ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดจาก เขื่อนหัวนา และข้อเสนอแนะ

fas fa-pencil-alt
คณะกรรมการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน
fas fa-calendar
ธันวาคม 2541

   เขื่อนหัวนาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของโครงการโขง ชี มูล ซึ่งรับผิดชอบโดยกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยา ศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศล

             ก่อสร้างกั้นแม่น้ำมูลที่บ้านกอก ต.หนองแก้ว อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ห่างจากเขื่อนราษีไศลไปทางตอนปลาย แม่น้ำมูล เป็นระยะทาง 90 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี 2533 ปัจจุบันก่อสร้างโครงสร้างของเขื่อนเสร็จแล้วแต่ยังไม่ติดตั้งบานประตู เพื่อเก็บ กักน้ำ

1. ลักษณะโครงการ

                ตัวเขื่อนมีความกว้าง 207.5 เมตร มีประตูเหล็กควบคุมน้ำจำนวน 14 บาน ขนาด 12.5 x 7.5 เมตร ซึ่งขนาดของเขื่อนใหญ่กว่า เขื่อนราษีไศล 2 เท่า(เขื่อนราษีไศลมีประตูควบคุมน้ำ 7 บาน ความกว้าง 87.5 เมตร) จะมีการสร้างเขื่อนปิดกั้นลำน้ำมูลเดิมสูงจากระดับ พื้นสูง 17 เมตร ซึ่งจะอยู่ในระดับ 122 ม.รทก.

                มีการสร้างคันดินกั้นน้ำ(DIKE)เลียบฝั่งแม่น้ำมูลสูงขนาด 0-4 เมตร ซึ่งระดับความสูงของคันดินเท่ากับ 117 ม.รทก. ตลอด 2 ฝั่งแม่น้ำมูลเป็นระยะทาง 90 กิโลเมตร ทั้งนี้เพื่อปิดกั้นน้ำมิให้น้ำในแม่น้ำมูลซึ่งถูกยกระดับสูงขึ้นทะลักท่วมที่นาของชาวบ้าน 2 ฝั่งแม่น้ำมูล

                เขื่อนจะเก็บกักน้ำในลำน้ำมูลในระดับ 115 ม.รทก.และระดับเก็บกักสูงสุด 115.5 ม.รทก. ปริมาณน้ำที่จะเก็บกัก 115.62 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่วนพื้นที่อ่างเก็บน้ำเป็นเท่าไหร่ โครงการไม่ได้ให้ข้อมูลไว้

                น้ำที่ถูกกักเก็บไว้จะมีสถานีสูบน้ำด้วยพลังไฟฟ้าจำนวน 15 สถานี ซึ่งจะมีพื้นที่รับน้ำในฤดูฝน 154,000 ไร่ และในฤดูแล้ง 83,590 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 61 หมู่บ้านของจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดอุบลราชธานี

                 งบประมาณ ในเอกสารเผยแพร่ของโครงการระบุค่าก่อสร้างตัวเขื่อนและคันดินกั้นน้ำ 1,102,181,855 บาท,ติดตั้งบานประตู เหล็ก 14 บานๆ ละ 10 ล้านบาท เป็นเงิน 140 ล้านบาท,ค่าคุมการก่อสร้าง 29,705,900 บาท ส่วนงานคลองส่งน้ำ สถานีสูบน้ำและระบบ กระจายน้ำโครงการไม่ได้ให้ข้อมูลไว้ รวมทั้งค่าจ้างศึกษาความเหมาะสมและออกแบบโครงการไม่ได้ให้ข้อมูลไว้เช่นเดียวกัน คาดว่ามีการใช้งบประมาณก่อสร้างไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านบาท  

2. กระบวนการดำเนินงานของโครงการ

โครงการเขื่อนหัวนาเป็นหนึ่งในโครงการโขง ชี มูลที่ได้รับการอนุมัติโดยมตคณะรัฐมนตรี 8 เมษายน 2532 ในการประชุม ครม.สัญจร ยุคนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ

เริ่มก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2535 พร้อมๆ กับเขื่อนราษีไศล ในเอกสารเผยแพร่ระบุว่าจะแล้วเสร็จใช้งานได้ในปี 2538

เขื่อนหัวนาเป็นเขื่อนขนาดใหญ่ซึ่งไม่ได้มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใดๆ เช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศล

ในการก่อสร้าง ทางโครงการไม่ได้เปิดเผยหรือเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณชนเพราะไม่ต้องการให้เกิดปัญหามวลชนเหมือนเขื่อนปากมูล (ระยะเริ่มก่อสร้างอยู่ในสมัยรัฐบาล รสช.)

โครงการให้ข้อมูลแก่ชุมชนว่าจะก่อสร้างเป็น “ฝายยาง” จะเก็บกักน้ำไว้เพียงระดับตลิ่งแม่น้ำมูล ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบใดๆ เช่น น้ำไม่ ท่วมป่าบุ่งป่าทาม,น้ำไม่ท่วมที่ทำกิน เป็นต้น

ในการก่อสร้างคันดิน(DIKE)เลียบสองฝั่งแม่น้ำมูล มีการก่อสร้างปิดปากห้วยและร่องน้ำจำนวนมาก ประชาชน 2 ฝั่งแม่น้ำกังวลว่าน้ำจาก ที่สูงจะไม่สามารถไหลลงแม่น้ำมูลตามปกติ จะท่วมที่ทำกิน เจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลว่าจะทำท่อระบายน้ำ(Flap gate)และน้ำจากลำห้วยจะไหล “ลอด” ลงแม่น้ำมูล(อ่างเก็บน้ำ)ได้,ต่อมาเจ้าหน้าที่ให้ข้อมูลใหม่ว่าจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดดังกล่าว

โครงการไม่สามารถให้ข้อมูลชาวบ้านได้ว่า ระดับน้ำ 115.5 ที่จะเก็บกักจะต้องมีการอพยพหมู่บ้านบางหมู่บ้านหรือไม่เช่น บ้านหนอง โอง,หนองหวาย ต.โนนสัง อ.กันทรารมย์ ถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถตอบได้

ในพื้นที่ อ.ราษีไศล ซึ่งมีพื้นที่ป่าบุ่งป่าทามและที่ทำกินของราษฎรทั้งมีและไม่มีเอกสารสิทธิ์ ทางราชการได้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ หลวง(น.ส.ล.) เมื่อประมาณปี 2536 ปัจจุบันชาวบ้านทราบว่าเพื่อส่งมอบพื้นที่ให้เขื่อนหัวนาทำอ่างเก็บน้ำ

ปัจจุบันราษฎรมีความกังวลว่าจะเกิดผลกระทบและมีปัญหาเช่นเดียวกับเขื่อนราษีไศล จึงรวมตัวกันจำนวน 2,000 คนเรียกร้องต่อ กระทรวงวิทยาศาสตร์เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2541 ให้ปักขอบเขตอ่างน้ำให้ชัดเจน และให้ตรวจสอบพื้นที่ผลกระทบและราษฎรผู้จะได้ รับผลกระทบให้เรียบร้อยก่อนมีการเก็บกักน้ำ

กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยนายยิ่งพันธ์  มนะสิการ รมว.วว.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างราษฎรเพื่อตรวจสอบเรื่อง ดังกล่าวตาม คำสั่งที่ 59/2541 วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 มีนายพรเทพ  เตชะไพบูลย์ รมช.วว.เป็นประธาน           

มีการประชุมคณะกรรมการดังกล่าว 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 ที่ประชุมมีมติให้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานปักขอบเขต อ่างและให้ตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อดำเนินการดังกล่าว

เวลาผ่านไป ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ตามมติการประชุม

28 กันยายน 2541 มีการประชุมร่วมระหว่างตัวแทนกรมพัฒนาฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษและกลุ่มราษฎรผู้เรียกร้อง กรมพัฒนาฯ ให้ข้อมูลว่าที่ผ่านมาไม่สามารถปักขอบเขตอ่างเก็บน้ำได้เพราะไม่มีงบประมาณ จึงได้ตกลงว่าจะทำการปักขอบเขตอ่างเก็บน้ำเขื่อน หัวนาได้ตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป

จนถึงปัจจุบัน( 2 ธันวาคม 2541) ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ  

3. ผลที่คาดว่าจะเกิดจากการเก็บกักน้ำเขื่อนหัวนา

                1. การอพยพราษฎร

                มีราษฎร 2 หมู่บ้านที่คาดว่าระดับน้ำ 115.50 ม.รทก. จะทำให้น้ำท่วมที่อยู่อาศัยจนต้องอพยพคือ บ้านหนองโอง 73 หลังคา เรือนและบ้านหนองหวาย 80 หลังคาเรือน ทั้ง 2 หมู่บ้านอยู่ใน ต.โนนสัง อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ทั้ง 2 หมู่บ้านตั้งอยู่ติดริมแม่น้ำมูล มีการก่อตั้งบ้านเรือนมากว่า 100 ปี มีวัด โรงเรียนและสิ่งปลูกสร้างแน่นหนา อาชีพหลักคือ การทำนาและหากินอิงอยู่กับทรัพยากร ธรรมชาติแม่น้ำมูลคือ การหาปลา(ปัจจุบัน ปลาลดน้อยลงเพราะได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล) การเก็บเกี่ยวผลผลิตจากป่าชุมชน สองฝั่งแม่น้ำมูลซึ่งเป็นป่าดิบแล้ง มีเห็ดและของป่านานาชนิดเป็นรายได้เสริมสำคัญ ทั้ง 2 บ้านมีพื้นที่ทำนาอยู่ในทุ่งหนองโอง-หนอง หวาย ทำนาได้ปีละ 2 ครั้ง

                เฉพาะบ้านหนองโอง ถนนกลางหมู่บ้านอยู่ในระดับต่ำกว่า 115.5 ม.รทก. ประมาณปี 2536 เจ้าหน้าที่โครงการเขื่อนหัวนา บอกกับชาวบ้านว่า อย่าเพิ่งต่อเติมอาคารอะไร เพราะอาจจะมีการอพยพ ถึงปัจจุบัน เวลาผ่านไป 5 ปีแล้วแต่การชี้แจงข้อมูลต่างๆ จาก โครงการยังไม่กระจ่าง ราษฎรทั้ง 2 หมู่บ้านตกอยู่ในความกังวล  

                2. อ่างเก็บน้ำท่วมที่ดินทำกิน

                โดยเฉพาะเขตพื้นที่ อ.ราษีไศล,อุทุมพรพิสัยและอำเภอเมืองศรีสะเกษมีป่าทามซึ่งบางส่วนราษฎรบุกเบิกเป็นที่ทำกินมาเป็น เวลานาน ทั้งมีเอกสารสิทธิ์เช่น โฉนด,นส.3 และบางส่วนเป็นที่ทำเลสาธารณะและป่าชุมชนซึ่งประชาชนใช้ร่วมกัน พื้นที่ดังกล่าวอยู่ บริเวณใต้เขื่อนราษีไศลลงมา 1-30 กิโลเมตร

                เมื่อเขื่อนหัวนาเก็บกักน้ำในระดับ 115.5 ม.รทก.(ซึ่งจะถึงกึ่งกลางตัวเขื่อนราษีไศลนั่นเอง) พื้นที่ดังกล่าวจะจมอยู่ใต้อ่างเก็บน้ำ เขื่อนหัวนาอย่างไม่ต้องสงสัย

                ประมาณปี 2536 ทางราชการอำเภอราษีไศลได้ออกสำรวจพื้นที่ป่าทามและทุ่งนาดังกล่าว แล้วมีการออกหนังสือสำคัญสำหรับ ที่หลวง(น.ส.ล.)หลายแปลงรวม 5 ตำบลคือ ต.หนองแค,ต.หนองอึ่ง,ต.บัวหุ่ง,ต.เมืองคง และ ต.ส้มป่อย เช่น ในป่าทามบริเวณท่าโพธิ์, ป่าทามหนองอึ่ง เป็นต้น

                การออก น.ส.ล. ดังกล่าว ราษฎรที่ทำกินอยู่ในบริเวณดังกล่าวมิได้ยินยอมและเกิดกรณีพิพาทขึ้นหลายครั้ง ปัจจุบันปรากฏรูป แปลง น.ส.ล.ทับที่ดินทำกินของชาวบ้านจำนวนประมาณ 1,500 ครอบครัว เป็นพื้นที่ประมาณ 25,000 ไร่

                การออก น.ส.ล. ดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับการสร้างเขื่อนหัวนาเช่นเดียวกับการออก น.ส.ล. ในเขต อ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ ทับที่ทำกินของราษฎร แล้วมีการส่งมอบพื้นที่ น.ส.ล. ดังกล่าวให้เป็นพื้นที่อ่างเก็บน้ำเขื่อนราษีไศลตามกระบวนการของราชการจนเกิด มีปัญหามาแล้ว

                ส่วนคำกล่าวของกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานยังยืนยันว่า เขื่อนหัวนาน้ำไม่ท่วมป่าทามและที่ดินทำกิน เพราะเก็บกักน้ำไว้ ในลำน้ำมูลเท่านั้น(เป็นข้อมูลเดียวกับเขื่อนราษีไศล)

                ดังนั้น ถ้าไม่มีการเปิดเผยข้อมูลใดๆ หรือทำความเข้าใจเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการก่อนเก็บกักน้ำแล้ว พื้นที่ที่ถูกน้ำท่วม ไป กรมพัฒนาฯ ก็คงจะชี้ลงไปว่า พื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่ น.ส.ล.

                และคงเช่นเดียวกันกับเขื่อนราษีไศลที่จะ ไม่สามารถเดินรังวัดพิสูจน์ได้ว่า ที่ตรงไหนเป็นของใครเพราะจมอยู่ใต้น้ำหมดแล้ว  

                3. ภาวะน้ำท่วมที่ทำกิน “นอกเขตอ่างเก็บน้ำ”

                ตลอดระยะทาง 90 กิโลเมตร นับจากใต้เขื่อนราษีไศลถึงเขื่อนหัวนามีลำห้วยและร่องน้ำ ซึ่งถือว่าเป็นลำน้ำสาขาที่ไหลลง แม่น้ำมูลทั้ง 2 ฝั่งจำนวนไม่น้อยกว่า 30 สาย

                โครงการเขื่อนหัวนาได้สร้างคันดินปิดกั้นลำห้วยเหล่านั้นเกือบทุกสาย เพื่อป้องกันมิให้น้ำในอ่างเก็บน้ำระดับ 115.5 ม.รทก. ไหลทะลักเข้าสู่ลำน้ำดังกล่าว คันดินดังกล่าวโครงการเรียกว่า พนังกั้นน้ำ(DIKE)

                แต่ความจริงแล้ว สิ่งก่อสร้างดังกล่าวคือ “เขื่อน” ปิดปากห้วยนั่นเอง

                น้ำในเขื่อนจะไม่ทะลักเข้าลำห้วย แต่น้ำในลำห้วยจะไหลลงแม่น้ำมูลไม่ได้อีกต่อไป จะอัดเอ่อขึ้นท่วมเป็นอ่างเก็บน้ำน้อยใหญ่ จำนวนมาก

                บริเวณสองฝั่งลำห้วยต่างๆ เหล่านั้น ล้วนเป็นที่ทำนาของราษฎรซึ่งมีระดับพื้นดินอยู่ประมาณ 111-114 ม.รทก. น้ำในลำห้วย จะไหลลงสู่แม่น้ำมูลได้ก็ต่อเมื่อระดับน้ำในลำห้วยสูงกว่า 115.5 ม.รทก. เท่านั้น ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมที่ดินทำกินของราษฎร 2 ฝั่งแม่น้ำมูล อย่างกว้างขวาง

                นับจากเขื่อนหัวนาขึ้นมา ปัจจุบันลำห้วยสายต่างๆ ส่วนใหญ่จะถูกปิดปากด้วยคัน DIKEเกือบทุกสาย แต่ยังไม่เกิดผลกระทบ ชัดเจนเพราะยังไม่มีการกักเก็บน้ำในแม่น้ำมูล

                ห้วยต่างๆ (เฉพาะเขต อ.กันทรารมย์)เช่น ห้วยขี้นาค,ฮองหนองบัวไชยวาน,ห้วยอิไล(ต.โนนสัง),ห้วยคณะ,ห้วยคำ(ต.ดูน), ห้วยหล่ม (ต.หนองบัว), ฮองน้อย,ฮองปากพระเจ้า (ต.หนองแก้ว),ฮองสิลาอาด,ฮองหนองเบ็นและห้วยที่อยู่เหนือขึ้นมาเช่น ปากคณะ, ปากฮองค่า,ปากห้วยเทิน,ปากห้วยตะปื๊ด,ปากกุดนาแซง,ห้วยไข่นุ่น ฯลฯ

                (ลำห้วยบางแห่งที่ไม่มีการกั้นเขื่อนก็จะเกิดผลกระทบน้ำทะลักเข้าไปโดยตรง)

                ที่ดินทำกินที่จะถูกน้ำเหนือห้วยต่างๆ เอ่อท่วมเกือบทั้งหมดเป็นที่ดินมีเอกสารสิทธิ์และเป็นที่ดินที่อุดมสมบูรณ์เพราะ มีน้ำจาก พื้นที่สูงไหลผ่าน เป็นน้ำที่พัดพาปุ๋ยธรรมชาติมาตกตะกอนทุกปี

                และเฉพาะเขต อ.กันทรารมย์อำเภอเดียว  ราษฎรที่จะเข้าข่ายเดือดร้อนในกรณีนี้ที่เข้าชื่อกันเรียกร้องให้กระทรวงวิทยา ศาสตร์ฯ ทำการศึกษาและตรวจสอบแล้วมีประมาณ 900 ครอบครัวใน 6 ตำบล

                ขณะนี้กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงานชี้แจงต่อราษฎรว่า พื้นที่ดังกล่าวอยู่ “นอกอ่างเก็บน้ำ” และคันดินที่ก่อสร้างปิดปาก ลำห้วยจะใส่ประตูระบายน้ำทางเดียว(Flap gate) เมื่อชาวบ้านถามว่า น้ำในแม่น้ำมูลอยู่สูง(115.5 ม.รทก.) น้ำในลำห้วยจะไหลลงสู่แม่น้ำ มูลได้อย่างไร เจ้าหน้าที่ตอบชาวบ้านว่า “มันจะไหลลอดลงไปได้” ในบางพื้นที่มีการชี้แจงชาวบ้านว่า “จะมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ สูบน้ำ จากลำห้วยเข้าไปในแม่น้ำมูล”

                ชาวบ้านไม่เชื่อว่าจะทำได้ เพราะคงต้องลงทุนมหาศาล

                เรื่องภาวะน้ำท่วมหลังคันดินนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นชัดเจนมาแล้วที่ทุ่งหนองแห้วและทุ่งหาญฮีเหนือเขื่อนราษีไศล กรมพัฒนาฯ ยังไม่ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อแก้ปัญหาและปัญหาก็เกิดทุกปี ที่เขื่อนหนองหานกุมภวาปี จ.อุดรธานีและเขื่อนอื่นๆ ในโครงการโขง ชี มูล ก็มีปัญหาอย่างเดียวกัน  

                4. น้ำท่วมป่าทาม ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรังริมฝั่งแม่น้ำมูล

                ตลอด 90 กิโลเมตรเหนือเขื่อนหัวนา ริมฝั่งตลิ่งแม่น้ำซึ่งเป็นพื้นที่สูงกว่าบริเวณที่ไกลออกไป มีพื้นที่ป่าดิบแล้งอยู่ตลอดฝั่ง แม่น้ำ โดยเฉพาะเขตอำเภอเมืองถึงเขต อ.กันทรารมย์มีป่าดิบแล้งขึ้นหนาแน่น บางบริเวณมีอาณาเขตห่างจากแม่น้ำมูลถึง 1 กิโลเมตรเช่น ในพื้นที่ ต.โนนสัง มีป่าซึ่งมีต้นไม้ใหญ่ เช่น ยางนาขนาดหลายคนโอบ ประดู่ พยูง ตะเคียน ฯลฯ ทั้งยังคงมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่หลายชนิด เช่น เก้ง เม่น ลิง ไก่ป่า ฯลฯ ความรกทึบและอุดมสมบูรณ์ของป่าดังกล่าวยังคงอยู่ได้เพราะชาวบ้านช่วยกันสงวนเอาไว้เป็นแหล่งหาเห็ด หน่อไม้ ผลไม้ป่า ฟืน ฯลฯ

                พื้นที่ที่อยู่ในบริเวณสูงขึ้นมาจะเป็นป่าโคก มีไม้เต็ง รัง เหียง พลวง ฯลฯ ซึ่งขึ้นสลับกับป่าดิบแล้งอยู่ตลอดริมฝั่ง

                ป่าเหล่านี้เป็นแนวยึดกันตลิ่งพัง ทั้งเป็นแหล่ง “ต้นน้ำ” ที่สำคัญไม่น้อย เพราะมีแหล่งน้ำซึมน้ำซับไหลลงสู่แม่น้ำมูลตลอดปี

                พื้นที่ราบริมฝั่งแม่น้ำและริมฝั่งลำห้วยทุกสายเป็นป่าบุ่งป่าทาม เป็นไม้พุ่มไม้หนามซึ่งเป็นแหล่งเพาะฟักและหลบภัยของ สัตว์น้ำได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นแหล่งหากินที่สำคัญของชุมชนอีกด้วย ในเขต ต.หนองบัว อ.กันทรารมย์ มีป่าทามชุมชนประมาณ 400 ไร่ ป่าทามยังกระจายตัวอยู่ทั่วไปตามบริเวณลุ่มต่ำน้ำท่วมถึงปีละ 2-3 เดือน(ตลอดฝั่งแม่น้ำมูล)

                เมื่อเขื่อนหัวนากักเก็บน้ำที่ระดับ 115.5 ม.รทก. ป่าทามจะจมอยู่ใต้น้ำอย่างถาวร พืชพรรณจะตายไปแบบเดียวกับเขื่อนราษี ไศล ป่าดิบแล้งและดิบชื้นส่วนหนึ่งจะถูกน้ำแช่ขังตายไป ส่วนหนึ่งจะเหลือเป็นเกาะกลางน้ำ

                ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสภาพนิเวศน์ของพื้นที่แม่น้ำมูล ที่เคยมีวัฏจักรการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติที่ลงตัวและจะส่งผลกระทบ ต่อการดำรงชีพของราษฎรที่พึ่งพาอาศัยป่าเหล่านี้ อยู่อย่างแน่นอน

                ไม่ปรากฎข้อมูลส่วนนี้ของโครงการเขื่อน เพราะไม่ได้ศึกษาผลกระทบใดๆ มาก่อน  

                5. น้ำท่วมแหล่งดินปั้นหม้อ

                หลายชุมชนที่อาศัยดินตะกอนหรือ “ดินทาม” ที่มีคุณสมบัติเหนียว เนื้อดินละเอียดมาปั้นภาชนะต่างๆ เช่น หม้อ ไห กระถาง ต้นไม้ ขายเป็นอาชีพเสริมและบางครัวเรือนไม่ได้ทำนาแต่มีรายได้หลักจากการทำเครื่องปั้นดินเผาเหล่านี้

                หมู่บ้านที่มีความเชี่ยวชาญและทำเครื่องปั้นดินเผากันเกือบทุกหลังคาเรือนคือ บ้านกุดโง้ง ต.ส้มป่อย อ.ราษีไศล และบ้าน โพนทราย ต.หนองบัว อ.กันทรารมย์

                การกักเก็บน้ำที่ระดับ 115.5 ม.รทก. น้ำจะท่วมแหล่งวัตถุดิบของทั้ง 2 ชุมชนและชุมชนอื่นที่มีอาชีพนี้ประปรายไปอย่างถาวร

                6. แหล่งโบราณคดี

                ชุมชนเมืองเก่าซึ่งมีลักษณะการตั้งชุมชนแต่สมัยโบราณหลายแหล่งเช่น โนนเมืองเก่าใกล้บ้านหนองหวาย โนนบักค้อใกล้บ้าน โนนผึ้ง มีการขุดค้นพบพระพุทธรูปและเครื่องปั้นดินเผา บางชุมชนมีระบบการขุดคูรอบชุมชน อันเป็นลักษณะชุมชนที่เคยรุ่งเรือง มาตั้ง แต่สมัยโบราณ คาดว่ามีแหล่งโบราณคดีที่มีความสำคัญต่อการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลายแหล่งด้วยกัน แต่ยังไม่มีการ ศึกษาด้านนี้มาก่อน ถ้ามีการกักเก็บน้ำเขื่อนหัวนาโดยไม่ได้ศึกษา เราอาจสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไปอย่างน่าเสียดาย

                7. พันธุ์ปลา

                แม่น้ำมูลบริเวณนี้มีลักษณะภูมิสัณฐานคล้ายบริเวณเหนือเขื่อนปากมูลคือ มีแก่งหินเป็นที่หลบภัยของปลาอยู่หลายแก่ง และนี่ เป็นเหตุผลให้ชุมชนบ้านหนองโอง หนองหวายมี “พรานปลามือฉมัง” อยู่หลายคนโดยเฉพาะคนรุ่น 40 ปีขึ้นไป ปัจจุบัน แม้ปลาจะลด จำนวนลงมากซึ่งเป็นผลกระทบจากการสร้างเขื่อนปากมูล แต่ก็ยังเป็นแหล่งหากินที่เป็นเศรษฐกิจสำคัญของชุมชนอยู่ ชุมชนบ้านหนอง โองมีเศรษฐกิจที่มั่นคงเพราะการหาปลาและการพึ่งพิงป่าดิบแล้งผืนใหญ่ที่เป็นป่าชุมชนนั่นเอง จนเป็นที่รู้กันว่าชาวบ้านหนองโอง สามารถส่งลูกหลานเรียนสูงๆ จนได้เป็นข้าราชการกันเกือบทุกหลังคาเรือน(ไม่น้อยกว่า 60 จาก 73 หลังคาเรือน มีลูกหลานรับราชการ)

                แต่ถ้ามีการกักเก็บน้ำในระดับ 115.5 ม.รทก. ปลาก็จะลดน้อยลงเพราะไม่สามารถว่ายข้ามเขื่อนขึ้นมาได้ส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่ง คือ ทักษะและเครื่องมือการประมงแบบพื้นบ้านซึ่งเขาสั่งสมกันมาเป็นวัฒนธรรมการทำกิน จะไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไปในอ่างเก็บน้ำ ขนาดใหญ่ บทเรียนนี้เกิดขึ้นชัดเจนและทุกฝ่ายยอมรับอย่างไม่มีข้อสงสัยแล้วที่เขื่อนปากมูล  

                8. ผลกระทบทางสังคม

                   8.1) การสูญเสียอาชีพ

                   8.2) ความขัดแย้งระหว่างผู้สูญเสียที่ดินและแหล่งดำรงชีพกับกลุ่มราษฎรที่จะได้น้ำ   ซึ่งบทเรียนเก่าๆ ทางราชการมักจะปลุก ระดมให้มาปะทะกันเสมอ

                   8.3) ความขัดแย้งระหว่างราชการกับราษฎร ที่ผ่านมาไม่มีระบบหรือกลไกที่จะเปิดเผย         ข้อมูล จัดเวทีที่ทำความเข้าใจกัน เช่นการทำประชาพิจารณ์ จะทำให้เกิดช่องว่าง ขึ้นอย่างกว้างขวาง ลามปามจนแก้ยากเช่นที่เขื่อนราษีไศล

                   8.4) การแพร่กระจายของโรคต่างๆ เหมือนเขื่อนอื่นๆ

                   8.5) ความแตกแยกในชุมชน ซึ่งเป็นบาดแผลที่เกิดขึ้นในทุกที่และคนเจ็บปวดก็คือคน ในชุมชน ระหว่างพี่น้องกันเอง

4. ข้อเสนอแนะ

                เขื่อนหัวนาก่อสร้างเกือบเสร็จแล้ว แต่ยังไม่มีการเก็บกักน้ำ ขณะที่เรามีบทเรียนอันเจ็บปวดจากเขื่อนราษีไศลและเขื่อนอื่นๆ มาแล้ว ไม่ควรปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีกต่อไป

                เหตุปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายและมีปัญหายืดเยื้อที่เขื่อนราษีไศลก็คือ

                1. ก่อนการสร้างไม่มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือผลกระทบทางสังคมใดๆ เมื่อเก็บกักน้ำจึงไม่สามารถแก้ปัญหา ใดๆ ได้ ทั้งด้านสิทธิที่ทำกินของราษฎร ผลกระทบต่อป่าทามหรือแม้กระทั่งเรื่องการแพรากระจายของดินเค็ม

                2. กระบวนการดำเนินงานที่ไม่โปร่งใส คือ การให้ข้อมูลเท็จแก่ชุมชนว่าน้ำจะท่วมแค่ตลิ่งแม่น้ำ,จะสร้างเป็นฝายยาง ฯลฯ ไม่มี การเปิดเผยข้อมูลต่อชุมชนและต่อสาธารณชนเพื่อการทำความเข้าใจและตรวจสอบอย่างตรงไปตรงมา เมื่อมีการผลักดัน ตรวจสอบ และ มีการจ่ายค่าชดเชยก็มีกระบวนการเตะถ่วง กลั่นแกล้งนานาประการ  

                การดำเนินงานต่อไปของเขื่อนหัวนาจึงควรได้ดำเนินการให้มีความชัดเจน โปร่งใสเพื่อกันปัญหาที่ตามมา โดยก่อนการปิดเขื่อนควรได้มีกระบวนการดังนี้คือ

                1. ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบทางสังคม

                แม้ทางกรมพัฒนาฯ จะถือว่า โครงการนี้ ครม.อนุมัติก่อนมี พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2535 ไม่ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามกรอบแห่งกฎหมายดังกล่าวก่อนการก่อสร้าง แต่ฐานะของโครงการเขื่อนหัวนากำลังจะ ปิดน้ำในปีที่ พ.ร.บ. ดังกล่าวใช้มาแล้ว 6 ปี เงื่อนไขทางสังคม สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนไปมากแล้ว ต้องก้าวให้ทันให้จงได้

                ที่สำคัญ บทเรียนของเขื่อนราษีไศลที่เกิดขึ้นยืดเยื้อถึงปัจจุบันนั้น เป็นสิ่งที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ต้องตระหนักและจัดการมิ ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก ทั้งเขื่อนหัวนาใหญ่กว่าเขื่อนราษีไศลถึง 2 เท่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นก็มีเป็น 2 เท่าเช่นกัน ทั้งเขื่อนหัวนาเป็นเขื่อน ตัวใหญ่สุดของโครงการโขง ชี มูล อนาคต 42 ปีของโครงการกับงบประมาณสองแสนกว่าล้านคงต้องการอนาคตที่ดี

                กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เป็นผู้รักษา พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมเอง ถ้าเป็นผู้หลีกเลี่ยงหรือละเมิดกฎหมายนี้เสียเอง เราจะพิจารณาเรื่อง นี้อย่างไร

                ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 56 และ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 มาตรา 46-51 รวมทั้งประกาศต่างๆ ของกระทรวงควรจะได้รับการ ปฏิบัติให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์

                ดูตามขนาดของโครงการตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ วันที่ 24 สิงหาคม 2535 กำหนดให้เขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำที่มี ปริมาตรเก็บกักตั้งแต่ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรขึ้นไปหรือมีพื้นที่เก็บกักตั้งแต่ 15 ตารางกิโลเมตรขึ้นไป ต้องมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวด ล้อม และโครงการชลประทานที่มีพื้นที่ชลประทาน 80,000 ไร่ขึ้นไปต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

                ขณะที่เขื่อนหัวนามีปริมาตรเก็บกักน้ำ 115.62 ล้านลูกบาศก์เมตรและมีพื้นที่ชลประทานถึง 154,000 ไร่

                เขื่อนหัวนาจึงไม่ควรหลุดกรอบการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมไป

                การศึกษาดังกล่าวจะทำให้ได้ข้อมูลปัญหาที่ชัดเจน ตั้งแต่ด้านกายภาพ ชีวภาพ การใช้ประโยชน์ของมนุษย์ คุณค่าต่อคุณภาพ ชีวิต เราจะรู้ได้ล่วงหน้าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นในทุกด้าน

                และปัญหาเรื่องสิทธิการทำกินของราษฎรก็จะแก้ตกด้วยข้อมูลที่ได้ ปัญหาสิ่งแวดล้อม-สังคมต่างๆ ก็จะมีมาตรการแก้ไข ป้องกัน อย่างกระชับรัดกุม  

                2. เปิดเผยข้อมูลและกระบวนการดำเนินงานที่โปร่งใส เช่น

                   1. เปิดเผยแผนแม่บทและการศึกษาความเหมาะสมทุกขั้นตอนของโครงการแก่สาธารณชนและชุมชน

                   2. เปิดเผยขอบเขตของโครงการและรายละเอียดที่จะเกี่ยวข้องกับชุมชนเช่น ขอบเขต   อ่างเก็บน้ำ แผนการดำเนินการ งบประมาณการก่อสร้าง เป็นต้น

                   3. จัดให้มีกระบวนการประชาพิจารณ์ขึ้นตามจังหวะเช่น ก่อนการดำเนินงานต่อ เพื่อ                     รับฟังความคิดเห็นของราษฎรในชุมชนที่เกี่ยวข้อง

                   4.  ถ้ามีผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต้องมีการทดแทนชดเชยอย่างเป็นธรรม เช่นนี้ ความสูญเสียและแตกแยกของชุมชนจะไม่เกิด ขึ้นอย่างซ้ำซาก และการดำเนินการของโครงการเขื่อนหัวนาและโครงการโขง ชี มูล ที่จะเดินหน้าต่อไปจะเกิดความชอบธรรมและการ ยอมรับจากชุมชน และผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นก็จะตรงกับความต้องการที่แท้จริงของชุมชน โครงการก็จะบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่าง แท้จริงน่าภาคภูมิใจ

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง