ร่วมกันสำรวจ โครงการเขื่อนบ้านกุ่ม
"ธรรมชาติสร้างไม่ได้ เขื่อนคนสร้างได้" นี่คือความคิดเห็นในนามส่วนตัวของนายสุเทพ เหลี่ยมเจริญ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาพลังงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่กล่าวไว้ในวันที่ 6 กันยายน ในเวทีสาธารณะ "คนอุบลและสังคมไทยกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าบ้านกุ่ม" เพื่อระดมความคิดเห็นกรณีการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม
นายสุเทพชี้แจงว่า ที่ผ่านมา พพ.ได้ยุติการศึกษาความเป็นไปได้ของการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ตั้งแต่มีมติ ครม.ให้เอกชนเป็นผู้ศึกษา แต่หากจะเดินหน้าโครงการต่อจะได้รับการศึกษาในรูปแบบของการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ)
ในฐานะหน่วยงานราชการในพื้นที่ นายสุรพล สายพันธ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี ยืนยันเหมือนกันว่า ถ้าการสร้างเขื่อนบ้านกุ่มทำให้ประชาชนในพื้นที่เดือดร้อน ทางจังหวัดคงยอมไม่ได้
ขณะที่นายสังข์ทอง อินทอง ชาวบ้านผาชัน ให้ข้อมูลการเกษตรริมโขงว่า เฉพาะบ้านผาชันมีพื้นที่ปลูกพืชบนหาดทรายในแม่น้ำโขงประมาณ 21 ไร่ เช่น ฝ้าย ข้าว ถั่วลิสง เฉพาะถั่วลิสงชุมชนของผม มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 2-3 ล้านบาทต่อปี สร้างรายได้ให้แต่ละครอบครัว 20,000 บาทต่อปี ถ้าสร้างเขื่อนรายได้ตรงนี้จะสูญไป แต่สิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้ คือ เกาะแก่ง ผาชัน และแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ มันมีคุณค่าทางจิตใจ ถ้าทำเขื่อนทรัพยากรเหล่านี้ใครจะหาอะไรมาทดแทน
"ผมอยู่ที่นี่มาแต่ไหนแต่ไร ผู้เฒ่ายังบอกผมว่า เราอยู่ที่นี่บ่รวย บ่จน บ่มีหนี้ พออยู่ พอกิน รัฐไม่ช่วยอะไรเราเลยก็ไม่เป็นไร ขอแค่อย่าสร้างเขื่อนก็พอและต้องชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องนี้ให้เร็วที่สุด" นายสังข์ทองกล่าว
หลังจากเสร็จสิ้นงานสัมมนา ในวันที่ 7 กันยายน เหล่านักวิชาการและนักการเมือง อาทิ ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รวมทั้งเครือข่ายชาวบ้าน และเครือข่ายคนฮักน้ำโขง ได้พากันล่องเรือของกองทัพเรือ โดยชุดลาดตระเวน สถานีเรือโขงเจียม สำรวจพื้นที่ที่ในรายงานระบุไว้ 110 กิโลเมตร ตั้งแต่ อ.โขงเจียมไปจนถึง อ.เขมราฐ ที่กำลังจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำถ้าเขื่อนเกิดขึ้น
เรือแล่นผ่านเขตอุทยานแห่งชาติผาแต้มที่ผืนป่ายังคงความสมบูรณ์ ถ้าเขื่อนเกิดขึ้นจริงป่าผืนนี้จะถูกน้ำท่วมทำให้ต้องถอนพื้นที่จากการเป็นอุทยานฯ 480 ไร่ แต่ถ้าเป็นการวัดระดับน้ำท่วมจากประสบการณ์และสายตาของคนในพื้นที่ จำนวนป่าที่จะสูญเสียและพื้นที่น้ำท่วมจะเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าจากรายงานการศึกษา
นายทหารเรืออธิบายถึงร่องน้ำลึกเขตกั้นพรมแดนไทย-ลาว ที่ส่วนใหญ่จะอยู่กลางน้ำ ซึ่งเขื่อนที่ปิดกั้นแม่น้ำโขงทั้งสายจะเปลี่ยนแปลงสภาพเกาะ แก่ง ดอน หาดทราย ทำให้เขตแดนที่เป็นร่องน้ำลึกกลายสภาพจากการตกตะกอนจำนวนมหาศาล และจะส่งผลกระทบต่อเขตแบ่งพรมแดนระหว่างไทย-ลาว อย่างแน่นอน
ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ผู้เชี่ยวชาญปลาน้ำจืด จากดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟประเทศไทย หรือกองทุนสัตว์ป่าโลก ระบุว่า แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำอันดับ 2 ของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพของพันธุ์ปลามากกว่า 1,000 ชนิด เฉพาะในประเทศไทยมีมากกว่า 300 ชนิด และในปลา 100 ตัวที่เป็นอาหารอยู่ในโลกจะมีปลาจากแม่น้ำโขงอยู่ในนั้น 2 ตัว โดยข้อมูลในปี 2543 ระบุว่า แม่น้ำโขงในเขตประเทศลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม สามารถผลิตปลา 2.1 ล้านตันต่อปี และสัตว์น้ำที่ไม่ใช่ปลา เช่น กุ้ง หอย ปู 0.5 ล้านตันต่อปี มีมูลค่า 2,000 ล้านดอลลาร์ โดยชาวประมงจะมีผลผลิตจากปลา 29-39 กิโลกรัมต่อคนต่อปี เป็นอาหารโปรตีนที่ทำให้ความมั่นคงทางอาหาร 50-82%
"หากมีการสร้างเขื่อนเพียงหนึ่งเขื่อนในแม่น้ำโขงตอนกลาง ไม่ว่าจะเป็นที่บ้านกุ่ม ไปจนถึงเหนือโตนเลสาบ ในประเทศกัมพูชา ก็เพียงพอสำหรับหายนะของแม่น้ำโขงแล้ว โดยปลาชนิดแรกที่จะสูญพันธุ์ในระยะ 20 ปี คือ ปลาบึก ส่วนโลมาหัวบาตรประมาณ 30 ตัว ที่เหลือยู่จะสูญพันธุ์แน่นอน หลังจากนั้นปลาในแหล่งน้ำไหล เช่น ปลาแค้ ปลาหนู จะค่อยๆ สูญพันธุ์ไปเหลือแต่ปลาที่อยู่ได้ในน้ำนิ่ง รวมทั้งปลาจะมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเขื่อนบ้านกุ่มจะมากกว่าเขื่อนปากมูล 1,000 เท่า" ดร.ชวลิตกล่าว
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ชี้ให้เห็นข้อมูลการผลิตกระแสไฟฟ้าของเขื่อนบ้านกุ่มเป็นเรื่องโกหก เนื่องจากรายงานการศึกษาระบุเขื่อนบ้านกุ่มจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 8,000 ล้านหน่วย แต่เขื่อนทั้งหมดในประเทศไทยผลิตไฟฟ้าจริงได้ 7,000 กว่าล้านหน่วย เท่านั้น ทั้งๆ ที่เขื่อนบ้านกุ่มมีกำลังผลิตติดตั้งเพียง 1,872 เมกะวัตต์ ในขณะที่เขื่อนผลิตไฟฟ้าในประเทศรวมกันมีกำลังผลิตติดตั้งประมาณ 3,000 เมกะวัตต์ ตัวเลขนี้จึงเป็นตัวเลขที่ตั้งใจคำนวณให้สูงไว้เพื่อให้เขื่อนบ้านกุ่มดูมีประสิทธิภาพเกินจริงเพื่อให้น้ำหนักในการก่อสร้าง
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า แนวโน้มของรัฐบาลทุนนิยมตั้งแต่ปี 2546 คือให้เอกชนและกลุ่มทุนเข้ามาบริหารประเทศ นโยบายเรื่องพลังงานก็ไม่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนของชาวบ้าน... การจะสร้างเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศให้เอกชนรับสัมปทานทั้งหมดตั้งแต่เป็นผู้ศึกษา ถ้าจะทำต่อก็ให้เอกชนเป็นผู้ทำ ทำให้มีผู้เสียประโยชน์มากมายในประเทศ ประชาชนจะต้องไม่ยอม และยืนหยัดปกป้องพื้นที่ของตนเอง"
เรืองประทิน เขียวสด อาจารย์โรงเรียนบ้านสองคอน ย้ำเรื่องผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขง ปัจจุบันชุมชนริมน้ำโขงก็ประสบกับปัญหาน้ำท่วมหนักที่เกิดจากประเทศจีนปล่อยน้ำจากเขื่อนแล้ว ดังนั้น ทิศทางในการต่อสู้ของชาวอุบลฯ ไม่ใช่แค่การต่อต้านเขื่อนบ้านกุ่มเท่านั้น แต่จะเป็นการต่อต้านเขื่อนทั้งหมดในลุ่มน้ำโขง
"ศาลโลกจะต้องสั่งระเบิดเขื่อนทุกเขื่อนในแม่น้ำโขง เพราะถ้าเขื่อนทั้งหมดเจ็ดแปดเขื่อนสร้างเสร็จ แล้วมีการปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาพร้อมๆ กัน น้ำจะท่วมชุมชนริมโขงทั้งหมด เราจะต่อสู้เรื่องเขื่อนบ้านกุ่ม ไม่ใช่แค่บ้านสองคอน แค่อุบลฯ แต่จะต้องระเบิดเขื่อนทั้งหมดในแม่น้ำโขงด้วย"
ความชัดเจนว่าเขื่อนบ้านกุ่มจะสร้างหรือไม่ ยังคงเป็นคำถามที่ยังไม่มีคำตอบแน่ชัด ชาวอุบลฯจึงเรียกร้องให้พ่อบ้านพ่อเมืองชี้จัดว่าใครจะเป็นผู้ให้คำตอบ และแสดงถึงการปกป้องไม่ให้ใครเข้ามาทำลายทรัพยากรธรรมชาติในบ้านหรือทำร้ายลูกบ้านของตนเองด้วย