พิธีสืบชะตาป่าสักทอง
ปกป้อง รักษา ป่าสักทอง หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น หยุดเขื่อนยมบน หยุดเขื่อนยมล่าง
1 ธันวาคม 2555
รายงานจากพื้นที่ : สะเอียบ จ.แพร่ ///
เช้าวันนี้ (1 ธันวาคม 2555) เมื่อเวลา 09.00 น. ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ นับพันคน ได้ร่วมแรงร่วมใจกันจัดพิธี สืบชะตาป่าสักทอง เพื่อปกป้อง รักษา ป่าสักทองกว่า 24,000 ไร่ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 20 ปี ชาวบ้านก็ได้ร่วมกันจัดพิธีบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำมาอย่างต่อเนื่อง
จากสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลได้มีการผลักดันเขื่อนแก่งเสือเต้น ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง โดยเหตุผลเพื่อป้องกันปัญหาน้ำท่วมและบรรเทาอุทกภัย ในเขตลุ่มน้ำยม ขณะที่ชาวบ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กว่า 1,000 ครอบครัว ประมาณ 5,000 คน จาก 4 หมู่บ้าน จะต้องอพยพโยกย้ายออกจากพื้นที่ที่จะเป็นอ่างเก็บน้ำของเขื่อนแก่งเสือเต้น
โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นโครงการเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะตั้งขวางกั้นลำน้ำยม ในเขต อ.สอง จ.แพร่ สูง 72 เมตร กักเก็บน้ำได้ 1,175 ล้าน ลบม. อ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งเสือเต้นกินพื้นที่ 41,750 ไร่ ใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม จ.แพร่ ไปจนถึง อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสักทองธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์กว่า 24,000 ไร่ ส่วนที่เหลือเป็นพื้นที่ป่าเบญจพรรณและที่ทำกินของชาวบ้าน ต.สะเอียบ 4 หมู่บ้าน และที่ทำกินของ ชาวบ้าน อ.เชียงม่วน อีก 11 หมู่บ้าน
การสืบชะตาป่าสักทองในครั้งนี้ก็เป็นกิจกรรมรณรงค์พิทักษ์ป่าสักทอง โดย กลุ่มราษฎรรักษ์ป่า และ คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน รวมทั้ง ราษฎร ต.สะเอียบ ได้ร่วมกันจัดพิธีกรรมนี้ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ในการปกป้องรักษาป่าสักทองผืนนี้ไว้ให้ลูกหลาน และคนไทยทั้งชาติ
นายวิชัย รักษาพล ชาวบ้านบ้านดอนชัย หมู่ 1 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ผู้ประสานงานกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า เผยว่า “พวกเราชาวสะเอียบ ได้ร่วมแรงร่วมใจ ปกป้องรักษาป่าสักทองผืนนี้มายาวนานกว่า 20 ปี นับแต่มีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมา เราก็หวั่นว่าป่าสักทองผืนนี้จะถูกทำลาย เราจึงต้องทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องป่าสักทองไว้ให้ได้ การสืบชะตาป่าสักทองในครั้งนี้ก็เป็นการนำเอาประเพณีทางศาสนามาเป็น กุศโลบายในการร่วมแรงร่วมใจกันของชาวบ้าน ให้มีพลังในการปกป้องรักษาป่าสักทองผืนนี้สืบต่อไป” วิชัยกล่าว
ขณะที่พระสงฆ์ 9 รูป ได้ประกอบพิธีกรรมสืบชะตาป่าสักทอง อันเป็นความเชื่อของชาวบ้านท้องถิ่นภาคเหนือ ชาวบ้านนับพันคนก็ได้ร่วมกันถือสายศิลที่ขึงเต็มผืนป่า ส่งแรงใจอธิฐานให้ป่าสักทองอยู่รอดสืบไป เป็นมรดกให้คนรุ่นหลังได้สานต่อเจตนารมณ์ในการพิทักษ์รักษาป่าสักทองผืนนี้ให้ยาวนานตลอดไป ท่านพระครูวิจิตร ซึ่งเดินทางมาจากสุโขทัย ท่านเป็นคณะกรรมการลุ่มน้ำยม ได้เทศให้ชาวบ้านที่มาเข้าร่วม ได้เห็นความสำคัญของป่า การรักษาป่าต้านน้ำ ท่านยังกล่าวถึงพึ่น้องชาวสุโขทัยที่ต้องการเขื่อนว่า เขาว่าป่าสักทองไม่มีแล้ว ท่านก็ถามว่ารู้ได้อย่างไร เคยไปเห็นกับตาหรือไม่ ชาวสุโขทัยก็บอกว่าไม่เคยไปดูแต่เขาบอกมา ท่านจึงอยากให้ทั้งพี่น้องสะเอียบ และพี่น้องสุโขทัย ร่วมใจกันรักษาป่าร่วมกัน ส่วนปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งนั้น ท่านพระครูวิจิตได้เสนอให้รัฐทำโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ รวมทั้งทำแก้มลิงให้ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม จะแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าเขื่อนขนาดใหญ่
นางสุดารัตน์ ไชยมงคล ผู้ใหญ่บ้านบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านได้ร่วมกันสานต่อประเพณีนี้มากว่า 20 ปีแล้ว ต้องถือว่าเป็นประเพณีของชาวสะเอียบไปแล้ว เราต้องการให้สังคมได้ตระหนักและรับรู้ความสำคัญของป่า นอกจากจะให้อ็อกซิเจนกับมนุษย์แล้ว ป่ายังเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชาวบ้านอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น ผัก เห็ด หน่อไม้ สมุนไพร ฯลฯ ชาวบ้านสามารถหาได้โดยไม่ต้องใช้เงินไปซื้อ ทำให้ชาวบ้านเห็นประโยชน์ เห็นความสำคัญของป่า และร่วมกันรักษามาอย่างต่อเนื่อง” ผู้ใหญ่สุดารัตน์ กล่าว
ส่วนปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งนั้น ชาวสะเอียบได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา 12 ข้อ โดยหนึ่งในนั้นระบุถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ถึง 3 เท่า อีกทั้งกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีแผนงานในการสร้างแก้มลิง 395 แหล่ง กักเก็บและระบายน้ำได้ถึง 1,500 ล้าน ลบม. ชาวสะเอียบ จึงเห็นว่ารัฐบาลไร้เหตุผล ยังดึงดันที่จะสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ซึ่งทำลายป่า ทำลายทรัพยากร และกระทบต่อชุมชนอย่างมหาศาล อีกทั้งยังผลาญงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย
กำนันเส็ง ขวัญยืน บ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 กำนันตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “หากรัฐบาลฟังเสียงประชาชนบ้าง ป่านนี้การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม คงจะคืบหน้าไปบ้างแล้ว แต่นี่ไม่ฟังจะดันทุรังสร้างเขื่อนขนาดใหญ่อย่างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ให้ได้ ปัญหาก็ไม่ได้รับการแก้ไขสักที เราเสนอให้สร้างอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา หากดำเนินการป่านนี้คงใกล้เสร็จแล้ว เพราะอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ไม่ต้องทำอีไอเอ สามารถลงมือสร้างได้เลย กรมชลก็มีพื้นที่ที่จะสร้างอยู่แล้ว 20 กว่าลำน้ำสาขา หากรัฐบาลจะแก้ไขปัญหาจริง ควรจะผลักดันแนวทางนี้ ชาวบ้านไม่เดือดร้อน ป่าไม้ก็ไม่ถูกทำลาย เพราะเป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก หากสร้างได้สัก 70 อ่าง เฉลี่ยอ่างละ 50 ล้าน ลบม. ก็จะกักเก็บน้ำได้ถึง 3,500 ล้าน ลบม. ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า” กำนันเส็ง ขวัญยืน กล่าว
หลังจากเสร็จพิธีกรรมทางศาสนา ตัวแทนชาวบ้าน ต.สะเอียบ ได้อ่านคำประกาศเจตนารมณ์ในการปกป้อง รักษา ป่าสักทอง สืบต่อไป
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ชาวบ้านบ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน กล่าวว่า “พวกเราชาวสะเอียบพร้อมยืนหยัดที่จะสานต่อเจตนารมณ์ของบรรพบุรุษของพวกเรา ดั่งคำกล่าวของอุ๊ยปิง ที่กล่าวไว้ว่า เอาระเบิดมาทิ้งให้พวกเราตายให้หมด ขนศพพวกเราไปทิ้ง แล้วค่อยสร้าง เขื่อนแก่งเสือเต้น วันนี้ ผมในฐานะคนรุ่นใหม่ ได้รับมอบหมายจากพี่น้องชาวสะเอียกว่า 1,000 ครอบครัว ให้เป็นประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ของตำบลสะเอียบ ผมและคณะกรรมการอีก 169 คน ก็จะสู้ ยืนหยัดปกป้องแผ่นดินเกิดของพวกเราสืบต่อไป เราขอสาปแช่งให้คนที่คิดทำลายป่าสักทอง คิดที่จะทำร้ายชุมชนของพวกเรา ขอให้มีอันเป็นไป เหมือนดั่งนายกสมัคร รองนายกมนตรี รัฐมนตรียิ่งพันธ์ สว.สมพร และรองนายกสนั่น ที่กำลังจะตามไป คนเหล่านี้คือผู้ผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และวันนี้กรรมได้ตามทั้นพวกเขาแล้ว” นายสมมิ่ง กล่าว
พิธีสืบชะตาป่าสักทอง คงเป็นอีกด้านหนึ่งที่สะท้อนความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น และ โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) ซึ่งก็คือ การแบ่งเขื่อนแก่งเสือเต้นออกเป็น 2 ตอน 2 เขื่อน กระทบต่อป่าสักทอง และที่ทำกินของชาวสะเอียบ เหลือไว้เพียงชุมชน ที่ไม่มีที่ทำกิน ชาวสะเอียบ จึงมีมติให้คัดค้านเขื่อนทั้ง 3 โครงการนี้ ไปพร้อมๆ กัน และนี่คือกุศโลบายอันแยบยลของชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมกว่า 200 ปี ในการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ป่าสักทองปกป้องแผ่นดินเกิดของชาวสะเอียบ ชุมชนเล็กๆ แห่งหนึ่งท่ามกลางขุนเขา
คำประกาศสืบชะตาป่าสักทอง ยืนหยัดต่อสู้ ปกป้อง รักษา ป่าสักทอง และแผ่นดินเกิด
ป่าสักทองแห่งนี้ บรรพบุรุษเราเหลือไว้ให้ เกิดมาเราก็เห็น พ่อแม่ ปู่ย่า ตายายเรา ได้ใช้ประโยชน์ตามสมควร ตามอัตภาพ วันนี้ จังหวัดอุตรดิตถ์มี สัณญลักษณ์ เป็นต้นสักทอง แต่ไม่มีป่าสักทองแล้ว จังหวัดเชียงใหม่ 700 ปี ป่าดอยสุเทพด้านล่างลงมากรายเป็นเมือง เป็นตึกราบ้านช่องหมดแล้ว ภาคอีสานตำนานบ้านเชีย 4,000 ปี ดงพญาเย็น กรายเป็นดงพญาไฟ ป่าหมด แต่ที่แห่งนี้ สะเอียบ หรือ สา-เอียบ ชุมชนกว่า 200 ปี บรรพบุรุษเราเหลือป่าสักทองไว้ให้ 24,000 ไร่ เป็นผืนป่าสักทองธรรมชาติผืนใหญ่ที่เหลืออยู่ของคนไทยทั้งชาติ และมวลมนุษยชาติ
มาบัดนี้ โครงการพัฒนาของรัฐ นามโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง กำลังจะทำลายป่าสักทอง จะทำลายชุมชนของพวกเรา ที่ผ่านมาพวกเราจบ ป 4 เราต่อสู้คัดค้านมา 20 กว่าปี วันนี้ลูกหลานเราจบปริญญาตรี จบปริญญาโท เรียนปริญญาเอกกันหมดแล้ว เรามีเครื่องไม้เครื่องมือ มีเทคโนโลยี มี จีพีเอส บอกให้เรารู้ว่า เขื่อนแก่งเสือเต้น น้ำจะท่วมจากถนนหน้าวัดบ้านเราขึ้นไปอีก 18 เมตร เขื่อนสูง 72 เมตร ตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแม่ยม แตกมาคงตายกันทั้งเมืองแพร่ สุโขทัย พิจิตร พิษณุโลก
ส่วนเขื่อนยมล่าง หรือเขื่อนแม่น้ำยม น้ำในเขื่อนจะมาตึกสะพานแม่สะกึ๋น น้ำจะท่วมที่ทำกินพวกเราเกือบทั้งหมด ผืนนา โรงสุรากลั่นชุมชน ท่วมหมด เหลือแต่บ้านเราจะทำมาหากินอย่างไร ป่าสักทองก็จะหมดไปเพราะพวกจันไรตัดไม้สวมตอ อีกทั้งเขื่อนยมล่างตั้งอยู่บนรอยเลื่อนแพร่ และรอยเลื่อนแม่ยม สูงกว่า 50 เมตร แตกมาคงตายทั้งเมืองสอง เมืองแพร่ ไปจนถึงสุโขทัย พี่น้องเมืองงาว จังหวัดลำปาง ก็จะถูกน้ำท่วมด้วยเช่นกัน
ส่วนเขื่อนยมบน อยู่เหนือบ้านเราไป 2 กิโลเมตร ทับรอยเลื่อนแม่ยมเต็มๆ แตกมาคงไม่ตายแค่คนสะเอียบ คงตายกันทั้งอำเภอสอง ตายกันทั้งเมืองแพร่ อีกทั้งยังท่วมที่ทำกินพี่น้องเชียงม่วน จ.พะเยา อีก 11 หมู่บ้าน
พวกเราชาวสะเอียบ ได้เสนอทางออก แนวทางแก้ไขปัญหา 12 ข้อ มาโดยตลอด ทำไมไม่ทำ หรืองบประมาณมันน้อย กลัวไม่ได้เงินทอนหรืออย่างไร ท่านนายก ท่านรัฐมนตรีทั้งหลาย ท่านมีอำนาจชั่วคราว จงอย่าเหิมเกริม อย่าหลงอำนาจ หากท่านใช้อำนาจในทางไม่ถูกไม่ควร ไม่เป็นธรรม ท่านจะต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ท่านทำ ไม่ใช่แค่ท่าน แต่ทั้งครอบครัว วงตระกูลของท่านจะต้องรับกรรมไปด้วย