สัมภาษณ์ "ครูตี๋" นิวัฒน์ ร้อยแก้ว : นี่คือบทเรียนแรกของคนลุ่มน้ำโขง

fas fa-pencil-alt
ประชาไท
fas fa-calendar
17 สิงหาคม 2551

โครงการสื่อชุมชนลุ่มน้ำโขง

เมื่อแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นแม่น้ำสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงคนกว่า 100 ล้านคน ไหลผ่าน 6 ประเทศ ได้แก่ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม เกิดน้ำแห้งก็เป็นข่าวดัง เกิดน้ำท่วมก็เป็นข่าวดัง จนหลายคนไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะเกิดได้ ทั้งๆ ที่มีหลายฝ่าย โดยเฉพาะนักอนุรักษ์ได้บอกถึงผลกระทบจากการพัฒนาในแม่น้ำโขง ทั้งเรื่องเขื่อนและการระเบิดแก่งว่า จะส่งผลกระทบมหาศาลต่อคนลุ่มน้ำโขง

โดยเฉพาะรัฐจีนที่อยู่เหนือน้ำบอกเพียงว่านี่คืออธิปไตยของตน แต่พอน้ำท่วมขึ้นมาก็บอกปัดว่ามาจากน้ำฟ้า เหมือนกับสิ่งที่เกิดกับคนใต้เขื่อนอื่นๆ ทั่วโลกที่ได้รับคำตอบ ทั้งๆ ที่เขื่อนถูกออกแบบมาเพื่อผลิตไฟฟ้าและนักพัฒนาเขื่อนก็ย้ำเสมอว่าป้องกันน้ำท่วมในตอนใต้เขื่อนได้ดี ทว่าเมื่อเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเขตเชียงแสน-เชียงของ-เวียงแก่น ประเทศไทยซึ่งอยู่ในที่ราบลุ่มแรกๆ ใต้เขื่อนจีน มีใครรู้บ้างไหมว่านี่เป็นน้ำท่วมใหญ่หนักสุดในรอบยี่สิบกว่าปี ที่สร้างความหวาดกังวลให้คนริมน้ำโขงเป็นอย่างมาก

เรามาฟังบทสนทนากับผู้นำเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ให้ความเห็นที่สำคัญต่อเรื่องนี้ว่า นี่เป็นบทเรียนบทแรกของคนลุ่มน้ำโขง!

บทเรียนที่ 1 ที่ว่ามันเป็นอย่างไร

เหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ เป็นบทเรียนบทแรกของลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่ครั้งปิดเขื่อนแรกที่ชื่อมันวาล โดยจีนในปี 2539 และตามมาด้วยเขื่อนต้าเชาชาน และล่าสุดไม่กี่เดือนที่ผ่านมา จีนก็ได้ปิดเขื่อนจินหงอีกหนึ่งประตูจากสี่ประตู

ที่ผ่านมา หน้าแล้งน้ำแห้งมาก ในปีนี้สถานการณ์น้ำเห็นอย่างรวดเร็ว แม้ฝนจะตกอยู่ แต่ชี้ให้เห็นชัดว่าปริมาณน้ำในฤดูน้ำหลาก บริเวณตอนใต้เขื่อนน้ำจะเพิ่มมากยิ่งขึ้น นี่เป็นข้อกังวลที่ทำให้คนอยู่ริมน้ำโขงนอนไม่หลับมาตลอด เมื่อน้ำหลากมากยิ่งขึ้น มันเป็นเรื่องที่เห็นได้ชัดมากว่า เขื่อนมีผลต่อคนใต้เขื่อนอย่างไร

แต่บางคนว่า เขื่อนป้องกันน้ำท่วม และจีนเองก็ว่า มันเป็นแม่น้ำในบ้านของเขา

การมีเขื่อนเป็นสิ่งที่คิดดีต่อคนในบ้านเมืองของจีน แต่สิ่งที่คิดดีนี้มีผลกระทบต่อคนใต้เขื่อนแน่นอนอยู่แล้ว จากบทเรียนในปีนี้ ที่บอกกันว่า เขื่อนช่วยป้องกันน้ำท่วม แต่ความจริงแล้ว "เมื่อน้ำเอ่อล้นจะท่วมจมูกคุณอยู่ คุณไม่คิดจะเปิดน้ำนั้นออกไปเพื่อช่วยให้ตัวคุณรอดหรือ?" เช่นเดียวกันคนอยู่ใต้เขื่อนจีนอย่างไทยเราก็ต้องได้รับผลกระทบแน่นอน แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติที่อิสระเสรีไหลลงสู่ทะเลตลอด เมื่อมีเขื่อนในจีนกักเก็บน้ำไว้ตลอด พอฝนตกลงไปที่หัวเขื่อน และเขื่อนมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นจะมาเก็บไว้อีกก็ไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเขื่อนจะแตก หากเชียงของเกิดมีน้ำท่วมใหญ่เช่นปี 2509 นั่นคือช่วงที่ฝนตกไม่ลืมหูลืมตา แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับคนใต้เขื่อน และนี่คือบทเรียนบทแรกหลังจากการมีเขื่อนในจีนซึ่งทำให้คนใต้เขื่อนได้รู้และหวาดกลัว

นี่ขนาดบทเรียนแรกเป็นถึงขนาดนี้ หากเกิดบทต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น แล้วเหตุใดชาวบ้านจึงเห็นว่าเป็นเพราะเขื่อนจีน

พอน้ำขึ้นอย่างรวดเร็ว แล้วเห็นด้วยตาว่าน้ำขึ้นเร็วแบบนี้ ชาวบ้านจึงคิดกันว่า โอย! จีนเปิดเขื่อนมาแล้วโวย เมื่อไม่มีปัญหา ปัญญาไม่มา คนเขารู้อยู่แล้ว แต่เมื่อเห็นของจริงว่าน้ำมันขึ้นเร็วเช่นนี้ มันเกิดจากอะไร เพราะแต่ก่อนน้ำจะท่วมจะนองก็ค่อยๆ ขึ้นจนตั้งตัวได้ แต่นี่วันเดียวขึ้นมาเป็นเมตรสองเมตร เครือข่ายฯ พยายามอธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้นจากการมีเขื่อนข้างบน รวมทั้งการระเบิดแก่งด้วย ชาวบ้านก็เข้าใจ แต่ยังไม่ได้บทเรียนที่เห็นจริง ครั้งนี้น้ำท่วมจึงได้เห็นจริง อีกทั้งหากมีการระเบิดแก่งที่เหนือเมืองเชียงของออกไปอีกล่ะ น้ำจะหลากเร็วและส่งผลรุนแรงขนาดไหน

ที่สุดแล้วการแก้ไขปัญหานี้ ซึ่งแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ แต่จีนว่าอยู่ในเขตของเขา คนใต้เขื่อนจะทำอย่างไร

เรื่องนี้หากมีสภาประชาชนแม่น้ำโขง ประธานสภาฯ ก็เรียกประชุมเร่งด่วนและส่งเสียงไปสู่ประเทศจีนให้รับผิดชอบ ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากเขื่อนจีนต้องชดใช้ แต่มันเป็นเรื่องยากอยู่สภาประชาชนแม่น้ำโขงมันเป็นเรื่องยาก ตอนนี้เครือข่ายฯ ต้องการสร้างสภาประชาชนแม่น้ำอิงให้ได้เสียก่อน ซึ่งดูจากน้ำท่วมปีนี้ก็เห็นชัดว่า มีปริมาณน้ำที่มาจากแม่น้ำสาขาทั้งอิงและกกมีปริมาณน้อยกว่า โดยเฉพาะน้ำสีขุ่นที่เอ่อไหลจากปากอิงมีน้อยกว่าปริมาณน้ำจากแม่น้ำโขงที่ไหลเข้าสู่แม่น้ำอิงไปไกลถึงบ้านม่วงชุม นี่มันกระทบเข้าไปไกลมาก

การมีสภาประชาชนแม่น้ำอิงเป็นการก้าวจากรูปธรรมเล็กๆ ที่จะไปสู่สภาประชาชนแม่น้ำโขง ต้องเริ่มจากการสร้างองค์ความรู้ของแต่ละชุมชน ทั้งสองฝั่งแม่น้ำมารวมกัน แล้วเชื่อมร้อยกันด้วยวัฒนธรรมที่อยู่กินกับแม่น้ำมาสร้างเศรษฐกิจชุมชน ยกตัวอย่างจากเขตอนุรักษ์วังปลาที่ทำกันไว้หลายที่แล้ว เราก็มีการเพาะเลี้ยง ขยายพันธุ์ปลาท้องถิ่น และปล่อยลงแม่น้ำด้วย มันจะเกิดระบบเศรษฐกิจร่วมกันของแม่น้ำอิง บนฐานทรัพยากรที่เราอนุรักษ์ไว้นี่แหละ ชาวบ้านได้รับผลประโยชน์โดยตรง จากอนุรักษ์ปลา มาผสมพันธุ์ปลาขาย ทำให้มีรายได้ มีการเรียนรู้ มีการวิจัยความรู้ในท้องถิ่นแม่น้ำอิง หากสามารถสร้างได้ทั่วน้ำอิง ก็จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน โดยมีฐานวัฒนธรรมเรื่องความรักแม่น้ำร่วมกัน เพราะในอนาคตความมั่นคงทางอาหารเป็นอาวุธสำคัญของโลก แม่น้ำจึงเป็นเรื่องใหญ่ การมีปลา มีอาหารในแม่น้ำอุดมสมบูรณ์จะสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงแก่ประเทศ แม่น้ำอิงเป็นสระปลา 290 กว่า ก.ม. แม่น้ำโขงคือสระปลาที่ใหญ่ยิ่งกว่า 4,909 ก.ม.

เรื่องสภาฯ น่าจะเป็นเรื่องระยะยาว แล้วในสถานการณ์ตอนนี้จะทำอย่างไร

หากเกิดในแม่น้ำอิงแล้วก็นำวิธีคิดนี้ไปใช้กับแม่น้ำสาขาอื่นๆ ของแม่น้ำโขงได้ เป็นการจัดการลุ่มน้ำโดยภาคประชาชน หลังจากนั้นจึงนำไปใช้ร่วมกันกับแม่น้ำโขง เช่นตอนนี้เมื่อเกิดน้ำท่วมสภาประชาชนแม่น้ำโขงก็จะแสดงให้เขาเห็นว่า เราได้รับความเสียหายเท่าใด และการจะทำอะไรต่อแม่น้ำคุณต้องให้ความเคารพประเทศอื่นๆ ด้วย เรื่องนี้จะส่งผลต่อจีนได้ แล้วหากมีศาล เราสามารถฟ้องศาลในเรื่องนี้กับจีนได้เลย แต่ถามจริงๆ เถอะ มันมีศาลระดับโลกที่จะให้เราได้ฟ้องร้องเขาไหม? ทั้งหมดไม่ใช่จะแล้วเสร็จในรุ่นเรา เรื่องแม่น้ำโขงก็เหมือนกัน เราเป็นเพียงผู้จัดกระบวนการไว้ หากไม่มีวันแรกนี้ แล้ววันนั้นจะเกิดหรือ มันเป็นการปูกระบวนการเรียนรู้เรื่องเขื่อนไว้

ทว่าที่แน่ชัดในตอนนี้คือเราสามารถยืนยันได้ว่า เขื่อนได้สร้างความเสียหายให้คนท้ายน้ำแล้วใช่ไหม

ความเสียหายวัดได้จากความหวาดกลัว ความกังวลในใจคนด้วย หน้าแล้งก็แห้งจนหากินยาก หน้าน้ำหลากก็กังวลจะท่วมบ้านเมื่อไร นี่คือความเสียหาย ซึ่งก่อนนี้ไม่มีเขื่อนคนเขารู้ระดับน้ำ คาดคะเนได้ ไม่มีความกังวล คนก็เป็นสุข อย่างในจีนที่เสฉวนมีเขื่อนอยู่ตรงรอยเลื่อน หลังจากเกิดแผ่นดินไหว แล้วน้ำลงมาเพิ่มอีก เขาต้องเจาะเอาน้ำออกก่อนระเบิดทิ้ง เห็นไหมเขาก็กังวลต่อสิ่งเหนือธรรมชาติ เขื่อนในแม่น้ำโขงของจีนก็อยู่ในแนวเลื่อนเหมือนกัน แล้วใครจะไปรู้ว่ามันจะแตกมาเมื่อไร ก็เหมือนที่คนเฒ่าคนแก่ไทลื้อในสิบสองปันนาว่า ให้เตรียมเก็บกระดูกไว้ได้เลย หากเขื่อนแตกออกมา เวลานั้นแล้วใครจะไปแก้ปัญหาได้ทัน

นี่คือบทเรียนแรกซึ่งยืนยันจากสิ่งที่อยู่ในความกังวลของชาวบ้านริมแม่น้ำโขง และหากมีบทเรียนต่อๆ มาอีก เราจะเรียนรู้อะไร หรือไม่เรียนรู้อะไรเลย โดยเฉพาะรัฐของแต่ละชาติจะพิจารณาผลกระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์ริมแม่น้ำโขงซึ่งก่อเกิดจากปัญหาข้ามรัฐมาตามสายแม่น้ำโขงอย่างไร หรือจะรวมหัวกันสร้างเขื่อนอยู่ต่อไป โดยไม่สนใจประชาชนไม่ว่าจะเป็นประชาชนของประเทศใด?

อ้างอิง : https://prachatai.com/journal/2008/08/17738

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง