ปลอดประสพมั่วนิ่ม ไม่ดูข้อมูลลุ่มน้ำทั้งระบบ
องค์กรแม่น้ำเพื่อชีวิต
12 กันยายน 2555
เหตุการณ์น้ำท่วมในเขตตัวเมืองสุโขทัยในขณะนี้ทำให้นายปรอดประสพ ในฐานะประธาน กบอ. ออกมากล่าวถึงความจำเป็นของการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพื่อคุมน้ำจากตอนบนของลุ่มน้ำยมและแก้ปัญหาน้ำท่วมจังหวัดสุโขทัย เพราะแม่น้ำยมยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่คุมการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งโครงการแก่งเสือเต้นอยู่ในแผนการแก้ไขปัญหาระยะยาวของรัฐบาล ภายใต้เงินกู้ 3.5 แสนล้านบาท
ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการเสนอแผนการจัดการลุ่มน้ำยมแบบบูรณาการ ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดูข้อมูลทั้งลุ่มน้ำก่อนการตัดสินใจและนำข้อมูลนั้นมาวางแผนแก้ปัญหาให้ถูกจุด
ลุ่มน้ำยมมีความยาว 735 กิโลเมตร มีสถานีสำรวจปริมาณน้ำท่า ทั้งหมด 10 จุด ที่กรมชลประทานและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ทำการบันทึกสถิติข้อมูลของสถานี เช่น ความสูงของระดับน้ำริมตลิ่งลำน้ำ อัตราการไหลของน้ำ ระดับน้ำสูงสุดย้อนหลัง 20 ปี ระดับน้ำท่าในแต่ละวัน เปอร์เซ็นต์ความจุของลำน้ำ ระดับน้ำท่าเปรียบเทียบกับเมื่อวานเพื่อให้เห็นการเพิ่มขึ้นหรือลดลงในวันนี้ และการระบุระดับเกณฑ์ของน้ำ คือ น้ำน้อย น้ำปกติ น้ำมาก และน้ำท่วม ซึ่งทุกสถานีจะบันทึกทุกวันเพื่อให้เห็นภาพรวมของลุ่มน้ำยมทั้งหมด เพื่อนำไปใช้เป็นข้อมูลด้านต่างๆ เช่นการออกประกาศเตือนภัยน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือการเตรียมตัวของชาวบ้านหากได้รับทราบข้อมูลภาพรวมของลุ่มน้ำในจุดเสี่ยงต่างๆ
จากข้อมูลย้อนหลัง 1 สัปดาห์นับตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2555 ทำให้เห็นว่าระดับน้ำจากลุ่มน้ำยมตอนบน จากสถานีวัดน้ำบ้านห้วยสัก (Y.20) อ.สอง จ.แพร่ ระดับน้ำ อยู่ในเกณฑ์ น้ำน้อยวิกฤต ค่าเฉลี่ยน้ำในลำน้ำ 3.57 เมตร ซึ่งจุดนี้ตลิ่งรับน้ำวิกฤตสูงสุดที่ 12 เมตร
สถานีวัดน้ำสะพานบ้านน้ำโค้ง (Y.1C) อ.เมือง จ.แพร่ สถานีบ้านแก่งหลวง (Y.6) สถานีบ้านดอนระเบียง (Y.14) อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย และสถานีบ้านวังไม้ขอน (Y.3A) อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ระดับน้ำ อยู่ในเกณฑ์ น้ำน้อยและปกติ
ส่วนสถานีวัดน้ำบ้านคลองตาล (Y.33) อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย สถานีสะพานตลาดธานี (Y.4) อ.เมือง จ.สุโขทัย สถานีบ้านบางระกำ (Y.16) อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์มาก แต่ยังไม่เลยจุดสูงสุดของตลิ่งลำน้ำที่รับได้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2555 เป็นต้นมา
สถานีวัดน้ำบ้านสามง่าม (Y.17) อ.สามง่าม จ.พิจิตร สถานีหน้าอำเภอโพทะเล (Y.5) อ.โพทะเล จ.พิจิตร ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ และข้อมูลสถิติของลุ่มน้ำใกล้เคียง เช่น แม่น้ำน่าน และแม่น้ำปิง ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติเช่นเดียวกัน
จากข้อมูลภาพรวมทั้งลุ่มน้ำยมทำให้เห็นว่าปริมาณน้ำเหนือจากต้นน้ำไหลลงสู่ตอนกลางลุ่มน้ำมีน้อยมาก ส่วนจุดที่มีเกณฑ์น้ำมากอยู่ในพื้นที่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.ศรีสำโรง อ.เมือง จ.สุโขทัย เป็นผลมาจากการได้รับปริมาณน้ำฝนที่ตกมากในบริเวณดังกล่าว ถึงแม้จะมีปริมาณน้ำมาก แต่ทุกจุดปริมาณน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งมากกว่า 1 เมตร ซึ่งตัวลำน้ำยมยังสามารถรับน้ำให้อยู่ในลำน้ำได้
บริเวณที่เกิดเหตุการณ์ผนังกั้นน้ำเกิดความเสียหาย จนทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมตัวเมืองสุโขทัยอย่างรวดเร็วจนเกิดน้ำท่วมขัง ซึ่งจุดที่ผนังกั้นน้ำพังมีความสูงของผนังกั้นน้ำ 7.4 เมตร ซึ่ง ระดับน้ำในลำน้ำยมสูงเพียง 6.8 เมตร หากไม่เกิดผนังกั้นน้ำพังยังสามารถรับน้ำได้ตามปกติ จะไม่มีน้ำท่วมเขตตัวเมืองสุโขทัยแต่อย่างใด ดังนั้นภาพรวมของลุ่มน้ำยมยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ
เมื่อเห็นข้อมูลปริมาณน้ำทั้งลุ่มน้ำเช่นนี้แล้ว เหตุของการกล่าวอ้างสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำไม่ได้ตอบโจทย์การคุมน้ำจากตอนบน เพราะสถิติเห็นว่าน้ำที่ท่วมสุโขทัยไม่ได้มาจากทางตอนบนของลุ่มน้ำ แต่มาจากปัจจัยปริมาณน้ำฝนที่ตกมากในพื้นที่ของลุ่มน้ำตอนกลางอย่างสุโขทัยเอง และการพังของผนังกั้นน้ำจนทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมเขตเมืองและเขตเศรษฐกิจของจังหวัดสุโขทัย
การจัดการลุ่มน้ำยมในหลายสิบที่ผ่านมาได้ปิดกั้นทางเลือกขนาดเล็กขนาดกลางระดับพื้นที่มาโดยตลอด เนื่องจากการมุ่งการจัดการแบบโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สร้างภาพว่าจะสามารถจัดการได้เด็ดขาด อย่างโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเพียงอย่างเดียว จนทำให้พื้นที่ที่มีศักยภาพด้วยโครงการขนาดเล็กที่แก้ปัญหาได้จริงถูกพับเก็บมาโดยตลอด
ตามที่นายปรอดประสพ สุรัสวดี ประธาน กบอ.และนายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้หยิบยกเหตุการณ์น้ำท่วมจังหวัดสุโขทัยในครั้งนี้มากล่าวอ้าง ดูจะไม่สมควรด้วยประการทั้งปวงเพื่อมาผลักดันสร้างแก่งเสือเต้น ซึ่งเป็นการโยนบาปให้คนในพื้นตำบลสะเอียบ ทั้งที่จริงน้ำท่วมที่ไกลออกไปหลายร้อยกิโลเมตรไม่ได้สมเหตุผลในการสร้างหากได้พิจารณาข้อมูลเชิงสถิติตามที่ได้กล่าวมา เอาเข้าจริงแก่งเสือเต้นคงไม่ได้ช่วยกันน้ำท่วมในกรณีนี้ได้
เมื่อเรามีข้อมูลแบบนี้แล้วคงต้องพิจารณาทางเลือกการจัดการน้ำขนาดเล็กขนาดกลางให้มากขึ้นในพื้นที่นั้นๆ มีข้อเสนอทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่แก่งเสือเต้น คงต้องถูกพิจารณาให้จริงจังมากกว่าเดิมเพื่อความยั่งยืนของลุ่มน้ำยม