เปิดตัวหนังสือ "สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน" 10 กว่าองค์กรร่วมขุด คุ้ย ค้น เรื่องราวหลากมิติ

fas fa-pencil-alt
ประชาไท
fas fa-calendar
29 กันยายน 2551

เมื่อวันที่ 27 ก.ย.51  เมื่อเวลา 10.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีการจัดงานเปิดตัวหนังสือ "สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน" ที่ได้รวบรวมข้อมูลแง่มุมต่างๆ ทั้งเรื่องราวของวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น ทรัพยากรธรรมชาติ สถานการณ์ของชนกลุ่มน้อยในพม่า และข้อกังวลต่อโครงการเขื่อนที่กำลังจะปิดกั้นสายน้ำสาระวิน โดยเพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต สุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พญ.ซินเทีย หม่อง ผู้ก่อตั้งคลินิกแม่ตาว จ๋ามตอง กลุ่มปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ และรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับความเป็นไปในวิถีชีวิตคนริมน้ำสาละวิน โดยมีวันดี สันติวุฒิเมธี บรรณาธิการวารสารสาละวินโพสต์ ทำหน้าที่ผู้ดำเนินรายการ



เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต  ได้กล่าวถึงหนังสือ "สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน" ว่า เป็นหนังสือที่องค์กรสิ่งแวดล้อม 10 กว่าองค์กรภายใต้เครือข่ายปกป้องแม่น้ำสาละวิน เช่น ศูนย์ข่าวสาละวิน โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ และองค์กรอื่นๆ ได้ร่วมกันเก็บข้อมูลจากภาคสนาม ในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสาละวิน ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ใช้ร่วมกันของ จีน พม่า และไทย แต่กลับกล่าวได้ว่าเป็นแม่น้ำชายขอบ เพราะข้อมูลของคนในลุ่มน้ำนี้มีน้อยมาก ในขณะที่โครงการพัฒนาใหญ่ๆ ได้รุกล้ำเข้าไปในพื้นที่แม่น้ำสาละวิน ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน 3 แห่งในจีน เขื่อน 5 แห่งในชายแดนไทย-พม่า และในรัฐกะเหรี่ยง ไทใหญ่

 

ส่วนโครงการที่เกี่ยวข้องกับเมืองไทย ก็คือ "เขื่อนท่าซาง" ที่สร้างโดยบริษัทเอกชนของไทยร่วมกับบริษัทของจีนและ "เขื่อนฮัตจี" ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งการไฟฟ้าการผลิตกำลังลงทุนร่วมกับจีนและรัฐบาลพม่าในการสร้างเขื่อนที่นั้นเพื่อขายไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ดังนั้นเนื้อหาในหนังสือจะบอกถึงผลกระทบของการสร้างเขื่อนที่มีต่อต่อสุขภาพ ผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ผลกระทบต่อระบบนิเวศ และผลกระทบข้ามพรมแดนที่ประเทศไทยต้องแบกรับ การผันน้ำจากแม่น้ำสาละวินเข้าไปในเขื่อนภูมิพลซึ่งจะทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน และประเด็นสุดท้ายของหนังสือจะเป็นเรื่องพลังงาน การลงทุนในพม่าเพื่อนำไฟฟ้ามาใช้ในประเทศไทยมีความจำเป็นจริงๆ หรือไม่



เพียรพรยังกล่าวด้วยว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็นฐานข้อมูลสำคัญที่ให้ผู้มีอำนาจหรือหรือสาธารณะชนผู้สนใจ ใช้เป็นฐานข้อมูลการตัดสินใจว่าจะสร้างเขื่อนแม่น้ำชายขอบ แม่น้ำแห่งสงครามนี้หรือไม่ ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่กำลังได้รับความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน โดยที่คนไทยจะได้ใช้ไฟฟ้ากันอย่างสบาย



ต่อมา จ๋ามตอง กลุ่มปฏิบัติงานสตรีไทใหญ่ ได้พูดถึงวิถีชีวิตและสถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ ว่าการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าเป็นการละเมิดอย่างเป็นระบบ โดยเป็นการละเมิดสิทธิเพื่อที่จะควบคุมประชาชนและทรัพยากรที่เป็นของชาวบ้าน อีกทั้งการใช้แรงงานทาสปัจจุบันพม่าก็ยังใช้อยู่ เมื่อทหารพม่าสั่งให้ชาวบ้านย้ายออกจากพื้นที่แล้วไม่ออกภายในเวลาที่กำหนดก็จะมีการประกาศพื้นที่บริเวณนั้นเป็น "เขตยิงอิสระ"



ในกรณีการสร้าง "เขื่อนท่าซาง" ซึ่งตอนนี้มีกองกำลังทหารเข้าไปในพื้นที่มากขึ้น และชาวบ้านก็เริ่มได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยมีการขับไล่ชาวบ้าน ทั้งนี้ ข้อมูลที่น่าตกใจในเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่าคือ การข่มขืนอย่างเป็นระบบ เช่นการข่มขืนเด็กอายุ 17 โดยนายทหารชั้นสูงประมาณ 3-5 คน และมีการนำไปเป็นทาส ทรมานผู้หญิงก่อนที่จะฆ่าทิ้ง ซึ่งไม่มีการลงโทษนายทหารเหล่านั้นเพราะบรรดาผู้หญิงที่โดนกระทำไม่รู้จะไปเรียกร้องจากใคร เพราะฉะนั้นเรื่องการสร้างเขื่อนชาวบ้านจึงไม่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นได้เลย

 

จากนั้นเป็นการให้ข้อมูลเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนพม่าที่เกิดจากเผด็จการทหาร โดย พญ.ซินเทีย หม่อง ผู้ก่อตั้งคลินิกแม่ตาว จ.ตาก ซึ่งเปิดมากว่า 20 ปี เพื่อรองรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปกครองของพม่า ได้กล่าวว่า สัดส่วนงบประมาณที่รัฐบาลพม่าใช้ในเรื่องสุขภาพของประชาชนต่อปีแค่ 40 % ต่อคน แต่รัฐบาลไทยมีงบประมาณในเรื่องสุขภาพสูงถึง 66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสูงกว่าเป็น 150 เท่า ส่วนงบประมาณแผ่นดินของรัฐบาลพม่า 40 % ใช้ไปกับกระทรวงกลาโหม และสัดส่วนในเรื่องกำลังพลทหารสูงมากจาก 250,000 คน จากปีที่แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 คน



ส่วนในเรื่องปัญหาความยากจนซึ่งเป็นปัญหาหลักของประเทศ รายได้ของแต่ละครัวเรือนใช้ไปกับการซื้อหาอาหาร และอัตราการเสียชีวิตของทารกก็สูงที่สุดในภูมิภาคสาเหตุมาจากโรคที่สามารถป้องกันได้ เช่น มาลาเรีย โรคขาดสารอาหาร แต่รัฐบาลไม่ได้แก้ไขปัญหาเหล่านี้ ผลพวงของความยากจนและการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารทำให้เกิดการอพยพหรือการลี้ภัย การเข่นฆ่าประชาชน นำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กในพม่าที่สูง ซึ่ง 1 ใน 3 เป็นเด็กที่ขาดสารอาหาร และในภาคตะวันออกของประเทศพม่า รัฐของชนกลุ่มน้อยมีผู้พลัดถิ่นประมาณ 600,000 คน และประมาณการว่ามีประชาชนพม่าลี้ภัยอยู่ในประเทศไทยประมาณ 2,000,000 คน ในปัจุบัน



สาเหตุที่ประชาชนในเขตตะวันออกของประเทศพม่าหรือในพื้นที่ชนกลุ่มน้อยต้องอพยพหรือถูกบังคับให้ย้ายที่และหนีมาประเทศไทยก็เนื่องมาจาก นโยบาย 4 ตัด ก็คือ การตัดกำลังความช่วยเหลือที่ประชาชนอาจจะมีกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในเรื่อง อาหาร งบประมาณ กองกำลัง และการสื่อสาร ส่วนในของเรื่องสุขภาพมีประชาชนที่มารักษากับทางคลินิกส่วนใหญ่เป็นประชาชนพม่าซึ่งเข้ามารักษาในปริมาณที่สูง เห็นได้ชัดว่าสาเหตุมาจากรัฐบาลพม่า ส่วนสาเหตุของผู้เสียชีวิตเป็นโรคมาลาเรีย ถูกกับระเบิด การคลอดบุตรของผู้หญิง ซึ่งเป็นโรคที่ป้องกันได้



พญ.ซินเทีย ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่าประชาชนในพื้นที่กำลังเผชิญกับวิกฤตสุขภาพอันเนื่องมาจากสงครามกลางเมือง การละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้น การลงทุนในการพัฒนาใดๆ ร่วมกับรัฐบาลพม่าในพื้นที่ซึ่งมีวิกฤตนี้อยู่จะทำให้เกิดผลกระทบมากยิ่งขึ้นกับประชาชนในพื้นที่ และประเทศไทยด้วยเช่นกัน



ด้าน สุนี ไชยรส กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงหนังสือเล่มนี้ว่า มีอย่างน้อย 3 ประเด็นที่อยากจะเสนอและแลกเปลี่ยน คือ 1.การแก้ไขในสถานการณ์ในพม่า ซึ่งมีเรื่องราวมากมายที่เป็นปัญหาที่พัวพันมาถึงแรงงานข้ามชาติ การหลีภัย เรื่องของประชาธิปไตย หรือเรื่องของอองซาน ซูจี ซึ่งทั่วโลกดูเหมือนยอมรับหมด แล้วว่าจะมีการคลีคลายสถานการณ์ในพม่า แต่ทำไมถึงคลีคลายไม่ได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงต่อไปถึงสาละวิน หรือการพูดถึงการสร้างเขื่อน



ประเด็นที่ 2.การต่อสู่ตรงนี้มันสะท้อนชัดเจนว่า ประชาธิปไตยในพม่าบวกกับสิทธิของผู้หญิงและสิทธิมนุษยชนในภาพรวมนั้นเป็นเรื่องเดียวกันซึ่งชัดเจนในกรณีของพม่าซึ่งจะต้องสู้ต่อไปในเนื้อหาส่วนนี้ แต่ที่ในมุมของประเทศไทยนั้นมีมุมที่น่าสนใจในประเด็นที่สองก็คือ ปีนี้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลอง 60 ปี ของปฏิญญาสากลสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งมีการจัดสัมมนาขึ้นในไทย แต่เนื้อแท้ของปฏิญญาสากลนั้นค้อนข้างจะถูกพูดกันไปเรื่องสิทธิทางการเมือง ซึ่งอีกมิติหนึ่งที่ไม่อาจที่ลืมและแบ่งแยกได้ก็คือ สิทธิทางเศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม สิทธิในการจัดการฐานทรัพยากร หรือถ้าพูดถึงพม่าก็คือสิทธิของเขาในการจัดการฐานทรัพยากรด้วยตัวของเขาเอง ซึ่งสิทธิทางสังคมและวัฒนธรรมของประชาชาติ ของชุมชน จะทำยังไงให้สังคมโลกยอมรับ



กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าวอีกว่า วันนี้สถานการณ์ของสาละวิน พม่าจะเป็นตัวอย่างที่บ่งบอกว่า วันนี้จะต้องให้การจัดการสายน้ำ ฐานทรัพยากร ให้เป็นกระแสใหญ่ของโลก เพราะสิ่งเหล่านี้มันซ้อนทับอยู่เบื้องหลังทั้งหมดว่าทำไมเผด็จการพม่าจึงยืนอยู่ได้ ทำไมสถานการณ์ตรงนี้ถึงไม่เปลี่ยนแปลง และทำไมถึงเกิดเขื่อนซ้ำแล้วซ้ำอีก



ส่วนประเด็นที่ 3 ก็คือการต่อสู้ทางด้านประชาธิปไตยในแต่ละครั้งของพม่าโยงมาถึงในสังคมไทย ทำไมสังคมไทยหรือประชาชนไทยถึงเป็นปมเงื่อนที่น่าสนใจ เพราะว่าพม่าไม่สามารถพูดได้ เพราะว่าประเทศรอบสายน้ำโขง สายน้ำสาละวิน ที่เชื่อมโยงกันทั่งหมด หรือแม้แต่เรื่องอื่นๆ พวกเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่อาจพูดได้ การเปิดตัวเรื่องนี้ หรือการพูดของประชนไทยเรื่องนี้จะเป็นตัวเชื่อมที่ทำให้เกิดกระแสนำไปสู่การแก้ไขสถานการณ์ได้บ้าง ซึ่งแท้ที่จริงหนังสื่อเล่มนี้พยายามที่จะบอกว่ามันเป็นสายน้ำ มันเป็นลุ่มน้ำ ที่มีนัยยะของความเกี่ยวข้องกัน



"ดิฉันคิดว่ามันเป็นมุมที่ 3 ที่อยากจะนำเสนอว่าสถานการณ์ในพม่าเมื่อไรจะถึงจุดจบสักที ก็คือจุดจบที่นำไปสู่ประชาธิปไตย และนำไปสู่การการจัดการที่ประชาชนจะได้แก้ไขของเขาได้ มีทางเดียวก็คือจะต้องเป็นประชาธิปไตย แต่ทางเดียวที่จะเป็นไปได้ของประชาธิปไตยก็คือสังคมโลกจะต้องนำมาสู่การยอมรับว่า จะต้องไม่ไปแย่งชิงฐานทรัพยากรในพม่า เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ก็จะไม่มีทาง ก็เท่ากับไปค้ำจุนรัฐบาลเผด็จการพม่าไปได้ตลอดกาล" สุนี ไชยรสกล่าว



ส่วนรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า อย่างที่ในหนังสือเล่มนี้พูดก็คือคนส่วนใหญ่จะรู้จักแม่น้ำโขงมากกว่าแม่น้ำสาละวิน ในขณะสาละวินเอง ถ้าได้มาอ่านในหนังสือเล่มนี้ในฐานะที่มีความรู้น้อยมาก ทำให้เห็นว่าแม่น้ำสาละวินก็มีความสำคัญมาก มันเป็นแม่น้ำที่เชื่อมโยงระบบนิเวศวิทยา ซึ่งความสำคัญเหล่านี้มันกลายเป็นโอกาสในการแสวงหาประโยชน์ของคนที่มุ่งมองไปในเรื่องของผลประโยชน์



รสนายังกล่าวอีกว่า การมุ่งประโยชน์ไปที่เรื่องเฉพาะด้านอันใดอันหนึ่ง มันเป็นการทำลายประโยชน์ที่มหาศาลมาก สิ่งเหล่านี้เห็นได้จากกรณีการทำเขื่อนปากมูล เห็นได้ชัดเจนเลยว่าเวลาที่เขาไปสร้างเขื่อนแล้วผลที่ได้มันน้อยมาก ในขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่เสียผลประโยชน์ และเมื่อพูดถึงหนังสือในลักษณะแบบนี้จะต้องมีให้มากขึ้นเรื่อยๆ และทำอย่างไรที่จะทำให้มีการเผยแพร่ให้กว้างขวางขึ้น ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้มันเป็นฐานของชีวิต และไม่ใช้แค่ชีวิตของคนประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น แต่ว่ามันเป็นระบบนิเวศที่เกี่ยวพันกับชีวิตของคนทั้งหมด



ทั้งนี้ หนังสือ "สาละวิน สายน้ำสามแผ่นดิน" มีเนื้อหาภายในเล่มที่น่าสนใจ อาทิ สาละวิน สายน้ำและชีวิต โครงการพัฒนาขนาดใหญ่บนแม่น้ำสาละวิน เขื่อนท่าซางเมื่อสายน้ำของชาวรัฐฉานหยุดไหล ฮัตจีเขื่อนกลางสนามรบ โครงการผันน้ำ น้ำยวมตอนล่าง-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ย้อนรอยผลประโยชน์โครงการเขื่อนสาละวิน และสัมภาษณ์ "ชื่นชม สง่าราศี กรีเซ่น": ชำแหละโครงสร้างไฟฟ้าไทยจากแผนประเทศถึงบิลค่าไฟ

 

อ้างอิง : https://prachatai.com/journal/2008/09/18347

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง