‘น้ำโขง’ท่วมผิดฤดูกระทบหนัก’นกประจำถิ่น’ นักวิชาการชี้สารพัดปัญหาผลพวงจาก’ระเบิดแก่ง
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ชาวบ้านริมแม่น้ำโขงยังคงได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนจีน โดยในเฟซบุ๊ก “บึงกาฬรักนก” ได้ระบุว่าปริมาณน้ำที่ท่วมขึ้นผิดฤดูกาล ทำให้ส่งผลกระทบกับนกประจำถิ่นและนกอพยพชนิดต่างๆ ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้ขอสัมภาษณ์แอดมินเพจเฟซบุ๊กบึงกาฬรักนก โดยเขาระบุว่าในฤดูกาลอพยพของนก ช่วงน้ำแล้งตั้งแต่หลังเดือนกันยายน- มิถุนายน นกอพยพที่ “กลุ่มบึงกาฬรักนก” สำรวจและสามารถจำแนกชนิดได้มี 47 ชนิด นับรวมทั้งนกหาด นกชายเลน และนกทั่วไปที่เป็นนกอพยพ โดยนกที่อพยพมีทั้งอพยพผ่านแล้วแวะลงหากินตามชายน้ำช่วงน้ำโขงลดเป็นหาด และอพยพมาเพื่อทำรังวางไข่
“แอดมินเฟซบุ๊กบึงกาฬรักนก” กล่าวว่า สำหรับนกที่อพยพมาเพื่อทำรังและวางไข่บนชายหาดแม่น้ำโขงที่กลุ่มบึงกาฬรักนก สำรวจ มี 2 ชนิดคือ นกแอ่นทุ่งเล็ก และนกหัวโตเล็กขาเหลือง ซึ่งสองชนิดนี้จะใช้พื้นที่หาดร่วมกัน โดยเฝ้าระวังร่วมกัน การขึ้นลงของน้ำโขงที่ผิดปกติเนื่องจากการระบายน้ำของเขื่อน ส่งผลกระทบกับการทำรังวางไข่ของนก 2 ชนิดนี้มาก ในฤดูอพยพย้อนหลังไป 3 ปี พบว่า อัตราการรอดของลูกนกไม่น่าจะถึง 60% ของนกทั้งหมดที่ทำรังอยู่ริมชายหาด
“ปีที่แล้วอัตราการรอดไม่ถึง 50% ด้วย เพราะผลกระทบจากน้ำโขงขึ้น เขื่อนจีนปล่อยน้ำช่วงแล้ง และการก่อสร้างแนวเขื่อนป้องกันตลิ่งในเขตตัวเมืองบึงกาฬ จากการสำรวจปีนี้พบว่า นกทำรังน้อยมาก อาจเป็นเพราะปีก่อนที่นกอาจจะไม่รอดจากน้ำท่วม และจากการรบกวนของมนุษย์ มันเลยโตมาเป็นนกเต็มวัยในฤดูกาลนี้น้อย นกที่อพยพมาทุกปีคือ แอ่นทุ่งเล็กกับหัวโตเล็กขาเหลือง จะอพยพมาทุกปี นกแอ่นทุ่งที่อพยพมาก็น่าจะประมาณปีละ 300-600 ตัว ส่วนนกหัวโตเล็กขาเหลือง อพยพมาไม่น่าจะถึง 100 ตัว” แอดมินเฟซบุ๊กบึงกาฬรักนก กล่าว...
นายไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ทางการจีนมีโครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงระยะที่ 2 โดยจีนกำลังผลักดัน หลังการประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงเมื่อสัปดาห์ก่อน เพื่อเปิดเส้นทางการเดินเรือพาณิชย์ขนาดใหญ่นั้นระหว่างการระเบิดแก่งและปรับปรุงร่องน้ำอาจใช้เวลาถึง 3 ปี การระเบิดจะทำในฤดูแล้งหลายเดือน ซึ่งจะมีการเปิด-ปิดเขื่อน เพื่อควบคุมกระแสน้ำ โดยอาจจะปิดเขื่อน 3 วัน เพื่อให้น้ำลดระดับลงและระเบิดแก่ง และอีก 1 วันจะปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาเพื่อให้เรือสินค้าขนาดใหญ่ของจีนล่องลงมาที่ ท่าเรือเชียงแสนได้ การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ระดับน้ำโขงแห้งอย่างหนัก และทำให้ระดับน้ำขึ้น-ลง ในแต่ละวันเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศน์แม่น้ำโขงและชาวบ้านที่อาศัย ทรัพยากรจากแม่น้ำโขง ช่วงที่มีการระเบิดแก่งแม่น้ำโขงจะทำให้กระแสน้ำโขงเปลี่ยนทิศทาง และทำให้ตลิ่งพัง ขณะที่ตะกอนจากพังทลายของตลิ่งและการระเบิดแก่งจะไปทับถมบริเวณที่เป็นวังน้ำลึกตามลำน้ำโขง ซึ่งวังน้ำเหล่านี้คือที่อยู่อาศัยของปลาในฤดูแล้ง และเป็นพื้นที่ทำการประมงของชาวบ้าน
นายไชยณรงค์ กล่าวว่า คราวที่จีนระเบิดแก่งแม่น้ำโขงเฟสแรก เมื่อสิบกว่าปีที่แล้วทำให้ตลิ่งแม่น้ำโขงแถบ อ.เชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น จ.เชียงราย พังทลาย เนื่องจากกระแสน้ำเปลี่ยนทิศและสร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตร และบ้านเรือนของชาวบ้านที่ติดกับริมแม่น้ำโขง ขณะที่บริเวณวังน้ำลึกในแม่น้ำโขงหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า “คก” ที่ลึกหลายสิบเมตร ถูกทับถมด้วยทรายจนปลาไม่สามารถอาศัยได้ และชาวประมงพื้นบ้านต้องสูญเสียพื้นที่ทำการประมง..นายไชยณรงค์กล่าวว่า การควบคุมน้ำจากเขื่อนจีนเพื่อให้มีการระเบิดแก่ง ยังทำให้ “ไก” หรือสาหร่ายแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นอาหาร และแหล่งสร้างรายได้ทางเศรษฐกิจของชุมชนตั้งแต่แม่น้ำโขงบริเวณพรมแดน พม่า-ลาว ไทย-ลาว มาจนถึงหลวงพระบาง จะไม่สามารถงอกได้ เพราะน้ำโขงจะขุ่นขึ้นจากการปล่อยน้ำของเขื่อนจีน ในช่วงที่ต้องการเดินเรือ และจากกิจกรรมการระเบิดแก่งและขุดลอกแม่น้ำโขง ซึ่งคาดว่าจะทำให้การเก็บไกลดลงเหลือเพียงร้อยละ 30 จากที่เคยเก็บหาได้ นั่นหมายถึงการที่ชาวบ้านริมฝั่งโขงทั้งในพม่า ไทย และลาว ต้องสูญเสียอาหารและรายได้ทางเศรษฐกิจในช่วงดูแล้งที่มีการระเบิดแก่งในช่วง ระยะเวลาถึง 3 ปี อีกทั้งระดับน้ำที่ขึ้น-ลง ไม่ปกติตามธรรมชาติ ยังจะทำให้ไกแห้งตายและก่อให้เกิดปัญหาไก หลุดจากหาดหินไปติดเครื่องมือหาปลาของชาวบ้านและทำให้เกิดความเดือดร้อนและ ต้องหาทางกำจัดไกจากเครื่องมือประมงอีก
นักวิชาการมหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ยังจะส่งผลกระทบด้านการประมงของชาวบ้าน โดยชาวประมงจะจับปลาได้น้อยลงถึง 50 % จากที่เคยจับได้ เพราะปลาหลงฤดูจากการที่น้ำโขงผันผวน ผลกระทบนี้จะส่งผลกระทบต่อเนื่องยาวไปจนถึงชาวประมงในกัมพูชาอีกด้วย รวมไปถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับ ปลาบึก ซึ่งเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนังที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งพบในแม่น้ำโขงแห่งเดียว และแม่น้ำโขงบริเวณเหนือเชียงของขึ้นไป เช่น ที่บ้านเมืองกาญจน์และเชียงแสน คือแหล่งวางไข่ของปลาบึก
“ปัจจุบันปลาบึกยังอยู่ในบัญชีรายชื่อสิ่งมีชีวิตที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ยิ่งยวด ของ IUCN สิ่งที่จะสูญเสียจากการระเบิดแก่งระยะที่ 2 ของจีน คือการสูญเสียระบบนิเวศแม่น้ำโขงที่มีความหลากหลายอย่างถาวร ทั้งแก่งหิน หาดหิน หาดทราย เพราะแม่น้ำโขงถูกทำให้เป็นช่องน้ำลึก ระบบนิเวศน์ที่สูญเสียไปนี้คือแหล่งอาศัยของปลาไม่ต่ำกว่า 88 ชนิด พรรณพืชมากกว่า 65 ชนิดที่ขึ้นตามแก่ง หาด และชายฝั่ง และสูญเสียถิ่นอาศัยสำหรับนกไม่ต่ำกว่า 20 ชนิดข้อมูลตัวเลขชนิดพรรณที่อ้างอิงนี้ นับเฉพาะแม่น้ำโขงแถบเชียงแสน เชียงของ และเวียงแก่น เท่านั้น หากสำรวจถึงหลวงพระบางอาจมีมากกว่านี้” นายไชยณรงค์ กล่าว...
อ้างอิง :https://www.matichon.co.th/local/news_90474