'ศาลปกครอง'ติดเบรกรัฐ เดินหน้าโครงการน้ำ 3 แสนล้าน ชี้ขัดรธน.
ศาลปกครองสั่งรัฐห้ามเดินหน้าโครงการน้ำ 3 แสนล้าน ชี้ขัด รธน. ต้องไปเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนก่อน ด้านภาคประชาชนเฮ! จี้ยกเลิกโครงการทันที แล้วไปจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม หากยังดื้อเดินหน้าต่อระวังเจอ ป.ป.ช.ลงดาบสองซ้ำ...
วันที่ 27 มิ.ย. ที่ศาลปกครอง คณะ ตุลาการศาลปกครองกลางองค์คณะพิเศษ โดย นายตรีทศ นิโครธางกูร ตุลาการเจ้าของสำนวนพร้อมองค์คณะ ออกบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 1025/2556 ให้นายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและ อุทกภัย (กบอ.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ปฏิบัติหน้าที่ร่วมการนำแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการน้ำอย่าง ยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ จำนวน 9โครงการ 10แผนงาน วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท ไปดำเนินการจัดให้มีกระบวนการให้มีการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง ตาม ม.57 วรรคสอง และ ม.67 วรรคสอง ตามสิทธิในข้อมูลข่าวสารและการร้องเรียน และสิทธิชุมชนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ก่อนที่จะดำเนินการจ้างเอกชนออกแบบและก่อสร้างในแต่ละแผนงาน ส่วนคำขอที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนกับชาวบ้านรวม 45 ราย ขอให้มีการสั่งเพิกถอนแผนงานดังกล่าวให้ยก
คดีดังกล่าว สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กับ ชาวบ้านรวม 45 รายยื่นได้ฟ้องนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการนโยบายน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (กนอช.) คณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและ อุทกภัย (กบอ.) และ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (กยน.) ซึ่งเป็นผู้ถูกฟ้อง 1-4 ต่อศาลปกครองกลาง ว่าร่วมกระทำการกำหนดแผนแม่บทบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และแผนดำเนินโครงการก่อสร้างเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบลบริหารจัดการน้ำอย่าง ยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศ วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขอให้ศาลสั่งพิกถอนแผนงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการจัดทำแผนดังกล่าวพบว่า แต่ละแผนงานก่อสร้างแต่ละโมดูลจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องตัด ไม้ สร้างเขื่อน และประชาชนต้องย้ายออกจากเพื่อนำพื้นที่ไปใช้รองรับน้ำหลาก จึงเป็นโครงการที่เข้าข่ายที่รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน และผู้มีส่วนได้เสีย และต้องมีการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 57 วรรคสอง และมาตรา 67 วรรคสอง โดยในข้อเท็จจริง ไม่พบว่านายกรัฐมนตรีและผู้ถูกฟ้องทั้งหมด ได้มีการจัดทำการรับฟังความคิดเห็นประชาชนอย่างทั่วถึงมาก่อน และ ในกรณีที่จะต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพนั้น ก็ให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการ เพราะหากให้เอกชนซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียดำเนินการผลที่ออกมาก็ย่อมอาจ เบี่ยงเบนไปในทางที่จะเป็นประโยชน์กับเอกชนเอง
นายศรีสุวรรณ กล่าว ภายหลังการรับคำพิพากษาว่า เป็นไปตามที่คาดหวังและพอใจในคำพิพากษาทั้งหมด เพราะศาลได้ชี้ในประเด็นตั้งแต่สิทธิในการฟ้องของสมาคมฯ กับพวกรวม 45 คน ว่ามีสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญรับรองไว้ ส่วนประเด็นใหญ่คือให้ผู้ถูกร้องทั้ง 4 ให้ดำเนินการตาม รัฐธรรมนูญ มาตรา 57 วรรคสอง คือเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียเข้ามาร่วมดำเนินการหรือให้ ความเห็นต่อแผนบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งให้ผู้ถูกร้องดำเนินการตาม มาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรัฐบาลต้องไปจัดทำรายงานสิ่งกระทบสิ่งแวดล้อม ผลก ระทบสุขภาพ รวมถึงเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนรวมในการแสดงความคิดเห็น และให้องค์กรอิสระเข้ามาแสดงความคิดเห็น ก่อนที่จะเริ่มเซ็นสัญญากับบริษัทผู้เข้าร่วมประมูล
ซึ่งการดำเนินการคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2 ปี แต่จะช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับการดำเนินงานของรัฐบาล อย่างไรก็ตามในวันพรุ่งนี้ (28 มิ.ย.) ตนและสมาคมฯ จะนำคำพิพากษาไปยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 ว่าด้วยการการดำเนินคดีทางอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อขอให้ตรวจสอบ นายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะผู้บริหารโครงการว่า เข้าข่ายละเลยต่อหน้าที่ซึ่งไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ประชาชน ส่วนกรณีที่ หากรัฐบาลยื่นอุทรต่อคำพิพากษาดังกล่าวทางสามคมฯ ก็จะยื่นขอให้ศาลคุ้มครองชั่วคราวเพื่อให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลในวันนี้
ขณะที่นายอุเทน ชาติภิญโญ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และคณะกรรมการผันน้ำ กล่าวหลังเข้าร่วมรับฟังคำพิพากษาว่า คำพิพากษาที่ออกมาเป็นไปตามที่คาด ซึ่ง ไม่ได้ทำให้รัฐจะต้องชะลอ หรือยุติโครงการ โดยโครงการไหนที่ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมก็เดินหน้าไป ส่วนโครงการไหนที่ต้องทำรัฐก็ต้องเป็นผู้ดำเนินการ ไม่ใช่เอกชน ซึ่งก็กลายเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชนไม่ต้องรับผิดชอบหรือเสียค่าปรับ หากดำเนินการในแต่ละแผนงานไม่เสร็จตามเวลา ที่ร่างสัญญากำหนดไว้ เนื่องจากจะไม่มีการเซ็นสัญญาก่อนตามแผนงานเดิม สุดท้าย การดำเนินโครงการลักษณะนี้ก็ไม่ถือว่าเป็นผลดีกับประชาชน เพราะจะนำไปสู่การแยกสัญญาตามที่กบอ.เสนอ และคณะกรรมการป.ป.ช.ก็เห็นด้วย และเราก็จะได้ร่างที่หัวไปทาง หางไปอีกทาง จนอาจไม่สามารถบอกได้ว่านี่คือโครงการแผนบริหารจัดการน้ำ
ขณะที่ นายปรเมศวร์ มินศิริ ศูนย์ข้อมูลเพื่อการช่วยเหลือผู้ประสบภัย : Thaiflood.com กล่าวกับทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ หลังทราบว่า ศาลปกครองมีคำวินิจฉัยว่า รัฐบาลไม่สามารถเดินหน้าโครงการจัดซื้อจัดจ้างโครงการบริหารจัดการน้ำ มูลค่า 3 แสนล้านได้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกระทำผิดรัฐธรรมนูญ และเห็นควรต้องไปเปิดรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่มีส่วนได้เสียในพื้นที่ก่อนว่า ส่วนตัวจากนี้ไปรัฐบาลควรจะต้องยกเลิกกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมดที่ได้กระทำไปแล้ว แล้วปล่อยให้อายุ พ.ร.บ.กู้เงิน 3.5 แสนล้าน ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 30 มิ.ย.นี้หมดไป จากนั้นจึงไปเปิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากพี่น้องประชาชนในพื้นที่ และต้องมีการทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีส่วนได้เสียใหม่ทั้งหมดก่อน ซึ่งตาม รธน.กำหนดให้ต้องมีการทำ (EIA) ด้วย ซึ่งอาจใช้เวลาอีกเป็นปี
ขณะที่ส่วนตัวยังมีความเป็นห่วง หากรัฐบาลและ กบอ.ยังไม่ตัดสินใจยกเลิกการทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างกับบริษัทเอกชนที่ได้รับงานก่อน แล้วรีบไปทำการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ ระวังอาจผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ได้ เนื่องจากที่ผ่านมา องค์กรภาคประชาชนได้มีการยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช.ไปแล้วว่า การดำเนินการเปิดประมูลของรัฐผิดกฎหมาย ป.ป.ช. ว่าด้วยการป้องกันการทุจริต เนื่องจากไม่มีการกำหนดราคากลางเอาไว้ ดังนั้น รัฐบาลจึงควรตัดสินใจถอยมาทำการรับฟังความคิดเห็นประชาชนในพื้นที่ให้เรียบร้อยแล้ว จึงดำเนินการจัดซื้อ จัดจ้าง เปิดประมูลโครงการน้ำใหม่อีกครั้ง
"ที่ต้องระวังคือ ดาบสองจาก ป.ป.ช. หากรัฐยังดื้อดำเนินการไปรับฟังความเห็นประชาชน และการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมทันที เพราะขั้นตอนการประมูลของรัฐ ยังสุ่มเสี่ยงทำผิดกฎหมาย ป้องกันการทุจริตของ ป.ป.ช.อยู่ เนื่องจากโครงการก่อสร้างบริหารจัดการน้ำ 3 แสนล้านของรัฐ ไม่มีราคากลาง" นายปรเมศวร์ กล่าว
ด้าน นายวิทยา ผลประไพ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสำนักนักงานนโยบายและบริหารจัดการน้ำและ อุทกภัยแห่ง ชาติ (สบอช.) แทนจากรัฐบาล กล่าวว่า ตนจะนำคำพิพากษาไปรายงานต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและเชื่อว่า รัฐบาลจะดำเนิน การตามคำพิพากษา ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ส่วนจะกระทบกับการทำสัญญาจ้างกับเอกชนที่เข้ามาประมูลหรือไม่นั้น ต้องนำรายละเอียดหารือในที่ประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์
ส่วน นายธงทอง จันทรางศุ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทราบมติศาลปกครอง กรณีสั่งชะลอโครงการบริหารจัดการน้ำแล้ว ขณะนี้ รอหารือร่วมทีมงานว่าจะอุทธรณ์คำสั่งหรือไม่.