รายงานสถานการณ์สาละวิน ในวันหยุดเขื่อนโลก
รายงานสถานการณ์เขื่อนสาละวินในพม่า
โดย เครือข่ายสาละวินวอชต์ (Salween Watch Coalition)
มีนาคม 2559
แม่น้ำสาละวิน เป็นแม่น้ำที่ส่วนใหญ่ยังคงไหลอย่างอิสระจากต้นกำเนิดที่เทือกเขาหิมาลัย ผ่านทิเบต และมณฑลยูนนานของจีน สาละวินไหลขนานกับแม่น้ำโขงและแม่น้ำแยงซีเกียง ในบริเวณ "สามแม่น้ำไหลเคียง" ซึ่งยูเนสโกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ จากนั้นไหลข้ามพรมแดนเข้าสู่ตอนเหนือของรัฐฉาน พม่า ผ่านรัฐคะยา รัฐกะเหรี่ยง และไหลออกทะเลที่เมืองเมาะลำไย รัฐมอญ รวมความยาวทั้งสิ้น 2,800 กิโลเมตร
แม่น้ำสาละวินเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ มีระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนที่ยังถูกมนุษย์รบกวนน้อยเมื่อเทียบกับแม่น้ำหลักสายอื่นๆ หลายทศวรรษที่ผ่านมามีความพยายามสร้างเขื่อนเพื่อผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำสาละวิน แต่ในพม่ากลับมีการคัดค้านมาโดยตลอดเนื่องจากการสู้รบระหว่างกองกำลังชาติพันธุ์กับกองทัพพม่าและผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน
ต้นเดือนมีนาคม 2559 หนังสือพิมพ์เมียนมาร์ไทมส์รายงานว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลทหารของไทยได้เยือนพม่าและหารือกับรัฐบาลพม่าในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงานและพัฒนาโครงการเขื่อนเมืองโต๋นในรัฐฉาน ซึ่งจะมีกำลังผลิตเป็นสิบเท่าของเขื่อนภูมิพล
ตารางสรุปข้อมูลเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินในพม่าและพรมแดนไทย-พม่า
โครงการเขื่อนฮัตจี ตั้งอยู่ระยะทางจากชายแดนไทยประมาณ 47 กิโลเมตรตามลำน้ำสาละวิน จากบ้านสบเมย อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน มูลค่าก่อสร้างโครงการประมาณ 100,000 ล้านบาท
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม โดยได้จัดประชุมเพื่อนำเสนอรายงานที่ อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ในวันที่ 18 ธันวาคม 2558 อย่างไรก็ตาม รายงานยังไม่ได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณะและชุมชนที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะผลกระทบข้ามพรมแดน และผลกระทบต่อระบบนิเวศ การไหลของน้ำ และการอพยพของปลา
เขื่อนนี้ตั้งอยู่ในรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยังมีการสู้รบ รายงานการศึกษาของกฟผ. ระบุว่ามีชุมชนในรัฐกะเหรี่ยงจะได้รับผลกระทบ 13 หมู่บ้าน และต้องอพยพ 21 ครัวเรือน อย่างไรก็ตาม กลุ่มสิ่งแวดล้อมกะเหรี่ยง Karen Rivers Watch ระบุว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบๆ หัวงานเขื่อนส่วนใหญ่ได้อพยพหนีภัยสงครามมายังชายแดนประเทศไทย
สถานการณ์พื้นที่เขื่อนฮัตจีช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2558 มีรายงานว่ากองกำลังฝ่ายรัฐบาลพม่า 4 กองพัน ปฏิบัติเข้าโจมตีพื้นที่ ตำบลแม่ปริ และตำบลทีตะดอท่า ในพื้นที่ อ.บือโส่ เขตมือตรอ ส่งผลให้ผู้นำชุมชนหลายคนถูกไล่ออกจากหมู่บ้าน มีการจับกุมและฆ่าชาวบ้าน
- โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนล่าง (เขื่อนดา–กวิน) ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า ที่บ้านที่ตาฝั่ง อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยง
- โครงการเขื่อนสาละวินชายแดนตอนบน (เขื่อนเวยจี) ตั้งอยู่บนแม่น้ำสาละวินชายแดนไทย-พม่า ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ตรงข้ามรัฐกะเหรี่ยง
- โครงการเขื่อนยวาติ๊ด ตั้งอยู่ไม่ไกลจากจุดที่แม่น้ำปายบรรจบแม่น้ำสาละวิน ในรัฐคะยา หรือรัฐคะเรนนี เป็นโครงการของบริษัทต้าถัง (Datang) จากจีน ซึ่งลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับรัฐบาลพม่าเมื่อปี 2553 เขื่อนยวาติ๊ดมีกำลังผลิตสูงถึง 4,500 เมกะวัตต์
- โครงการเขื่อนเมืองโต๋น (เขื่อนท่าซาง/เขื่อนมายตง) ระยะทางจากชายแดนไทยประมาณ 40 กิโลเมตร ที่บ้านอรุโณทัย อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่
- บริษัทที่ปรึกษาจากออสเตรเลีย Snowy Mountain Engineering Corporation ได้รับจ้างทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสังคม (EHIA) ในรัฐฉาน แต่กลับถูกตั้งคำถามโดยเครือข่ายประชาชนในรัฐฉานเกี่ยวกับความชอบธรรมของการศึกษาเนื่องจากไม่สามารถทำการศึกษาได้ในบางพื้นที่
- โครงการเขื่อนหนองผา ตั้งอยู่ทางภาคเหนือในรัฐฉาน มีการลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อพัฒนาโครงการเมื่อครั้งที่ นายสีจิ้นผิง รองประธานาธิบดีจีนเยือนพม่าในปี 2553 เขื่อนหนองผามีกำลังผลิตติดตั้ง 1,200 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าร้อยละ 90 จะส่งไปขายแก่ประเทศจีน
- โครงการเขื่อนกุ๋นโหลง ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน เขตปกครองของกองกำลังโกก้าง ใกล้ชายแดนจีน เขื่อนมีกำลังผลิตติดตั้ง 1,400 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าจำนวน 1,200 เมกะวัตต์จะส่งไปขายยังประเทศจีน
มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation – SHRF) ระบุว่าโครงการเขื่อนบนแม่น้ำสาละวินส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่และการสร้างสันติภาพในพม่า เนื่องจากพื้นที่สร้างเขื่อนมีการสู้รบกันระหว่างกองทัพพม่าและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่ม
อ้างอิง : https://transbordernews.in.th/home/?p=11978