เปิดแฟ้มเขื่อนน้ำโขง

fas fa-pencil-alt
อาทิตย์ ธารคำ-โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
fas fa-calendar
พฤศจิกายน 2547

เมื่อกลางเดือนที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาสังคมและบุคคลในประเทศลุ่มน้ำโขง และนานาชาติ กว่า ๒๐๐ รายชื่อ อาทิ กลุ่มรักษ์เชียงของ กลุ่มรักษ์เชียงแสน เครือข่ายประมงท้องถิ่นกัมพูชา กลุ่มสิ่งแวดล้อมไทใหญ่ ศูนย์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยูนนาน ได้ร่วมกันลงนามในจดหมายถึงคณะกรรมการแม่น้ำโขง หรือ  MRC (Mekong River Commission) เรียกร้องให้ MRC ปฏิบัติพันธกิจในการปกป้องแม่น้ำโขงตาม “ข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน” หลังจากมีข่าวว่าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก ๖ แห่ง ถูกหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง 

เนื้อหาในจดหมายตอนหนึ่ง ระบุว่า “MRC มีภารกิจใน ‘การป้องกันและการหยุดยั้งผลกระทบที่เป็นอันตราย...เพื่อหลีกเลี่ยงและบรรเทา ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านปริมาณน้ำและคุณภาพน้ำ สภาพน้ำ (ระบบนิเวศ) และความสมดุลย์ด้านนิเวศวิทยาของระบบแม่น้ำ ที่เป็นผลมาจากการลุ่มแม่น้ำโขง...’ ดังนั้น ในทางปฏิบัติแล้ว MRC มีหน้าที่ให้คำปรึกษาที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศในลุ่มน้ำโขง เพื่อหยุดยั้งการสร้างเขื่อนบนแม่น้ำโขงสายหลัก...”

ทั้งนี้เนื่องจาก MRC ไม่แสดงท่าทีใดๆ เมื่อรัฐบาลลาว (สปป.ลาว) และรัฐบาลกัมพูชา ได้อนุญาตให้บริษัทของไทย มาเลเซีย และจีน ดำเนินการสำรวจความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำโขง ดังรายละเอียดนี้

๑. เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว ขนาดกำลังการผลิต ๑,๓๕๐ เมกะวัตต์ มีการลงนามในเอ็มโอยู ระหว่างบริษัท ต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานจากจีน กับรัฐบาลลาว เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๐ เพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ที่ตั้งของเขื่อน อยู่ไม่ไกลจากอ.เวียงแก่นและเชียงของ จ.เชียงราย
๒. เขื่อนไซยะบุรี กั้นแม่น้ำโขงที่แขวงไซยะบุรี ขนาดกำลังการผลิต ๑,๒๖๐ เมกะวัตต์ โดยบริษัท ช.การช่าง ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวเพื่อทำการศึกษา มีแผนเริ่มก่อสร้างในต้นปี ๒๕๕๔ บริษัทยังได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา ๓๐ ปี โดยคาดว่าจะสามารถขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ในปี ๒๕๕๘
๓. เขื่อนปากลาย กั้นแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของแขวงไซยะบุรีติดกับแขวงเวียงจันทน์ ก่อนที่แม่น้ำโขงจะไหลสู่ อ.เชียงคาน จ.เลย มีขนาดกำลังการผลิต ๑,๓๒๐ เมกะวัตต์ โดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนที่ชื่อ ไซโนไฮโดร ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาวเพื่อทำการศึกษาความเป็นไปได้ และจะได้รับสัมปทานในการผลิตไฟฟ้าจากรัฐบาลลาวเป็นเวลา ๓๐ ปี ทั้งนี้ บริษัทไซโนไฮโดร ได้ลงนามเพื่อร่วมสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวินในพม่าด้วยเช่นกัน
๔. เขื่อนบ้านกุ่ม ชายแดนไทย-ลาว บริเวณ ต.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ตรงข้ามกับแขวงจำปากศักดิ์ ทางกระทรวงพลังงาน ได้ว่าจ้างให้บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ
๕. เขื่อนดอนสะฮอง กั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณน้ำตกคอนพระเพ็ง ในเขตสี่พันดอน ทางตอนใต้ของลาว ใกล้ชายแดนกัมพูชา กำลังผลิต ๒๔๐ เมกะวัตต์ ปี ๒๕๔๙ รัฐบาลลาวได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับ บริษัท เมกะเฟิรสท์คอร์ป ของมาเลเซีย เงินลงทุนราว ๑๐,๐๐๐ ล้านบาท และวางแผนที่จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี ๒๕๕๓ ล่าสุดรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้จัดทำแล้วเสร็จ แต่ยังไม่มีการเปิดเผยแก่สาธารณะ
๖. เขื่อนซำบอ ขนาดกำลังผลิต ๓,๓๐๐ เมกะวัตต์ โดยบริษัท ไชนาเซาเทิร์นพาวเวอร์กริด จากจีน ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา และให้บริษัทลูกทำการศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการเพื่อนำเสนอรัฐบาลกัมพูชา

ข้อมูลชี้ว่าเขื่อนซำบอจะพาดขวางกลางลำน้ำโขง ที่อ.ซำบอ เหนือเมืองกระแจ๊ะ ตัวเขื่อนคอนกรีตจะมีความยาวกว่า ๑ กิโลเมตร บานประตู ๔๔ บาน เขื่อนดินขนาบปิดกั้นลำน้ำอีก ๔ กิโลเมตร

ล่าสุด มีความเคลื่อนไหวของเขื่อนแห่งที่ ๗ คือ เขื่อนผามอง กั้นแม่น้ำโขงชายแดนไทย-ลาว บริเวณอ.ปากชม จ.เลย ทางกระทรวงพลังงาน ได้ว่าจ้างบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งระบุว่า เขื่อนแห่งนี้มีกำลังผลิตติดตั้ง ๑,๔๘๒ เมกกะวัตต์

รายงานล่าสุดจาก จ.เลย ระบุว่ามีสถาบันการศึกษาท้องถิ่นแห่งหนึ่งได้ลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบในหมู่บ้านต่างๆ ในอ.ปากชม โดยยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของโครงการแก่ชาวบ้านอย่างเป็นทางการ

อนึ่ง เขื่อนผามองถูกผลักดันอย่างหนักในช่วง ๓๐ ปีก่อน แต่ต้องล้มเลิกไปเนื่องจากกระแสการต่อต้านจากชาวบ้าน เนื่องจากในขณะนั้นวิศวกรอเมริกันออกแบบให้เป็นเขื่อนขนาดใหญ่เป็น ๒ เท่าของเขื่อนฮูเวอร์ ทำให้ต้องอพยพชาวบ้านจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำกว่า ๒๕๐,๐๐๐ คน จนเป็นที่มาของหนังต้องห้ามเรื่อง “ทองปาน”

ประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้คาดการณ์ได้ว่าเขื่อนเหล่านี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงมหาศาลแก่ระบบนิเวศอันสลับซับซ้อนของลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์และมีผลผลิตด้านการประมงเป็นอันดับหนึ่งของโลก มากกว่าครึ่งหนึ่งของพันธุ์ปลา ๑,๓๐๐ ชนิดในลุ่มน้ำโขงเป็นปลาอพยพ ว่ายขึ้นไปยังตอนบนของแม่น้ำและน้ำสาขาเพื่อหากินและวางไข่ หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจท้องถิ่นและปากท้องของประชาชนกว่า ๖๐ ล้านคนในลุ่มน้ำตอนล่าง

เขื่อนแม้แต่แห่งเดียวที่ปิดกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง สามารถสร้างความหายนะใหญ่หลวงต่อพันธุ์ปลา World Fish Center และกองเลขาแม่น้ำโขงแห่งกัมพูชา ระบุว่า “ในภูมิภาคนี้ยังไม่มีวิธีการแก้ปัญหาผลกระทบต่อพันธุ์ปลาอันเกิดจากเขื่อน” การอพยพของปลาซึ่งหนาแน่นถึง ๓๐ ตันต่อชั่วโมง ทำให้ปัจจุบันยังไม่มีเทคโนโลยีใดแก้ไขปัญหานี้ได้ บันไดปลาโจนของเขื่อนปากมูนที่ถูกปล่อยร้างเพราะไม่สามารถใช้การได้ เป็นรูปธรรมที่ชัดเจนของความล้มเหลวนี้  

การอพยพประชาชนจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำเป็นอีกหนึ่งผลกระทบที่ยังไม่มีการเปิดเผยอย่างเป็นทางการ ข้อมูลที่มีชี้ให้เห็นว่าเขื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนอย่างน้อย ๑๗,๓๐๐ คน ถึง ๗๕,๐๐๐ คน ที่จะต้องถูกย้ายจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ จำนวนประชากรดังกล่าวยังไม่เป็นที่ชัดเจน ข้อมูลจากรายงานฉบับต่างๆ ที่เคยศึกษามานั้นแตกต่างกันไป มีรายละเอียดดังนี้

รายงานจากพื้นที่ระบุว่า ชาวบ้านที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงเหล่านี้ไม่เคยได้รับข้อมูลโครงการอย่างรอบด้าน และไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจ ชาวบ้านเขมรที่ซำบอ เห็นเพียงคณะวิศวกรชาวจีนที่ขุดเจาะดินโดยไม่บอกชาวบ้านว่าน้ำจะท่วมถึงไหน เช่นเดียวกับชาวบ้านปากชม จ.เลย ที่ไม่รู้ว่าใครบ้างที่จะต้องย้ายจากเขื่อนผามอง

ที่น่าสนใจคือเขื่อนน้ำโขงทั้งหมดถูกผลักดันโดยบริษัทเอกชนต่างชาติ แหล่งเงินทุนมาจากธนาคารเอกชน ไม่มีมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังที่เจ้าหน้าที่บริษัทเอกชนไทยรายหนึ่งกล่าวกับผู้เขียนว่า “สร้างเขื่อนในลาวไม่ต้องมี EIA (การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ไม่ต้องมีภาระ สร้างไปได้เลย ไม่มีใครค้าน ไม่เหมือนสร้างเขื่อนในเมืองไทย”

มาตรฐาน และข้อบังคับ หรือธรรมาภิบาลของบริษัท สำหรับการลงทุนสร้างเขื่อนน้ำโขง จึงเป็นสิ่งสำคัญเร่งด่วนที่รัฐบาลในประเทศลุ่มน้ำต้องเร่งสร้างขึ้นมาและบังคับใช้ให้ได้จริง อย่างน้อยบริษัทต่างชาติที่มาลงทุน ต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศตนเอง

ล่าสุดระหว่างการประชุม MRC ที่เสีมเรียบ เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ทางการกัมพูชาได้แสดงความไม่พอใจต่อโครงการเขื่อนบนแม่น้ำโขงในลาว เนื่องจากขาดความโปร่งใส ผู้แทนจากกัมพูชาให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าว DPA ว่า “เราส่งจดหมายไปถึงทางการลาวเพื่อขอข้อมูลเขื่อน แต่หลายเดือนผ่านไปก็ยังไม่มีคำตอบ” ส่วนผู้แทนกัมพูชาอีกคนกล่าวว่า “(เขื่อนน้ำโขง) เป็นการริเริ่มโดยลาว เมื่อจะสร้าง เราก็จะหยุดให้ได้”

เขื่อนบนแม่น้ำโขงทั้งหมด ๖ แห่ง หมายมั่นว่าจะปั่นไฟฟ้าให้แก่ประเทศไทย วันนี้ผู้บริโภคไฟฟ้าชาวไทย ต้องถามรัฐบาลของเราแล้วว่า ไฟฟ้าจากเขื่อนเหล่านี้จำเป็นจริงหรือ หากต้องแลกด้วยสายน้ำโขง อันเป็นมาตุธารของแผ่นดินสยามและสุวรรณภูมิ

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง