สัมภาษณ์พิเศษ “จากเขื่อนจีนสู่คนท้ายน้ำ ผลกระทบของคนหาปลา”

fas fa-pencil-alt
ประภาภรณ์ แปงเขียว: โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
fas fa-calendar
1 พฤศจิกายน 2552

เขื่อนบนแม่น้ำโขงของประเทศจีนเริ่มเก็บกักน้ำตั้งแต่ปี ๒๕๓๙ หลังที่สร้างเขื่อนมันวาล เสร็จ ตามด้วยเขื่อนต้าเฉาชาน เขื่อนจิงหง และเขื่อนเสียวหวานได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จมาตามลำดับ ในปี ๒๕๕๑ ถึง ปี ๒๕๕๒ เขื่อนจิงหงและเขื่อนเสียวหวาน เริ่มทำการเก็บกักน้ำ ซึงเป็นไปตามการรายงานของ MRC ที่ได้คาดการถึงระดับน้ำในแม่น้ำโขงตอนล่างช่วง 2 ปี ต่อจากนี้ อัตราการไหลของน้ำและปริมาณน้ำจะลดน้อยลง เนื่องจากการเก็บกักของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง และต่อจากนี้ไปคำถามที่ตามมาสำหรับผู้คนสองฝั่งแม่น้ำโขงจะเป็นอย่างไร การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจะมีผลอย่างไรกับคนท้ายน้ำบ้าง

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ถาม : การหาปลาบริเวณใกล้กับจุดก่อสร้างคาสิโนส่งผลกระทบอะไรกับคนหาปลา ?

ลุงต๋าคำ อุ่นเป็ง (คนหาปลาบริเวณหลักเจ็ด สามเหลี่ยมทองคำ ตรงข้ามกับเขตก่อสร้างคาสิโนฝั่งสปป.ลาว)  
“เป็นการทำธุรกิจของประเทศเขา คนหาปลาอย่างเราไม่สามารถก้าวก่ายได้ แต่ระหว่างการก่อสร้างมีการทิ้งเศษเหล็ก เศษปูนลงแม่น้ำ เมื่อไหลมอง วางตาข่ายหาปลามักจะไปติดเศษเหล็กพวกนี้ ตาข่ายขาดเสียหาย
คิดว่าพอความเจริญทางด้านวัตถุเข้ามา ความเจริญด้านจิตใจเริ่มลดน้อยถอยลง ผลกระทบมีมากมาย จริงๆแล้วที่ประเทศจีนมีการสร้างเขื่อนขึ้นมาเพื่อบังคับทิศทางกระแสน้ำ ส่งผลให้ปลาหลงทิศหลงทางไม่รู้ว่าจะขึ้นหรือลง ปลาไม่รู้ที่อยู่อาศัยหนีหายไป หาปลายากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงขึ้นลงไม่ปกติ ๒ วันก่อนน้ำอยู่ในระดับพอดี เหมาะกับการไหลมองหาปลา แต่มาวันนี้น้ำลดลง ๑.๕ เมตร แล้ววันพรุ่งนี้น้ำจะอยู่ในระดับไหนไม่มีใครจะตอบได้”
         
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ถาม : ช่วงเวลาไหนที่จะออกหาปลาได้ ?

ลุงต๋าคำ อุ่นเป็ง : “เราจะหากันทั้งวันทั้งคืน จับคิวกัน เรือหาปลาจุดนี้มีประมาณ ๓๐ ลำ เมื่อคิวที่ ๑ ออกไหลมองวางตาข่ายหาปลาและเก็บกู้ตาข่ายเสร็จไป คิวที่ ๒ คิวที่ ๓ ก็ออกหากันตามลำดับ”
         
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ถาม : ทราบไหมว่าสินค้าที่มากับเรือจีนมีอะไรบ้าง แล้วมีผลกับคนหาปลาอย่างไร ?

ลุงต๋าคำ อุ่นเป็ง : “ก็มีพวกผัก-ผลไม้ เสื้อผ้า ผ้าห่ม แต่สิ่งที่เห็นชัดเจนก็พวกเศษผ้าที่ห่อหุ้มผักผลไม้ที่มาในเรือ พอมาถึงท่าเรือก็ทิ้งเศษผ้าพวกนี้ลงแม่น้ำปล่อยให้ไหลมาติดกับตอไม้ในแม่น้ำ นานวันเข้าน้ำก็พัดทรายมาทับถมเพิ่มเกิดเป็นสันดอนเล็กๆ ซึ่งเดิมทีตอไม้ กิ่งไม้ ในแม่น้ำเป็นที่อยู่อาศัยของปลา พอเกิดเหตุการณ์อย่างนี้ปลาจะไปอยู่ไหน การหาปลาก็ลดน้อยลง”

ลุงบรรจง บุญโย  : พูดเสริมว่า “ราคาน้ำมันแพงขึ้น พวกเราก็ต้องปรับราคาปลาเพิ่มขึ้น ครั้งละ ๕ บาท ๑๐ บาท ถ้าไม่อย่างนั้นเราก็อยู่ไม่ได้ หากพูดถึงเขื่อนในจีน ผมว่าส่งผลกระทบต่อเราอย่างหนักเลย ทั้งเรือสินค้าขนาดใหญ่ คลื่นที่มากับเรือกระทบริมตลิ่ง ดินพังลงมา น้ำพัดพาไปรวมกันเกิดดินดอนใหม่ขึ้นมากมาย ระบบนิเวศแต่เก่าก่อนหาดยังเป็นหาดหิน แต่เดี๋ยวนี้กลายเป็นหาดทราย ถ้ามีกิ่งไม้ตอไม้ไหลมากับแม่น้ำ ก็จะติดอยู่บนหาดทราย เวลาวางตาข่าย ไหลมองหาปลา ก็ไหลไปติดตอไม้กิ่งไม้ ขาดเสียหาย หาปลาก็ยากลำบาก”

ลุงต๋าคำ อุ่นเป็ง :  “ส่วนเรื่องการค้าทางเรือ เมื่อเราได้มาก็ต้องมีการเสียไป ยิ่งเป็นการค้าระหว่างประเทศด้วยแล้ว ประเทศเขานำสินค้าเข้ามา ประเทศเราก็นำสินค้าออกไปบ้างเช่นกัน แต่แล้วการเดินเรือกลับส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ตลิ่งจะพังลง แม่น้ำโขงตอนบนระหว่างพรมแดนไทย-ลาว-พม่า เป็นร่องน้ำแคบ กระแสน้ำไหลแรง เมื่อเขื่อนปล่อยน้ำมาทำให้กัดเซาะตลิ่งพังลงแม่น้ำเร็วกว่าปกติ ถ้ามีหินผาจะพอช่วยบังคับทิศทางน้ำได้บ้าง แต่ปัจจุบันบริเวณพรมแดนพม่า-ลาว ทางประเทศจีน ได้ระเบิดแก่ง หิน ผาออก ไปกว่า 10 จุด ทำให้ไม่มีตัวบังคับทิศทางน้ำและร่องน้ำการพังทลายของตลิ่งมีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ”

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ถาม : ได้มีการพูดคุยกับคนหาปลาที่อยู่ฝั่งลาวบ้างไหม ถึงเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้น ?

ลุงต๋าคำ อุ่นเป็ง : “ก็พูดคุยกันบ้าง เขาบอกว่าได้รับผลกระทบเหมือนกับพวกเรา จากการเปรียบเทียบเมื่อก่อนกับปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก อย่างเช่นต้นไคร้ที่ขึ้นตามแนวตลิ่งตลอดแม่น้ำโขง เป็นทั้งอาหารและที่อยู่ของปลา ตอนนี้หายไปเพราะการกัดเซาะของคลื่นเรือสินค้าขนาดใหญ่ ทำให้ต้นไคร้พังทลายหายไปกับกระแสน้ำและคลื่นเรือที่กระทบฝั่งอย่างรุนแรง”

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ถาม : ถามถึงคนอีกฝั่งที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างคาสิโนขนาดเนื้อที่มากกว่า 7,000 ไร่ เขาว่าอย่างไรบ้าง ?

ลุงต๋าคำ อุ่นเป็ง : “ได้ข่าวมาจากชาวบ้านว่าเขาไม่อยากย้ายออกไปเลย แต่ก็ต้องย้ายเพราะคนจีนมาเช่าที่เพื่อทำธุรกิจคาสิโนครบวงจร ชาวบ้านไม่สามารถทำอะไรได้เลย”

โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต ถาม : แท้จริงแล้วทรัพยากรธรรมชาติเป็นของทุกคน แต่ทุกวันนี้ประเทศจีนสร้างเขื่อนแล้วส่งผลกระทบต่อคนท้ายน้ำ คิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนบ้างไหม ?

ลุงต๋าคำ อุ่นเป็ง :  “ละเมิดแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ ถ้าเราห้ามได้เราก็จะห้ามว่าอย่าทำเลยแม่น้ำตรงนี้ อย่าทำเขื่อนเลย ปล่อยเถอะ เรามาหาวิธีอื่น ถ้าจะต้องหาพลังงานจากน้ำ พลังงานสะอาด เรามาหาวิธีอื่นแทน เช่น กังหันปั่นน้ำไฟฟ้าขนาดเล็ก ถ้าทั้งสองประเทศ ไทยและลาวร่วมมือกันทำ ซึ่งกระแสน้ำของเราไหลแรงมาก พอน้ำไหลแรงประเทศลาวก็สร้างกังหันปั่นน้ำไฟฟ้าขนาดเล็ก ประเทศไทยก็สร้างเครื่องกังหันปั่นน้ำไฟฟ้าขนาดเล็ก สร้างกันลูกต่อลูกบนพรมแดนไทย-ลาว แค่นี้ก็ได้พลังงานออกมาเป็นกระแสไฟฟ้า เอาไปใช้ประโยชน์ได้อีกมาก หรือจะใช้กังหันวิดน้ำขึ้นไปใช้ทางการเกษตรก็ยังได้ นี่คือพลังงานที่สะอาดจริง และอีกอย่างเวลาสัตว์น้ำจะไปวางไข่ในแม่น้ำสาขาก็ขึ้นไปได้ไม่มีอะไรมากั้น สัตว์น้ำได้แพร่พันธุ์ต่อไป ในฤดูหนาวสัตว์น้ำก็อพยพหนีน้ำเย็นมายังแม่น้ำโขงได้ แต่ที่เขากำลังทำอยู่ทำให้ปลาไม่ได้ไปไหน ไม่รู้ฤดูกาล ไม่รู้ที่จะวางไข่ หากว่ากันตามฤดูกาลหน้าน้ำหลากปลายังสามารถขึ้นไปวางไข่ตามหนองน้ำและแม่น้ำสาขาได้ แต่ตอนนี้ปลายังไม่รู้ที่วางไข่ แล้วคนหาปลาอย่างเราจะอยู่อย่างไร จะหาปลาได้อีกไหม.....? “

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง