ปูดเวทีผู้นำน้ำโขงไฟเขียวจีน “ระเบิดแก่ง” เพิ่มเปิดช่องขนส่ง “กลุ่มรักษ์เชียงของ” เตือนรัฐทบทวนหวั่นกระทบความมั่นคงไทย-ลาว
ปูดเวทีผู้นำน้ำโขงไฟเขียวจีน จ่อ “ระเบิดแก่งแม่น้ำโขง ภาค 2” เปิดเส้นทางขนส่งสินค้า “กลุ่มรักษ์เชียงของ” เตือนรัฐบาลไทยทบทวนหวั่นกระทบความมั่นคงไทย-ลาว ชี้หากระเบิดแก่งบริเวณพรมแดน การปักปันเขตแดนจะเกิดปัญหา หวั่นกระทบชะลอน้ำทำร่องน้ำเปลี่ยน ทำลายระบบนิเวศ ย้ำชาวบ้านริมโขงพร้อมปกป้องด้วยชีวิต
วันนี้ (28 มี.ค.) นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือครูตี๋ ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ จ.เชียงราย ได้แสดงความเห็นถึงผลการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่ 1 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ต่อกรณีที่รัฐบาลจีนจะเดินหน้าโครงการระเบิดแก่งในแม่น้ำโขงเพื่อใช้เป็นเส้นทางขนส่งสินค้า โดยขอให้รัฐบาลไทย ต้องทบทวนโครงการกับรัฐบาลจีน
“เป็นเรื่องที่ชาวบ้านไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการะเบิดแก่ง หรือเรียกให้ไพเราะว่าโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ โดยชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำโขงในเขต อ.เชียงของ จ.เชียงราย ต่างมองว่า เกาะแก่งในแม่น้ำโขงมีประโยชน์ทางระบบนิเวศ เป็นแหล่งอาศัยและหากันของปลา มีความงดงามลักษณะเฉพาะ และมีคุณค่าด้านการท่องเที่ยว”
มีรายงานว่า ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 26 มีนาคม สำนักข่าวซินหวาของทางการจีนรายงานข่าวว่าจีนวางแผนจะยกระดับเส้นทางเดินเรือล้านช้าง-แม่น้ำโขง โดยขั้นตอนที่ส 2 ในการขุดลอกจะเริ่มเร็วๆ นี้ซึ่งจะช่วยให้เรือขนาด 500 ตันสามารถเดินทางในแม่น้ำได้ตลอดทั้งปี ข่าวระบุว่าการขุดลอกระยะที่ 2 นั้นจะขยายขอบเขตเข้าไปยังประเทศลาว
มีการระบุว่า โครงการระเบิดแก่งแม่น้ำโขง หรือโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือพาณิชย์ เกิดจากที่รัฐบาล 4 ประเทศลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ จีน พม่า ลาว และไทย ร่วมกันลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง ที่ท่าขี้เหล็ก ประเทศพม่า เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2543 แต่เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีแก่ง ผา ดอน กว่า 100 แห่งเป็นอุปสรรคต่อการเดินเรือขนาดใหญ่กว่า 150 ตัน รัฐบาลทั้ง 4 ประเทศจึงตั้งคณะกรรมการสำรวจการปรับปรุงความเหมาะสมของโครงการปรับปรุงร่องน้ำเพื่อการเดินเรือ และในเวลาต่อมาได้อนุมัติให้มีการระเบิดเกาะแก่งดังกล่าว โดยเริ่มระเบิดครั้งแรกไปเมื่อเดือนเมษายน 2545 จากนั้นโครงการได้ชะลอเนื่องจากปัญหาปักปันเขตแดนระหว่างไทยและลาว
นายนิวัฒน์กล่าวต่อว่า ความพยายามของจีนที่จะเดินหน้าโครงการระเบิดแก่งเฟสที่สอง เพื่อการเดินเรือเข้ามาในลาว ซึ่งหมายถึงเส้นทางที่ต้องผ่านพรมแดนลาว-ไทย ที่ จ.เชียงราย เข้าไปยังหลวงพระบางนั้น แสดงให้เห็นว่าจีนเห็นแก่ได้เพียงฝ่ายเดียว
“เขาเอาการค้าเป็นตัวนำและทำลายระบบนิเวศ นี่คือการมาทำร้ายกันถึงหน้าบ้านเรา ชาวบ้านยืนยันว่าไม่ยอมแน่นอน ที่ผ่านมาข้อมูลงานวิจัยต่างๆ ก็มีชัดเจนอยู่แล้วว่าเป็นการทำลายระบบนิเวศ คือการฆ่าแม่น้ำโขงโดยตรง ตอนนี้แม่น้ำโขงบอบช้ำหนักจากเขื่อนจีนมามากแล้วยังมาระเบิดแกาะแก่งอีก เขื่อนคุณก็สร้างแล้ว ยังจะมาทำลายแม่น้ำที่บ้านเราอีกหรือ” นายนิวัฒน์กล่าว และว่าขอให้รัฐบาลในภูมิภาคทบทวนการค้าที่เป็นธรรม การค้าที่ให้คนตัวเล็กตัวน้อยอยู่ได้ ปัจจุบันในภูมิภาคมีถนนสายต่างๆ เกิดขึ้นมากมายที่เชื่อมโยงเส้นทางระหว่างประเทศ ไม่จำเป็นต้องขยายเส้นทางการเดินเรือแม่น้ำโขงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รัฐบาลทำในสิ่งที่ควรทำ เว้นในสิ่งที่ควรเว้น ตนเชื่อว่าชาวบ้านเราพร้อมที่จะลุกขึ้นมาสู้และปกป้องด้วยชีวิตหากมีการระเบิดแก่งที่เชียงของ
ขณะที่รัฐบาลไทยต้องทบทวนโครงการนี้ทันที เพราะหากมีระเบิดแก่งบริเวณพรมแดน การปักปันเขตแดนจะเกิดปัญหา เมื่อระเบิดเกาะแก่งที่เป็นตัวชะลอน้ำจะทำให้ร่องน้ำเปลี่ยน เรื่องนี้ต้องระมัดระวังมาก ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นปัญหาความมั่นคงระหว่างประเทศ รัฐบาลต้องพิจารณาให้ดี คณะกรรมการสมัยรัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ บอกชัดเจนว่าเรื่องเขตแดนบนแม่น้ำโขงเป็นสิ่งสำคัญที่สุด หากเกาะแก่งหายไป เขตจะแดนเปลี่ยนทันที จะกลายเป็นว่าลาวไทยจะมาทะเลาะกัน หากระเบิดแก่งบริเวณพรมแดน เราได้ยื่นหนังสือและทำทุกอย่าง จนประมาณปี 2547 เราหยุดโครงการไว้ได้ แต่วันนี้กลับจะมาฟื้นอีก
มีรายงานว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาที่สาธารณรัฐประชาชนจีน มีผู้นำและตัวแทนจากอีก 4 ประเทศเข้าร่วมการประชุมฯ ได้แก่ ดร.สาย หมอกคำ รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเดโช ฮุน เซ็น นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา นายทองสิง ทำมะวง นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว นายฝ่าม บิ่งห์ มิงห์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเวียดนาม
ขณะที่เว็บไซต์รัฐบาลไทยสรุปว่า พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวสรุปถึงคำพูดของนายกรัฐมนตรีไทย ในฐานะประธานที่ประชุมสมาชิกทั้ง 6 ประเทศ ที่ถือเป็นครั้งแรกเพื่อก่อตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง โดยยินดีที่แนวคิดเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่กรุงเทพฯ เมื่อปี ค.ศ.2012 ได้พัฒนาขยายมาสู่การจัดตั้งกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่ครอบคลุมสาขาต่างๆ อย่างรอบด้าน ด้วยการสนับสนุนจากจีน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียง ที่ผลักดันกรอบความร่วมมือนี้ด้วยตัวเองตั้งแต่แรกเริ่ม ตลอดจนการสนับสนุนจากทุกประเทศสมาชิก ประเทศไทยมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันและสร้างสรรค์ในการพัฒนากรอบความร่วมมือนี้ต่อไป
“การเชื่อมต่อกันด้วยแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง สายเดียวกัน ต่างมีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เป็นเพื่อนบ้านที่ส่งเสริมเกื้อกูลกันในด้านต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ร่วมกันและมียุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกันบนพื้นฐานของความไว้เนื้อเชื่อใจ และเพื่อผลประโยชน์ต่อทุกประเทศที่เท่าเทียมกัน”
นอกจากนี้ ยังมีการร่วมกันวางรากฐานสำคัญของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ที่ครอบคลุมความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจและการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึงสังคม วัฒนธรรม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน ซึ่งสอดคล้องกับสามเสาหลักของอาเซียน นอกจากนี้ กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างนี้ก็เป็นพื้นฐานของการพัฒนาความร่วมมือของกลุ่มประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงอย่างค่อยเป็นค่อยไปสู่ความเป็นประชาคมแม่น้ำโขงในอนาคต
“นายกรัฐมนตรีเห็นว่าควรใช้โอกาสและศักยภาพในการร่วมมือกันเพื่อ บริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน เพื่อมนุษยธรรมและยังประโยชน์ ต่อประชาชน ตลอดจนเกษตรกรผู้พึ่งพิงน้ำจากแม่น้ำโขง-ล้านช้าง ในการดำรงชีวิตด้านต่างๆ และเผชิญกับความท้าทายจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วมเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ”
สำหรับประเทศไทยยินดีที่ประเทศสมาชิกตกลงที่จะดำเนินโครงการเร่งด่วนที่จะเน้นผลเป็นรูปธรรมภายในช่วง 1-2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการปฏิรูปประเทศ (Roadmap) ของไทยด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าความสำเร็จของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง จะเสริมสร้างให้ทุกประเทศในอนุภูมิภาคก้าวไปด้วยกันและเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน เป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาในรูปแบบใต้-ใต้ ที่ประสบความสำเร็จ อันจะนำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสังคมโลก
มีรายงานด้วยว่า การหารือทวิภาคีกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน ของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เมืองซานย่า มณฑลไห่หนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน
โดย พล.ต.วีรชนกล่าวสรุปตอนหนึ่งว่า “นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณที่ทางจีนได้ปล่อยน้ำเพื่อบรรเทาภัยแล้งในประเทศลุ่มน้ำโขง ทางด้านนายกรัฐมนตรีจีนกล่าวว่า ไทยและจีนเป็นเหมือนครอบครัวเดียวกัน มีความสัมพันธ์ในระดับที่ใกล้ชิดมาโดยตลอด นายกรัฐมนตรีจีนยินดีที่ทั้งสองประเทศจะแสวงหาความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้นมากขึ้น”
อ้างอิง : https://m.mgronline.com/Politics/detail/9590000031936