นายกฯขู่ปลดกิจจาเซ่นเขื่อนอัปยศ กรมชลฯยืนยัน ทำไม่ทันเส้นตายนายกฯ
อธิบดีกรมชลประทาน ยืนยันว่า การแก้ปัญหาเขื่อนบางปะกง ไม่สามารถเสร็จทันเส้นตาย ที่นายกรัฐมนตรีกำหนด
นายกรัฐมนตรีแสดงความไม่พอใจ ที่กรมชลประทานไม่สนองนโยบาย ในการแก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจาก การสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง โดยยืนยันว่า หากไม่ดำเนินการแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน จะเปลี่ยนคนอื่นไปทำงานแทน ขณะที่ อธิบดีกรมชลฯ ยืนยัน ทำไม่ทันตามเส้นตายกำหนด
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่อธิบดีกรมชลประทาน ระบุว่า การศึกษาน้ำเสียและตลิ่งพังในโครงการเขื่อนบางปะกง คงไม่สามารถทำให้แล้วเสร็จทันภายใน 3 เดือน คือเดือนพฤษภาคม แต่คาดว่าจะเสร็จภายในเดือนสิงหาคม เพราะมีเรื่องเทคนิคเข้ามาเกี่ยวข้อง ว่า การแก้ไขปัญหาและจะขอขยายไปถึงเดือนสิงหาคมนั้นคงไม่ได้ เขาบอกแล้วว่า ให้เร็วกว่าเดือนพฤษภาคม ซึ่งได้เร่งทุกฝ่ายอยู่แล้ว แต่ถ้ากรมชลฯ ทำไม่ได้ เดี๋ยวจะให้คนอื่นทำ
ส่วนที่ตัวแทนชาวบ้านต้องการให้รัฐบาลเป็นตัวกลางจัดเวทีใหญ่ในการพบปะระหว่างชาวบ้าน กับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า คงไม่ต้องจัด เพราะเราทำทุกอย่างรอบคอบแล้ว "ไม่เป็นไรเรารู้ปัญหาหมดแล้ว ชาวบ้านที่เป็นตัวแทนก็ได้มาบอกปัญหาหมดแล้ว"
กรมชลฯไม่สนคำสั่งนายกฯ
ทางด้าน นายกิจจา ผลภาษี อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ผลการศึกษาปัญหาเขื่อนบางปะกงขณะนี้ แยกออกเป็น 2 ส่วน คือ การปิดเปิดบานประตูเขื่อน ว่า ทำอย่างไรจึงคุ้มและมีผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณท้ายเขื่อน และเหนือเขื่อนให้น้อยที่สุด และช่วงไหนจะสามารถยกบานประตูได้ทั้งหมด ซึ่งผลการศึกษาดังกล่าวจะเสร็จภายในเดือนพฤษภาคมนี้อย่างแน่นอน
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลิ่งทางด้านท้ายเขื่อนนั้น เขากล่าวว่า จะต้องมาพิจารณาว่า วิธีการไหนมีความเหมาะสมมากที่สุด
"ถ้าจะแก้ปัญหาแบบกำปั้นทุบดิน ก็ใช้วิธีสร้างกำแพงคอนกรีตก็ทำได้ แต่กรมชลฯ ไม่เอา ไม่ต้องการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ ตรงจุดนี้ต้องมาดูว่า จะทำให้พื้นที่บางส่วนของตลิ่งที่มีความชันสูงเป็นสไลด์ลงมา เพื่อลดความแรงของกระแสน้ำ หรือทำเป็นเขื่อนหินทิ้ง ผลการศึกษาตัวนี้จะออกมาในเดือนสิงหาคมด้วยเช่นกัน" นายกิจจา กล่าว
ส่วนกรณีที่นายกรัฐมนตรีขอให้เร่งรัดผลการศึกษาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนั้น นายกิจจา กล่าวว่า จะต้องเข้าใจว่า วิธีแก้ปัญหาว่าแยกออกเป็น 2 ส่วน
"ต้องถามว่า ที่นักข่าวถาม ถามเรื่องวิธี operate เขื่อนหรือเปล่า คนที่ถาม แยกประเด็นคำถามหรือไม่ ว่า กรมชลฯ จะแก้ปัญหาส่วนไหนก่อน"
นายกิจจา กล่าวด้วยว่า เพราะก่อนที่นายรัฐมนตรีจะเดินทางไปตรวจเขื่อนบางปะกง ทางกรมชลฯ ได้รายงานปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้รับทราบหมดแล้ว
ท่านนายกฯ บอกว่า ขอให้กรมชลฯ ช่วยเร่งรัดผลการศึกษาให้เร็วกว่ากำหนดเดิมได้ไหม ผมก็บอกท่านไปว่าจะคุยกับทีมงานนักวิชาการ และบริษัทที่ปรึกษาอีกครั้งหนึ่งว่าเร่งได้หรือไม่ แต่นี่พึ่งผ่านมาได้แค่ 3 วัน ผมยังไม่ได้เจอใครเลย ขอเวลาหน่อยซิครับ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า ขอให้เร่งการแก้ปัญหาเขื่อนบางปะกงให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน หากกรมชลฯ ไม่สามารถทำเสร็จก็จะให้คนอื่นทำ นายกิจจา กล่าวว่า กรมชลฯ คงไม่ว่าอะไร นอกจากรับทราบเฉยๆ
สำหรับการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ของประชาชน จ.ฉะเชิงเทรา นั้น อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในส่วนของชาวบ้านหากไม่มีใครยุแหย่เขาก็เข้าใจ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นกับเขื่อนบางปะกงในขณะนี้ไม่ได้เกิดจากปัญหาตลิ่งพัง แต่ที่รุนแรงมากที่สุด คือ ปัญหาน้ำเสีย ซึ่งเกิดขึ้นทุกปีอยู่แล้ว จ.ฉะเชิงเทรา มีประชากรหมูทั้งหมดถึง 800,000 ตัว แต่มีการเลี้ยงหมูอยู่บริเวณริมน้ำถึง 200,000 ตัว ยิ่งนับวันปัญหาจะทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะหมูมีราคาดี
นายชูชีพ หาญสวัสดิ์ รมว.เกษตรฯ ยืนยันว่า ภายใน 3 เดือน คิดว่าน่าจะทำได้ เพราะว่า ตอนนี้ เขามีแผนรองรับเอาไว้อยู่แล้ว เหตุที่ทำให้ตลิ่งพัง เป็นเพราะมีคุ้งย้ำเยอะมาก ซึ่งการแก้ไขปัญหา จะต้องใช้ระยะเวลา แต่ภายใน 3 เดือน น่าจะเห็นผล ว่าจะแก้ไขปัญหาได้
ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาแม่น้ำบางปะกงทั้งเส้น จำเป็นจะต้องได้รับการร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเขื่อนไม่ใช่สาเหตุเดียวที่ทำให้แม่น้ำบางปะกงเน่าเสีย จึงได้สั่งการไปเมื่อวันที่ 30 ม.ค. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ กรมชลฯ ปศุสัตว์ และกรมประมง เข้าไปดูแล และประสานงานให้ประสบผลสำเร็จภายใน 3 เดือน
"แม่น้ำบางปะกง รวมทั้งเขื่อนที่มีปัญหาในขณะนี้ ไม่ใช่การทำงานของกรมชลฯ เพียงหน่วยงานเดียว เพราะฉะนั้น จะให้คุณกิจจา เข้ามารับผิดชอบในเรื่องนี้เพียงคนเดียว ก็คงจะไม่ถูกต้อง เข้าใจไหม" นายชูชีพ กล่าว
นายธนภพ เกียรติฉวีพรรณ ประธานชมรมการเกษตรปลอดสารพิษ ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงกรณีที่นายกรัฐมนตรี จะไม่จัดเวทีชี้แจงต่อชาวบ้าน โดยอ้างว่า มีข้อมูลหมดแล้วว่า ถ้านายกฯ ไม่ยอมเปิดเวทีให้ เรื่องนี้คงจะลำบาก เพราะชาวบ้านคงไม่ยอม เนื่องจากเราต้องการตรงนี้มากที่สุด อยากให้มีการชี้แจงรายละเอียดเพื่อให้ประชาชนสบายใจ
อย่างไรก็ตาม ต้องดูผลสรุปของกรมชลประทานก่อนว่า เรื่องจะออกมาอย่างไร และเรื่องนี้เราคงต้องคุยกับประชาคมด้วย ส่วนที่นายกฯ ว่ามีข้อมูลทั้งหมดแล้ว อยากถามว่า ได้มาจากไหน