แผ่นดินไหว เขื่อนวิบัติ : ภัยที่ต้องป้องกัน ก่อนวัวหายแล้วล้อมคอก

fas fa-pencil-alt
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ-searin
fas fa-calendar
17 มกราคม 2547

เหตุการณ์สึนามิได้บอกกับสังคมไทยว่าแผ่นดินไหวกับคนไทยไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป แต่น่าเสียดายที่ความสนใจในการป้องกันภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวต่างมุ่งไปที่สึนามิเป็นหลัก ไม่ได้ให้ความสำคัญกับแผ่นดินไหวในประเทศ

ความจริงแล้ว แผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยมี ๒ ลักษณะคือ แผ่นดินไหวที่มีศูนย์อยู่นอกประเทศ ส่วนใหญ่มาจากแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในจีนและพม่า เช่นแผ่นดินไหวในปี ๒๕๓๘ ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณพรมแดนจีน-พม่า สร้างความเสียหายให้กับอาคารในภาคเหนือของประเทศหรือแผ่นดินไหวในพม่าเมื่อปี ๒๔๗๓ สร้างความเสียเล็กน้อยให้กับกรุงเทพฯ

 

แผ่นดินไหวลักษณะที่ ๒ คือ แผ่นดินไหวในประเทศ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ระบุถึงประวัติแผ่นดินไหวในประเทศไทยว่า เกิดขึ้นทุกภาคของประเทศ แต่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคกลาง(หมายถึงฝั่งตะวันตก) และภาคใต้ ส่วนแผ่นดินไหวภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกนั้นเกิดขึ้นน้อยสุด

ความจริงแล้ว คนไทยมีประสบการณ์ภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวมานานแล้ว ตั้งแต่ในอดีต เช่น แผ่นดินไหวเมื่อปี ๒๐๘๘ มีศูนย์กลางที่เชียงใหม่ทำให้ยอดเจดีย์หลวงสูง ๘๖ เมตรหักพังลงมาเหลือ ๖๐ เมตร ส่วนแผ่นดินไหวในประเทศที่สำคัญในยุคหลังๆ ก็เช่น

แผ่นดินไหวขนาด ๕.๖ ริกเตอร์เมื่อวันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๘ มีศูนย์กลางที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เกิดความเสียหายเล็กน้อยบริเวณใกล้จุดศูนย์กลาง

แผ่นดินไหวขนาด ๕.๙ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖ มีศูนย์กลางใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ สร้างความเสียหายเล็กน้อยต่ออาคารในกรุงเทพฯ

ล่าสุดคือแผ่นดินไหวขนาด ๕.๑? ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๓๗ มีศูนย์กลางที่ อ.พาน จ.เชียงราย สร้างความเสียหายเล็กน้อยถึงปานกลางให้กับอาคาร โรงพยาบาล โรงเรียน และวัดหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม แผ่นดินไหวในประเทศอาจจะเคยมีขนาดมากกว่านี้เพราะข้อมูลนี้เป็นข้อมูลภายในประเทศ

รศ.เป็นหนึ่ง วานิชชัย แห่งสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียได้ระบุในบทความซึ่งตีพิมพ์ในมติชนเมื่อวันที่ ๓๑ มกราคม ๒๕๓๘ ว่า หากนำข้อมูลแผ่นดินไหวนอกประเทศมาดูจะพบว่าประเทศไทยเคยมีแผ่นดินไหวถึง ๖.๕ ริกเตอร์มาแล้ว โดยมีศูนย์กลางที่จังหวัดแพร่ เมื่อปี ๒๔๗๖

รศ.เป็นหนึ่ง ยังระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนั้นนับได้ว่ามีขนาดใกล้เคียงกันกับแผ่นดินไหวที่ทำความเสียหายรุนแรงแก่นครลอสแอนเจลิสเมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๗

สาเหตุหนึ่งที่เราให้ความสำคัญกับแผ่นดินไหวในประเทศน้อยก็เพราะว่า จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในป่าเขาห่างจากชุมชนจึงสร้างความเสียหายแค่เล็กน้อยถึงปานกลาง ประกอบกับความรู้เรื่องแผ่นดินไหวในประเทศไทยเพิ่งมีความก้าวหน้าเมื่อประมาณ ๒๐ ปีนี้เอง

ปัจจุบัน ความรู้ด้านธรณีวิทยาที่ก้าวหน้าทำให้เราทราบว่าประเทศไทยมีแนวเลื่อนของเปลือกโลกซึ่งแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่มดังนี้

๑) เขตภาคเหนือ มีกลุ่มแนวเลื่อนแม่ทาที่โค้งโอบเชียงใหม่ กลุ่มแนวเลื่อนเชียงแสน กลุ่มแนวเลื่อนแพร่ และกลุ่มแนวเลื่อนเถิน

๒) เขตภาคตะวันตก มีกลุ่มแนวเลื่อนศรีสวัสดิ์ กลุ่มแนวเลื่อยเมย-อุทัยธานี และกลุ่มแนวเลื่อนเจดีย์สามองค์

๓) เขตภาคใต้ มีกลุ่มแนวเลื่อนระนองที่พาดผ่านตั้งแต่อ่าวไทยลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ผ่านระนองถึงทะเลอันดามัน และกลุ่มแนวเลื่อนคลองมะรุยซึ่งขนานกับแนวเลื่อนระนอง โดยแนวเลื่อนหลักพาดผ่านตั้งแต่อ่าวไทย อ่าวบ้านดอนที่สุราษฎร์ธานีลงไปยังกระบี่และภูเก็ต

แนวเลื่อนเหล่านี้มีขนาดยาวหลายร้อยกิโลเมตรซึ่งสามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ได้

กระนั้นก็ตาม ความเชื่อที่ว่าประเทศไทยปลอดภัยจากแผ่นดินไหวก็ยังฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยโดยเฉพาะในบรรดาวิศวกรก่อสร้าง และนั่นทำให้ความเสี่ยงจากภัยพิบัติแผ่นดินไหวในปัจจุบันสูงมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากตึกสูงและเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นมากมายในยุคปัจจุบัน

หลังสึนามิ การที่ กทม.มีแนวคิดทบทวนกฎกระทรวงเกี่ยวกับการสร้างอาคารจึงเป็นเรื่องน่ายินดี แต่สำหรับเขื่อนแล้ว ดูเหมือนว่ายังน่าเป็นห่วง แม้มีข่าวว่ากรมชลประทานเตรียมของบประมาณ ๓,๐๐๐? ล้านบาทเพื่อปรับปรุงให้เขื่อนปลอดภัยจากแผ่นดินไหวก็ตาม

ทั้งนี้ก็เพราะภัยพิบัติจากเขื่อนพังกับอาคารพังเนื่องจากแผ่นดินไหวนั้นแตกต่างกัน เพราะไม่ได้มีแค่เรื่องของความแข็งแรงในการก่อสร้างแต่ยังมีมติต่างๆ อีกมากมาย

ก่อนอื่นเราจะต้องเข้าใจก่อนว่า ในระดับนานาชาติ มีการยอมรับกันมานานแล้วว่าเขื่อนที่สร้างบนแนวเลื่อนของเปลือกโลกกับแผ่นดินไหวนั้นเป็นของคู่กัน

ศาสตราจารย์บรูซ เอ. โบลต์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบอร์กเลย์ ระบุไว้ในหนังสือเรื่องแผ่นดินไหว (Earthquake) ว่า น้ำในเขื่อนที่สร้างขึ้นบริเวณแนวเลื่อนของเปลือกโลกเปรียบเสมือนตัวการในการลั่นไก (triggering) ทำให้เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีผลมาจากน้ำหนักของน้ำที่ไปกระตุ้นให้เกิดพลังงานในชั้นหิน ผู้ที่รายงานแผ่นดินไหวลักษณะนี้คนแรกคือคาร์เคอร์ (Carder) เมื่อ ปี พ.ศ.๒๔๘๘ ซึ่งพบการเกิดแผ่นดินไหวจากเขื่อนฮูเวอร์ในอเมริกา ซึ่งเป็นเขื่อนยุคใหม่แห่งแรกของโลก

ในชั้นแรกคิดกันว่า แผ่นดินไหวลักษณะนี้เป็นขนาดเล็กๆ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายใดๆ แต่ต่อมาก็เกิดแผ่นดินไหวกับเขื่อนอื่นๆ อีกหลายเขื่อนที่มีการสร้างหลังเขื่อนฮูเวอร์ ที่รุนแรงก็เช่น ภายหลังการสร้างเขื่อนคอยนา (Koyna) ในอินเดีย ทำให้เกิดแผ่นดินไหวเมื่อปี ๒๕๑๐ ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง ๑๗๗ คน บาดเจ็บ ๑,๕๐๐ คน บ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมาก ทั้งที่บริเวณนั้นไม่เคยเกิดแผ่นดินไหวมาก่อน

ขณะที่ศาสตราจารย์ปริญญา นุตาลัย ได้แบ่งสาเหตุการวิบัติของเขื่อนจากแผ่นดินไหวออกเป็น ๓ ลักษณะ

ลักษณะแรก เกิดจากหินใต้เขื่อนเลื่อนตามแนวเลื่อนทำให้ตัวเขื่อนฉีกขาดออกจากกัน ตัวอย่างเช่น การพังของเขื่อนบอลด์วินฮิลล์ในลอสแอนเจลิส เมื่อวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๐๖ ทำให้มีผู้เสียชีวิต ๕ คน บริษัทประกันภัยจ่ายค่าเสียหาย ๑๒? ล้านเหรียญ และมีการฟ้องร้องตามมาอีกมากมาย

ลักษณะที่สอง เกิดจากการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว ตัวอย่างเช่น เขื่อนแวนนอร์แมน (Van Norman Dam) ในลอสแอนเจลิส ทำให้สันเขื่อนด้านเหนือน้ำถล่มลงมา

ลักษณะที่สาม เกิดจากมวลดินถล่มลงมาในอ่างเก็บน้ำ ทำให้เกิดคลื่นยักษ์ในอ่างเก็บน้ำ เช่น เขื่อนไวยอนต์ (Vaiont Dam) ในประเทศอิตาลี เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๐๖ ได้เกิดมวลหินถล่มลงมาทำให้เกิดคลื่นยักษ์กระฉอกล้นออกจากเขื่อนและพัดพาเอาบ้านเรือนท้ายเขื่อนมีผู้เสียชีวิตมากกว่า ๒,๖๐๐ คน

ในประเทศไทยเองก็เคยเกิดเหตุการณ์ทำนองนี้ นั่นก็คือ การเกิดแผ่นดินไหวขนาด ๕.๙ ริกเตอร์ เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน ๒๕๒๖ มีศูนย์กลางใกล้อ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ ทำให้หินแตกเลื่อนออกจากกันยาวประมาณ ๔ กิโลเมตร และทำให้เกิดดินถล่มลงในอ่างเก็บน้ำหลายแห่งและทำให้เกิดคลื่นยักษ์ตามมา โชคดีที่บริเวณดินถล่มห่างจากตัวเขื่อนมาก จึงไม่เกิดหายนะอย่างเขื่อนไวยอนต์

อย่างไรก็ตาม ประเด็นความปลอดภัยของเขื่อนกับแผ่นดินไหวในประเทศไทยมักถูกละเลยจากนักสร้างเขื่อนดังจะเห็นได้จากรายงาน การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่มักประเมินว่า แนวเลื่อนของเปลือกโลกที่สร้างเขื่อนนั้นตายแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะเหตุผลทางการเมืองเพียงเพื่อให้เขื่อนได้รับการอนุมัติ

ผู้เขียนเชื่อว่า คนท้ายเขื่อนคงตกใจไม่น้อยที่หลังเหตุการณ์สึนามิ กรมชลประทานได้เตรียมของบประมาณถึง ๓,๐๐๐ ล้านบาทเพื่อหาทางป้องกันเขื่อนจากแผ่นดินไหว นั่นหมายความว่าที่แท้แล้ว เขื่อนนั้นไม่ปลอดภัย ทั้งที่ก่อนหน้านี้นักสร้างเขื่อนยืนยันมาตลอดว่าเขื่อนของพวกเขาปลอดภัยจากแผ่นดินไหวแน่นอน

นอกจากเขื่อนของกรมชลประทานแล้ว ยังมีเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) อีกหลายเขื่อนที่สร้างบนแนวเลื่อนของเปลือกโลก และมีความเสี่ยงสูงไม่น้อยไปกว่าเขื่อนของกรมชลประทาน โดยเฉพาะเขื่อนเขาแหลมที่สร้างบนแนวเลื่อนเจดีย์สามองค์ เขื่อนศรีนครินทร์ที่สร้างบนแนวเลื่อนศรีสวัสดิ์ และเขื่อนเชี่ยวหลานที่สร้างในเขตแนวเลื่อนคลองมะรุย

แม้ กฟผ.จะอ้างว่าได้ออกแบบเขื่อนให้รองรับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวแล้ว และ กฟผ.มีเครื่องวัดแผ่นดินไหวที่ทันสมัยติดตั้งอยู่ที่เขื่อนศรีนครินทร์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขื่อนของ กฟผ.จะปลอดภัยจากแผ่นดินไหว

เขื่อนบอลด์วินฮิลล์เป็นตัวอย่างได้ดีเพราะขณะที่การสำรวจเพื่อจะสร้างเขื่อนแห่งนี้ มีการพบแนวเลื่อน ๓ แนว แต่ผู้สำรวจคิดว่าแนวเลื่อนเหล่านี้จะไม่เลื่อนอีก กระนั้นก็ตาม นักสร้างเขื่อนก็ยังออกแบบเผื่อให้เขื่อนป้องกันแผ่นดินไหวถึง ๐.๒ g (ค่า g คือความเร่งของแรงดึงดูดโลก) เขื่อนแห่งนี้เป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นตัวอย่างยอดเยี่ยมทางวิศวกรรมไม่ว่าในการออกแบบ วิธีก่อสร้าง และการติดตามผล มีระบบการตรวจสอบประสิทธิภาพของเขื่อนตลอดเวลา แต่เขื่อนก็พังลงมาในที่สุด

 

การพังของเขื่อนแห่งนี้ ทำให้เราเห็นนัยสำคัญสองประการคือ

ประการแรก ไม่ว่าเราจะมีความเชื่อมั่นทางวิศวกรรมอย่างไร แต่ก็อาจจะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เขื่อนวิบัติจากแผ่นดินไหวได้ อาจยกเว้นถ้าเราใช้เงินจำนวนมหาศาลเพื่อให้เขื่อนแข็งแรง แต่ก็มีคำถามว่าคุ้มหรือไม่ ดังนั้นวิธีป้องกันที่ดีที่สุดก็คือไม่สร้างเขื่อนในเขตแนวเลื่อนของเปลือกโลก ประการที่สอง เราไม่สามารถฝากการป้องกันภัยพิบัติเขื่อนจากแผ่นดินไหวให้กับบรรดาวิศวกรนักสร้างเขื่อนได้

ดังนั้น เราจึงควรระงับโครงการเขื่อนที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวเนื่องจากจะสร้างบนแนวเลื่อนของเปลือกโลก เช่น เขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นต้น

ส่วนกรณีเขื่อนที่สร้างไปแล้วนั้น ผู้เขียนใคร่ขอเสนอว่า ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการจัดทำแผนรับมือกับภัยพิบัติเขื่อนพังจากแผ่นดินไหว

ในระยะเร่งด่วน ควรมุ่งไปที่เขื่อนที่มีความเสี่ยงสูงมากที่สุดก่อน นั่นคือเขื่อนเขาแหลม เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนเชียวหลาน และเขื่อนบางลาง เนื่องจากเขื่อนทั้งสี่แห่งมีหลักฐานว่าระหว่างการก่อสร้างมีปัญหาด้านธรณีวิทยาและทำให้งบการก่อสร้างบานปลายมาก

สำหรับเขื่อนเชี่ยวหลานและเขื่อนบางลาง ยังเกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหวที่ทำให้เกิดสึนามิที่ผ่านมาด้วย

รายงานจากชาวบ้านที่พบหลุบยุบมากมายทางภาคใต้หลังเกิดสึนามิคือสัญญาณเตือนว่าเขื่อนทางภาคใต้อาจมีความ เสี่ยงเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางธรณีวิทยาที่ต่อเนื่องมาจากการเลื่อนตัวของเปลือกโลกเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคมที่ผ่านมา

ส่วนเขื่อนอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายที่ต้องจัดทำแผนคือเขื่อนทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศ เช่น เขื่อนแม่งัด เขื่อนแม่กวง ฯลฯ

ที่สำคัญก็คือ การป้องกันภัยพิบัติของเขื่อนจากแผ่นดินไหวต้องเป็นการร่วมมือกันของหน่วยงานต่างๆ นอกเหนือไปจากหน่วยงานสร้างเขื่อน เช่น กรมทรัพยากรธรณี กรมอุตุนิยมวิทยา มหาดไทย องค์กรภาคเอกชน นักวิชาการ และที่สำคัญคือผู้ที่อยู่ท้ายเขื่อนซึ่งป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการอพยพในกรณีเขื่อนวิบัติ

ผู้เขียนจำได้ว่า ก่อนหน้าเกิดสึนามิประมาณ ๒ เดือน มหาวิทยาลัยราชภัฏกาญจนบุรี ชาวบ้านท้ายเขื่อนเขาแหลมและเขื่อนศรีนครินทร์ และกลุ่มอนุรักษ์กาญจน์ได้ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดให้มีการสัมมนา เพื่อหาแนวรับมือกับการวิบัติของเขื่อนในกาญจนบุรี

สิ่งที่น่าตกใจก็คือ ตัวแทนจังหวัดที่รับผิดชอบการป้องกันภัยไม่เข้าใจแม้แต่น้อยว่า การป้องกันภัยพิบัติจากเขื่อนคืออะไร นอกจากกล่าวว่าจังหวัดมีกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการจ่ายค่าเสียหายแล้ว ขณะที่ตัวแทน กฟผ.ระบุว่า กฟผ.มีแผนการป้องกันภัยแล้วพร้อมกับชูแผนหนาปึกให้ที่ประชุมดู แต่ก็บอกว่าเปิดเผยไม่ได้เพราะเป็นข้อมูลลับ ต้องขออนุญาตจากผู้บริหารก่อนท่ามกลางชาวบ้านที่ต้องหันมามองตากันปริบๆ แม้ว่าพวกเขาคือผู้ที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงหากเขื่อนวิบัติ

ทัศนะของ กฟผ.นี้เองที่ผู้เขียนไม่มั่นใจว่าการป้องกันภัยพิบัติจากเขื่อนพังจะเป็นจริงได้ เพราะวิธีคิดของนักสร้างเขื่อนยังมองว่าแผนการป้องกันภัยพิบัติเขื่อนพังเป็นความลับและแยกคนในสังคมออกไป ทั้งๆ ที่คนคือหัวใจของการป้องกันภัยพิบัติเขื่อนพังจากแผ่นดินไหว

ทัศนะเช่นนี้บอกให้เรารู้ว่าตราบใดที่นักสร้างเขื่อนยังคิดอยู่ในบริบททางการเมืองแบบเก่า ต่อให้เพิ่มงบประมาณอีกกี่พันล้านก็ตาม เราก็ไม่มีทางหลีกเลี่ยงหายนะจากการวิบัติของเขื่อนจากแผ่นดินไหวได้

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง