สัมภาษณ์ หาญณรงค์ เยาวเลิศ : จับโกหกคำโต ‘สมัคร’ หนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น !
ประชาไท
6 มีนาคม 2551
องอาจ เดชา
ตามที่เมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมา นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้เป็นประธานการประชุมชี้แจงนโยบายของรัฐบาลต่อผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงานภาครัฐ ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล
โดยในวันนั้น นายสมัครได้มีการหยิบแนวคิดการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ ขึ้นมาพูดอีกครั้งหนึ่งว่า ‘เขื่อนในประเทศไทยที่มีอยู่เดิมเป็นประโยชน์มาก ดังนั้นโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงจะจำเป็น เพราะช่วยกักเก็บน้ำได้ถึง 1.2 พันล้านลูกบาศก์เมตร และยังช่วยป้องกันน้ำท่วมด้วย แต่ที่ผ่านมาถูกปลุกระดมขัดขวางโดยเอาเรื่องไม้สักทอง 500 ต้นมาอ้าง ทั้งที่ตอนนี้ต้นสักทองเหล่านั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว บางส่วนก็อ้างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นขอรับประกันว่า ถ้าจะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจริง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการตอบแทนอย่างดีที่สุด’
ล่าสุด ‘ประชาไท’ ได้สัมภาษณ์ ‘หาญณรงค์ เยาวเลิศ’ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนในเมืองไทย ซึ่งเขาได้อธิบายชัดๆ คำต่อคำ กับคำพูดของนายสมัคร สุนทรเวช ที่ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นแก้ปัญหาน้ำท่วมได้!? และจริงหรือที่นายสมัครบอกว่าไม่มีสักทองเหลือสักต้น!?
หาญณรงค์ เยาวเลิศ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จริงหรือที่นายสมัคร บอกว่าเขื่อนที่มีอยู่เดิมนั้นเป็นประโยชน์มากต่อประเทศไทยมาก? ถ้าจะกล่าวว่าเขื่อนมีประโยชน์ ก็พอจะยอมรับได้ว่ามีประโยชน์อยู่บ้าง แต่เขื่อนเหล่านั้นได้สร้างไปหมดแล้ว มาช่วงหลัง ๆ นี้ก็ยังใช้วิธีเดิม ก็คือการสร้างเขื่อนไปทุกพื้นที่ ซึ่งอาจจะเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เช่น กรณีของการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะพื้นที่อื่นๆ ได้ถูกเลือกไปหมดแล้ว สรุปก็คือพื้นที่แก่งเสือเต้นเป็นพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมที่จะสร้างเขื่อน เหตุการณ์จึงยืดเยื้อมาถึงวันนี้ เพราะถ้าเหมาะสมก็คงจะสร้างไปนานแล้ว
ถ้าจะกล่าวว่าทุกเขื่อนมีประโยชน์ และมีประโยชน์มาก คงจะกล่าวอย่างนั้นทุกเขื่อนไม่ได้ บางเขื่อนสร้างแล้วมีผลกระทบมากกว่าและไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้มีการติดตามและตรวจวัดกันอย่างแท้จริง ซึ่งกลุ่มที่พูดกันว่าเขื่อนนั้นดีมีประโยชน์กันข้างเดียวนั้น ต่างก็อาศัยความรู้สึกส่วนตัวทั้งสิ้น ไม่มีการเก็บข้อมูล ซึ่งแต่ละเขื่อนถ้ามีการติดตามกันอย่างใกล้ชิดก็จะพบว่า ไม่ได้สมคำกล่าวอ้าง อย่างแท้จริง หลายเขื่อนเมื่อสร้างแล้ว ก็เกิดน้ำท่วมมากกว่าเดิม เช่น เขื่อนในโครงการโขง ชี มูน หลังจากสร้างทำให้น้ำท่วมหนักขึ้นรวม 8 ปีมาแล้ว ที่เกิดน้ำท่วมทุกปี ซึ่งเดิมน้ำไม่เคยท่วมเลย แต่ถ้าอธิบายแล้วไม่คิดหน้าคิดหลัง ก็จะตอบได้โดยไม่อายว่ามีประโยชน์ เพราะไม่เคยติดตามอย่างใกล้ชิดนั่นเอง
ที่มีการบอกว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจึงจะช่วยกักเก็บน้ำได้ถึง 1.2 พันล้านลูกบาศก์เมตร และยังช่วยป้องกันน้ำท่วมด้วยจริงหรือ ?
เขื่อนแก่งเสือเต้นจุน้ำได้ประมาณ1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร คงไม่ใช่ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่อาจจะรวบรัดได้ว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นมีตัวเลขกลม ๆ 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ตรงกับของคุณสมัครหรอกครับ
และที่อ้างว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นป้องกันน้ำท่วมได้ สงสัยคงไม่ได้อ่านข้อมูลมานับสิบปีแล้ว และไม่เคย Update ข้อมูลเลย โดยเฉพาะข้อมูลของธนาคารโลก ระบุชัดว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นป้องกันน้ำท่วมได้มีเกิน อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ และป้องกันน้ำท่วมได้ไม่กี่เปอร์เซ็นต์
ซึ่งที่ผ่านมา ก็เป็นพยานชัดว่า น้ำท่วมหลายครั้งในจังหวัดแพร่ เป็นแม่น้ำมาจากลำน้ำสาขาในเขตจังหวัดแพร่เอง เช่น ลำน้ำคำมี ไหลมาทางทิศตะวันออกของตัวเมืองแพร่ เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทำนองนี้มาแล้วครั้งหนึ่งแล้ว ในปี 2542 ซึ่งเดิมคนในเมืองแพร่ ก็เข้าใจว่าน้ำท่วมเทศบาลเมืองแพร่ เป็นเพราะน้ำจากน้ำยม แต่จากกรณีน้ำท่วมเทศบาลแพร่ พบว่า เวลาเดียวกันน้ำในลำน้ำยมไม่มี เพราะว่าฝนตกเฉพาะที่บริเวณตัวเมืองแพร่ และลำน้ำสาขาเท่านั้น ฝนไม่ได้ตกเหนือจุดที่สร้างเขื่อนและลำน้ำยม จึงไม่เหตุผลใดที่กล่าวอ้างได้ว่าถ้าเขื่อนและป้องกันน้ำท่วมบริเวณนั้นได้
ครั้นพอน้ำท่วมอำเภอวังชิ้น ดินถล่ม ทำให้เกิดความเสียหายมากมาย ก็มีคนเสนอให้สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นอีก ซึ่งตอนนี้บุคคลคนนั้นมานั่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่พูดโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบรายละเอียดว่า จุดที่น้ำท่วมอำเภอวังชิ้น เกิดจากฝนตกบริเวณอำเภอวังชิ้น ไม่ได้ตกเหนือจุดที่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และจุดที่สร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อยู่ห่างจากอำเภอวังชิ้นขึ้นไปทางตอนเหนือประมาณ 200 กิโลเมตร และเหนือจุดที่สร้างเขื่อนก็ไม่มีเกิดเหตุการณ์ฝนตกขึ้นเลย
เพราะฉะนั้น ถึงแม้จะมีเขื่อน ณ.วันนั้น ก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้หรอก เพราะจุดที่เกิดเหตุอยู่ทางตอนล่างของจุดที่จะสร้างเขื่อน ถ้าน้ำจะลงเขื่อนได้ฝนต้องตกเหนือเขื่อน
ต่อมา พอเกิดเหตุการณ์ดินถล่มที่ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ และ อ.ศรีสัชลาลัย จ.สุโขทัย ทำให้น้ำท่วมในลุ่มน้ำยมตอนล่างและบริเวณลุ่มน้ำน่าน โดยที่เหตุการณ์นั้น น้ำในลุ่มน้ำจุดที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นไม่มีน้ำเลย หมายความว่า ฝนไม่ตกเหนือจุดที่สร้างเขื่อน ถ้าสร้างเขื่อน ซึ่งจะเห็นได้เลยว่าเหตุการณ์น้ำท่วมที่ผ่านมาก็ไม่เกี่ยวกับการมีเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่นักอยากสร้างเขื่อนพยายามอ้างว่าเขื่อนนี้ป้องกันน้ำท่วมได้
ดังนั้น ข้อกล่าวอ้างของนายสมัคร จึงชี้ให้เห็นเลยว่าไม่ได้มีการศึกษารายละเอียด เพียงแต่จำคำเขามาว่าเขื่อนนี้ป้องกันน้ำท่วมได้ และไม่เคยทราบถึงรายละเอียดด้วยว่าเหตุการณ์เหล่านี้แหละที่ชาวบ้านเคยสนับสนุนก็หันกลับไม่ยินดียินร้ายกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะได้ทราบข้อมูลแล้วว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันน้ำท่วมตามที่กล่าวอ้างได้ มีแต่เพียงคนหลงยุคไม่กี่คนที่มีความเชื่อแบบเดิม ๆ เท่านั้น
แล้วที่นายสมัครบอกว่า ที่ผ่านมามีการปลุกระดมชาวบ้านให้ขัดขวางการสร้างเขื่อน โดยเอาเรื่องไม้สักทอง 500 ต้นมาอ้าง ทั้งที่ตอนนี้ต้นสักทองเหล่านั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว จริงหรือ ?
อยากจะอธิบายชัดๆ อีกครั้งว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อยู่ในอุทยานแห่งชาติแม่ยม ซึ่งอุทยานแห่งชาติแม่ยม เป็นป่าที่ครอบคลุมแม่น้ำยมฝั่งซ้ายและขวา ซึ่งหากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะเกิดน้ำท่วมในอุทยานแห่งชาติยาวประมาณ 50 กิโลเมตร ทำให้อุทยานแห่งชาติแม่ยม ถูกน้ำท่วมประมาณ 25,000ไร่ จากพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด ประมาณ 45,625 ไร่ (ข้อมูลกรมชลประทาน) แต่ข้อมูลของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่าตัวเลขน่าจะอยู่ที่ประมาณ 64,000ไร่ ที่จะถูกน้ำท่วม และเป็นป่าสักเบญจพรรณ และป่าสักสมบูรณ์ รวมประมาณ 15,000 ไร่ จากพื้นที่ป่าสักที่มีทั้งหมด 23,000 ไร่ ซึ่งพื้นที่ป่าสมบูรณ์มีต้นสักต่อไร่ไม่น้อยกว่า 50 ต้น ดังนั้น พื้นที่ทั้งหมด จึงมีต้นสักเป็นจำนวนนับแสนต้น
การที่ชาวบ้านและคนทั่วไปมาเสนอต่อสาธารณะว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนยังอุดมสมบูรณ์เพราะคนส่วนใหญ่ไปเห็นกับตามาแล้ว ว่าป่ายังอุดมสมบูรณ์ และพร้อมที่จะเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป งานวิจัยของหลายสำนักก็ยืนยันตรงกันว่า ป่าสักอุทยานแห่งชาติแม่ยม ยังคงมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ และคุณค่าไม้สักก็มีราคาประมาณหลายพันล้านบาท
ก่อนหน้าที่นายสมัครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนการเลือกตั้งไม่กี่วันนั้น ก็มีข่าวว่ามีนายทุนเอายาฆ่าหญ้ามาหยอดต้นสัก ให้ตายยืนต้น เพื่อจะได้ตัดในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งจากการสำรวจของชาวบ้าน ในนามราษฎรรักษาป่าสะเอียบ และเจ้าหน้าที่ก็พบว่า มีต้นสักตายนับพันต้น และได้จดบันทึกไว้ห้ามมีการตัดออกจากป่า คิดว่าข่าวนี้ นายสมัครก็ไม่ได้อ่านเช่นกัน และนายชุม สะเอียบคง กำนันตำบลสะเอียบ ก็ได้ออกมากล่าวเรื่องนี้ว่า ถ้ามีนักการเมืองออกมาสนับสนุนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ก็จะเป็นช่องทางให้นายทุนและกลุ่มมอดไม้ตัดไม้เช่นกัน ดังนั้น การออกมาหนุนของนายสมัคร เข้าทำนองชี้โพรงให้กระรอก ให้พวกนายทุนนั่นเอง
การกล่าวอ้างของนายสมัคร ที่กล่าวว่า...ที่ผ่านมาถูกปลุกระดมขัดขวางโดยเอาเรื่องไม้สักทอง500 ต้นมาอ้างทั้งที่ตอนนี้ต้นสักทองเหล่านั้นไม่มีเหลืออยู่แล้วนั้น ผมเห็นว่าเป็นการกล่าวอ้างของคนที่ไม่เคยไปดูพื้นที่
นายสมัครยืนยันได้หรือไม่ ถ้ายังมีป่าสักอยู่จริง และมี่จำนวนต้นสักมากกว่าที่อ้างเกินกว่า 10 เท่าจะยกเลิกการสร้างเขื่อนเด็ดขาด และการพูดทำนองนี้เป็นการย้ำอีกว่า นายสมัครไม่เข้าใจระบบนิเวศไม่มีข้อมูล พูดแบบเดิม ตามที่ตนเองรู้จัก ไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลอย่างนั้นหรือ ซึ่งการพูดเช่นนี้เป็นการพูดที่มีแต่จะเกิดความเสียหาย
อยากมีข้อเสนอแนะไปถึงนายสมัคร ว่า ให้ไปศึกษาดูซิว่าจริงหรือไม่ ไม่ใช่พูดไปเรื่อยเปื่อย ไร้ข้อเท็จจริง ชาวบ้านเคยเลือกพรรคท่าน แต่หัวหน้าพรรคพูดอย่างนี้ เสียยี่ห้อหัวหน้าพรรคอะไหล่หมด และขอแนะนำให้นายสมัครไปดูสักเดือนมิถุนายน หรือไม่ก็กรกฎาคม เพราะจะไม่เข้าใจอีกว่า ช่วงนี้เป็นช่วงป่าผลัดใบ จะหาว่าป่าเสื่อมโทรม เหมือนกับรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ที่ผ่านมา
ผืนป่าสมบูรณ์หรือไม่ ผืนป่าสักทองที่จะถูกน้ำท่วม หากมีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น แล้วเชื่อหรือไม่ ที่นายสมัครรับประกันว่า ถ้ามีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจริง ผู้ที่ได้รับผลกระทบจะได้รับการตอบแทนอย่างดีที่สุด ?
การคิดจะสร้างเขื่อนและตอบแทนให้กับชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ส่วนใหญ่ก็จะได้ยินค่าชดเชยที่คุ้มเท่านั้น ที่ผ่านมา ยังไม่มีเขื่อนใหญ่ที่จ่ายค่าชดเชยแล้วชาวบ้านจะมีการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น บางเขื่อนอาจจะได้รับค่าชดเชยที่มาก แต่ก็ไม่สามารถหาที่ทดแทนที่ใหม่ได้คุ้มกับพื้นที่ตัวเองสูญเสียไป เขื่อนบางเขื่อนได้รับชดเชยมาก สร้างบ้านหลังใหญ่ได้ แต่ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่นานก็ต้องประกาศขายบ้าน(กรณีเขื่อนป่าสัก) แต่เมื่อมีคนรับปาก ไม่กี่ปีคนรับปากก็หมดอำนาจ หรือไม่ก็หมดภาระหน้าที่ไป ปล่อยให้คนใหม่มารับหน้าที่ต่อไป ทิ้งปัญหาไว้เกือบทุกเขื่อนที่มีการผ่านมา
ถ้าแน่จริง ก็ให้ไปแก้ไขปัญหาเขื่อนปากมูน ราศีไศล หัวนา และเขื่อนอื่น ๆ ก่อน ที่สร้างไปแล้ว อย่าใจกล้ามารับปากกับการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นเลย
นายสมัครไม่ทราบเลยว่าที่ผ่านมา ชาวสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ไม่ได้เรียกร้องเรื่องค่าตอบแทน หรือค่าชดเชย แต่ชาวบ้านเขาเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เพราะไม่ตอบสนองวัตถุประสงค์ได้ ไม่ว่าเพื่อป้องกันน้ำท่วม และเพื่อการชลประทาน และผลกระทบระบบนิเวศ และชุมชนได้ นี่ถือว่าเป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์ของผู้นำประเทศที่เสนอในสิ่งที่ชาวบ้านไม่ได้เรียกร้องเลย
แล้วทางออกของคุณ...และทางออกของชาวบ้าน จะเสนอเรียกร้องอย่างไรต่อไป?
อยากจะบอกย้ำอีกครั้งว่า...การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ไม่ตอบโจทก์เรื่องการป้องกันน้ำท่วมและเพื่อการชลประทานได้เลย ถ้าจะบอกว่าสร้างเขื่อนเพื่อต้องการน้ำ ก็ต้องหาวิธีอื่นๆ แทน ว่าปัญหาอยู่ตรงไหน และหาการสร้างโครงการขนาดกลาง ขนาดเล็ก แทนการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ตรงไหนและบริเวณไหนต้องการน้ำก็ให้แก้ไขใกล้เคียงกับบริเวณนั้นจะดีกว่า
เขื่อนขนาดใหญ่ ได้สร้างมามากพอแล้วสำหรับประเทศเรา แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ได้ยกเหตุผลมาอ้างตั้งแต่แรกได้ และก็หาเหตุก่อสร้างเขื่อนไปเรื่อย ปัจจุบันรับไม่ได้ว่าเขื่อนคือเทคโนโลยี เพราะการสร้างเขื่อนเป็นวิธีการมาไม่น้อยกว่า 60 ปี และอยากจะบอกว่า การสร้างเขื่อนเป็นเพียงวิธีการที่เอาสิ่งก่อสร้างมาขวางแม่น้ำในภูมิประเทศที่เหมาะสมเท่านั้น มันไม่ได้สรรค์สร้างอะไรใหม่เลย เป็นเพียงวิธีที่สร้างสิ่งก่อสร้างประเภทหนึ่งที่ใช้วิธีเดียวกันนี้มาหลายสิบปี
ถ้าเขื่อนเป็นเครื่องมือที่ทันสมัยจริง ก็ต้องไม่เป็นสิ่งที่จะทำลายระบบนิเวศที่ไม่มีที่ใดมนุษย์สร้างขึ้นได้ เพียงแต่ทำลายซ้ำแล้วซ้ำอีก จนทุกวันนี้ เขื่อนกลายเป็นสิ่งที่รังเกียจของสังคมนับไม่ถ้วน แต่นักการสร้างเขื่อนก็ยังภูมิใจในวิธีการแบบโบราณตลอดมา นับทศวรรษ
ทางออกของชาวบ้านนั่นหรือ ก็คือชาวบ้านขอให้ยกเลิกการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น และหาวิธีการจัดการน้ำแบบขั้นบันได ตามความเหมาะสมที่จะทำได้ ก็เป็นพอ เพราะเขื่อนขนาดใหญ่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ และยิ่งจะสร้างปัญหามากยิ่งขึ้น
อ้างอิง : http://www.prachatai.com/05web/th/home/11398