แผนย่ำยีน้ำโขง 6 เขื่อนไทย-ลาว-เขมร

fas fa-pencil-alt
ณัฐพงษ์ บุณยพรหม-ข่าวสด
fas fa-calendar
18 พฤศจิกายน 2550

แม่น้ำโขงตอนบนในเขตมณฑลยูนนานของจีน ถูกกั้นด้วยเขื่อนขนาดใหญ่แล้ว 2 แห่ง จากทั้งหมด 8 เขื่อน ส่วนทางลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่างนั้น สายน้ำโขงที่เคยไหลอย่างอิสระให้ผู้คนกว่า 100 ล้านคน ตลอดลุ่มน้ำแห่งนี้ อาศัยพึ่งพาทำมาหากิน กำลังจะถูกคุกคามด้วยโครงการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

เช่นเดียวกับโครงการสร้างเขื่อนบนแม่นํ้าสาละวินในประเทศพม่าติดกับชายแดนไทย

หลังจากเตรียมการวางแผนมากว่าหนึ่งทศวรรษ เขื่อนขนาดใหญ่ 6 เขื่อน บนแม่นํ้าโขงตอนล่างกำลังเป็นรูปเป็นร่างอีกครั้ง ด้วยแรงผลักดันของกลุ่มธุรกิจพลังงานในภูมิภาค แม้จะเคยละทิ้งข้อเสนอการสร้างเขื่อนเหล่านี้ไปแล้วในอดีต เนื่องจากเป็นโครงการที่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งมีราคาที่สูงเกินไป

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ปี 2549 บริษัทเอกชนของไทย มาเลเซีย และจีน กลับได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลในลุ่มแม่นํ้าโขงตอนล่าง ให้เดินหน้าศึกษาความเป็นไปได้ของเขื่อนต่างๆ บนแม่นํ้าโขงสายหลัก

ทำให้โครงการมีความคืบหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในลาวและกัมพูชา โดยเขื่อนที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในขณะนี้ มีทั้งหมด 6 แห่ง ประกอบด้วย

เขื่อนปากแบ่ง แขวงอุดมไซ ประเทศลาว ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 1,350 เมกะวัตต์ มีการลงนามระหว่างบริษัท ต้าถัง อินเตอร์เนชั่นแนล พาวเวอร์ เจเนอเรชั่น จำกัด ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของจีนกับรัฐบาลลาว เมื่อเดือนสิงหาคม 2550 เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

เขื่อนไซยะบุรี ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว ขนาด 1,260 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนกว่า 60,000 ล้านบาท โดยบริษัท ช.การช่าง ของไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ และมีแผนจะเริ่มก่อสร้างราวต้นปี 2554 คาดว่าจะสามารถขายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ในปี 2558

เขื่อนปากลาย กั้นแม่น้ำโขงทางตอนใต้ของแขวงไซยะบุรี ติดกับแขวงเวียงจันทน์ กำลังการผลิต 1,320 เมกะวัตต์ มูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท โดยบริษัทพลังงานของจีนชื่อ ไซโนไฮโดร และไชนาเนชั่นแนลอิเล็กทรอนิกส์ ลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลลาว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ทั้งนี้ไซโนไฮโดร คือบริษัทเดียวกันกับที่ได้ลงนาม เพื่อร่วมสร้างเขื่อนแห่งแรกบนแม่น้ำสาละวินในพม่า

เขื่อนบ้านกุ่ม ตั้งอยู่ที่ชายแดนไทย-ลาว ที่ ต.โพธิ์ไทร อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ทางกระทรวงพลังงาน โดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ว่าจ้างให้บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท มาโก้ คอนซัลแตนท์ ศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ

เขื่อนซำบอ บริเวณตอนเหนือของกัมพูชา มีกำลังผลิตถึง 3,330 เมกะวัตต์ โดยบริษัท ไชนาเซาเทิร์นพาวเวอร์กริด จากจีนลงนามบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลกัมพูชาเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

ข้อมูลเบื้องต้นระบุว่า เขื่อนซำบอ จะพาดขวางกลางลำน้ำโขง ที่ซำบอ เหนือเมืองกระแจ๊ะ ตัวเขื่อนคอนกรีตจะมีความยาวมากกว่า 1 กิโลเมตร มีบานประตูทั้งหมด 44 บาน พร้อมด้วยเขื่อนดินปิดกั้นลำน้ำทางฝั่งซ้ายและขวาอีกร่วม 4 กิโลเมตร

สุดท้าย เขื่อนดอนสะฮอง แขวงจำปาศักดิ์ ตอนใต้ของลาว กั้นแม่น้ำโขงที่บริเวณน้ำตกคอนพะเพ็ง ห่างจากชายแดนกัมพูชาเพียง 1 กิโลเมตร มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้า 240 เมกะวัตต์

ในบรรดาเขื่อนที่ผลักดันให้สร้างบนแม่นํ้าโขงสายหลัก 6 เขื่อน ในขณะนี้เขื่อนดอนสะฮอง มีความคืบหน้ามากที่สุดในขั้นตอนการพิจารณา และอาจจะเป็นเขื่อนที่มีการผลักดันให้เกิดขึ้นบนแม่นํ้าโขงตอนล่างเป็นเขื่อนแรก (ไม่นับเขื่อนใหญ่ตอนบนของแม่นํ้าโขง)

โดยมีการลงนามระหว่างบริษัท เมกะเฟิร์สท คอร์ปอเรชั่น จำกัด ของมาเลเซียกับรัฐบาลลาว เมื่อเดือนมีนาคม 2549 ที่ผ่านมา เพื่อศึกษาความเป็นไปได้

ข้อมูลที่มีชี้ให้เห็นว่า เขื่อนเหล่านี้จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนอย่างน้อย 75,500 คน ที่จะต้องถูกย้ายจากพื้นที่อ่างเก็บน้ำ นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าจุดสร้างเขื่อนดอนสะฮอง และเขื่อนซำบอ เป็นพื้นที่ซึ่งเลวร้ายที่สุดสำหรับการสร้างเขื่อน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการประมง และอาจจะเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในโลก

แม้จะมีการระบุถึงผลเสียหายร้ายแรงต่อระบบนิเวศ และเศรษฐกิจจากการสร้างเขื่อนแม่นํ้าโขงตอนล่าง แต่ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (Mekong River Commission) หรือ MRC หน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการปกป้องแม่นํ้าโขงภายใต้ "ข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่นํ้าโขงอย่างยั่งยืน" เมื่อปี 2538 กลับนิ่งเฉย

ทางโครงการฟื้นฟูนิเวศวิทยาในภูมิภาคอินโดจีนและพม่า (TERRA) โครงการแม่นํ้าเพื่อชีวิต และรศ.สุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกมาแถลงคัดค้าน เนื่องจากคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง และประเทศผู้บริจาค เปิดการประชุมหาแนวทางก่อสร้างเขื่อน ที่เมืองเสียมเรียบ ประเทศกัมพูชา ในวันที่ 14-17 พ.ย.

พร้อมทั้งตั้งคำถามไปยังคณะกรรมการแม่น้ำโขง ด้วยว่ายังควรมีอยู่หรือไม่

โดยมีองค์กรภาคประชาชนและบุคคล 201 รายชื่อ จาก 30 ประเทศทั่วโลก รวมถึงกลุ่มภาคประชาสังคมในประเทศแม่นํ้าโขง 126 กลุ่ม ไทย เวียดนาม ลาว และกัมพูชา เข้าประชุม เรียกร้องให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ปฏิบัติตามพันธกิจในการปกป้องแม่นํ้าโขง หลังจากมีข่าวว่าโครงการเขื่อนบนแม่นํ้าโขงสายหลัก 6 แห่ง จะถูกกลับมาทำใหม่

นางเปรมฤดี ดาวเรือง ผอ.โครงการมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงไม่มีประสิทธิภาพพอ เนื่องจากไม่เปิดเผยข้อมูลให้ชาวบ้านรู้ว่าพวกเขาจะได้รับผลกระทบอะไรบ้างจากการพัฒนาดังกล่าว คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงต้องถูกตรวจสอบโดยประชาคมแม่นํ้าโขง และต้องออกมายืนยันพันธกิจในการอนุรักษ์แม่นํ้า และแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อโครงการเขื่อนเหล่านี้ในทันที

ขณะที่นายสุริชัย หวันแก้ว สมาชิกสนช. กล่าวว่า จะเรียกร้องให้รัฐบาลของทุกประเทศที่กำลังจะสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง คำนึงถึงความเป็นอยู่ของประชาชนรวมถึงทรัพยากรริมฝั่งแม่น้ำโขง โดยทบทวนความต้องการอันแท้จริงของประชาชนให้มากขึ้น และอยากให้กลุ่มประเทศที่บริจาคเงินให้กับคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง ทบทวนเรื่องนี้ก่อนตัดสินใจให้เงินสนับสนุน

อย่างน้อยที่สุดคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง ควรจัดให้มีการประเมิน โดยใช้หลักวิชาการที่เชื่อถือได้ ในประเด็นความเหมาะสมการสร้างเขื่อน และต้องเปิดเผยและพิจารณาตรวจสอบการศึกษา ที่ทำโดยนักวิชาการจากบริษัทเอกชนผู้สร้างเขื่อนจากประเทศไทย มาเลเซีย และจีน

คณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขงมีความสำคัญ เนื่องจากมีหลายประเทศอยู่รวมกัน แต่ขณะนี้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ใหม่คือการสร้างเขื่อนที่เพิ่มมากขึ้น เพราะประเทศในภูมิภาคนี้ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยการผลิตไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ประชาชนที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคนี้ ส่วนมากต้องอาศัยแหล่งอาหารและระบบนิเวศจากแม่นํ้าโขง จะได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่กำลังจะเกิดขึ้น

ปัญหาภูมิภาคลุ่มแม่นํ้าโขง ไม่ได้มีแค่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่อาจจะมีปัญหาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และปัญหาของชีวิตในชุมชนที่ถูกคุกคามด้วยเขื่อน

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง