ถอนหลักเขตที่ดิน หวั่นเวนคืนสร้างเขื่อน

fas fa-pencil-alt
กรุงเทพธุรกิจ
fas fa-calendar
29 มกราคม  2545

ทักษิณรับเขื่อนฉาวเพราะไม่รอบคอบ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงห่วงชาวบางปะกง รับสั่งนายกรัฐมนตรี ให้ลงพื้นที่ สำรวจเขื่อนทดน้ำบางปะกง "ทักษิณ" ระบุราคาเขื่อนแพง แถมสร้างแล้ว ยังใช้ไม่ได้ สาเหตุไม่ได้ศึกษาข้อมูล อย่างรอบคอบ สั่งแก้ปัญหา ก่อนถึงเดือนพ.ค. ด้านกรมชลฯ เสนอ 5 ข้อแก้ปัญหา

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ ประกอบด้วย นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วิทยาศาสตร์ฯ นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมช.เกษตรฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง รมต.ประจำสำนักนายกฯ โดยมีนายพิศิษฐ์ เกษผาสุข ผู้ว่าราชการจังหวัด พร้อมด้วย นายกิจจา ผลภาษี อธิบดีกรมชลประทาน ให้การต้อนรับและบรรยายสรุปถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม

จากนั้น คณะนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมฟาร์มสุกร ที่สุขุมฟาร์ม และลงเรือตรวจสภาพตลิ่ง แม่น้ำบางปะกงที่ได้รับผลกระทบจากเขื่อน

ทั้งนี้ ครม.อนุมัติให้มีการสร้างเขื่อนทดน้ำบางปะกง เมื่อกลางปี 2539 แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2542 และมีการเปิดทดลองใช้เพียง 4 วัน ก่อนที่จะยกเลิกปิดกั้นลำน้ำบางปะกง เนื่องจากพบว่า แนวตลิ่งด้านท้ายเขื่อนยาวกว่า 10 กิโลเมตร ทรุดตัวลงอย่างรุนแรง ส่วนน้ำเหนือเขื่อน ก็เน่าเสีย ทำให้กรมชลประทานตัดสินใจเปิดเขื่อนเพื่อให้น้ำได้ระบายออกไปตามธรรมชาติ ส่งผลให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์จากเขื่อนที่มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านบาท จนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หยิบขึ้นมาศึกษาหาสาเหตุของการใช้งบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ กรมชลประทาน ได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหา 5 ข้อ แก่นายกรัฐมนตรี 1.ให้มีการปรับการเปิด-ปิดบานประตู เพื่อให้เกิดการหมุนเวียนของระบบน้ำ 2.ให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ำเพิ่มเติม 3.ให้ทำแก้มลิงเพื่อเก็บกักน้ำ 4.การก่อสร้างทำนบกั้นน้ำท่วมและกำแพงป้องกันตลิ่งท้ายเขื่อน 5.ให้ทำแนวทางแบบผสมผสาน โดยให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือกัน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีได้สอบถามถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศน์ โดยได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นหลักในการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะปัญหาน้ำเสียที่เกิดจากฟาร์มเลี้ยงสุกร และยังได้สั่งการให้กรมชลประทานเร่งประสานแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน และต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้ง ส.ส.ในพื้นที่ จากนั้นให้นำเสนอผลต่อที่ประชุมครม. พิจารณาต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การเดินทางไปดูพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้ มีกลุ่มผู้คัดค้านการสร้างเขื่อน และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนเดินทางมาร้องเรียนต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อให้แก้ปัญหาด้วย ซึ่งตัวแทนชาวบ้านระบุว่า ข้อเสนอของกรมชลประทานอย่างน้อย 2 ข้อไม่สามารถปฏิบัติได้

พ.ต.ท.ทักษิณ เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงชาวฉะเชิงเทรา ที่ใช้น้ำบางประกงในการดำรงชีวิตประจำวัน

"ตอนที่สร้างเขื่อนหลังปิดประตูเขื่อน มีตลิ่งพังในหลายที่ และมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องน้ำเค็ม-น้ำจืด มีการทิ้งมูลสุกรและน้ำเสียลงในแม่น้ำบางปะกงจำนวนมาก จึงทรงเป็นห่วงและรับสั่งผมมาดู เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเสีย ปัญหาการปิดประตูเขื่อน และปัญหาทั้งหมดให้ครบวงจร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับชาวบ้าน" นายกรัฐมนตรี กล่าว

พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวต่อไปว่า เท่าที่ฟังการอธิบายของแต่ละฝ่าย เขาได้เร่งรัดให้แก้ไขปัญหาเรื่องของเสียก่อน เพราะใช้งบประมาณน้อย โดยจะให้ทหารเข้ามาช่วยส่วนหนึ่ง กรมปศุสัตว์ กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมการเกษตร จะเข้ามาช่วยกันหลายกลุ่ม ทำให้งานตรงนี้เสร็จเร็ว แต่คงต้องรอผลการศึกษา เรื่องการเปิด-ปิดประตูเขื่อน ที่อาจต้องทำแก้มลิงเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำทะเลหนุนสูงเกินไป และต้องไม่ทำให้เกิดตลิ่งพัง ซึ่งทางกรมชลประทาน ต้องพิจารณาศึกษา โดยบอกว่า จะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค. แต่ก็ขอให้เสร็จเร็วกว่านั้น เพื่อแก้ไขปัญหาให้เร็วขึ้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทำไมการสร้างเขื่อนนี้ ถึงมีผลเสียมากกว่าผลดี พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า อาจไม่ครบวงจร ในบางจุดทำไม่เสร็จ หรือเกิดจากการศึกษาที่มองปัญหาได้ไม่ครบ

"คงเป็นกรณีมองปัญหาไม่ครบ ในอดีตอาจเป็นเพราะแบ่งงานตามหน้าที่ ไม่ได้มองแบบูรณาการเท่าที่ควร เมื่อลงทุนทำแล้ว แต่ยังมีอะไรค้างอยู่ก็ทำให้ครบ ทำอะไรอีกนิดหน่อยน่าจะสมบูรณ์ เรื่องการแก้ไขนั้น สำหรับงบประมาณไม่เป็นอุปสรรค เพราะใช้ไม่มาก ไม่ได้สร้างใหม่ ตอนนี้จะไม่มีการปิดประตูระบายน้ำ เพราะที่ผ่านมา เมื่อปิดประตูระบายน้ำ ก็ทำให้น้ำท่วม ตลิ่งพัง เสียหาย ถึง 13 จุด" นายกรัฐมนตรี ระบุ

ทางด้าน นายประพัฒน์ กล่าวว่า เห็นด้วยกับข้อเสนอของกลุ่มผู้คัดค้าน ที่จะให้รัฐบาลเป็นตัวกลางในการจัดเวที แต่ควรรอผลข้อมูลทางวิชาการมาดูประกอบกันด้วย ซึ่งจะแล้วเสร็จใน พ.ค. 2545 นี้ ตามที่อธิบดีกรมชลประทานรายงาน เนื่องจาก ขณะนี้ ข้อมูลการศึกษา ผลกระทบและสิ่งแวลล้อมยังไม่เพียงพอ

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมากรมชลประทาน ไม่ยอมรับฟังเหตุผลของกลุ่มผู้คัดค้าน นายประพัฒน์ กล่าวว่า นายกฯ ได้ลงมาดูในพื้นที่รับทราบปัญหาด้วยตัวเอง เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับสั่งถึง 2 ครั้งให้ลงมาดู และนายกฯ ยังได้รับการร้องเรียนจากส.ส. ในพื้นที่ด้วย

นายอนันต์ ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคไทยรักไทย ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวมาตลอดได้บอกว่า ไม่จำเป็นต้องจัดเวทีพบปะระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชน แต่ขอให้หน่วยงานราชการพยายามปรับปรุงแก้ไขโครงการให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด และทำอย่างรวดเร็ว

เขากล่าวว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้หลายหน่วยงานลงไปร่วมกันพิจารณา เพราะเขื่อนดังกล่าว สร้างแล้วใช้ไม่ได้ ใช้งบประมาณแพงเกินไป และประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ด้านล่างเขื่อน ไปจนถึงปากอ่าว เดือดร้อน เพราะน้ำเค็มหนุนสูง จากเดิม 4 เดือนต่อปี มาเป็น 10 เดือนต่อปี

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง