สะเอียบท้าชนรัฐบาลปู ประณามปลอดประสบบิดพลิ้ว
ไม่เอาทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ประกาศเขตห้ามเจ้าหน้าที่และหน่วยงานเข้าสำรวจชุมชน
ตั้งทีมลูกหลาน คนรุ่นใหม่ เสริมทัพ คัดค้านจนถึงที่สุด
6 กันยายน 2555
เช้าวันที่ 6 กันยายน 2555 ที่วัดดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ชาวบ้านกว่าพันคน จาก 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น ได้ร่วมประชุมหารือกันเกี่ยวกับเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้น ตามที่รัฐบาลได้แอบยัดใส้ไว้ในแผนเงินกู้ 3.5 แสนล้าน และมีมติให้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นจนถึงที่สุด รวมทั้งประกาศเขตห้ามเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าสำรวจชุมชน ไล่ตะเพิดเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ไปให้ไกลจากชุมชนและป่าสักทอง
จากการต่อสู้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้นมายี่สิบกว่าปี วันนี้รัฐบาลอ้างน้ำท่วมกรุงเทพแล้วรื้อฟื้นเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นมาอีกครั้ง ชาวสะเอียบเห็นว่าไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ทั้งที่ ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก ระบุเขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์, สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ
พ่ออุ้ยจื่น สะเอีบคง ชาวบ้านดอนชัยสักทอง อายุ85 ปี "เราเกิดที่นี้โตมากับที่นี้อายุจนปูนนี้แล้ว ตายก็ให้มันตายที่นี้ เราต้องต่อสู้ให้ถึงที่สุด เราสู้กันมายี่สิบกว่าปีแล้ว เราจะไม่ยอมอพยพย้ายไปไหน ขอให้ลูกหลานเราร่วมแรงร่วมใจสู้ให้ถึงที่สุด" พ่ออุ้ยจื่นกล่าว
นายสัน แสนอุ้ม ชาวบ้าน ม.6 ดอนแก้ว อายุ 55 ปี กล่าวว่า "เราไม่ยอมให้สร้างสักเขื่อนไม่ว่าจะเป็นเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง ก็กระทบกับเรา ถ้าเราไม่มีที่ทำกินแล้วเราจะเอาเงินที่ไหนส่งลูกเรียน ขอให้เขาไปสร้างอื่นเถอะ"
นางสาวชนิดา ขันทะรักษ์ ชาวบ้าน ม.6 ดอนแก้ว กล่าวว่า "ตัวแทนเยาวชนคนรุ่นใหม่ กล่าวว่า เกิดมาพอจำความได้ก็รับรู้แล้วว่าพ่อแม่ได้ต่อสู้เขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอดมาถึงวันนี้จะยอมเขาได้ยังไง ลูกหลานโตขึ้นมาก็จะต่อสู้ สืบสานเจตนาต่อไป เราไม่ให้มีการสร้างเขื่อนใดๆ"
นายเล็ก สมวงค์อิน ชาวบ้านบ้านแม่เต้น อายุ 65 ปี กล่าวว่า "หน้าทำเนียบเราก็ไปนอนมาแล้ว 99 วัน เราสู้มาถึงขนาดนี้แล้ว จะยอมง่ายๆได้อย่างไง ถ้ายืนยันว่าเราไม่เอาเราต้องต่อสู้ร่วมกันนะพี่น้อง เราเก็บเงินสู้กันมาโดยตลอดหมดเงินไปหลายล้านแล้ว เวลาเก็บเงินไปสู้เขื่อนก็อย่าบ่น งานนี้ต้องเสียสละเพื่อบ้านของเรา" นายเล็ก กล่าว
กำนันเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ แกนนำการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เห็นว่ารัฐบาลควรจะฟังเหตุผลของประชาชนบ้าง "ผลการศึกษาของนักวิชาการก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าไม่ควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แก้น้ำท่วมก็ไม่ได้ แก้น้ำแล้งก็ไม่ได้ ผลาญป่าอีกหกหมื่นห้าพันไร่ รัฐบาลกลับรื้อฟื้นขึ้นมาอีก อย่างนี้จะไม่ให้ชาวบ้านเขาประณามได้อย่างไร"
ทั้งนี้กรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชัดว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแม่ยม รอยเลื่อนแพร่ ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่
ท้ายที่สุดกรรมการหมู่บ้านได้ขอมติชาวบ้านที่มาร่วมประชุมกันโดยการยกมือ ชาวบ้านทั้งหมดยกมือมีมติให้คัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน ยมล่าง ทุกคน โดยไม่มีใครเห็นด้วยแม้แต่คนเดียว ทั้งนี้คณะกรรมการชาวบ้านกลุ่มราษฎรรักษ์ป่าเคยได้เสนอทางออกทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง น้ำท่วมโดยได้ยืนข้อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อครั้งการประชุม ครม สัญจรครั้งที่ผ่านมาที่เชียงใหม่ เนื้อหาข้อเสนอมีทั้งหมด 8 ข้อ อาทิ
การฟื้นฟูป่าต้นน้ำ การฟื้นฟูป่าไม้ การอนุรักษ์ป่า การปลูกป่าเสริม การปกป้อง พิทักษ์ รักษา และการจัดการป่า โดยให้ประชาชนมีส่วนร่วม นับเป็นแนวทางหนึ่งที่จะฟื้นฟูเสถียรภาพของระบบนิเวศน์ ให้กลับคืนมาสู่สมดุล อย่างยั่งยืน
การฟื้นฟูและพัฒนาระบบเหมืองฝาย ตามแนวทางการจัดการน้ำชุมชน
การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ตามลำน้ำสาขา ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา จะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า โดยยังกระทบต่อชุมชนและป่าไม้น้อยกว่าอีกด้วย
การขุดลอกตะกอนแม่น้ำ การฟื้นฟูที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การขุดลอกคูคลองที่เชื่อมระหว่างแม่น้ำกับหนองบึง การยกถนนให้สูงขึ้น หรือเจาะถนนไม่ให้กีดขวางทางน้ำ การสร้างบ้านเรือนให้อย่างน้อยชั้นล่างสุดต้องสูงกว่าระดับน้ำท่วมสูงสุด
การพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งตำบล หนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ หนึ่งชุมชน หนึ่งแหล่งกักเก็บน้ำ จะกระจายแหล่งน้ำทั่วทุกชุมชน และทุกชุมชนจะได้ประโยชน์ทั่วหน้า
การแนะนำให้เกษตรกรการปลูกพืชอายุสั้น พันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ การกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยจากน้ำท่วม การหยุดยั้งการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ขวางทางน้ำในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำยม การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ให้
อีกทั้งยังมีทางเลือกในการจัดการน้ำที่ดำเนินการศึกษาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก เสนอโครงการแก้ไขปัญหาภัยน้ำท่วมแบบเบ็ดเสร็จ 19 แบบ คือ
ปลูกป่าป้องกันน้ำท่วม
เกษตรแนวระดับป้องกันน้ำท่วม
อ่างเก็บน้ำขนาดเล็กกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน
ป้องกันไฟและแนวซับน้ำ พื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมบนที่สูง
คลองเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน
ชลประทานแนวระดับป้องกันน้ำท่วม
ศูนย์อพยพเพื่อบรรเทาภัยน้ำท่วมหมู่บ้าน
ตุ่มน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วม
ถนนเฉลิมพระเกียรติป้องกันน้ำท่วม
สะพานและทางระบายน้ำเฉลิมพระเกียรติ
อ่างเก็บน้ำหน้าเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม
แนวคันดินป้องกันเมืองเพื่อป้องกันน้ำท่วม
พื้นที่กักเก็บน้ำชั่วคราวป้องกันน้ำท่วม
ฝายพิเศษป้องภัยน้ำท่วม
ระบบเตือนภัยธรรมชาติสู่ภูมิภาค
โครงการศึกษาเพื่อการป้องภัยธรรมชาติ
ความร่วมมือกองทัพบกในการขุดคลอง คู อ่างเก็บน้ำ แนวคันดิน ความร่วมมือตำรวจตระเวนชายแดน
ให้ความรู้แก่ประชาชน