เปิดผลศึกษาเขื่อนยักษ์กั้นน้ำโขง มูลค่าลงทุน8.3หมื่นล.-น้ำท่วมโขงเจียม1.6หมื่นไร่
กระทรวงพลังงาน เดินหน้าผุดเขื่อนยักษ์กั้นน้ำโขงที่อุบลฯ มูลค่าลงทุน 8.3 หมื่นล้านบาท ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,872 เมกะวัตต์ ผลศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้น ระบุชัดน้ำท่วมบ้านคันท่าเกวียน อ.โขงเจียม 16,641 ไร่ ขณะที่ฝั่ง สปป.ลาว น้ำท่วมแขวงจำปาสัก 12,093 ไร่ ล่าสุด รมว.ต่างประเทศไทย-สปป.ลาวลงนาม เอ็มโอยู หนุนให้เอกชนทำการศึกษาความเป็นไปได้บิ๊กโปรเจ็กต์นี้แล้วผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงานได้ว่าจ้าง บริษัท ปัญญาคอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท แมคโครคอนซัลแตนท์ จำกัด ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งตั้งอยู่ใกล้บ้านท่าล้ง บ้านดอนกุ่ม ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี และอยู่ตรงข้ามบ้านกุ่มน้อย เมืองชะนะสมบูน แขวง จำปาสัก สปป.ลาว
ผลการศึกษาล่าสุดระบุว่า มูลค่าการลงทุนโครงการเขื่อนบ้านกุ่มทั้งสิ้น 83,403.77 ล้านบาท ผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 1,872 เมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยปีละ 8,012.17 ล้านหน่วย ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าน้ำมันเตาได้ถึงปีละ 22,960 ล้านบาท ส่วนรูปแบบตัวเขื่อนจะมีช่องทางระบายน้ำกว้าง 20 เมตร 22 ช่อง ช่องทางเดินเรือ กว้าง 14 เมตร 2 ช่อง พื้นที่เก็บน้ำหน้าเขื่อน 84,456 ไร่
เขื่อนดังกล่าวจะทำให้เกิดน้ำท่วมที่บ้านคันท่าเกวียน ต.นาโพธิ์กลาง อ.โขงเจียม เนื้อที่ 16,641 ไร่ โดยมีประชาชนได้รับผลกระทบ 29 ครัวเรือน ในส่วน สปป.ลาวจะถูกน้ำท่วมที่บ้านคำตื้อและบ้านแสนพัน เมืองชะนะสมบูน แขวงจำปาสัก เนื้อที่ 12,093 ไร่ มีประชาชนได้รับผลกระทบ 114 ครัวเรือน
ผลการศึกษาเบื้องต้นได้เสนอแนะ มาตรการแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบ อาทิ การสร้างแนวป้องกันน้ำท่วมเลียบ แม่น้ำโขงเพื่อป้องกันน้ำท่วมบ้านคันท่าเกวียนและโรงเรียนบ้านคันท่าเกวียน
การก่อสร้างโครงการสูบน้ำด้วยไฟฟ้าเหนือเขื่อนบ้านกุ่ม 17 โครงการ คิดเป็นเนื้อที่ส่งน้ำ 56,660 ไร่ ซึ่งเป็นการก่อสร้างโครงการในฝั่งไทย 9 โครงการ เนื้อที่ 38,340 ไร่ และ สปป.ลาว 8 โครงการ เนื้อที่ 18,260 ไร่
ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มี.ค.2551 นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายทองลุน สีสุลิด รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สปป.ลาว ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) โครงการก่อสร้าง เขื่อนบ้านกุ่มเรียบร้อยแล้ว ที่นครหลวง เวียงจันทน์ โดยทั้ง 2 ฝ่ายเห็นพ้องต้องกันที่จะสนับสนุนให้ภาคเอกชน เข้ามาทำการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้โครงการก่อสร้างเขื่อนฯดังกล่าวต่อไป
นายสอน ใต้โพธิ์ ชาวบ้านคันท่าเกวียน ซึ่งอยู่ในพื้นที่จะถูกน้ำท่วมจากเขื่อนบ้านกุ่ม เปิดเผยว่า ยังไม่ทราบชัดเจนว่าจะเริ่มก่อสร้างเมื่อไหร่ คาดว่าอาชีพการเพาะปลูกพืชริมฝั่งโขง เช่น การปลูกมัน ข้าวโพด ถั่ว ผักต่างๆ คงได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน จึงอยากให้รัฐบาลชี้แจงให้ประชาชนทราบว่ารัฐบาลกำลังทำอะไร จะย้ายประชาชนไปอยู่ที่ไหน
ด้านนายมนตรี จันทวงศ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า เขื่อนบ้านกุ่มจะส่งผลกระทบด้านการประมงบริเวณเหนือเขื่อนและใต้เขื่อน เป็นอย่างมาก เนื่องจากเขื่อนจะปิดกั้นเส้นทางการอพยพของปลาในแม่น้ำโขง และบ้านกุ่มอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงแนวพรมแดนในแม่น้ำโขงอีกด้วย