งานวิจั๋ย..จาวบ้าน ฉบับ "แก่งเสือเต้น"
ชุมชนสะเอียบ อ. สอง จ.แพร่ อาจมีชื่อลือเลื่องว่าเป็นแหล่งผลิตสุราพื้นบ้านใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ
กระทั่งถูกมองข้ามว่าเป็นชุมชนที่มีฐานทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ควรแก่การหวงแหน โดยเฉพาะป่าสักทองผืนใหญ่ เนื้อที่กว่า 24,000 ไร่ ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม
15 ปีภายหลังจากปิดสัมปทานป่าผืนนี้ หน่วยงานรัฐพยายามบิดเบือนข้อมูลเรื่อยมา เพื่อสนับสนุนโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น
อ้างความเหมาะสมนานาสารพัด ถึงขั้นชี้ว่าป่าผืนนี้ขาดความสมบูรณ์ วางแผนเตรียมโยกย้าย 15 หมู่บ้านของอ.สอง จ.แพร่ และอ.เชียงม่วน จ.พะเยา ที่เป็นพื้นที่น้ำท่วมหากสร้างเขื่อน
วันนี้ชุมชนสะเอียบร่วมใจตั้งตัวแทนปราชญ์ชาวบ้าน 140 คน เพื่อชี้แจงตอบโต้ด้านข้อมูลอย่างเป็นวิชาการ ที่มีทั้งเหตุทั้งผล และอย่างเป็นรูปธรรม ที่จับต้องได้ มองเห็นได้
140 ปราชญ์ชาวบ้านเข้าอบรมเรียนรู้กระบวนการ ขั้นตอน การทำงานวิจัยจาก อ.ชยันต์ วรรณภูติ จากคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา ม.เชียงใหม่
แบ่งทีมรวบรวมองค์ความรู้ของชุมชนทั้งแง่เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต และสิ่งแวดล้อม ประมวลข้อมูลออกมาเป็นงานวิจัยชาวบ้าน เรียกขานตามภาษาถิ่นว่า "งานวิจั๋ย..จาวบ้าน" เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ต้นปี 47
จากสิ่งที่มีอยู่ในวิถีชุมชน กำหนดหัวข้อวิจัยได้ 7 เรื่อง 1.สมุนไพร 2.ระบบนิเวศ 3.สัตว์ป่า และแมลง 4.พันธุ์ปลา 5.เห็ด และผัก 6.หน่อไม้ และ 7.ประวัติชุมชน
วิชัย รักษาพล หัวหน้ากลุ่มวิจัยเรื่องปลา นำเสนอว่า พบพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำในแม่น้ำ รวม 105 ชนิด "ปลาคัง" เป็นเจ้าแม่น้ำ รสชาติดีที่สุดในบรรดาปลาแม่น้ำสะเอียบ ตัวโตสุดหนักประมาณ 30 ก.ก. ซื้อขายกันก.ก.ละ 150 บาท
ชาวบ้านมีรายได้จากจับปลาขายเฉลี่ยเดือนละ 4-5 พันบาท บริเวณที่มีปลาอาศัยมากที่สุดคือ "วังผาอิง" พื้นที่ที่ชาวบ้านกำหนดเป็นเขตอนุรักษ์พันธุ์ปลาหมู่บ้าน ห้ามจับเด็ดขาดฝ่าฝืนปรับครั้งละ 2 พันบาท
ชิด สะเอียบคง หัวหน้ากลุ่มวิจัยเรื่องเห็ดและผัก นำเสนอต่อว่า ในพื้นที่มีเห็ดกินได้ทั้งหมด 27 ชนิด "เห็ดถอบ" ทำรายได้ให้ชาวสะเอียบคนละ 4-5 หมื่นบาทช่วงฤดูกาลเก็บเห็ด รวมมูลค่ารวมรายได้ชุมชน 1.4-1.5 ล้านบาท
ชาวบ้านที่ออกหา "เห็ดถอบ" เคยได้สูงสุดถึงวันละ 90 ถัง ถังละประมาณ 20 ลิตร ราคาต่อถังอยู่ที่ 400 บาท ในรอบ 3-4 ปีจะออกมาครั้งละมากๆ ครั้งหนึ่งเริ่มตั้งแต่พ.ค..-ก.ค. ราคาต้นฤดูบางครั้งสูงถึงลิตรละ 150 บาท ก่อนลดลงเป็น 80-100 บาท ส่วนใหญ่จะมีรถวันละประมาณ 50-60 คันเข้ามาซื้อถึงหมู่บ้านเพื่อนำไปขายต่อในเมือง
ศรชัย อยู่สุข ตัวแทนนักวิจัย กลุ่มศึกษาระบบนิเวศ กล่าวว่า นิเวศบนบกรวมทั้งป่าหลากชนิดในพื้นที่ ชาวบ้านช่วยดูแล จัดเวรยามเฝ้าระวังการลักลอบตัดไม้ ห้ามขนไม้ทั้งเก่าและใหม่ออกนอกหมู่บ้านอย่างเด็ดขาด การใช้ประโยชน์หรือเคลื่อนย้ายไม้ต้องได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการหมู่บ้าน
วาด เทือกฉิมพลี หัวหน้ากลุ่มวิจัย สัตว์ป่า และแมลง แสดงผลการวิจัยว่า สะเอียบมีสัตว์ป่าและแมลงรวมแล้ว 116 ชนิด
แมลง ที่สำคัญคือ "จั๊กจั่น" ช่วงมี.ค.-เม.ย. ชาวบ้านจะออกจับ "จั๊กจั่น" ขายเป็นรายได้เสริม ครึ่งวันเก็บได้ประมาณ 200 แก้ว ราคาขายแก้วละ 20 บาท มีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงที่
วิชัย คนเดิม ทำหน้าที่นำเสนอแทนกลุ่มวิจัยเรื่องหน่อไม้ว่า สะเอียบเป็นแหล่งผลิตหน่อไม้สำคัญของประเทศ พบหน่อไม้ 6 ชนิด คือ หน่อไม้ไผ่ หน่อไม้ซาง หน่อไม้บง หน่อไม้ไร่ หน่อไม้ไร่รอ หน่อไม้ไผ่ตง หน่อไม้ไร่ รสชาติดีได้รับความนิยมมากที่สุด ส่วนราคาอยู่ที่ก.ก.ละ 15-30 บาท แต่ละฤดูชาวบ้านเก็บหน่อไม้ได้บ้านละ 50-100 ก.ก.
"ปีหนึ่งๆ หน่อไม้สร้างรายได้ให้คนสะเอียบถึง 100 ล้านบาท หน่อไม้แต่ละชนิดจะออกช่วงเวลาต่างกัน ทำให้ชาวบ้านมีเวลาขุดหาได้ตลอดทั้งปี คนสะเอียบถึงไม่มีเงิน มีแค่น้ำกับเกลือ ต้มน้ำแล้วเข้าป่าหาหน่อไม้ กลับออกมาก็มีหน่อไม้ต้มกิน" วิชัยกล่าวยืนยัน
อุดม ศรีคำภา หัวหน้ากลุ่มวิจัยเรื่องประวัติชุมชน บอกข้อมูลว่า ต.สะเอียบ มีอายุประมาณ 200 ปี เดิมเป็นส่วนหนึ่งในจ.น่าน พื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์สูง
ด้านวัฒนธรรมประเพณี ชาวบ้านนับถือผี สถานที่สำคัญและบ้านเรือนจะมีผีประจำที่ ให้เซ่นไหว้ เช่น ก่อนทำนาจะบูชาผีต้นน้ำ ผีขุนน้ำ ผีเหมือง หรือผีฝาย ก่อนเปิดน้ำเข้านา นอกจากนี้ยังมีผีเมือง หรือผีประจำชุมชน ผีเจ้าคำลือ หรือผีประจำตระกูล
"การศึกษาประวัติชุมชน ทำให้เราได้รู้ว่ารากเหง้าเราเป็นอย่างไร ถ้าเขื่อนแก่งเสือเต้นมา พวกเราต้องอพยพออกไป ก็ไม่รู้ว่าผีที่เรานับถือจะตามเราไปด้วยหรือเปล่า หากชุมชนเราแตกสลาย วัฒนธรรมประเพณีเหล่านี้ก็จะหายไปด้วย สิ่งที่เรามี มูลค่ามากกว่าเงิน บ้านเราไม่ใช่พื้นที่ว่างเปล่า แต่เต็มไปด้วยสมบัติล้ำค่ามหาศาล" หัวหน้ากลุ่มวิจัยเรื่องประวัติชุมชน บรรยาย
ต้นปีหน้า งานวิจัยนี้จะเสร็จสมบูรณ์เป็นรูปเล่ม เช่นเดียวกับ "งานวิจัยไทบ้าน" ของชุมชนแม่มูนมั่นยืน จ.อุบลราชธานี ที่ทำสำเร็จออกมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งเนื้อหา และรูปภาพ
ชาวบ้านที่นี่ไม่ "เผาพริกเผาเกลือ" อย่างไร้เหตุผล แต่ร่วมแรงร่วมใจทำวิจัยตามหลักวิชาการเพื่อนำ "เหตุและผล" ออกมายืนยันถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นและมีอยู่ในพื้นที่
สาธารณชนทั้งหลายโปรดรอคอย และติดตาม แล้วช่วยกันลงความเห็น (อย่างเป็นวิชาการ มีเหตุมีผล) ว่า ระหว่างทรัพย์ในดิน สินในน้ำ วัฒนธรรมล้ำค่าที่มีอยู่ กับโฆษณาชวนเชื่อเรื่องเขื่อน ควรให้ "ความสำคัญ" กับข้างไหนมากกว่ากัน
อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?day=2004/07/25&s_tag=03hap03250747§ionid=0317&show=1&sk=2&searchks=''