สะเอียบ บริจาคเลือด ไม่ต้องใช้ลายเซ็น และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
ชาวสะเอียบร่วมใจบริจาคเลือด เพื่อคนไทยทั้งชาติ

fas fa-pencil-alt
fas fa-calendar
9 พฤศจิกายน 2555

สะเอียบ จ.แพร่ /// เช้าวันนี้ 9 พฤศจิกายน 2555 ชาวบ้านสะเอียบ พระ ครู ผู้นำชุมชน ร่วมใจบริจาคโลหิต เพื่อคนไทยทั้งชาติ โดยไม่ต้องใช้ลายเซ็น และเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อหลีกเลี่ยงการนำชื่อและลายเซ็นไปใช้ในการสนับสนุนเขื่อน


ที่ศาลาวัดบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้มีกิจกรรมบริจาคโลหิต โดยหน่วยกาชาดจังหวัดแพร่ โรงพยาบาลอำเภอสอง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสะเอียบ อบต.สะเอียบ ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมบริจาคโลหิต เพื่อคนไทยทั้งชาติ ซึ่งมีนายอำเภอสอง นายวิชา จิรภิญากุล เป็นประธานกล่าวเปิดงาน จนเมื่อเวลา 09.09 น. นายอำเภอสองได้กล่าวเปิดงาน “ขอแสดงความขอบคุณชาวสะเอียบที่ได้ร่วมใจกันบริจาคโลหิตในครั้งนี้ ทราบว่าเป็นการบริจาคครั้งที่ 23 แล้ว นับว่าชาวสะเอียบไห้ทำคุณงามความดีต่อเพื่อนมนุษย์ที่ต้องการโลหิตในการรักษาตัว และขอขอบคุณทุกหน่วยงานโดยเฉพาะกาชาดจังหวัดที่ได้ออกหน่วยรับบริจาคโลหิตมาถึงสะเอียบ ซึ่งไกลจากตัวจังหวัดเกือบร้อยกิโลเมตร และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องชาวบ้าน และทุกหน่วยงานตลอดไป” นายวิชากล่าว จากนั้นนายอำเภอสอง ได้เป็นตัวแทนมอบใบประกาศเกียรติคุณและเข็มกาชาด ให้กับผู้ที่ได้บริจาคโลหิตครบ 16 ครั้ง จำนวน 12 คน เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่ผู้ที่เสียสละ บริจาคโลหิตมาอย่างต่อเนื่อง

นายเส็ง ขวัญยืน กำนันตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า “พี่น้องชาวสะเอียบเราร่วมใจกันบริจาคเลือดกันทุกปี ถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญของตำบลของเรา เป็นหน้าเป็นตาของชาวสะเอียบ ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กันกับพิธีบวชป่าสืบชะตาแม่น้ำ และการปกป้องรักษาป่าสักทองผืนสุดท้ายของประเทศไทย คนสะเอียบยืนยันที่จะต่อสู้เพื่อปกป้องผืนป่าสักทอง ปกป้องชุมชน สืบต่อไป และตนในฐานะผู้นำชุมชน ได้ขอให้ทางกาชาดจังหวัดไม่ต้องใช้ลายเซ็นและเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพราะชาวบ้านเกรงว่าหน่วยงานอาจนำรายชื่อและรายเซ็นต์ไปบิดเบือนในการนำไปอ้างเพื่อสนับสนุนการสร้างเขื่อนซึ่งชาวบ้านจะไม่ยอมอย่างเด็ดขาด ซึ่งทางกาชาดจังหวัดก็เห็นด้วย กิจกรรมการบริจาคโลหิตจึงดำเนินไปได้อย่างเรียบร้อย ต่างจากการรับบริจาคผ้าห่มกันหนาวของบางหน่วยงานที่ต้องใช้ลายเซ็นและเลขประจำตัว 13 หลัก จนชาวบ้านต้องปรากาศไม่รับผ้าห่มกันหนาวในช่วงที่ผ่านมา” กำนันเส็ง กล่าว

ด้านนายชุม สะเอียบคง นายกองค์การบริหารบริหารส่วนตำบล ตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบริจาคโลหิต ได้ขอบคุณพี่น้องชาวสะเอียบที่ร่วมแรงร่วมใจกันเสมอมาในการบริจาคโลหิตเป็นประจำทุกปี บุญกุศลนี้ขอให้พี่น้องประชาชนชาวสะเอียบจงอยู่เย็นเป็นสุขตลอดไป “ชาวบ้านเราร่วมใจกันบริจาคเลือดกันทุกปี ถือเป็นประเพณีอันดีงามของชาวสะเอียบก็ว่าได้ เราทำเพื่อเพื่อนร่วมโลกไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใดๆ กาชาดจังหวัดแพร่รู้ข้อมูลดี เพราะมีสถิติที่ต่อเนื่องยาวนานมากว่า 20 ปี” นายชุมกล่าว

นอกจากชาวสะเอียบได้บริจาคโลหิตในครั้งนี้ ชาวสะเอียบ ยังได้เสนอให้รัฐ ยุติ การผลักดันการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ทั้งเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง และแนะให้ใช้แนวทางการจัดการน้ำชุมชน พร้อมเสนอทางออกการแก้ไขน้ำท่วมน้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ ดังนี้

1 ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวรและยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่มวลมนุษยชาติ

2 รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม รวมทั้งเขื่อนแม่วงก์ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ เป็นต้น

3 ปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะในเมือง สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง ซึ่งจะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า

4 พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน

5 ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ

6 เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

7 ทำแก้มลิงไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

8 พัฒนาหนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ

9 สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

10 กระจายอำนาจและงบประมาณให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น และให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ

11 ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ และส่งเสริมแนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรกรรมนอกฤดู

12 ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง