ปาฐกถาพิเศษ 'เขื่อนกับสิทธิชุมชน'
ต้องขออภัยที่ไม่ได้มาร่วมงานเมื่อวานนี้ เนื่องจากติดภารกิจเรื่องจีเอ็มโอ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนพอสมควรสำหรับสถานการณ์และแนวทางแก้ไขในเวลานี้ อย่างไรก็ตาม ในนามของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผมขอกล่าวต้อนรับทุกท่านอีกครั้ง
หากจะมองเขื่อนในเชิงผลกระทบทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม และความสำคัญเชิงนโยบาย ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องเข้ามาร่วมพิจารณาถึงผลกระทบภายใต้นโยบายที่ชอบธรรม เทคโนโลยีไม่เป็นกลางโดยตัวของมันเอง การพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่าเขื่อนไม่ได้มีความเป็นกลาง แต่มีนัยยะหมายถึงลัทธิอุดมการณ์ทางการเมืองที่แอบแฝง
การนำเสนอของกระผมในวันนี้จะนำเสนอวิธีการพัฒนาเชิงลัทธิอุดมการณ์ที่มาพร้อมกับเขื่อนในแง่มุมของเศรษฐศาสตร์การเมือง เขื่อนไม่ใช่สิ่งก่อสร้างที่กั้นน้ำเท่านั้น แต่เป็นกระบวนการคิดเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรน้ำและพลังงานในกระแสการพัฒนาเศรษฐกิจกระแสใหญ่ในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกใจที่รายงานของคณะกรรมการเขื่อนโลกระบุถึงเขื่อนจำนวนมากที่ก่อผลกระทบกับระบบชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อม เพราะอุดมการณ์หลักของการสร้างเขื่อนคือการระดมทรัพยากรทุกชนิดในชนบทเพื่อเสนอสนองตอบระบบอุตสาหกรรมผ่านกระบวนการพัฒนาในกระแสอุตสาหกรรมเศรษฐกิจ
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดในการสร้างเขื่อน ทั้งในแง่ประโยชน์ทางชลประทานหรือกระแสไฟฟ้า จุดเน้นหนักอยู่ที่นโยบายของการระดมทรัพยากรธรรมชาติเข้าสนับสนุนระบบอุตสาหกรรม ส่งผลให้เกิดความสูญเสียและวิกฤติการณ์ นอกเหนือจากการต้องอพยพโยกย้ายผู้คนและสร้างผลกระทบในระบบสิ่งแวดล้อมแล้ว เขื่อนกลับสร้างสภาวะแปลกแยกภายในระบบสังคมและการเมือง แบ่งแยกภาคสังคมชนบทและสังคมเมืองออกจากกันอย่างเด่นชัด ดังนั้นเขื่อนจึงไม่เป็นเพียงสิ่งปลูกสร้าง แต่เป็นส่วนสะท้อนวิธีคิดเชิงนโยบายที่มีความโน้มเอียงของระบบการพัฒนาที่ฉ้อฉล
การสร้างเขื่อนคือการสร้างการเติบโตให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคเมืองโดยการคิดแบบบนลงล่างในยุคเผด็จการสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ดังนั้นเขื่อนจึงเป็นวัฒนธรรมการเรียนรู้แบบอำนาจนิยมที่มุ่งพัฒนาเมืองโดยปราศจากการเรียนรู้อย่างมีส่วนร่วมจากชุมชนท้องถิ่น
การสร้างเขื่อนถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะจำเป็นต้องอพยพผู้คนที่อยู่ท้ายเขื่อนและต้องทำลายทรัพยากรแวดล้อม เป็นระบบความคิดเก่าที่ก่อความแปลกแยกและความเดือดร้อน-ทุกข์ยากแก่ประชาชนส่วนใหญ่ อีกทั้งเป็นการละเมิดสิทธิของชุมชนท้องถิ่นที่มักถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่ยากจนและไม่มีความรู้
ที่ผ่านมา การประเมินผลกระทบจึงมักมองข้ามกลุ่มคนในชุมชนท้องถิ่นและมุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชนท้องถิ่นกลับได้รับการประเมินต่ำอย่างไม่คำนึงถึงคุณค่า การทำลายชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมคือการทำลายต้นทุนชีวิตของสังคมอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทั้งที่ชุมชนท้องถิ่นและสิ่งแวดล้อมคือฐานต้นทุนชีวิตซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาบนแนวทางที่ยั่งยืนในอนาคต
เขื่อนคือส่วนหนึ่งของวิธีคิดที่มาจากตะวันตกอันเป็นความแปลกแยกที่สุดของสังคมไทย ผมคงพูดไม่ได้ว่าเขื่อนเป็นสิ่งเลวร้ายไปหมด หากในความหมายที่เขื่อนคือวิธีการจัดการน้ำและพลังงาน ประเด็นใหญ่คือการทบทวนว่าภายใต้ระบบวัฒนธรรมแบบไทย สังคมไทยจะมีวิธีการจัดการทรัพยากรเหล่านี้อย่างไร
สังคมไทยคือสังคมของฐานทรัพยากรเขตร้อนโลก นี่คือความจริงที่สังคมไทยมองข้าม นโยบายการพัฒนาโดยรัฐที่ผ่านมา 5 ทศวรรษมองข้ามความจริงเรื่องนี้ สังคมฐานทรัพยากรเขตร้อนคือสังคมซึ่งอยู่ในภูมิภาคของป่าเขตร้อนโลกที่มีพื้นที่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น พื้นที่เหล่านี้เป็นแหล่งของความหลากหลายทางชีวภาพ ที่เป็นเป้าหมายของการช่วงชิงจากกลุ่มประเทศที่มีขีดความสามารถเชิงเศรษฐกิจอุตสาหกรรมซึ่งพยายามขยายฐานความคิดออกไปสู่ประเทศอื่น ๆ ที่มีทรัพยากรธรรมชาติก่อนเข้าทำการช่วงชิงผ่านระบบสิทธิบัตร
สังคมฐานทรัพยากรเขตร้อนกลับไม่ได้หมายเฉพาะสังคมพืชสัตว์หรือจุลินทรีย์เท่านั้น แต่ยังมีสองสิ่งที่ถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญ คือชุมชนท้องถิ่นและระบบวัฒนธรรมการจัดการทรัพยากรที่เหมาะสม เรียกว่าระบบภูมิปัญญาท้องถิ่นอันเป็นต้นทุนการจัดการฐานทรัพยากรที่สำคัญ
เขื่อนคือระบบคิดเก่าที่กำลังส่งผลกระทบสำคัญต่อระบบภูมิปัญญาข้างต้นเป็นอย่างมาก แท้จริงแล้วระบบภูมิปัญญาข้างต้นจำเป็นจะต้องได้รับการพัฒนาให้เติบโตเป็นระบบวัฒนธรรมสาธารณะ การจัดการการพัฒนาที่คำนึงถึงคุณค่าระหว่างระบบภูมิปัญญาและการอุตสาหกรรมจึงเป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องชัดเจนว่าจะเลือกให้ความสำคัญกับอะไร เช่น ระบบเหมืองฝายในภาคเหนือ ชุมชนท้องถิ่นมีการเรียนรู้เรื่องกระแสน้ำและวิถีทางของน้ำ แต่ระบบเขื่อนกลับเป็นการกีดกั้นและทำลายวิถีธรรมชาติ
ช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การเรียนรู้เรื่องแนวทางการพัฒนาที่ลักลั่นระหว่างชีวิตของคนเมืองและชนบท เป็นความขัดแย้งที่ทำให้วิถีธรรมชาติยุ่งเหยิงและบั่นทอนพลังการพัฒนา เมื่อกาลอนาคต อาหารและยาจะกลายเป็นประเด็นใหญ่
สังคมไทยกำลังได้รับการรุกรานผ่านระบบสิทธิบัตร สงครามสิทธิถือครองทรัพยากรธรรมชาติผ่านระบบทรัพย์สินทางปัญญาในกระแสทุนนิยมโลก
ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ชุมชนท้องถิ่นมีความตื่นตัวในเรื่องการปฏิรูปการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นบทสะท้อนถึงความต้องการหลุดออกจากระบบที่เอารัดเอาเปรียบและปัญหาการผลาญใช้ทรัพยากรอย่างมุ่งทำลาย ผมขอย้ำว่าทั้งเทคโนโลยีไม่ใช่สัญลักษณ์ของการพัฒนาและความเจริญ แต่เป็นตัวแทนของระบบและลัทธิการปกครอง
อ้างอิง : http://www.thaingo.org/cgi-bin/content/content1/show.pl?0198