ปากมูลเราจะต้องเป็นขี้ข้าต่างชาติต่อไป (1)

fas fa-pencil-alt
ยอดธง ทับทิวไม้- ผู้จัดการ
fas fa-calendar
26 ธันวาคม 2545

“ในการกระทำอันเป็นการดูถูกเหยียดหยามอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ของประชาชนแห่งลุ่มน้ำนัมทานที และประชาชนแห่งอินเดีย บริษัทอเมริกันที่หากินกับการสร้างเขื่อนพลังงานไฟฟ้าชื่อกลุ่มพลังงานออกเดน (Ogden Energy Group) ซึ่งเดินทางมาอินเดียในอาทิตย์นี้ ในฐานะกลุ่มบริวารบริษัทข้ามชาติโดยการมาร่วมกับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา นายบิลล์ คลินตัน เพื่อมาทำสัญญาร่วมมือกับบริษัทเอกชนเมื่อวันที่ 23 มีนาคม เพื่อลงทุนร่วม 49 เปอร์เซ็นต์ ในโครงการผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ชื่อ Maheshwar Hydro-Electro Project

ในการปราศรัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนที่นายบิลล์ คลินตัน ได้ปราศรัยต่อประชาชนในการเดินขบวนคัดค้านครั้งใหญ่ของประชาชนที่ซีแอตเติล เมื่อปี 2543 เป็นการพูดที่ปลุกกระตุ้นให้เกิดการตื่นตัวของประเทศที่กำลังพัฒนาต่างๆ ขึ้นมาทั่วโลก แต่การกระทำอันเป็นการรีบร้อนและด้วยความคิดชั่วร้ายในการลงทุนในเรื่องนี้ แสดงให้เห็นการมาเยือนอินเดียของนายบิลล์ คลินตัน นั้น ความจริงมันคืออะไร คำตอบก็คือการเอาตัวเองเข้าไปผูกพันหรือมีการผูกพันตัวเองเข้าไปกับผลประโยชน์ขนาดใหญ่ของบริษัทอเมริกา ซึ่งเป็นการเหยียบย่ำกฎหมายของอินเดียทุกๆ ด้าน รวมถึงการเหยียบย่ำรัฐธรรมนูญของอินเดียและสิทธิของประชาชนอินเดีย”

ข้อความนี้เก็บมาจากแถลงการณ์ประณามและขับไล่นายบิลล์ คลินตัน ประธานาธิบดีอเมริกันที่เดินทางไปเยือนอินเดียในระหว่างวันที่ 23 มีนาคม 2543 ของประชาชนชาวอุตรประเทศในอินเดียที่มีชื่อว่า “เพื่อนแห่งนัมทา” (INSOLIDARITY-FRIENDS OF NARMADA) ที่กำลังต่อต้านการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำอันศักดิ์สิทธิ์ของอินเดียที่รู้จักกันมาในสมัยพระพุทธเจ้า ที่ผู้คนอินเดียได้พึ่งพาอาศัยมาตลอดเวลาหลายพันปีมาแล้ว โดยนายบิลล์ คลินตัน จะเป็นผู้ไปเซ็นสัญญาในนามของบริษัทอเมริกันกับนักขายชาติชาวอินเดียในอุตรประเทศ

ในเมืองไทยภาพของการต่อต้านเขื่อนปากมูลของประชาชนที่ได้รับผลกระทบกับเจ้าหน้าที่บ้านเมือง และนักการเมืองขายชาติคณะรัฐบาล (ในขณะนั้น) กำลังถูกเผยแพร่ออกอากาศไปทั่วประเทศและทั่วโลก รัฐบาลไทยพยายามทาสีประชาชนผู้ยากไร้ที่มีปัญหาอย่างหนักและพยายามทาสีป้ายความผิด และความชั่วร้ายให้แก่ประชาชนอย่างสกปรก เฉพาะอย่างยิ่งทางด้านเจ้าพนักงานตำรวจ ซึ่งมาทำหน้าที่เป็นสุนัขรับใช้ของนักการเมืองขายชาติของเรา (ในขณะนั้น) และประกาศโพนทนาไปทั่วประเทศว่ามีมือที่สามเข้ามายั่วยุวางแผนเพื่อเลิกล้มรัฐบาลนี้ แต่ทุกคนจะไม่ทราบว่าการประท้วงการสร้างเขื่อนของประชาชนทั่วโลกที่ก่อให้เกิดผลร้ายแก่ประเทศชาติและแผ่นดินทุกแห่งนั้น มันมีมากมายนัก แม้แต่อเมริกาเอง หลังจากลองใช้เขื่อนเพื่อเป็นแบบฉบับการชลประทานของโลก ตอนนี้ก็มีเขื่อนบางเขื่อนที่อเมริกาตัดสินใจที่จะรื้อทิ้งไปแล้ว แต่อเมริกาและนายทุนตะวันตกโดยการสนับสนุนของธนาคารโลกก็พยายามจะทำลายแผ่นดินของ ประเทศด้อยพัฒนาทุกประเทศในนามของการพัฒนาต่อไปอีก เพื่อรับใช้บริษัทข้ามชาติของนายทุนตะวันตกหรือของอเมริกากันอย่างไม่มีวันหยุด!

และก่อนที่คนจากเขื่อนปากมูลจะมาประท้วงในอินเดียที่แคว้นอุตรประเทศ หรือแม่น้ำนัมทาที่รู้จักกันมาแต่ในสมัยพระพุทธเจ้าก็เริ่มจะถูกทำลายลงโดยอเมริกัน โดยมีนายบิลล์ คลินตัน ประธานาธิบดีอเมริกา ผู้ที่เคยพูดพร่ำถึงสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชนไม่ขาดปาก เป็นคนที่ลงทุนเดินทางไปในนามของประเทศเจ้าของอุดมการณ์สิทธิมนุษยชนและอุดมการณ์สิ่งแวดล้อม เป็นคนเดินทางไปทำสัญญาตกลงด้วยตนเองในนามของบริษัทผูกขาดของอเมริกา

นี่คือเรื่องของโลก เรื่องของการโกหกพกลมและหน้าไหว้หลังหลอกในวงการเมืองและนักการเมืองของโลก และเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศใหญ่กับประเทศเล็ก ระหว่างประเทศล่าเมืองขึ้นกับคนขายชาติในประเทศด้อยพัฒนาทั่วโลก!

การประท้วงการสร้างเขื่อนจากการวางแผนของประเทศทุนนิยมที่ใช้ธนาคารโลกเป็นเครื่องมือดำเนินการนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ อเมริกาและธนาคารโลกได้วางแผนและดำเนินการชั่วร้ายในเรื่องนี้เป็นเวลานานมาแล้ว และมันได้ทำลายประเทศด้อยพัฒนาอื่นๆ นับเป็นสิบๆ ร้อยๆ ประเทศมาแล้ว ทุกประเทศพร้อมที่จะลุกขึ้นประณามและประท้วงกันอย่างยอมตายถวายชีวิต เพราะว่าการสร้างเขื่อนนั้นผลที่ได้รับแน่นอนที่สุดก็คือมันได้ (1) ทำลายสิ่งแวดล้อมทั้งหมดที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมของประเทศหนึ่งๆ (2) มันทำลายสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ดั้งเดิมของเจ้าของแผ่นดินที่สร้างเขื่อนในประเทศนั้นๆ อย่างยับเยินมาแล้วทุกแห่ง (3) มันทำลายสิทธิความเป็นมนุษย์ที่จะต้องถูกทำลายการเลือกมีชีวิตอยู่ตามขนบประเพณีและตาม ความต้องการของตนเองที่ได้รับการยอมรับจากธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ประเทศไทยและชาวเขื่อนปากมูลที่รวมตัวกันประท้วงครั้งนี้ ความจริงเป็นการเริ่มต้นที่ช้ากว่าการประท้วงของประชาชนในประเทศอื่นๆ แม้แต่ในอินเดียที่มีปัญหาเดียวกัน

ในประเทศด้อยพัฒนาที่บริษัทข้ามชาติตะวันตกพากันเจ้ากี้เจ้าการไปสร้างและการวางแผนสร้างพลังงานเพื่อผลิตไฟฟ้านั้น ความจริงมันเป็นเพียงคำพูดโกหกพกลมของธนาคารโลกที่ทำตามคำสั่งของอเมริกาและทุนนิยมตะวันตกที่ต้องการ (1) ขายเทคโนโลยีหรือความรู้วิชาในการสร้างเขื่อนแบบสมัยใหม่ของตะวันตกที่ชาติทุนนิยมตะวันตกเท่านั้น ที่จะได้รับประโยชน์ (2) เพื่อระบายและขายเครื่องมือและอุปกรณ์ในการสร้างเขื่อนที่แต่ละประเทศผลิตขึ้นมาได้ เพื่อทำเป็นสินค้าส่งออกในราคาสูง (3) เพื่อทำลายการทำมาหากิน และการมีชีวิตอยู่ของประชาชนในแต่ละพื้นที่จะต้องสร้างเขื่อนให้เกิดความระส่ำระสาย โดยการสร้างปัญหาความขัดแย้งให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนในแต่ละประเทศ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพการดำรงชีวิต (4) เพื่อสร้างภาระให้แก่เจ้าของประเทศที่จะต้องไปรับผิดชอบปัญหาประชาชนและสิ่งแวดล้อมในเขตที่ไปก่อสร้าง อันจะทำให้ประเทศยากจนให้จนหนักขึ้นไปจนหนีไม่พ้นที่จะต้องพึ่งพาประเทศร่ำรวยตลอดไป (5) เพื่อเป็นการซื้อนักวิชาการและผู้บริหารบ้านเมืองให้ทำหน้าที่ขายชาติบ้านเมืองของตนให้แก่อเมริกา และกลุ่มประเทศทุนนิยมต่อไป (6) เพื่อการเตรียมพลังงานอย่างเพียงพอและในราคาถูกรอรับการเข้ามาลงทุนของ ประเทศทุนนิยมตะวันตกในยามที่ต้องการและสามารถจะแสวงหาผลประโยชน์ได้

การสร้างเขื่อนที่ทำมาแล้วทั่วโลกยังไม่เคยปรากฏว่ามีประเทศไหนในโลกนี้ที่ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับประโยชน์ ตรงข้ามมีแต่จะเสียประโยชน์อย่างหนักทั้งสิ้น

ผลของการสร้างเขื่อนในประเทศด้อยพัฒนา เพื่อผลประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติตะวันตก ทำให้ผู้ที่ยังหวังดีต่อความอุดมสมบูรณ์ของโลกที่จะต้องคงสภาพอยู่อย่างที่ธรรมชาติสร้างไว้ให้ โดยที่จะไม่ถูกทำลายด้วยความหิวกระหายของนักปล้นสะดมที่กำลังคิดด้วยกันอยู่ทั่วโลกเวลานี้ และเพื่อช่วยเหลือปกป้องประชาชนผู้ยากจนและอ่อนแอทั่วโลก ไม่ให้ต้องตกเป็นเหยื่อการทำลายสภาพชีวิตและความเป็นอยู่ เพื่อประโยชน์ของบริษัทข้ามชาติเพียงไม่กี่รายพวกนี้ ก็ได้มีกลุ่มบุคคลที่มีสติปัญญาและมีคุณธรรมและมนุษยธรรมของโลกจำนวนหนึ่ง (เหนือกว่ารัฐบาลไทยและนักการเมืองประเภทโมฆบุรุษของไทยที่พากันกินบ้านกินเมืองกันอยู่โดยธรรมชาติ) ได้รวมตัวกันเฝ้าศึกษาสังเกตและติดตามผลของการสร้างเขื่อนทั้งโลกหลายต่อหลายกลุ่มหลายพวก

กลุ่มเหล่านั้นเป็นกลุ่มคนที่มีความรู้และมีอิทธิพลทั้งโลก เฉพาะทางด้านเรื่องน้ำเรื่องดินและสิ่งแวดล้อม รวมถึงอากาศและมลพิษ ซึ่งผู้รู้ได้ให้รายละเอียดว่ากลุ่มเหล่านี้ได้แก่ “คณะกรรมการเขื่อนโลก” (WCD) เป็นองค์กรอิสระที่ตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ. 2540 จัดตั้งขึ้นมาหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการระหว่างธนาคารโลกและสหพันธ์เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติสากล (IUCN) ที่เมืองแลนด์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคณะกรรมการเขื่อนโลกก็ให้เป็นองค์การที่ทำหน้าที่ในการศึกษา ประสิทธิภาพของการสร้างเขื่อนและแหล่งน้ำ การวางกฎเกณฑ์และแนวนโยบายในการวางแผน ออกแบบ ก่อสร้าง ติดตามผลและการยกเลิกการสร้างเขื่อน

คณะกรรมการเขื่อนโลกมีสมัชชาประกอบด้วยองค์กรต่างๆ 56 องค์กร จาก 34 ประเทศ ที่สำคัญได้แก่ องค์กรเพื่อพัฒนาระหว่างประเทศเช่น ธนาคารโลก (WORLD BANK) ธนาคารพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) องค์การอาหารและเกษตรโลก (FAO) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) โครงการแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ องค์กรชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อนจากประเทศต่างๆ สหพันธ์ชนพื้นถิ่นเวเนซุเอลา โครงการร่วมมืออนุรักษ์ลุ่มน้ำเซเนกัล-เซเนกัล สภาใหญ่ชนเผ่าคิรี-แคนาดา สหพันธ์เพื่อการพัฒนาซังกิ-ปากีสถาน

สมาคมการสร้างเขื่อนเช่น สมาคมเขื่อนใหญ่นานาชาติ (ICOLD) คณะกรรมการนานาชาติเพื่อการชลประทานและการระบายน้ำ (ICID) องค์การพลังงานนานาชาติ (IEA) สถาบันการเงินพหุภาคีและค้ำประกันเพื่อการส่งออกเช่น กองทุนเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล (OECF) ธนาคารนำเข้าและส่งออกแห่งสหรัฐอเมริกา องค์การแห่งการร่วมมือนานาชาติแห่งนอร์เวย์ (NORAD) องค์การเพื่อการพัฒนานานาชาติแห่งสวีเดน (SIDA) องค์การพัฒนาเอกชนเช่น สหพันธ์การอนุรักษ์ธรรมชาติสากล (IUCN) กองทุนสัตว์ป่าแห่งโลก (WWF) เครือข่ายแม่น้ำแห่งชาติ (WRI)

รายชื่ออันยืดยาวนี้เก็บเอามาจากรายงานของผู้เชี่ยวชาญทางด้านเขื่อนและน้ำที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “มติชน” ฉบับวันที่ 28 พฤษภาคม 2543 เพื่อเป็นการบอกกล่าวประชาชนคนไทยและชาวปากมูล และประชาชนคนไทยที่มาถูกตีหัวที่บริเวณทำเนียบรัฐบาลไทยว่า ความเดือดร้อนเรื่องเขื่อนหรือปัญหาเรื่องเขื่อนนั้น เป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกทั้งโลก และมีการต่อสู้และการสาปแช่งคนทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะคนปากมูลหรือคนอุบลฯ เท่านั้น ตั้งแต่เลโซโทในแอฟริกาใต้ ปากีสถาน มัทธยมประเทศจนกระทั่งเมืองจีนตลอดลุ่มแม่น้ำเหลืองประเทศ และประชาชนเหล่านี้ก็ได้รับความวิบัติกันมาแล้ว เพราะเขื่อนที่เกิดจากความคิดความอ่านหรือเจตนาร้ายขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นลูกมือลูกตีนของอเมริกาทั้งนั้น!

การทำงานและภาระหน้าที่ที่องค์การเขื่อนโลกหรือองค์การที่เกี่ยวกับเขื่อนในโลกทั้งหมด 5-6 องค์กรใน 34 ประเทศนี้ ได้ทำงานตามภาระหน้าที่ของเขาอย่างเปิดเผยและประกาศไปทั่วโลกมาเป็นเวลานานหลายประเทศแล้วว่า หน้าที่และภารกิจของเขาก็คือการให้นักขายชาติพวกนี้จง

“หยุดยั้งและพิทักษ์รักษาระบบแม่น้ำ และให้การสนับสนุนชุมนุมชนในอันที่จะปกป้องและสร้างเสริมการอยู่ดีกินดีของประชาชน วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องพึ่งแม่น้ำลำธารให้การสนับสนุนต่อการธำรงคงไว้ให้ได้ต่อสภาพสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างเขื่อนหรือการเปลี่ยนทางเดินของแม่น้ำ จะพยายามสร้างความเข้าใจอันกว้างขวาง การเคารพต่อบุญคุณของแม่น้ำจะให้การสนับสนุนการต่อสู้ตลอดทั้งโลก เพื่อความอยู่รอดของสิ่งแวดล้อม เพื่อความเป็นธรรมทางสังคมและสิทธิมนุษยชน และเพื่อยืนยันการกระทำของเราที่จะเป็นตัวอย่างของความรับผิดชอบและการกระทำที่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่โลก”

ในความเป็นจริงแล้ว คำประกาศบอกกล่าวนี้ก็เป็นคำประกาศที่น่ายินดีที่บอกให้เรารู้ว่าในโลกเรานี้ยัง มีมนุษย์ที่มีความเป็นมนุษย์อยู่ ในขณะที่ประเทศไทยของเรายังมีแต่เพียงมนุษย์ที่มีแต่ความเป็นสัตว์ที่ต่ำกว่าสัตว์ชั้นต่ำทุก ประเภทที่มีอยู่ในโลก จะทำลายทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ผู้คน แม่น้ำลำธาร มนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชนสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับที่ได้รวมหัวกันให้ร้ายป้ายสี ทาสี และทำลายคนยากคนจนที่ต่อสู้รักษาผืนแผ่นดินและแม่น้ำปากมูลของเขาอยู่ในขณะนี้ ที่หน้าทำเนียบนายกรัฐมนตรีของเรา

เพราะเหตุผลนี้เองที่เราสามารถพูดกันได้เต็มปากว่า เมืองไทยที่มันกำลังฉิบหายวายวอดกันหนักยิ่งขึ้นไปทุกวันนี้ ก็เพราะเรามีแต่สัตว์ประเภทนี้ได้เข้ามากินบ้านกินเมืองวุ่นวายไปหมด!

นอกจากรายงานอื่นๆ แล้ว องค์การเขื่อนโลกซึ่งได้ติดตามเรื่องราวของเขื่อนปากมูลมาตั้งแต่ต้นเช่นเดียวกับ ที่ได้นั่งศึกษา ติดตามเขื่อนสารพัดชั่วอื่นๆ ในโลกมาอย่างไม่วางตา ได้ศึกษารายละเอียดเขื่อนปากมูลทั้งหมดที่คนไทยทั้งชาติไม่เคยมีโอกาสรู้หรือแม้แต่ คณะรัฐบาลและนักขายชาติทุกกลุ่มที่พากันมาสุมหัวกันกินบ้านกินเมืองอย่างอึกทึกหั่นแหลกอยู่ก็อาจจะไม่มีทางรู้ก็คือ รายงานขององค์การเขื่อนโลกที่นั่นคือ รายงานความระยำ 4 ประการที่องค์การได้พบก็คือ (1) การศึกษารายละเอียดทุกอย่างเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนปากมูลอย่างสุกเอาเผากิน หรือการศึกษาโดยวิธีการยกเมฆและนั่งเทียน (Poor Process of Implementation) ก็คือไม่เพียงแต่จะศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ได้มีการศึกษาก่อนที่จะมีการตัดสินใจสร้างนานถึง 10 ปีก่อนหน้านั้น ผลการศึกษาที่เลวที่สุดก็คือ วิธีการศึกษานั้นดำเนินไปในขอบเขตของวิธีการที่ล้าสมัยที่สุด หรือใช้วิธียกเมฆนั่งเทียนเอาล้วนๆ โดยไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆ หรือเรียกว่าหลักฐานทางวิชาการที่ทันสมัย (2) ขาดตัวเลขข้อมูลการก่อสร้างรากฐาน? (Lack of Baseline Data) การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Enviromental Impact Assessment-EIA) ซึ่งเป็นการประเมินเอาจากมาตรฐานของเขื่อนขนาดใหญ่ที่ได้มีการประเมินกันไว้แล้ว 2525

ตัวอย่างที่ยกขึ้นมาพูดกันก็คือ การสุ่มตัวอย่างปลาที่ได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2525 ได้มีการศึกษาไว้อย่างแคบๆ และรวบรัด ไม่มีความน่าเชื่อถือหรือไม่มีคุณภาพพอที่จะเชื่อถือได้ ไม่มีตัวเลขที่ชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องปลาในแม่น้ำมูลและในแม่น้ำโขง ก่อนที่จะลงมือก่อนที่เขื่อนจะถูกสร้าง ไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐกิจ สภาพชีวิตความเป็นอยู่ มาตรฐานของชีวิตของประชาชนที่จะได้รับผลกระทบแก่ประชาชน ไม่ได้มีการศึกษาในบริเวณก่อนที่จะดำเนินโครงการในระหว่างปีพ.ศ. 2525-2526 ประชาชนชาวบ้านที่จะถูกไล่ออกไปจาที่อยู่อาศัยเดิมไม่ได้มีการสำรวจก่อนที่จะมีการเคลื่อนย้ายออกไป หรือไม่ว่าในเรื่องใดก็หาหลักหาเกณฑ์อะไรมาจัดการกับผู้คนและสิ่งแวดล้อมที่จะนำมาจัดการแก้ไขปัญหาได้ (3) ประชาชนไม่มีส่วนเข้าร่วมหรือไม่มีโอกาสรับทราบหรือรู้เห็นว่าการสร้างเขื่อนปากมูลจะทำกันอย่างไร และมีผลกระทบอะไรกับผู้คนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง

ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2534 ตัวแทนของชาวบ้านได้เขียนจดหมายร้องเรียนไปยังธนาคารโลกหรือนาย Barble Canable บอกไปว่าทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ หรือ กฟผ.ได้ปฏิเสธชาวบ้านและกลุ่มเอกชนที่ขอรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการเขื่อนปากมูล แต่ได้ให้รายงานเท็จและไม่ถูกต้องเกี่ยวกับจำนวนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนและเงินชดเชย ได้ข่มขู่ชาวบ้านให้รีบย้ายออกไป ไม่งั้นก็จะยกเลิกค่าชดเชยหรือไม่งั้นก็จะติดสินบนผู้นำชาวบ้านเพื่อหาทางจัดการกับชาวบ้านที่ยังมีปากมีเสียงให้หุบปากลงเสีย!

นี่คือความสกปรกในการดำเนินการสร้างเขื่อนปากมูลที่เป็นมาตั้งแต่ต้น!!

ตั้งแต่หลังจากเราขายชาติของเราเป็นครั้งแรก เมื่อปี 2493

และมันก็สกปรกเลอะเทอะอย่างนั้นมาจนกระทั่งถึงวันที่คนปากมูลต้องเดินทางมานอนรอวันตายที่กรุงเทพฯ

คนเหล่านี้ผิดหรือ?

คนปากมูลที่มานั่งมานอนกลางถนนเหมือนหมูเหมือนหมาอยู่กลางถนนเป็นแรมเดือนเหล่านี้ มันชั่วช้านักหรือว่าใครกันแน่ที่มันชั่วช้าที่สุด?

ชั่วร้ายนักหรือ?

คนที่มันดีที่สุดก็คือ พวกรัฐบาลและพวกนักการเมืองขายชาติพวกนี้เท่านั้นหรือ?

นอกจากรายงานขององค์การเขื่อนโลกแล้ว ก็ยังมีรายงานที่สำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งที่รัฐบาลชุดที่ผ่านมา ไม่ได้ศึกษาหรือแม้แต่นักทาสีสารพัดชนิดจากทำเนียบที่พากันออกมาเห่าหอนและ ตำรวจสันติบาลที่ไม่มีเกียรติและศักดิ์ศรีอะไรเหลืออยู่ให้คนเคารพนับถือ (ตอนนั้น) ผมก็ขอนำมาย้ำอีกทีเพื่อจะได้รายละเอียดให้มากพอและครบถ้วนยิ่งขึ้น พอจะช่วยให้มีสติปัญญาหรือมีความรู้เท่าเทียมเพื่อนมนุษย์อื่นๆ เขาได้ว่าเรื่องของเขื่อนปากมูลเป็นมาอย่างไร มันผิดมันถูกและชั่วช้าเสียหายอย่างไร หรือคนปากมูลนั้นมัน “เสือก” พากันมาถูกตำรวจไทยและรัฐบาลของเขาสั่งให้สมุนบริวารและสัตว์เลี้ยงของเขายกพวกมารุมตีหัวเหยียบย่ำพวกเขา อย่างไรบ้าง?

รายงานที่ว่านี้มีดังนี้

คณะกรรมการเขื่อนโลก ได้ศึกษาเขื่อนปากมูลภายใต้กระบวนการ “การมีส่วนร่วมทุกฝ่าย” เริ่มจากการเตรียมร่างขอบเขตการศึกษา โดยนักวิชาการที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายและจัดให้ทุกฝ่ายทำการศึกษากันก่อน จากนั้นก็ได้มอบหมายให้นักวิชาการที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายทำการศึกษาในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเขื่อนปากมูล คณะผู้ศึกษาในแต่ละประเด็นมีดังต่อไปนี้

Dr. Phillippe Annes บริษัท Griffon จำกัด (อดีตผู้อำนวยการธนาคารโลก ประจำประเทศไทย) ศึกษาด้านผลประโยชน์ทางด้านพลังงานไฟฟ้า ดร.สุพัฒน์ วงวิเศษสมใจ สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียศึกษาทางด้านอุทกวิทยาและคุณภาพน้ำ ดร.วันเพ็ญ วิโรจน์กูฎ ผศ.ประสิทธิ์ คุณุรุตน์ ผศ.จารุวรรณ นิภานนท์ และ ผศ.เอก วัฒนา มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาด้านนิเวศวิทยา

ดร.ชยันต์ วัฒนภูติ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ศึกษามิติทางสังคม ดร.ศันสนีย์ ชูแวว มหาวิทยาลัยมหิดล ศึกษามิติสังคมทางด้านการประมง Dr.Roel Schouten บริษัท ซีเท็ค จำกัด และ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ศึกษาทางด้านการประมงและสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ศึกษาทางด้านเศรษฐศาสตร์

นอกจากนี้ ยังได้จัดให้มีการประชุมเพื่อให้นักวิชาการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ชาวบ้านปากมูลและองค์การเพื่อพัฒนาเอกชนและข้าราชการจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น ต่อรายงานก่อนที่จะได้ข้อสรุปที่เสมือนไม้หน้าสาม ที่ตีแสกหน้ารัฐบาลไทยก็คือ (1) เป็นโครงการที่ไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 4.2-5.5 (2) เป็นโครงการที่ไม่เป็นประโยชน์ทางด้านชลประทาน มิหนำซ้ำยังเป็นโครงการที่ส่งผลกระทบต่อการประมงในพื้นที่ที่ส่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและชุมชน เขื่อนได้ปิดกั้นการอพยพของปลาจากลุ่มน้ำโขงสู่ลุ่มน้ำมูลที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

อ้างอิง http://www.manager.co.th/daily/dailyview.asp?newsid=4543698469400

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง