีผู้เสียชีวิต 40 คน จะเป็นสาเหตุที่จีนต้องปล่อยนํ้าจากเขื่อนทั้งสามแห่งหรือไม่?

ถึงแม้ว่าแม่นํ้าโขงจะเป็นแม่นํ้านานาชาติ ไหลผ่าน 6 ประเทศ เป็นระยะทาง ถึงเกือบ 5,000 กิโลเมตร แต่ช่วงที่ไหลผ่านจีน กลายเป็นแม่นํ้าภายในของจีน เพราะสองฟากฝั่ง อยู่ในดินแดนจีน รัฐบาลจีนจึงสร้างเขื่อนกั้นแม่นํ้าโขงถึง 3 เขื่อน ตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา และยังมีแผนการที่จะก่อสร้างเขื่อนเพิ่มเติมอีก ทั้งยังมีรายงานข่าวว่ามีการระเบิดเกาะแก่ง เพื่อใช้เป็นเส้นทางเดินเรือ

องค์กรเอกชนอย่างเครือข่ายประชาสังคมไทยเพื่อแม่นํ้าโขง จึงสงสัยว่าเขื่อนในจีน และการระเบิดเกาะแก่งในแม่นํ้าโขง อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดนํ้าท่วมรุนแรงผิดปกติในตอนล่างแม่นํ้า ทั้งๆที่ทางการจีน อ้างว่าการสร้างเขื่อนจะช่วยแก้ปัญหาความแห้งแล้งในฤดูแล้งและป้องกันนํ้าท่วมในฤดูฝน แต่นํ้าท่วมครั้งใหญ่ในขณะนี้ ได้พิสูจน์ว่าไม่เป็นจริงดังที่กล่าวอ้าง

จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลได้ ประสานงานกับคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง รวมทั้งประเทศต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ ข้อมูลที่ถูกต้อง เกี่ยวกับสาเหตุของนํ้าท่วมใหญ่ รวมทั้งร่วมกันจัดตั้งระบบเตือนภัย และวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย การสร้างเขื่อนกั้นแม่นํ้าโขงในอนาคต ควรจะต้องปรึกษาหารือและขอความเห็นชอบจากประเทศที่อาจได้รับผลกระทบด้วย.

 

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง