รวมพลังค้าน"เสือเต้น" สะเอียบ - 16 องค์กรลุย ครม.
ชาวบ้าน 3,000 คนร่วมใจทิ้งหินขื่อบ้านใช้วัฒนธรรมชุมชนสู้โครงการยักษ์รัฐบาลแม้ว แกนนำหมู่บ้านกล่าวปฏิญาณก่อนเผาเขื่อนจำลองยันต่อสู้เขื่อนแก่งเสือเต้นถึงที่สุด ครั้งนี้ขอต่อสู้เพื่อปิดตำนานเขื่อนแก่งเสือเต้น 29 มิ.ย เปิดเวทีหน้าที่ประชุม ครม.สัญจรร่วมกับ 16 เครือข่ายสภาประชาชนภาคเหนือ ยื่น 11 ข้อเสนอ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 มิ.ย. ชาวบ้านจำนวน 3,000 คน จาก 4 หมู่บ้านได้แก่บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านแม่เต้น และบ้านดอนแก้ว ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ที่ประสบปัญหากรณีรัฐบาลต้องการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ส่งผลกระทบให้หมู่บ้านเหล่านี้ต้องอพยพออกจากพื้นที่ มารวมตัวกันที่หน้าวัดดอนชัยเพื่อประท้วงโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยผู้ประท้วงทั้งหมดได้เดินไปรวมตัวกันที่บริเวณหอแดง ประตูทางออกหมู่บ้าน ที่เรียกว่า "ขื่อบ้าน" ห่างจากชุมชนไปทางตัวเมืองแพร่ราว 1 ก.ม. แล้วร่วมกันนำก้อนหินและช่อดอกไม้ทิ้งที่เสาขื่อบ้าน เพื่อยืนยันการต่อสู้กับโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือ
ในการชุมนุม หมู่บ้านต่างๆ ได้ส่งตัวแทนขึ้นเวทีกล่าวถึงแนวทางการต่อสู้ หลังจากนั้นนายอุดม ศรีคำภา แกนนำชาวบ้านสะเอียบต้านเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้กล่าวประกาศเจตนารมณ์ของ 4 หมู่บ้านในการต่อสู้กับโครงการสร้างเขื่อน จากนั้นได้ร่วมกันเผาหุ่นเขื่อนแก่งเสือเต้นจำลองร่วมกันเพื่อไม่ให้เขื่อนกลับมาสร้างความเดือดร้อนต่อชุมชนอีก
นายอุดม กล่าวว่า ชาวสะเอียบอยู่ในพื้นที่ป่ามานานกว่า 200 ปี แม้ในตำนานพระลอก็ยังปรากฎหมู่บ้านสะเอียบ ชาวบ้านยังมีวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับป่าอย่างสมดุล แต่กลับมีคนคิดร้าย คิดทำลายป่าสักทองที่เรารักษาไว้ ทำลายชุมชน ทำลายวิถีชีวิตโดยอ้างการพัฒนาในโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งโครงการนี้ผลาญงบประมาณถึง 12,000 ล้านบาท เราได้ทำประชาคมในหมู่บ้านแล้วทุกหลังคาเรือนยืนยันไม่ออกจากชุมชนเดิมอย่างเด็ดขาด เพราะทางเลือกในการแก้ปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมมีอีกมาก แต่รัฐบาลไม่เอาเมื่อรัฐประกาศออกมาชัดแล้วว่าต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ชาวสะเอียบจะเข้าร่วมกับเครือข่ายสภาประชาชน 16 เครือข่ายและเข้าร่วมชุมนุมที่หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน ระหว่างการประชุม ครม.สัญจร ในวันที่ 29 มิ.ย. เพื่อให้รัฐหยุดโครงการที่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนให้ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 มิ.ย.นี้ จะชาวสะเอียบจำนวน 3,000 คน เข้าร่วมประท้วงที่หน้าศาลากลางจังหวัดลำพูน และคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมนับหมื่นคน โดยได้มีการรวมปัญหาของชาวบ้านเข้าด้วยกัน ได้แก่ปัญหาทรัพยากรดิน น้ำป่า ราคาพืชผลตกต่ำ ปัญหาหนี้สินเกษตรกร ปัญหาผลกระทบจากโครงการรัฐ ปัญหาละเมิดสิทธิชุมชนบนพื้นที่สูง ปัญหาชุมชนเมือง และเรียกร้องคำตอบจากรัฐบาลกรณีที่มีการสังหารนายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบ่อนอก
วันเดียวกัน 16 องค์กรเครือข่ายสภาประชาชนภาคเหนือ ออกแถลงการณ์ยื่นข้อเสนอ 11 ข้อที่จะเสนอต่อรัฐบาลในวันที่ 29 มิ.ย. คือ 1.การประชุม ครม.จะต้องยืนอยู่บนหลังการแก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้างที่เกษตรกรรายย่อยไม่ได้รับความเป็นธรรม 2.การประชุม ครม.ครั้งนี้จะต้องไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองทิ้งทวนงบประมาณเพื่อการหาเสียงล่วงหน้า แต่จะต้องทบทวนโครงการใหญ่ๆ ของรัฐที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน 3.กรณีการลอบสังหารนายเจริญ วัดอักษร เป็นรายที่ 15 แล้วรัฐยังหาผู้กระทำผิดไม่ได้สักรายเดียว 4. กรณีการตายของนายเจริญ สะท้อนให้เห็นความขัดแย้งการพัฒนาเชิงโครงสร้าง แย่งชิงทรัพยากรโดยไม่เคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ เช่น แก่งเสือเต้น โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นต้น 5.ยุติการหลอกลวงในโครงการต่างๆ ที่มีการจัดประชาพิจารณ์แบบหลอกๆ 6.ใช้กรณีความล้มเหลวการจัดปฏิรูปที่ดินของลำพูนมาแก้ปัญหาเพื่อการจัดปฏิรูปที่ดินทั้งระบบ 7.กรณีการแก้ปัญหาของสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือและเครือข่ายองค์กรประชาชนภาคเหนือ รัฐยังไม่ชัดเจนและจริงใจ
8.กรณีโครงการพัฒนาใหญ่ๆ รัฐบาลจะต้องใช้องค์ความรู้ที่มีการศึกษาวิจัยทางวิชาการจากหลายสถาบันมาประกอบ เช่นโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น กระเช้าลอยฟ้าดอยหลวง เป็นต้น 9.กรณีพ.ร.บ.ป่าชุมชน นายจาตุรนต์ ฉายแสง รับปากว่าจะนำพ.ร.บ.ป่าชุมชนเข้าสู่การพิจารณาโดยรัฐสภา แต่ปัจจุบันสภาได้ปิดสมัยประชุมไปแล้ว โดยไม่มีการพิจารณา 10.รัฐบาลต้องยุติและทบทวนนโยบายการค้าเสรี 11.สภาประชาชนภาคเหนือ จะไปร่วมกันแสดงเจตนารมณ์นำความเดือดร้อนไปเรียกร้องให้นำไปสู่การแก้ไขโดยเร็วตามระบอบ ประชาธิปไตย
อ้างอิง : http://www.matichon.co.th/khaosod/khaosod.php?sectionid=0301&searchks=''&sk=''&s_tag=03p0113280647&day=2004/06/28&show=1