ผลพวง-"ยายไฮ"สู้ 48คนจน! ได้คืนที่ดินเขื่อน
หลังจมน้ำมา27ปี ลูกหลานนับร้อย วอนชุมชนยุติศึก ทหารเข้าหมู่บ้าน เตรียมเจาะเขื่อน

fas fa-pencil-alt
ข่าวสด
fas fa-calendar
17 พฤษภาคม 2547

ชัยชนะ- นางไฮ ขันจันทา แม่เฒ่านักสู้ กับเพื่อนบ้านที่ร่วมต่อสู้มาด้วยกัน นั่งดูแนวที่ดินที่จมใต้น้ำเขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลฯ ซึ่งกำลังจะได้คืนมาแล้วหลังการเรียกร้องยาวนานถึง 27 ปีสัมฤทธิผล โดยนายกฯสั่งให้ทุบเขื่อนทิ้งได้


48 ครอบครัวได้อานิสงส์จาก "ยายไฮ" ได้ที่ดินที่จมอยู่ใต้เขื่อนห้วยละห้านาน 27 ปีคืนด้วย หลัง"ทักษิณ"ส่งเลขาฯนายกฯไปสั่งระบายน้ำออกจากเขื่อนทั้งหมด เพื่อคืนที่ดินให้กับยายนักสู้วัย 76 ปี ลูกๆหลานๆมารวมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา ยืนยันถ้าได้ที่ดินคืนจะทำนาต่อไป และอยากให้ความสงบสุข สามัคคีกลับคืนสู่ชุมชนอีกครั้ง ทหารพัฒนาเข้าตรวจสอบสถานที่ขุดบ่อน้ำทดแทนเขื่อน พร้อมกับดูบริเวณที่จะเจาะเขื่อนเพื่อระบายน้ำ

จากกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้นายยงยุทธ ติยะไพรัช เลขาธิการนายกฯ ลงพื้นที่ไปให้ความช่วยเหลือนางไฮ ขันจันทา แม่เฒ่าวัย 76 ปี ที่ต่อสู้อย่างแน่วแน่มานานถึง 27 ปี เพื่อเรียกร้องสิทธิและความชอบธรรมในที่ดิน 61 ไร่ ที่ถูกน้ำท่วมจากการสร้างเขื่อนห้วยละห้า กิ่งอ.นาตาล จ.อุบลราชธานี โดยล่าสุดถึงขนาดนำลูกหลานไปทุบเขื่อนด้วยมือเปล่าเพื่อระบายน้ำออกจากเขื่อน กระทั่งเรื่องราวของปัญหาและความเดือดร้อนกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วประเทศ ซึ่งภายหลังประชุมร่วมกับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในจังหวัด และผู้นำท้องถิ่นแล้ว นายยงยุทธสั่งการให้ระบายน้ำออกจากเขื่อนเพื่อคืนที่ดินให้กับยายไฮทั้งหมด และจัดงบประมาณสร้างแหล่งน้ำดิบแห่งใหม่ทดแทนแก่ชาวบ้าน 3 หมู่บ้าน ขณะที่น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลฯ ระบุว่า ยายไฮได้รับพระเมตตาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ภายหลังจากพระองค์ท่านทรงทราบถึงความทุกข์ยากเดือดร้อน ตามข่าวที่เสนอไปแล้วนั้น

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 16 พ.ค. นางเพ็ชร ขันจันทา ลูกสาวยายไฮ ขันจันทา เปิดเผยว่า เมื่อได้ยินเลขาธิการนายกฯ บอกจะคืนที่ดินให้ ความรู้สึกขณะนั้นบอกไม่ถูก เหมือนกับความหวังที่ได้สิ้นหวังไปแล้ว กลับมามีความหวังอีกครั้ง และเป็นความหวังที่อาจไม่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของตนได้ในชีวิตนี้ จึงรู้สึกตื้นตันใจเป็นอย่างมาก ทำให้น้ำตาไหลออกมาด้วยความดีใจอย่างไม่รู้ตัว ตนเชื่อในคำพูดของนายกฯ ว่า เราจะได้ที่ดินกลับคืนมา ขั้นตอนต่อไปจะมีการพูดกันในครอบครัวขันจันทา และของนายเสือ พันคำ ที่ได้รับความเดือดร้อนในเรื่องเดียวกัน ที่มีอยู่ประมาณ 80 ชีวิต ว่าจะดำเนินการกับที่ดินที่ได้รับคืนอย่างไร

ลูกสาวยายไฮ กล่าวต่อว่า อีกความหวังที่ครอบครัวต้องการให้เกิดคือ ไม่อยากให้มีความขัดแย้งเกิดขึ้นในชุมชนอีก อยากให้ทุกคนหันหน้ามารู้รักสามัคคี ร่วมมือร่วมใจกันพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ให้ชุมชนอยู่กันอย่างสงบสุขอีกครั้ง ตลอดชีวิตคนในครอบครัวขันจันทาเกิดและอยู่กับชุมชนมายาวนาน จึงมีความรักและผูกพัน ไม่ต้องการเห็นความขัดแย้งเกิดขึ้นในหมู่บ้าน และรู้สึกดีใจกับทุกคน ที่ได้รับที่ดินคืนในครั้งนี้

ทางด้านน.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ส.ว.อุบลฯ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กล่าวว่า ภายหลังทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาแล้วก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี และเหมาะสมกับการที่นางไฮ และครอบครัวอื่นอีก 48 ครัวเรือน จะได้ที่ดินเดิมกลับคืนมา อย่างน้อยจะได้เป็นทรัพย์สินเพื่อการทำมาหากินตามที่นางไฮปรารถนาและพยายามต่อสู้มากว่า 27 ปี จากนี้ไปรัฐบาลคงต้องพยายามเร่งแก้ไขปัญหาน้ำใช้ในพื้นที่ โดยการสร้างประปาชุมชนในบริเวณ 3-4 หมู่บ้าน ซึ่งสามารถดำเนินการได้เนื่องจากมีอ่างเก็บน้ำอยู่โดยรอบ เพื่อสนับสนุนแม่ไฮ และชาวบ้านให้สามารถพัฒนาที่ดินเพื่อการทำมาหากิน ฟื้นฟูสินทรัพย์ ทรัพยากรที่มีอยู่เดิมเพื่อกลับไปทำเกษตรกรรม สร้างแหล่งเพาะปลูก ทำให้น้ำใช้มีพอเพียงไม่ขาดแคลนอย่างที่ผ่านมา

น.พ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า ตนเห็นว่าน่าจะมีการสรุปบทเรียนการต่อสู้ของคนยากคนจนอย่างนางไฮที่พยายามทำให้ทุกฝ่ายเกิดความเข้าใจว่า บางกรณีคนเล็กคนน้อยไม่ได้ยากจนมาโดยกำเนิด แต่กลับถูกทำให้ด้อยโอกาส ยืนยันแนวคิดว่าการพัฒนาบางครั้งไม่ได้สร้างความเจริญเกิดขึ้นเท่านั้น กลับไปทำลายโอกาสของคนที่พึ่งพิงทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ ที่ดิน แม่น้ำลำธาร ที่ให้ชีวิตหล่อเลี้ยง การทำมาหากินแบบอยู่พอเพียงของคนเหล่านี้ นี่คืออุทธาหรณ์ที่โครงการพัฒนาต่างๆ การให้สัมปทาน ซึ่งสอดใส่วิธีคิดซึ่งมุ่งหน้าเพียงเพื่อจะพัฒนาอย่างเดียว แต่ไม่ได้มองถึงการทำลายโอกาสการเข้าถึงการจัดการทรัพยากร ที่เป็นทุนของพี่น้องในชุมชนเหล่านั้น จากที่เคยอยู่กันแบบชุมชนพออยู่พอกิน แต่เมื่อโครงการเข้าไปก็จะทำลายมิติทางเศรษฐกิจชุมชนอย่างที่โครงการพัฒนานี้ทำกับนางไฮ "รัฐควรจะระมัดระวังและคำนึงถึงส่วนนี้ให้มาก ยิ่งเป็นโครงการใหญ่ๆ ก็จะยิ่งส่งผลกระเทือนรุนแรง ตัวอย่างเช่น โครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย โครงการเขื่อนปากมูล ขณะที่กรณีของแม่ไฮยังมีผลกระทบเพียงไม่กี่ครอบครัว แต่ก็ทอดระยะเวลาการต่อสู้ที่เนิ่นนานกว่าจะเห็นผลในวันนี้ โดยเฉพาะประเด็นของการทำลายชีวิตครอบครัวของคนยากคนจนให้ล่มสลาย อย่างที่นางไฮประสบมา" ส.ว.อุบลฯ กล่าว

น.พ.นิรันดร์กล่าวอีกว่า ในส่วนของตนซึ่งอยู่ในพื้นที่คงต้องประสานกับมหาวิทยาลัยอุบลฯ และภาคประชาสังคมจังหวัด เข้าไปทำงานร่วมกับหน่วยงานของรัฐ เกิดการพัฒนาในพื้นที่และฟื้นฟูสภาพให้กลับมาเช่นเดิม โดยคำนึงถึงประโยชน์ และการทำมาหากินของประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก เชื่อมโยงประสานงานกันต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศที่ริมเขื่อนห้วยละห้า ที่พักของยายไฮ มีลูกหลานมารวมกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา โดยร่วมกันทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ ส่วนยายไฮกับนางใส พันคำ ภรรยานายเสือ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมที่นาเช่นกัน ได้นั่งหารือถึงการจัดการที่ดินที่จะได้รับคืนมา โดยทั้ง 2 ครอบครัวตั้งใจจะทำนาร่วมกัน จะไม่แยกกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้กับลูกหลานคนใด โดยมีชาวบ้านเดินทางมาพูดคุยด้วยเป็นระยะๆ

ขณะเดียวกันพล.ต.นิยศ พันธุ์โอสถ ผอ.สำนักงานทหารพัฒนาที่ 2 หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นำทหารพัฒนาการเคลื่อนที่ 8 นาย พร้อมด้วยรถขุดเจาะ 3 คัน เข้าสำรวจพื้นที่ในหมู่บ้านนาตาล นานคร และโนนตาล เพื่อขุดเจาะบ่อน้ำกินน้ำใช้ให้กับประชาชน ตามคำสั่งของ นายกฯ จากนั้นเดินทางมาดูเขื่อนห้วยละห้า เพื่อตรวจสอบบริเวณที่จะทำการระบายน้ำออก หลังจากขุดเจาะบ่อน้ำให้กับชาวบ้านเรียบร้อยแล้ว

 

อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?sectionid=0301 &searchks=''&sk= ''&s_tag=03p0102170547&day=2004/05/17&show=1

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง