รายงาน : วิกฤติน้ำโขงท่วม เสียหายกว่า 85 ล้านบาท ทิ้งตะกอนปวดร้าวไว้ในใจคนริมแม่น้ำโขง
เครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ประเมินความเสียหายเบื้องต้นหลังแม่น้ำกลับสู่ภาวะปกติ มีมูลค่ากว่า 85 ล้านบาท จาก 38 หมู่บ้าน โดยสาเหตุหลักของน้ำท่วมปีนี้ชาวบ้านยืนยันตรงกันว่ามาจากการเปิดเขื่อนของจีน
วิกฤติน้ำท่วม ส.ค. 2551 น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนได้แล้วว่า การจัดการน้ำข้ามพรมแดนในระยะยาวของสายน้ำโขงน่าจะเกิดการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและเป็นมิตร ทั้งในระดับนโยบายและประชาชน เพื่อจะเรียนรู้การอยู่ร่วมแม่น้ำเดียวกันอย่างสันติ ซึ่งหากยังไม่มีการเคารพซึ่งกันและกันว่า ประชาชนของประเทศท้ายน้ำและต้นน้ำเป็นคนร่วมชะตากรรมสายน้ำเดียวกันแล้ว ใครเลยจะคิดว่านี่เป็นวิกฤติน้ำท่วมครั้งสุดท้ายในแม่น้ำโขง!?
จากสถานการณ์น้ำท่วมเชียงแสน เชียงของ เวียงแก่น จ.เชียงราย ในวันที่ 10-11 ส.ค. 2551 ที่ผ่านมา และในขณะนี้ยังท่วมหนักใน จ.นครพนมและมุกดาหาร ภาคอีสาน ได้ทิ้งตะกอนและร่องรอยความเสียหายต่อพื้นที่เกษตร บ้านเรือน ถนนและตลิ่งริมฝั่งโขงในพื้นที่ จ.เชียงราย โดยเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ประเมินความเสียหายเบื้องต้นหลังแม่น้ำกลับสู่ภาวะปกติ มีมูลค่ากว่า 85 ล้านบาท จาก 38 หมู่บ้าน โดยสาเหตุหลักของน้ำท่วมปีนี้ชาวบ้านยืนยันตรงกันว่ามาจากการเปิดเขื่อนของจีน
นายวิเชียร มณีรัตน์ อายุ 52 ปี บ้านสบกก หมู่ 7 อ.เชียงแสน จ.เชียงราย กล่าวว่า "เกิดจากทางข้างบนได้ปล่อยน้ำจากเขื่อน เลยทำให้แม่น้ำโขงมีระดับน้ำที่สูงขึ้น สมัยก่อนน้ำจะไหลเชี่ยว เพราะฝนตกหนักแต่จะไม่ท่วมสูงถึงขนาดนี้" บ้านสบกกเป็นบ้านที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดในเขตเชียงแสน ทั้งพื้นที่การเกษตรเสียหายประมาณ 90% ของพื้นที่ทั้งหมด และบ้านเรือนได้รับผลกระทบน้ำท่วมทั้งหมู่บ้าน 144 ครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีบ้านบ้านสบคำ หัวกว๊าน หมู่ 15 บ้านแซว ปงของ หมู่ 5 และ หมู่ 10 ที่ได้รับผลกระทบครั้งนี้ด้วย
ส่วนในพื้นที่ ต.ริมโขง อ.เชียงของ แม้จะมีคอนผีหลงเป็นผาหินป้องกันน้ำท่วมไว้ แต่ก็ยังได้รับผลจากน้ำท่วมครั้งนี้ โดยหมู่บ้านที่ประสบภัยครั้งนี้ประกอบด้วย บ้านหาดทรายทอง หาดบ้าย ดอนที่ ผากุ๊บ เมืองกาญจน์ ใหม่เจริญ ส่วนบ้านเรือนเสียหาย 17 หลังคาเรือน พื้นที่เกษตรที่เสียหายมากที่สุดคือบ้านหาดบ้าย หาดทรายทอง พื้นที่นาข้าวเสียหาย 1,006 ไร่ ข้าวโพด 1,421 ไร่ ขิง 7 ไร่ 1 งาน สระปลา 20 บ่อ และควายตาย 3 ตัว
นายจันดี สายใจ ชาวบ้านบ้านผากุ๊บ ต.ริมโขง อ.เชียงของ จ.เชียงราย กล่าวว่า "วันที่ 12 ส.ค. ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นประมาณชั่วโมงละ 1 ฝามือ จนถึงเที่ยงวันที่ 13 ส.ค. อัตราการเพิ่มขึ้นของน้ำจะสูงและรวดเร็วมาก จนชาวบ้านเกิดความตื่นตะหนก ต้องย้ายข้าวของเครื่องใช้ขึ้นสู่ที่สูงและขนย้ายไปไว้บ้านเพื่อนบ้านที่ระดับน้ำไม่สามารถท่วมถึงได้ จนถึงวันที่ 14 ส.ค. ที่ระดับน้ำเริ่มลดลง" นายจันดีเล่าด้วยสีหน้าแสดงความหวาดกลัว โดยยังยืนยันชัดเจนว่า "เป็นผลมาจากทางตอนเหนือ คือประเทศจีนได้ปล่อยน้ำลงมาทางลุ่มของแม่น้ำ เพราะตามปรกติแล้วระดับน้ำของแม่น้ำโขงจะค่อยๆ สูงขึ้น แต่ในปีนี้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นเร็วมากคืนละประมาณ 1 เมตร ทำให้เกิดความกังวลแก่ชาวบ้านอย่างมาก ขนาดบ้านเรายังขนาดนี้ทางพี่น้องอีสานคงจะได้รับผลกระทบที่มากว่าเราอีก"
สำหรับพื้นที่ตำบลเวียง อ.เชียงของ มีพื้นที่ประสบภัย 4 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยเม็ง หัวเวียง หาดไคร้ และดอนมหาวัน โดยผลกระทบไม่มากนักเหมือนในพื้นที่ ต.ศรีดอนชัย ซึ่งนับเป็นพื้นที่วิกฤติน้ำท่วมสูงสุดในรอบสี่สิบปี คือในปีน้ำท่วม 2509 เป็นปีน้ำท่วมใหญ่สุด ปี 2514 เป็นปีที่น้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุด ทว่าผลเสียหายไม่เท่ากับในปีนี้ โดยพื้นที่ประสบภัยประกอบด้วย บ้านปากอิงเหนือ ปากอิงใต้ ทุ่งซาง ดงหลวง ท่าเจริญ ศรีดอนชัย ม.14 ม.15 บ้านศรีชัยมงคล บ้านศรีมงคล หมู่ 7 และบ้านร่องห้า นอกจากนี้ยังกระทบต่อบางส่วนของ ต.สถาน และ ต.ครึ่ง คือ บ้านเต๋น ทุ่งอ่าง บ้านตอง หมู่ 6, 9 ม่วงชุม และบ้านศรีลานนา นับพื้นที่เกษตรเสียหายรวมกว่า 10,000 ไร่ บ่อปลาบ่อกบสูญปลาไปกว่า 180 บ่อ บ้านเรือนที่ได้ผลกระทบ 413 หลังคา ตลิ่งริมฝั่งโขงสูญเสียที่ดินกว่า 2 จุดใหญ่ ที่บ้านปากอิงใต้
นายเกรียงไกร แจ้งสว่าง เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานสนาม โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนลุ่มน้ำโขงเพื่อการอนุรักษ์ระบบนิเวศและวิถีชีวิต กลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า "ปริมาณน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและสูงอย่างมากในวันที่ 12 ส.ค. น้ำขึ้นเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 เซนติเมตร น้ำได้ท่วมเข้าสู่หลายหมู่บ้านของตำบลศรีดอนชัย ทำให้เส้นทางการคมนาคมได้รับความเสียหายไม่สามารถเดินทางไปมาหาสู่กันได้ น้ำท่วมปีนี้ปริมาณน้ำฝนในแม่น้ำอิงไม่เยอะเท่าปี 2509 และระดับน้ำในแม่น้ำอิงยังคงระดับปกติ แต่น้ำในแม่น้ำโขงสูงล้นทะลักไหลเอ่อเข้าปากแม่น้ำอิงทำให้กระแสน้ำไหลย้อนกลับเข้าสู่แม่น้ำอิง สังเกตได้จากสีของแม่น้ำอิงที่มีสีเหลืองใส สีน้ำของแม่น้ำโขงมีสีน้ำตาลเข้ม ปริมาณน้ำโขงที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนชาวบ้านตั้งตัวไม่ทัน"
นายเกรียงไกร ซึ่งเป็นลูกแม่น้ำอิงคนหนึ่ง ยังเล่าย้อนอดีตถึงสถานการณ์น้ำท่วมในปี 2509 จากที่ฟังคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่มาว่า "น้ำจะค่อยๆ ขึ้น และค่อยๆ ลด อย่างในปี 2509 น้ำได้เริ่มเอ่อท่วมในวันที่ 3-4 สิงหาคม ชาวบ้านได้เก็บข้าวของย้ายหนีในวันที่ 5-6 ส.ค. น้ำท่วมสูงสุดในช่วง 10-13 ส.ค. และระดับน้ำทรงตัวแล้วค่อยๆ ลด และมาแห้งในเดือนกันยายน"
นายเกรียงไกร ย้ำว่าจากการเฝ้าสังเกตติดตามสถานการณ์น้ำโขงมาหลายปี เหตุน้ำท่วมครั้งนี้มาจากตอนบนของแม่น้ำโขงคือประเทศจีนได้ปล่อยน้ำจากเขื่อนสู่ทางลุ่มของแม่น้ำ ซึ่งจะสังเกตได้จากการลดและเพิ่มของแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ส่วนในพื้นที่ อ.เวียงแก่น มีพื้นที่ประสบภัยครั้งนี้ 6 หมู่บ้าน คือ บ้านห้วยเอียน บ้านแจ๋มป๋อง ใน ต.หล่ายงาว บ้านห้วยลึก บ้านยายใต้ บ้านยายเหนือ บ้านม่วง ใน ต.ม่วงยาย โดยพื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 1,000 ไร่ บ้านเรือน 61 หลังคา และที่ดินริมฝั่งโขงถล่มกว่า 3 ไร่ นายจีระศักดิ์ อินทะยศ หัวหน้าปฏิบัติงานสนามของกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า "ยอดการประเมินความเสียหายโดยเบื้องต้นกว่า 85 ล้านบาทนี้ยังขาดตกบางเรื่องที่ยังไม่ได้รับการแจ้ง โดยการประเมินนับต้นทุนการเกษตรและค่าเสียโอกาส ครัวเรือนที่ต้องอพยพและกลับมาทำความสะอาดหรือซ่อมแซมบ้าน นอกจากนี้เรื่องสำคัญคือที่ดินริมฝั่งโขงที่ถล่มสูญหายไปด้วย โดยตัวเลขความเสียหายที่เป็นทางการทางกลุ่มฯ จะแจ้งให้ทราบอีกครั้ง ตอนนี้ทางกลุ่มฯมีแผนการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นลุ่มน้ำอิงตอนปลายและชายฝั่งโขงขึ้นมาเป็นการเร่งด่วน โดยจะเป็นตัวประสานกับหน่วยงานรัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน"
ทั้งนี้ยังไม่นับรวมผลเสียหายที่เกิดในฝั่งเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว ประเทศลาว ซึ่งมีรายงานจากชาวลาวว่า ตลิ่งพังอย่างน้อย 3 บ้าน กินพื้นที่ลึกเข้าฝั่งไปประมาณ 4 เมตร โดยที่บ้านตีนธาตุมี 3 จุด จุดละประมาณ ลึก 7-8 เมตร ยาว 50 เมตร บ้านป่าอ้อย ตลิ่งพังเป็นแนวยาว 2 จุด จุดแรกยาว 500 เมตร ลึกเข้ามา 30 เมตร, จุดที่สอง ตลิ่งพังแนวยาว 200 เมตร ลึกเข้าไปประมาณ 20-25 เมตร นอกจากนี้บ้านเรือนเสียหาย รั้วกำแพงบ้านอีก 7-8 หลังคา บ้านสินอุดม ตลิ่งพังความยาว 200 เมตร ลึก 10 เมตร บ้านเรือนเสียหาย 1 หลัง ทั้งหมดนี้หากนับรวมความเสียหายทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงในเขตนี้น่าจะมีมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล โดยยังไม่นับรวมตะกอนความกลัวที่ตกอยู่ในใจคนสองฝั่งแม่น้ำโขงหลังจากน้ำลดลงสู่ระดับปกติ
"เราคงจะไปบอกให้ประเทศจีนไม่ปล่อยน้ำจากเขื่อนก็คงจะไม่ได้ เพราะบ้านเมืองของเขาคงจะท่วมเหมือนกัน แต่อยากให้ทางเหนือเมื่อต้องการปล่อยน้ำลงทางลุ่มก็ขอให้มีการแจ้งเตือน บอกกล่าวก่อนและน่าจะค่อยๆ ปล่อยน้ำ จะได้ไม่ส่งผลกระทบถึงขนาดนี้" นายจันดี สายใจ ชาวบ้านบ้านผากุ๊บ กล่าวขอร้องด้วยน้ำเสียงเศร้าและดวงตาปวดร้าว
สำหรับแผนการในระยะยาวของการแก้ไขปัญหานี้ นายจีระศักดิ์ อินทะยศ กล่าวตรงกันกับชาวบ้านผู้ประสบภัยว่า "ทางกลุ่มฯ ได้มีการพูดถึงการเรียกร้องความเสียหายจากรัฐบาลจีน จะต้องช่วยกันพูดคุยให้ทางบนของแม่น้ำโขงควบคุมน้ำให้มีความเป็นธรรมต่อคนท้ายน้ำ ไม่ว่าทั้งในหน้าแล้งและหน้าฝน รวมทั้งมีการพูดคุยเรื่องสภาประชาชนแม่น้ำโขงที่เป็นตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง ไม่ว่าเรื่องเขื่อนและการระเบิดแก่ง"
วิกฤติน้ำท่วม ส.ค. 2551 น่าจะเป็นบทเรียนที่ชัดเจนได้แล้วว่า การจัดการน้ำข้ามพรมแดนในระยะยาวของสายน้ำโขงน่าจะเกิดการพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาและเป็นมิตร ทั้งในระดับนโยบายและประชาชน เพื่อจะเรียนรู้การอยู่ร่วมแม่น้ำเดียวกันอย่างสันติ ซึ่งหากยังไม่มีการเคารพซึ่งกันและกันว่า ประชาชนของประเทศท้ายน้ำและต้นน้ำเป็นคนร่วมชะตากรรมสายน้ำเดียวกันแล้ว ใครเลยจะคิดว่านี่เป็นวิกฤติน้ำท่วมครั้งสุดท้ายในแม่น้ำโขง!?
อ้างอิง : https://prachatai.com/journal/2008/08/17766