ภาคประชาชนใช้ พ.ร.บ.สุขภาพ ตรวจข้อมูลสร้าง “เขื่อนบ้านกุ่ม”
อุบลราชธานี-ตำนานการสร้างเขื่อนเมืองดอกบัวไม่จบง่าย ล่าสุด สมัชชาสุขภาพงัด พ.ร.บ.สุขภาพเป็นไม้เด็ด ขอตรวจข้อมูลการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม เขื่อนยักษ์มูลค่านับแสนล้านบาทกั้นแม่น้ำโขง ส่วนค่ายซีพี จับมือทางการลาวสำรวจจุดสร้างเขื่อนในลาว หากโครงการเขื่อนไทย-ลาว แรกล้มเหลว
นางกรรณิการ์ บรรเทิงจิตร รองผู้อำนวยการสำนักงาน คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางมูลนิธิพิทักษ์ธรรมชาติเพื่อชีวิต (เนเจอร์แคร์) ได้เสนอเรื่องขอให้ สช.มีส่วนสนับสนุนสิทธิด้านสุขภาพของชุมชน ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดใหญ่กั้นกลางแม่น้ำโขง ระหว่างบ้านกุ่ม ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี กับบ้านกุ่มน้อย เมืองชะนะสมบูน แขวงสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ซึ่งขณะนี้ข้อมูลโครงการก่อสร้างเขื่อนยังไม่ชัดเจน แต่การสร้างหรือไม่สร้างเขื่อนไม่ใช่เรื่องที่เราจะตัดสินใจ
ขณะที่ นโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพของชุมชนท้องถิ่นให้อยู่เย็นเป็นสุข คือ สิ่งที่ สช.จะมาสนับสนุนให้เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.สุขภาพ ซึ่งเป็นสิทธิด้านสุขภาพของชุมชนที่ต้องถูกนำมาใช้ สำหรับกรณีนี้ มีกฎหมายที่เข้ามาเกี่ยวข้องคือมาตรา 5 ว่าด้วยบุคคลมีสิทธิดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ และบุคคลมีหน้าที่ร่วมกับหน่วยงานของรัฐดำเนินการให้เกิดสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่ดี มาตรา 10 ว่าด้วยสิทธิรับรู้ข้อมูลข่าวสารผลดีผลเสียที่จะเกิดขึ้น ซึ่งการสร้างเขื่อนแห่งนี้ หน่วยงานรัฐก็ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน
มาตรา 11 ว่าด้วยสิทธิการขอให้มีส่วนร่วมประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ จากนโยบายสาธารณะ มาตรา 40 สนับสนุนให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะพื้นที่ เฉพาะประเด็น จากนี้ไปก็คงจะเป็นการรวมพลังทั้งหน่วยงานราชการ วิชาการ จัดระบบกลไกอย่างไร โดยใช้เครื่องมือสมัชชาสุขภาพทำข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจนขึ้น
ด้าน นายนฤทธิ์ มงคลศรี นายอำเภอโขงเจียมกล่าวถึงโครงการดังกล่าว ว่า การสร้างเขื่อนบ้านกุ่มก็ทราบจากรายการสนทนาของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีที่กล่าวขณะยังดำรงตำแหน่งจะมีการสร้างเขื่อนดังกล่าวจริง แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด ที่ผ่านมา มีการนำเรื่องเข้าเป็นวาระการประชุมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันทุกเดือน เพื่อให้ทราบความคืบหน้าจากทุกด้าน และขณะนี้มีเพียงหนังสือจากจังหวัด ซึ่งยังไม่อนุญาตให้บริษัทเอกชนรายใดเข้าสำรวจเก็บข้อมูลหรือศึกษาพื้นที่ที่ใช้สร้างเขื่อน
นายอำเภอโขงเจียม กล่าวต่อว่า ข่าวเรื่องการสร้างเขื่อนที่บ้านกุ่ม สร้างความสับสนตื่นตระหนกและความแตกแยกในประชาคมหมู่บ้าน จึงต้องการหน่วยงานทุกแห่งที่เข้ามาให้ข้อมูลแก่ประชาชน ต้องเป็นข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อประชาชนจะได้ใช้วิจารณญาณของตัวเองพิจารณาควรมีการสร้างเขื่อนหรือไม่
“ถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงแล้วพี่น้องประชาชนดีขึ้น ประเทศชาติได้ผลประโยชน์ ก็ต้องให้เป็นไปในทางที่ดี แต่ถ้าเป็นลบทุกคนก็สามารถใช้สิทธิแสดงความคิดเห็นไม่ควรให้สร้าง แต่ถ้าเป็นบวกก็สามารถแสดงความคิดเห็นให้สร้างได้”
ผู้สื่อข่าวรายงานต่อว่า ขณะที่นักวิชาการ ภาคประชาชน และภาคราชการ กำลังมีข้อถกเถียงจะมีการสร้างเขื่อนมูลค่านับแสนล้านบาทกั้นกลางแม่น้ำโขง ตามที่ประเทศจีนได้สร้างเขื่อนขึ้นในประเทศของตน ทำให้ฤดูแล้งเกิดน้ำแล้ง และฤดูฝนเกิดอุทกภัยตามลำน้ำโขง กระทั่งมีข้อสงสัยสาเหตุน้ำแล้งและน้ำท่วมที่เกิดขึ้น เพราะเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงที่สร้างในประเทศจีน ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพของลุ่มน้ำแห่งนี้ใช่หรือไม่
ทั้งยังมีรายงานว่า มีนักลงทุนจากกลุ่มบริษัท ซีพี ประเทศไทย ได้ลงนามความข้าใจกับลาว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในเขตบ้านราดเสือ เมืองชะนะสมบูน แขวงสาละวัน ซึ่งอยู่ห่างจากจุดที่จะสร้างเขื่อนบ้านกุ่มราว 30 กิโลเมตร เพื่อรองรับกรณีไม่สามารถใช้จุดดังกล่าวสร้างเขื่อนได้ ซึ่งจะมีผลกระทบด้านระดับน้ำในภาคอีสานตอนล่างที่ต้องสูงขึ้นจากปกติอีกมากด้วย