“NPLs ที่ข้างทำเนียบ ”
กลุ่มคนข้างทำเนียบฯที่รัฐบาลเกรงว่าจะระเกะระกะระคายเคืองสายตาของท่านประธานาธิบดีรูมาเนียผู้มาเยือนจน พยายามต่อรองกดดันให้ย้ายแล้วไม่สำเร็จในที่สุดก็ต้องเอารถมาจอดบังและเปลี่ยนประตูทางเข้าทำ- เนียบของขบวนรถ ประธานาธิบดีนั้น จะว่าไปแล้วก็นับเป็นตัวปัญหายุ่งยากจริง ๆ
ปัญหาของตัวเขาคืออะไร ?
มองในภาพรวมของกระแสสังคมเศรษฐกิจไทยอย่างเลือดเย็น ปัญหาของพวกเขาคือสังคมต้องการให้ พวกเขากลาย เป็นชนชั้นกรรมาชีพหรือกระทั่งกรรมาชีพจรจัด (proletarianization or lumpen-proletarianization) จึงปลดเปลื้องทุนและ ทรัพยากรประดามีมาแต่เดิมของเขาทิ้งเสีย แล้วกดดันขับไสให้พวกเขาเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมบริการสมัยใหม่ในเมือง
มาเป็นแรงงานไร้ฝีมือตามโรงงานห้องแถว เข็นผักตามตลาด คุ้ยของตามกองขยะ ขายตัวตามสวน สาธารณะ หรือ ไม่ก็ขายยาบ้าข้างถนน
ทั้งหมดนี้เราเรียกว่า “การพัฒนา ” “ความทันสมัย ” และ “โลกาภิวัตน์”
แต่พวกเขาไม่ยอมไป
ตรงกันข้าม พวกเขาอยากกลับบ้านเกิดไปเป็นชาวนา (re-peasantization ในความหมายเกษตรกรราย ย่อยซึ่งรวมทั้ง ชาวประมงรายย่อยด้วย) กลับภูมิลำเนาไปทำเศรษฐกิจพอเพียง
ปมเงื่อนคือเศรษฐกิจพอเพียงทำบนอากาศธาตุอันว่างเปล่าหรือฟุตบาธริมถนนไม่ได้ หากต้องมี ทรัพยากรธรรม ชาติเช่นที่ดิน แม่น้ำ ป่าไม้ รองรับการผลิตและชีวิตความเป็นอยู่
แต่พวกเขาไม่มีทรัพยากรเหล่านั้น
ที่บราซิล คนจำพวกเดียวกับเขาได้ก่อตั้งเป็น ขบวนการคนงานชนบทไร้ที่ดิน (MST) อาศัยมาตราหนึ่ง ของรัฐธรรม นูญบราซิลซึ่งระบุว่า “ที่ดินซึ่งไม่ได้ทำการเพาะปลูกนั้น สามารถยึดครองได้เพื่อนำมาใช้ทางสังคม” นำชาวนาไร้ที่ดินบุกเข้ายึด ครองที่ดินรกร้างว่างเปล่าจากเจ้าที่ดินเอกชนรวม ๗๒ ล้านเฮคตาร์แล้วนำมาให้ชาวนา ๑๓๙,๐๐๐ ครัวเรือนจัดตั้งกันขึ้น เป็น สหกรณ์ชนบท ๕๕ แห่งใน ๑๒ รัฐเพื่อทำการผลิตทางเกษตรเลี้ยงตนเอง รวมทั้งขายตลาดภายในประเทศและส่งออก ในพื้นที่ สหกรณ์เหล่านี้ ขบวนการ MST ยังได้ก่อตั้งโรงเรียน ๑๘๐ โรง รับลูกหลานชาวนาเข้าเรียนหนังสือถึง ๓๘,๐๐๐ คนด้วย
สภาพเงื่อนไขเฉพาะของแบบแผนการถือครองที่ดินและโครงสร้างการจัดสรรอำนาจรัฐในบราซิล ทำ ให้กระบวน การเรียกคืนทรัพยากรเก็งกำไรรกร้างว่างเปล่าเพื่อใช้สิทธิ์ทำการผลิตและฟื้นฟูเศรษฐกิจพอเพียงของ ชาวนาไร้ที่ดินที่นั่น ต้อง เผชิญหน้ากับเจ้าที่ดินและแก๊งสมุนอันธพาลติดอาวุธ รวมทั้งกลไกอำนาจรัฐท้องถิ่นเป็น ด่านแรก โดยมีรัฐธรรมนูญคุ้มครอง และขบวนการชาวเมืองและปัญญาชนเป็นพันธมิตรสนับสนุน
ส่วนรัฐบาลกลางบราซิลก็คอยร้องปรามขัดแข้งขัดขาชาวนา และร้องเชียร์เอาใจช่วยเจ้าที่ดินอยู่ห่าง ๆ
ในกรณีโครงสร้างอำนาจรัฐแบบอัตอาณานิคมของไทย ชาวนาไร้ทรัพยากรผู้ไม่อยากเป็นกรรมาชีพ หรือกรรมาชีพจรจัดแต่อยากกลับไปเป็นชาวนาทำเศรษฐกิจพอเพียงใหม่ ต้องเผชิญหน้ากับรัฐราชการรวมศูนย์ เป็นอันดับแรก เพราะรัฐราชการนี้เองที่สยายอำนาจหนวดปลาหมึกจากส่วนกลางออกไปปกแผ่ควบคุมเหนือ ทรัพยากรทั้งชาติทั่วประเทศตามกฎหมาย และที่ผ่านมาก็ใช้อำนาจนั้นบริการทุนนิยม โดยรับเหมาทำหน้าที่ แทนนายทุนในการผันทรัพยากรจากเศรษฐกิจพอเพียงมาให้เศรษฐกิจการค้า และผลักดันชาวนามาเป็นกรรมาชีพ หรือกรรมาชีพจรจัด
กรมป่าไม้คุมป่า กรมทรัพยากรธรณีคุมแร่ กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย คุมทุกลุ่มน้ำที่เอาเขื่อนไปตั้ง ตำรวจ, มหาดไทยและกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมคุมคนงาน ฯลฯ
ส่วนรัฐบาลซึ่งเปลี่ยนหน้าทยอยกันเข้ามาชนกับชาวนาไร้ทรัพยากรชุดแล้วชุดเล่าก็เป็นเพียงกลุ่มผล ประโยชน์อุปถัมภ์ที่ทำตัวเป็นนายหน้าเอเย่นต์ให้กับรัฐทุนนิยมระบบราชการไทย (Thai bureaucratized capitalist state) ร่วมสมคบกับรัฐนั้นสูบและสวาปามค่าเช่าเศรษฐกิจหรือส่วนเกินทางการเมือง (economic rent or political surplus) จากสังคมไทยมาแบ่งปันกันเท่านั้นเอง
เมื่ออยู่ตรงกลางระหว่างชาวนาไร้ทรัพยากร กับ รัฐราชการรวมศูนย์ แล้วให้เลือกข้าง, พรรคและรัฐบาล ของนักเลือกตั้งแทบทุกชุดก็ต้องเลือกยืนข้างรัฐราชการรวมศูนย์อยู่แล้ว และเออออห่อหมกไปกับรัฐที่จะไม่ยอม คืนทรัพยากรให้ชาวนากลับไปทำเศรษฐกิจพอเพียง
กลุ่มคนเจ้าปัญหาข้างทำเนียบฯจึงกลับบ้านที่อีสานไม่ได้เพราะกลับไปก็ไม่มีทรัพยากร
ถ้าพวกเราชาวเมืองหลายคนกลับบ้านไม่ได้เพราะมี NPLs (Non-Performing Loans) คนจนข้างทำเนียบ ก็กลับบ้านไม่ได้เพราะเป็น NPLs เหมือนกัน แต่ในความหมาย Non-Performing Lives
คือมีใจอยากแต่มิอาจกลับไปดำเนินวิถีชีวิตชาวนาตามปกติได้ เพราะไม่มีทรัพยากรรองรับ
มีแต่หนี้ เจ้าหนี้ น้ำท่วม ขาดแคลนปลาที่เคยจับ ไม่มีที่นาให้ทำการผลิต ไม่มีทรัพยากรที่จะทำเศรษฐ กิจพอเพียงของชุมชน
เขาจึงต้องบากหน้าตากหน้ามาเป็น “ม็อบ” หรือ “ผู้ประท้วง” ให้ประธานาธิบดีรูมาเนียระคายตา รัฐบาล ด่าว่าและเรารังเกียจเพราะพวกเขาไม่มีทรัพยากร
ถ้ามีทรัพยากรเสีย ก็มีเงื่อนไขเป็นไปได้ที่พวกเขาจะสามารถเปลี่ยนสภาพกลับกลายเป็นผู้ผลิตมูลค่า เพิ่ม ผู้เสียภาษี และกระทั่งเป็นตลาดผู้บริโภคสินค้าและบริการของภาคอุตสาหกรรม-บริการในเมือง คือเป็นลูก ค้าของคนเมืองให้เรา เอาอก เอาใจบ้าง
การคืนทรัพยากรให้คนจน ให้พวกเขากลับเป็นชาวนา ไปทำการผลิต ฟื้นเศรษฐกิจพอเพียง จึงไม่ใช่ ผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเฉพาะส่วนลำพังตัวพวกเขาเหมือนที่ม็อบสารพัดกลุ่มมาเรียกร้องเอาเงินค่าอุดหนุนช่วย เหลือราคาผลผลิต ค่าน้ำมัน สิทธิการเป็นตัวแทน เงินเดือน ฯลฯ จากรัฐบาลชวนในระยะใกล้ ๆ นี้ที่ผ่านมา
อีกทั้งไม่ใช่เป็นแค่ปัญหาเมตตาธรรมมนุษยธรรมที่คนเมืองคนชั้นกลางพึงเห็นอกเห็นใจอนุเคราะห์อนุโลมให้ แบบสังคมสงเคราะห์
หากเป็นเรื่องที่ถ้าคนจนได้ คนชั้นกลางและคนรวยก็จะได้ด้วย, เศรษฐกิจพอเพียงได้ เศรษฐกิจการค้า ก็จะได้ด้วย, ชาวนาชาวประมงเกษตรกรรายย่อยได้ ฐานเศรษฐกิจแห่งชาติก็จะได้ด้วยในระยะยาว อย่างมั่นคง และยั่งยืน - ไม่ใช่ได้แบบหวือหวาประเดี๋ยวประด๋าว เดี๋ยวก็โป่งพองเดี๋ยวก็แฟ่บแตก เพราะพึ่งพาแต่เงินทุนกับ เทคโนโลยีต่างชาติ และตลาดส่งออกซึ่งผันผวนแปรปรวนอยู่เหนือการกำกับควบคุมของเรา
การปลดปล่อยทรัพยากรโดยเฉพาะปฏิรูปที่ดินที่ถูกทิ้งให้รกร้างว่างเปล่าจากการเก็งกำไร มาคืนให้แก่ คนจนทำการผลิต จะเป็นการปลดปล่อยขุมพลังการผลิตที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาติ ช่วยให้เราพึ่งต่างชาติน้อยลง สามารถพึ่งตัวเองและเลือกพัฒนาได้อย่างสอดคล้องเป็นมิตรกับฐานชีวิตผู้คน วัฒนธรรมชุมชนและสิ่งแวดล้อม ของเราเองยิ่งขึ้น
ในแง่นี้ ถ้ายังแก้ NPLs ของพวกเขาไม่ได้ NPLs ของเราก็คงแก้ยากเหมือนกัน