ปัดฝุ่นสำรวจ "ผามอง" เตือนหายนะน้ำโขง

fas fa-pencil-alt
ผู้จัดการออนไลน์
fas fa-calendar
14 พฤศจิกายน 2550

ชาวบ้านในลำน้ำโขงทางภาคใต้ของลาวใช้ชีวิตเรียบง่ายทำมาหากินโดยพึ่งพาลำน้ำ ภาพนี้จะเปลี่ยนไปทันทีหากมีการก่อสร้างเขื่อนดอนสะฮอง เจ้าหน้าที่โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าวว่าทางน้ำไหลที่ชาวบ้านเรียกว่า "ฮูสะฮอง" เป็นเส้นทางอพยพหลักของฝูงปลาจากโตนเลสาป (Tonle Sap) ในกัมพูชาไปสู่ลำน้ำโขงในลาวและไทย หายนะด้านเสบียงอาหารจะติดตามมา (ภาพ: TERRA)

แผนที่แสดงที่ตั้งเขื่อนกั้นลำน้ำโขงทั้ง 6 แห่งในลาวและชายแดนไทย-ลาว กับอีก 1 แห่งใน จ.กระแจ๊ะ (Kratie) กัมพูชา ไทย-ลาวได้ร่วมกันปัดฝุ่นโครงการเขื่อนผามองเมื่อ 40 ปีก่อนกลับมาพิจารณาอีกครั้ง เจ้าหน้าที่องค์กรภาคเอกชนอนุรักษ์สภาพแวดล้อมกล่าวว่าการสำรวจเริ่มขึ้นแล้ว (ภาพ: TERRA)

ผู้จัดการรายวัน -- เจ้าหน้าที่อนุรักษ์สภาพแวดล้อมมูลนิธิเอกชนกล่าวว่า ในปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาเอกชนแห่งหนึ่งได้เริ่มสำรวจพื้นที่โครงการเขื่อนผามอง (Pa Mong) ซึ่งเป็นเขื่อนแห่งที่ 7 ที่จะสร้างกั้นลำน้ำโขง พรมแดนธรรมชาติช่วงแขวงเวียงจันทน์ของลาว กับ จ.เลยของไทย

นางสาวเปรมฤดี ดาวเรือง แห่งโครงการเทอร์รา (TERRA) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนเปิดเผยเรื่องราวดังกล่าวระหว่างการแถลงข่าวในกรุงเทพฯ เมื่อวันอังคาร (13 พ.ย.) นี้

การแถลงข่าวจัดขึ้นในขณะที่องค์กรเอกชนกับเอกชนกว่า 200 รายใน 30 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันส่งหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission) หรือ MRC ให้ทำหน้าที่ในการป้องกันผลกระทบด้านสภาพแวดล้อมจากการสร้างเขื่อนกั้นลำน้ำนานาชาติสายนี้

MRC กับประเทศ หน่วยงานและองค์การที่เป็นผู้บริจาคกำลังจะประชุมในวันพฤหัสบดี (15 พ.ย.) นี้ที่เมืองเสียมราฐ กัมพูชา

เขื่อนผามองจะเป็นเขื่อนกั้นน้ำโขงแห่งที่ 2 ระหว่างไทยกับลาว ถัดจากเขื่อนบ้านกุ่ม (Ban Koum) ที่อยู่ใต้ลงไปที่ชายแดน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กับ แขวงจำปาสัก ซึ่งบริษัทปัญญาคอนซัลแทนช์ กำลังสำรวจความเป็นไปได้

"เท่าที่เราทราบมาจากพื้นที่ ได้มีคณะลงไปสำรวจ (โครงการผามอง) แล้วในพื้นที่อำเภอเชียงคาน (จ.เลย) อาจจะพร้อมๆ กับที่บ้านกุ่ม" น.ส.เปรมฤดีกล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" ทางโทรศัพท์ โดยเชื่อว่าบริษัทเอกชนของไทยได้ว่าจ้างให้สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่งลงพื้นที่สำรวจเก็บข้อมูล

โครงการผามองเริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 โดยหน่วยงานแห่งหนึ่งของสหรัฐฯ ซึ่งจะสร้างให้แก่ไทยและลาวโดยอ้างเหตุผลด้านการชลประทานเพื่อ "สร้างความมั่นคงด้านอาหาร" ในสองประเทศนี้ ขณะที่เขื่อนมีกำลังติดตั้งผลิตไฟฟ้าถึง 4,800 เมกะวัตต์

อีกหลายปีต่อมาได้มีการลดขนาดของโครงการปากมองลงให้เป็นโครงการ Low Pak Mong แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ จนกระทั่งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2538 จึงได้ปัดฝุ่นโครงการนี้ขึ้นมาดำเนินการอีกครั้ง

ตามตัวเลขของ น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ แห่งโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต เขื่อนปากมองอาจจะส่งผลกระทบทำให้ต้องอพยพผู้คนออกจากพื้นที่ทั้งในฝั่งไทยและฝั่งลาวกว่า 50,000 คน

นอกจากเขื่อนปากมองและเขื่อนบ้านกุ่มแล้ว ยังมีเขื่อนกั้นลำน้ำโขงอีก 5 แห่งที่อยู่ระหว่างสำรวจ-การศึกษาความเป็นไปได้โดยบริษัทจากจีน ไทยและมาเลเซีย ทั้งหมดอาจจะส่งผลกระทบต่อราษฎรถึง 75,000 คนใน 3 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว และไทย

บริษัทจีนได้เข้าลงทุนสำรวจเขื่อนปากแบ่ง (Pak Beng) ในแขวงอุดมไซ กับเขื่อนปากลายที่เมืองปากลาย ในแขวงไซยะบูลี และกลุ่ม ช.การช่าง จากไทยได้เข้าสำรวจเขื่อนไซยะบูลี ในแขวงเดียวกัน ใต้ลงไปบริษัทจากมาเลเซียได้ทำการสำรวจศึกษาเขื่อนดอนสะฮอง (Done Sahong) ที่จะสร้างกั้น "ฮูสะฮอง" ลำน้ำสายหนึ่งของแม่น้ำโขงในเขตสี่พันดอน ติดชายแดนกัมพูชา และบริษัทจีนอีกแห่งหนึ่งกำลังสำรวจเขื่อนซัมบอร์ (Sam Bor) ในพื้นที่ จ.กระแจ๊ะ (Kratie) กัมพูชา

น.ส.เพียรพรกล่าวว่า จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ เขื่อนดอนสะฮองกำลังจะสร้างความหายนะที่ใหญ่หลวงที่สุดต่อระบบนิเวศแห่งลำน้ำโขง และจะส่งผลกระทบในทางลบต่อประชาชนทั้งชาวกัมพูชา ลาว และไทย

"ดอนสะฮองเป็นเส้นทางอพยพที่สะดวกที่สุดของฝูงปลาจากโตนเลสาป (ในกัมพูชา) ไปสู่แม่น้ำโขง.." เจ้าหน้าที่โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตกล่าว

ดอนสะฮองเป็นเขื่อนขนาดเล็กปั่นไฟฟ้าเพียง 240 เมกะวัตต์ โดยบริษัทเมะเฟิร์สท์ คอร์ปอเรชั่น แต่จะสร้างความเสียหายมากที่สุดต่อระบบแม่น้ำโขง ต่อการขยายพันธุ์ของปลา รวมทั้งต่อความเป็นอยู่ของโลมาอิรวดี (ปลาข่า) ที่กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ ในบริเวณสี่พันดอน

แม่น้ำโขงเป็นที่อยู่ของปลาสายพันธุ์ต่างๆ ประมาณ 1,300 สายพันธุ์ เป็นแหล่งอาหารของประชาชนราว 60 ล้านคน น.ส.เพียรพรกล่าว

ส่วนเขื่อนซัมบอร์ บริษัทไชน่าเซาเธอร์นพาวเวอร์กริดกำลังสำรวจและพิจารณา 2 ทางเลือก คือสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ 3,300 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเกิดอ่างเก็บน้ำ 880 ตร.กม. หรือ สร้างขนาดเล็กลงเหลือกำลังปั่นไฟเพียง 465 เมกะวัตต์ กับอ่างเก็บน้ำ 6 ตร.กม.

เจ้าหน้าที่โครงการ TERRA กับโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิตฯ กล่าวว่า เขื่อนซัมบอร์จะสร้างผลกระทบอย่างมากมายต่อเวียดนาม ซึ่งมีเขตที่ราบปากแม่น้ำโขงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของประเทศ แต่ยังไม่ทราบท่าทีใดๆ ของเวียดนามเกี่ยวกับโครงการนี้

"แต่เวียดนามก็กำลังต้องการไฟฟ้าด้วยเหมือนกัน" น.ส.เปรมฤดีกล่าว

ในวันจันทร์ (12 พ.ย.) องค์กรภาคเอกชนและบุคคลจำนวน 201 รายชื่อในนาม "กลุ่มประชาสังคมในประเทศแม่น้ำโขง 126 กลุ่ม" ได้ส่งหนังสือถึงคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง เรียกร้องให้ MRC ปฏิบัติตามพันธกิจในการปกป้องแม่น้ำโขงตาม "ข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน" ปี 2538 ซึ่งเป็นที่มาของการก่อตั้ง

หนังสือยังส่งถึงสมาชิกคณะมนตรีของแต่ละประเทศในคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ที่ประกอบด้วยไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม สมาชิกสภาที่ปรึกษาในแต่ละประเทศ ธนาคารพัฒนาเอเชีย ธนาคารโลกและโครงการเพื่อการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ซึ่งเป็นผู้บริจาครายใหญ่

หนังสือของกลุ่มประชาสังคมฯ ระบุในตอนหนึ่งว่า การลดลงของพันธุ์ปลาในแม่น้ำโขงและแม่น้ำโตนเลสาป แม้จะเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิด แต่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตของชุมชนนับพัน

แม้รู้ว่ามีความเสี่ยงมหาศาลต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อม แต่ MRC กลับมิได้มีปฏิกิริยาใดๆ ภายใต้ข้อตกลงแม่น้ำโขงปี 2538 ซึ่ง MCR มีภารกิจในการ “ป้องกันและการหยุดยั้งผลกระทบที่เป็นอันตราย..” กลุ่มประชาสังคมฯ กล่าวในตอนหนึ่ง

นายสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสังคมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ร่วมในการแถลงข่าวเมื่อวันอังคาร กล่าวว่าจะต้องสร้างความสมดุลกันระหว่างความต้องการพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในเอเชียกับชีวิตของประชาชนในชนบทที่ยังต้องพึ่งพาที่ดินและแม่น้ำ

คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงควรจะ “พิสูจน์ความมีประโยชน์ต่อหน้าสาธารณชน ไม่ใช่แค่ความมีประโยชน์ทางด้านธุรกิจและผลประโยชน์เท่านั้น” นักวิชาการนักวิจัยของไทยกล่าว.

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง