นักวิชาการติง อย่าด่วนสรุปจีนทำน้ำโขงแห้ง

fas fa-pencil-alt
ไทยรัฐ
fas fa-calendar
19 มีนาคม 2553


ปธ.สภาธุรกิจฯลุ่มแม่น้ำโขงอ้างว่าเขื่อนจีนไม่ใช่ต้นเหตุทำน้ำโขงแห้ง แต่วิกฤติภัยแล้งมีน้ำหนักมากกว่า ชี้ว่าชาติต้นน้ำมีสิทธิกักน้ำเพราะไม่มีกฎหมายจัดการ อาจารย์ม.หัวเฉียวฯหนุนอย่าด่วนว่าจีนเป็นต้นเหตุ

วันที่ 19 มีนาคม 2553 นายชิงชัย หาญเจนลักษณ์ ประธานสภาธุรกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกล่าวถึงสถานการณ์ภัยแล้งในลุ่มน้ำโขงว่า จีนเคยอธิบายแล้วว่าไม่ได้กักน้ำจนทำให้แม่น้ำโขงแห้ง จีนเปิดให้ตรวจสอบและมีการใช้ระบบคอมพิวเตอร์แสดงระดับปริมาณการกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งไม่ได้ส่งผลถึงขั้นทำให้แม่น้ำโขงแห้ง อีกทั้งการกักน้ำเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าต้องมีการปล่อยน้ำออกมาตลอด จึงเชื่อว่ากรณีนี้เกิดจากปัญหาความแห้งแล้งมากกว่า

การที่จีนจะกักน้ำไว้สำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าไม่มีประโยชน์อะไร เพราะช่วงพื้นที่บริเวณเขื่อนที่ต้องกักน้ำนั้นไม่ใช่บริเวณอู่ข้าวอู่น้ำที่ต้องกักน้ำไว้ ต้องปล่อยน้ำออกมา และจากประสบการณ์ที่เคยสำรวจพื้นที่ในจีน บริเวณตอนใต้ของการสร้างเขื่อนประสบปัญหาแล้ง ส่วนบริเวณเหนือเขื่อนขึ้นไปไม่แน่ใจว่าแล้งหรือไม่ ต้องตรวจสอบกันต่อไป

นายชิงชัยกล่าวต่อว่าประเด็นที่น่าห่วงใยหากเกิดภัยแล้งหนักคือผลกระทบตามมามากกว่าเพียงประเด็นการสร้างเขื่อน ประเทศที่น่าห่วงมากที่สุดคือเวียดนามและกัมพูชาที่ต้องรับปัญหาหนักมากหากเกิดภัยแล้งเพราะอยู่ปลายน้ำ เรื่องนี้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงที่มีประเทศไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนามควรพยายามเจรจาร่วมกันตรวจสอบปัญหาแล้งนี้ เพื่อหาแนวทางเสนอประเทศจีนในฐานะเป็นประเทศต้นน้ำ ซึ่งมีสิทธิจะกักเก็บน้ำได้ และเชื่อว่าจีนคงต้องยอมรับฟังปัญหาแน่นอน แม้จีนจะไม่ได้เป็นสมาชิกเอ็มอาร์ซีก็ตาม

ขณะนี้ไม่มีกฎหมายในเรื่องของการจัดสรรทรัพยากรน้ำ ดังนั้นประเทศต้นน้ำมีสิทธิจะเก็บกักน้ำในส่วนที่ไหลผ่าน ทำให้จีนได้เปรียบเพราะอยู่ต้นน้ำ ซึ่งหลายฝ่ายอาจไม่พอใจ จนเกิดประเด็นมากกว่าการแย่งชิงน้ำ มีผลกระทบถึงเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับแม่น้ำนานาชาติด้วย ในส่วนนี้ยังไม่มีกฎหมายมาควบคุมการกักเก็บน้ำของประเทศต้นน้ำได้ ในลักษณะนี้มีเพียงกฎหมายทะเล ส่วนการแก้ปัญหาเพื่ออนาคตนั้นต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย

ด้านนายพิษณุ เหรียญมหาสาร รองอธิการบดีและคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ และผู้เชี่ยวชาญด้านจีนศึกษากล่าวถึงสถานการณ์แม่น้ำโขงที่มีระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปีว่าเป็นเรื่องปกติของฤดูแล้ง ไม่คิดว่าจะเป็นเพราะจีนกักน้ำในแม่น้ำสาขาไว้ หากย้อนดูในฤดูแล้งปีที่ผ่านมา ประสบปัญหานี้เช่นกัน แต่อาจจะไม่หนักเท่า จึงไม่ควรจะรีบสรุปว่าจีนเป็นต้นเหตุ ต้องมีการศึกษากัน

ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นในแง่ของการเกษตรนั้นคิดว่าปัญหาน้ำแล้งคงไม่ใช่จากกรณีแม่น้ำโขงอย่างเดียว ขึ้นอยู่กับระบบบริหารจัดการของเกษตรกรด้วย ต้องไปดูแม่น้ำสายอื่นๆ เช่น แม่น้ำมูลว่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้หรือไม่ ส่วนการขนส่งสินค้าผ่านทางแม่น้ำโขง คิดว่าไม่ส่งผลกระทบมากนัก เพราะส่วนใหญ่การขนส่งทางนี้ไม่ได้มีมากเช่นในอดีต

สำหรับกรณีมีความพยายามจะพูดคุยเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้งแม่น้ำโขงกับทางประเทศจีนนั้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแน่นอน ไม่อยากให้รีบตัดสินหรือสรุปไปก่อนโดยไม่มีการพิสูจน์ตรวจสอบอย่างแน่ชัด

อ้างอิง : https://www.thairath.co.th/news/local/northeast/71692

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง