เสียงคนจน
ได้อ่านหนังสือพิมพ์ ดูทีวี เกี่ยวกับการสัมมนายุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจนที่จัดโดยทีดีอาร์ไอ รวมทั้งได้ฟังท่านทักษิณ ชินวัตร พูดในรายการพบประชาชน จึงอยากจะแสดงความคิดเห็นร่วมบ้าง
ได้ฟังและได้อ่านว่าท่านอานันท์ ปันยารชุน ได้พูดถึงยุทธศาสตร์ที่สำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน คือ การฟังคนจน ในขณะเดียวกัน ท่านทักษิณ ชินวัตร ก็ บอกพี่น้องประชาชนทางวิทยุว่า ขอโอกาสให้นายกฯทักษิณ ชินวัตร ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ทำงาน และ 1 ใน 3 ยุทธศาสตร์หลักของการทำงานที่เคยประกาศไว้ ก็คือการแก้ปัญหาความยากจน โดยจะต้องเอาปัญหาเป็นตัวตั้ง กฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ จะต้องปรับปรุงให้สอดคล้อง
นับตั้งแต่รัฐบาลภายใต้การนำของท่านทักษิณ ชินวัตร ได้เข้าบริหารประเทศ โดยก่อนหน้านั้นก็มานั่งเปิบข้าวเหนียว ส้มตำ อย่างเป็นกันเองกับชาวบ้านสมัชชาคนจน ที่นั่งนอนรอคอยการแก้ไขปัญหาที่หน้าทำเนียบมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว การแก้ไขปัญหาก็ได้เริ่มต้นจากการรับปาก ออกคำสั่งเป็นมติ ครม.ที่ 17 เม.ย. 2544 และสร้างกลไกคณะกรรมการ อนุกรรมการ คณะทำงานต่างๆ จำนวนมาก เพื่อรองรับกระบวนการแก้ไขปัญหา
นับตั้งแต่นั้นมา สิ่งเดียวที่รัฐบาลทำได้ ก็คือการสั่งการ (บังคับ) ให้ กฟผ. เปิดประตูน้ำเขื่อนปากมูลเป็นเวลา 4 เดือน เพื่อศึกษาการฟื้นฟูลุ่มน้ำมูล สำหรับกลไกต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีมากถึง 205 กรณีปัญหา จาก 6 เครือข่ายองค์กรชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาที่เข้าร่วมการเรียกร้องในนามสมัชชาคนจน ล้วนเป็นอัมพาตหรือคืบคลานไปอย่างช้าๆ ยิ่งกว่าเต่าคลาน
ในขณะที่รัฐบาลมีมติ ครม. 3 เมษายน 2544 รองรับการแก้ปัญหาทั้ง 205 กรณีปัญหา แต่ทราบไหมว่าในทางปฏิบัติ กลไกราชการต่างๆ ที่เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหา ล้วนยึดมติ ครม. อื่นๆ ที่หน่วยงานเป็นผู้ผลักดัน รวมทั้งระเบียบต่างๆ ตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์ เป็นมาตรการในการแก้ไขปัญหา มติ ครม. 3 เมษายน 2544 ดูเสมือนเป็นเพียงข้อตกลงเพื่อสลายการชุมนุมของสมัชชาคนจนที่หน้าทำเนียบเท่านั้น เพราะกลไกในการควบคุมให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาล้วนเป็นอัมพาตโดยสิ้นเชิง
ถามว่าท่าน รมต. หลายคนที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาเคยอ่านมติ ครม. หรือไม่ มีความเข้าใจละเอียดชัดเจนแค่ไหน และสามารถควบคุมสั่งการให้ปฏิบัติได้เป็นจริงหรือไม่ กรณีง่ายๆ เช่น ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนมานานนับ 10 ปี จากการสร้างเขื่อนลำคันฉู เขื่อนห้วยทราย ทับที่ทำกินที่จังหวัดชัยภูมิกว่า 500 ครอบครัว รอคอยการจัดสรรที่ดินทดแทนตามโครงการชุมชนพึ่งตนเองจนแล้วจนเล่า ตั้งแต่ฝนเริ่มตกจนฝนหยุดตก การจัดสรรที่ดินก็ยังไม่ไปถึงไหน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ ส.ป.ก. ก็เกี่ยงกันไปมาในการรังวัดที่ดินให้ชาวบ้าน ชาวบ้านก็ยังเร่ร่อนเป็นขอทานเที่ยวรับจ้างเหมือนเดิม ชาวบ้านเขื่อนห้วยละห้า จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเขื่อนขนาดเล็กเดือดร้อนมา 23 ปี รัฐบาลมีมติให้ตรวจสอบความเสียหาย จ่ายค่าชดเชยความเสียหาย ก็ตรวจไปแล้วว่าเสียหายจริง แต่หน่วยราชการกลับบอกว่าจ่ายค่าชดเชยไม่ได้ เพราะผิดระเบียบ เขื่อนขนาดเล็กไม่เคยมีการจ่าย จะเป็นเยี่ยงอย่าง ยึดเอามติ ครม. 25 ก.ค. 43 ในรัฐบาลชุดที่แล้วว่า สำหรับเขื่อนที่สร้างไปแล้ว ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย ข้าราชการทุกระดับที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับอำเภอถึงผู้ว่าอุบลฯ ก็เสนอความเห็นว่าไม่ควรจ่าย
กรณีที่ดินทำกินในเขตป่าที่ขัดแย้งกันมานาน ท่านอธิบดีกรมป่าไม้ก็ใช้กำลังเข้าขับไล่ชาวบ้านออกจากที่ทำกิน ยึดเอามติ ครม. 30 มิ.ย. 42 ในสมัยรัฐบาลชุดที่แล้วเป็นเกณฑ์ในการแก้ไขปัญหา หน้าเฉยต่อหน้าท่านประธานประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ที่ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะเซ็นอะไรสั่งอะไรก็ไม่มีใครทำตาม ท่านอธิบดีใหญ่กว่า รมช. แน่นอน ใครๆ ก็รู้
เรื่องการผลักดัน พ.ร.บ. ความปลอดภัยในสถานประกอบการและปัญหามลพิษ หน่วยราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็เตะถ่วง รมต. รมช. ที่ดูแลก็ไปคนละทาง สร้างดาวคนละดวง ปัญหาเขื่อนราษีไศล รมต. ที่เกี่ยวข้องก็ยังฟังแต่ข้าราชการอยู่ดี จนชาวบ้านต้องขนม็อบมาอยู่หน้ากระทรวงวิทย์ฯ เพราะท่านทักษิณไม่ยอมให้ไปอยู่หน้าทำเนียบ
ท่านทักษิณที่เคารพ 205 กรณีปัญหาถูกแช่แข็งในช่องฟรีซ ท่านเคยเปิดดูหรือไม่ 205 กรณีปัญหาอาจจะดูเยอะไป เอาแค่กรณีเดียวก็ยังไม่ไปถึงไหน ก่อนเป็นนายกฯ ท่านก็คงมีเวลาฟังพวกเราบ้าง หลังจากนั้นท่านก็ไม่มีเวลา ท่านโยนเรื่องสมัชชาคนจนให้คนใกล้ชิดท่านดูแล คนใกล้ชิดท่านก็โยนให้คนใกล้ชิดอีกทีหนึ่ง โยนกันไปเรื่อยๆ จนไม่รู้ไปตกที่ใคร ท่านคิดว่าการหว่านเงินกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านบาท จะช่วยแก้ไขปัญหา ท่านรู้ไหมว่าคนกว่า 10 ล้านครอบครัวที่ไม่มีที่ดินทำกินจะเอาเงินของท่านไปทำอะไร นอกจากจับจ่ายใช้สอยเพื่อแก้ปัญหาปากท้องประจำวัน จนหมดแล้วเม็ดเงินทั้งหลายก็มลายหายไปกับระบบตลาดตามเดิม ท่านเพิ่มเงินในกระเป๋าผู้รับเหมารายเล็กและพ่อค้ารายย่อยเพียงชั่วคราว แต่เพิ่มหนี้ของชาวบ้านแน่นอน
เรื่องการปฏิรูปที่ดิน สมัชชาคนจนเคยเสนอมาแล้วหลายรัฐบาล ท่านเคยได้ยินบ้างไหม มีแผนอะไรบ้างเกี่ยวกับเรื่องนี้ เรื่องการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชนที่พึ่งพาธรรมชาติ ท่านมีหลักการและยุทธศาสตร์อะไรที่รองรับการแก้ไขความขัดแย้งที่มีอยู่ นโยบายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนอยู่ในแผนไหน ขณะที่ท่านกำลังมะงุมมะงาหราเรื่องบ่อนอกบ้านกรูด ท่อก๊าซ โครงการขนาดใหญ่อื่นๆ ก็กำลังเดินหน้าสร้างความขัดแย้งลุกลามไปทั่ว ท่านมีแผนอะไร ท่านเคยจัดเวิร์กช็อปปัญหาความยากจนหรือไม่ หรือท่านมีสูตรสำเร็จไว้แล้วว่าจะทำอย่างไร
สมัชชาคนจนขอส่งตัวแทนเข้าพบเพื่อพูดคุยกับผู้รับผิดชอบฝ่ายการเมือง ถึงอุปสรรคและปัญหาต่างๆ ตลอดระยะเวลากว่า 8 เดือนที่ผ่านม