ผ่า มติ ครม.๒๕ กรกฎาคม : มติที่ไม่ยุติธรรมต่อคนจน

fas fa-pencil-alt
สมัชชาคนจน
fas fa-calendar
6 กรกฎาคม 2543

มติคณะรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน ๑๖ กรณี เมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ๒๕๔๓  ของรัฐบาลภายใต้การนำของนายชวน  หลีกภัย ได้ ถูกรัฐบาลโฆษณาโดยใช้สื่อของรัฐและความเหนือชั้นทางการเมืองเข้าบิดเบือนเพื่อทำให้สังคมไทยเชื่อว่า เป็นมติที่รัฐบาลให้ได้มากที่สุดแล้ว ส่วนที่ไม่ให้นั้นเป็นเพราะติดหลักการที่ไม่ต้องการนำภาษีประชาชนมาจ่ายกับคนส่วนน้อย สมัชชาคนจนจึงจำเป็รต้องเปิดเผยให้สังคมไทย เห็นว่า มติ ครม. ๒๕ กรกฎาคมนั้น  นอกจากไม่ได้นำไปสู่การแก้ปัญหา ๑๖ กรณีของสมัชชาคนจนอย่างที่รัฐกล่าวอ้างแต่ประการใด  มตินี้ยัง เป็นมติที่ไม่ยุติธรรมต่อคนจนทั้งในนามของสมัชชาคนจนและคนจนโดยส่วนใหญ่ของสังคมไทย

เหตุผลที่สมัชชาคนจนเห็นว่ารัฐบาลนี้มีมติที่ไม่ยุติต่อคนจนก็คือ

ประการแรก  คณะรัฐมนตรีไม่ได้นำมติคณะกรรมการกลางซึ่งตั้งโดยนายบัญญัติ  บรรทัดฐาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมาหดไทยเข้าพิจารณา ทั้งหมดโดยเลือกเอาเฉพาะมาตรการเร่งด่วนบางส่วนและมาตรการระยะสั้นเข้าสู่การพิจารณา ของ ครม.เท่านั้น ข้อเสนอของคณะกรรมการ กลางที่สำคัญที่รัฐบาลไม่นำเข้าสู่การพิจารณาก็คือ

๑.ไม่นำมาตรการเร่งด่วนที่คณะกรรมการเสนอให้รัฐบาลควรสั่งการให้ยุติการจับกุมชาวบ้านหรือผู้นำชุมนุมเข้าพิจารณาของ ครม. ซึ่งเท่ากับ รัฐบาลนี้จะดำเนินคดีกับคนจนต่อไป

๒.ไม่ได้นำมาตรการระยะยาวซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาเขื่อนอย่างถาวรเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.  ได้แก่ มาตรการระยะยาวเรื่องเขื่อน ที่เสนอให้รัฐต้องทำให้ชาวบ้านมีวิถีชีวิตใกล้เคียงของเดิม  ให้ยุติการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ทุกเขื่อนที่อยู่ในแผนจนกว่าจะมีการกำหนดมาตรการ ในการศึกษาผลกระทบและความคุ้มทุนและ มาตรการในการพิจารณาอนุมัติโครงการที่รอบคอบและเป็นธรรมมากกว่านี้  การเสนอให้มีการ ปรับปรุงการศึกษาผลกระทบ  และการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นต้น

๓.ไม่ได้นำมาตรการระยะยาวซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินอย่างถาวรเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. อันได้แก่ให้รัฐบาล ทบทวนมติ ครม.๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑  และทบทวนแก้ไขปรับปรุงกฎหมายป่าไม้ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ

การไม่นำข้อเสนอของคณะกรรมการกลางที่เป็นมาตรการมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.จึงไม่สามารถ แก้ไขปัญหาของสมัชชาคนได้อย่างแท้จริง

ประการที่สอง ข้อเสนอมาตรการระยะสั้นของคณะกรรมการกลางที่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. นั้นได้ถูกตัดตอนโดยตัดสาระสำคัญออก ไป ดังนั้นการระบุว่าในมติ ครม.ว่าเห็นชอบนั้นแท้ที่จริงแล้วจึงมิได้เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลาง  ยิ่งไปกว่านั้น ครม.ยังได้ เปลี่ยนแปลงสาระสำคัญและสอดใส้สาระอื่นเข้ามาแทนที่จนทำให้เจตนารมย์การแก้ปัญหาของคณะกรรมการกลาง ถูกบิดเบือนจนกระทั่ง ไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริง  ทั้งนี้ก็ยังมีข้อสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงสาระนั้นอาจมาจากที่รัฐบาลกลับไปรับฟังข้าราชการประจำอีกครั้ง  ซึ่งเท่ากับไม่เคารพต่อคณะกรรมการกลางซึ่งตั้งขึ้นมาโดยรัฐบาลเองตามข้อตกลงระหว่างรัฐบาลกับสมัชชาคนจน 

ด้วยเหตุนี้มติคณะรัฐมนตรีที่ระบุว่าเห็นชอบนั้นจึงมิได้นำไปสู่การแก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงถึง ๑๕ กรณี จากทั้งหมดที่คณะกรรมการกลางเสนอ ๑๖ กรณี  ยกเว้น กรณีบ้านวังใหม่เท่านั้น

ประการที่สาม สำหรับกรณีที่มติ ครม.ไม่เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลางนั้นเป็นที่ชัดเจนว่า คณะรัฐมนตรีพิจารณาโดยอ้าง หลักการที่ไม่ได้คำนึงถึงความยุติธรรมรวมทั้งไม่รู้ข้อเท็จจริง ดังกรณีตัวอย่างเช่น

กรณีเขื่อนห้วยละห้า ครม.มีมติไม่เห็นด้วยกับการพิสูจน์สิทธิและชดใช้ความเสียหายโดยอ้างว่าเป็นโครงการชลประทานขนาดเล็กสร้าง ขึ้นตาม ข้อเรียกร้องของราษฎร เป็นความต้องการและตกลงกันในท้องถิ่น  และทางราชการไม่เคยจ่ายค่าชดเชย ทั้ง ๆ ที่ปัญหานี้เกิดจากการดำเนินการ ของ รพช.ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ  และผู้เดือดร้อนไม่ยินยอมให้มีการก่อสร้างอีกทั้งมีเอกสารสิทธิในที่ดินยืนยัน แต่ รพช.ก็ดำเนินการก่อสร้าง โดยมิได้เคารพต่อสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบ  ชาวบ้านจึงต้องเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความยุติธรรม แต่รัฐบาลก็อ้างหลักการซึ่งไม่ได้ตั้งบนพื้นฐาน ของความยุติธรรมแต่ประการใด

กรณีเขื่อนลำคันฉู ครม.มีมติไม่เห็นชอบให้มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมย้อนหลังโดยอ้างว่าดำเนินการก่อสร้างทั้งโครงการ จนเกือบเสร็จแล้ว  ทั้ง ๆ ที่เขื่อนลำคันฉูสร้างเสร็จไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๓๖ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าคณะรัฐมนตรีตัดสินโดยไม่ได้มีข้อมูล  ข้ออ้าง ของรัฐบาลเช่นนี้ยังไม่สอดคล้องกับหลักการที่เป็นที่ยอมรับในทางสากลเพราะโดยหลักการแล้วเมื่อรัฐบาลมิได้ทำรายงาน การศึกษาก่อนการ สร้าง  จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทำแม้ว่าเป็นการประเมินผลกระทบย้อนหลังก็ตาม  อีกทั้งการประเมินผลกระทบย้อนหลังก็เป็นการประเมิน โครงการหลังการก่อสร้างที่โดยหลักการแล้วรัฐจะต้องทำอยู่แล้ว  แต่ที่ผ่านมาไม่มีการทำเพราะหน่วยงานรัฐได้หลีกเลี่ยงต่างหาก

กรณีเขื่อนสิรินธร  ครม.มีมติไม่เห็นชอบโดยอ้างว่าเป็นการจ่ายค่าซ้ำซ้อนย้อนหลัง  ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่ชาวบ้านเรียกร้องนั้นคือเรีกยร้องความยุติธรรม ที่พวกเขาต้องได้รับจากการที่รัฐบาลชักดาบพวกเขา และรัฐบาลก่อนหน้านี้ ๒ รัฐบาลได้ยอมรับแล้วว่าจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาความเดือดร้อนที่ ชาวบ้านกำลังเผชิญ  การอ้างว่าจ่ายซ้ำซ้อนย้อนหลังจึงเป็นเพียงการสร้างวาทะเพื่อที่จะไม่ต้องแก้ปัญหาชาวบ้านอีกทั้งยังใช้วาทะนี้เข้าทำลาย ความชอบธรรม ของชาวบ้านอีกด้วย

ประการที่สี่ มติ ครม.ที่ไม่เห็นชอบตามข้อเสนอของคณะกรรมการกลางยังยึดติดกับมติ ครม.ที่ออกตามกฎหมายเก่าที่ไม่สอดคล้องกับ รัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่ได้คำนึงถึงสภาพความเป็นมาของปัญหา  โดยเฉพาะกรณีป่าไม้ที่ดิน ครม.มีมติไม่เห็นชอบโดยอ้างว่ามติ ครม.วันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๔๑ น่าจะอำนวยการประโยชน์ในการแก้ปัญหาป่าไม้และที่ดินทั้งในส่วนประเทศชาติและราษฎรได้อย่างกว้างขวางเท่าเทียม กันทั่วประเทศ  ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริงมตินี้มิได้ยึดหลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการดำเนินการพิสูจน์สิทธิการครอบครองและ การทำประโยชน์ของ ชาวบ้าน อีกทั้งมตินี้ออกตามกฎหมายป่าไม้เดิมซึ่งไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๖ ๕๖ ๗๖ และ ๗๙

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น    จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มติ ครม.ที่รัฐบาลอ้างว่าให้เยอะแล้วนั้นแท้จริงแล้วมิได้แก้ปัญหาสมัชชาคนจนแต่ ประการใด แต่กลับใช้มตินี้สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลและกล่าวหาสมัชชาคนจนโดยอาศัยสื่อต่าง ๆ  ของรัฐบิดเบือนเพื่อทำลายความ ชอบธรรมของสมัชชาคนจน 

ประการที่ห้า การที่คณะรัฐมนตรีกระทำการดังกล่าวข้างต้นนี้ เท่ากับเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลนี้มิได้ปฏิบัติต่อกลุ่มคนในสังคมอย่าง เสมอภาคกัน  เพราะการอ้างว่าไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมการกลางเพื่อไม่แก้ปัญหาสมัชชาคนจนได้มีการอ้างหลักการ ซึ่งก็ไม่ได้ เป็นหลักการที่เป็นที่ยอมรับแต่อ้างตามอำเภอใจ อีกทั้งยังอ้างมติ ครม.เก่าที่ออกตามกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน การกระทำ นี้กลับตรงกันข้ามกับการกระทำของรัฐบาลที่ปฏิบัติกับกลุ่มทุนโดยสนับสนุนกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม แม้ว่าจะขัดต่อกฎหมายแต่ก็ทำการเปลี่ยนแปลง กฎหมายเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการสนองตอบต่อกลุ่มทุนนั้นได้ ดังนั้นจึงเท่ากับรัฐบาลนี้เลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่อง สถานะของบุคคล  ฐานะทางเศรษฐกิจ หรือสังคม ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๓๐

ด้วยเหตุนี้ สมัชชาคนจนจึงมิสามารถยอมรับต่อมติ ครม.ที่ไม่ยุติธรรมต่อคนจนได้  เพราะมติดังกล่าวไม่ได้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด สมัชชาคนจนจึงไม่สามารถที่จะยอมรับและกลับบ้านด้วยมติที่ไม่ยุติธรรมนี้ 

และท่ามกลางสถานการณ์ที่รัฐใช้สื่อของรัฐและใช้กลยุทธ์ของความเป็นนักการเมืองที่มีลีลาและโวหารบิดเบือนมติ ครม.อย่างไม่ชอบธรรมเพียง ฝ่ายเดียวและไม่ยุติธรรมต่อสมัชชาคนจน  สมัชชาคนจนจึงไม่มีทางเลือกอื่นและจำเป็นที่ต้องมีเวทีสาธารณะพื่อให้สังคมไทยได้รู้ข้อเท็จจริง นี้ด้วย  โดยที่สมัชชาคนจนและรัฐบาลมีโอกาสแสดงเหตุผลอย่างเท่าเทียมกันและโปร่งใส  มิใช่ใช้ช่อง ๑๑ ที่รัฐได้ใช้เป็นเวทีกระทืบสมัชชา คนจนมาโดยตลอด

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง