ปชป.ยื่นศาลรธน.ตีความสัญญา
สร้างเขื่อนบ้านกุ่ม
“ปชป.” เตรียมยื่น “ศาลรธน.” ตีความสัญญาสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เชื่อขัด รธน.ม.190 อัด “รบ.” งุบงิบ ซ่อนเงื่อน เจอ 2 บริษัททุนใหญ่พรรคการเมืองจูงจมูก
(5ส.ค.) นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนกั้นน้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ที่อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ว่า โครงการนี้ ไม่มีการทำการสำรวจด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ถือว่าผิดกฎหมายสิ่งแวดล้อม และขัดรัฐธรรมนูญเพราะประชาชนไม่มีส่วนร่วม ทั้งนี้การสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงไม่สามารถทำได้ เพราะไทยยังเป็นสมาชิกกรรมาธิการน้ำโขง (MRC) ประกอบด้วย ไทย กัมพูชา เวียดนาม และลาว ซึ่งถ้าประเทศใดจะดำเนินการอะไรบนแม่น้ำโขง จะต้องขอมติจากกรรมาธิการดังกล่าว เรื่องนี้ต้องอาศัยมติก่อน แต่ครั้งนี้กลับไม่มีการรายงานเรื่องดังกล่าวต่อกรรมาธิการชุดนี้ ดังนั้น จึงไม่สามารถสร้างเขื่อนได้ และเป็นที่น่าสังเกตว่าการที่ไทยไปเซ็นสัญญากับประเทศลาวในเรื่องใหญ่เช่นนี้ ทำไมถึงทำได้ เพราะที่ผ่านมาตนได้โทรศัพท์ติดต่อกับรองอธิบดีกรมสนธิสัญญา กระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้รับการปฏิเสธ ว่าไม่มีการเซ็นสัญญาใดๆ ทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ตนจะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือกับที่ประชุมพรรค โดยเบื้องต้นคิดว่าโครงการดังกล่าวขัดต่อมาตรา 190 แน่นอน แต่อยากได้การสนับสนุนจากพรรค เพื่อเพิ่มน้ำหนักในการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าขัดมาตรา 190 หรือไม่ เช่นเดียวกับการตีความกรณีปราสาทพระวิหาร
ด้านนายสุทัศน์ เงินหมื่น ส.ส.สัดส่วน พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การกระทำของรัฐบาลส่อแววงุบงิบ ไม่ชอบมาพากล ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 190 โดยหลังรัฐบาลแถลงนโยบายเพียง 10 กว่าวัน นายกรัฐมนตรีก็ได้เดินทางไปตกลงกับประเทศลาว ในการร่วมกันพัฒนาแม่น้ำโขง จากนั้น วันที่ 10 มีนาคมที่ผ่านมา นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น ได้นำบันทึกว่าด้วยความเข้าในการลงนามความร่วมมือด้านไฟฟ้า ร่วมไทย-ลาว เข้าเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบและลงนาม โดยมีการเสนอชื่อบริษัทเอกชน 2 แห่งคือบริษัท อิตาเลี่ยนไทย ดิเวลลอปเมนต์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเอเชียคอร์ป โฮลดิ้ง จำกัด ให้เข้าไปศึกษาและสำรวจพื้นที่ แต่ถูกที่ประชุมครม.ตั้งข้อสังเกตและเปลี่ยนให้เป็นคำว่า “ภาคเอกชน” จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ระยะเวลาไม่กี่วันแต่กลับไประบุชื่อบริษัทได้อย่างไร บริษัทได้ชักนำให้รัฐบาลไปเจรจาได้อย่างไร จึงไม่เข้าใจว่าภาคเอกชนมีบทบาทเหนือการทำงานของรัฐบาลได้อย่างไร
“เขื่อนนี้ไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนด้านการเกษตรเลย เพราะบริเวณดังกล่าวจะมีตลิ่งสูงมาก และเรื่องผลประโยชน์ด้านการไฟฟ้าไม่ทราบว่าใครได้ประโยชน์ ใครจะเป็นผู้ขาย และยังมีผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอีกมาก การกระทำครั้งนี้ ถือว่ารัฐบาลไม่คำนึงผลประโยชน์ของประเทศ และความเสียหายของประชาชน มีความรุกรี้รุกล้น เร่งทำเพื่อสนองประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใหญ่ ไม่แน่ใจว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากบริษัทเอกชนเหล่านี้ หลังจากได้ทำการศึกษาแล้วจากนี้ข้อมูลอยู่ในมือทั้งหมด จึงมีแนวโน้มว่า 2 บริษัท จะได้ประโยชน์จากรัฐบาลในการสร้างเขื่อน” นายสุทัศน์ กล่าว