เส้นทางปลา เส้นทางคนบนสายน้ำของ
ผู้จัดการรายวัน -- ยามสายฝนฉ่ำโปรยลงมาสู่พื้นน้ำในเดือนมิถุนายน พี่สุขสันต์ ธรรมวงค์ ชาวบ้านบ้านหาดบ้าย ล่องเรือออกสู่แม่น้ำโขงอีกครั้ง เขาเป็นหนึ่งในพรานปลารุ่นใหม่ของหมู่บ้านซึ่งหาปลาเป็นประจำหลังจากที่ว่างเว้นจากการทำการเกษตร ปลาที่ได้จากแม่น้ำโขงเป็นแหล่งรายได้สำคัญของเขาอีกทางหนึ่งนอกจากผลผลิตเกษตร สุขสันต์จับปลามานาน นานพอๆ กับที่เขารับรู้ได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำใหญ่สายนี้
“ไม่เคยเป็นมาก่อนหรอกแม่น้ำโขงจะขึ้น–ลงอย่างนี้ 3–4 วันขึ้น 2 วันลงอย่างนี้ เอาเรือผูกไว้ตอนเย็นพอตอนเช้ามาน้ำลงแล้วเรือเขินน้ำเลย หาปลาก็ไม่ค่อยได้ไม่เหมือน 3-4 ปีก่อน ดูอย่างเกาะหาดบ้ายจนป่านนี้แล้วน้ำยังไม่ท่วมเลย ทั้งที่ฝนตกลงมามาก พอน้ำขึ้น–ลงแปลกอย่างนี้ปลาก็ไม่ขึ้นมา” คำบอกเล่าของสุขสันต์ ธรรมวงค์ ไม่ได้เป็นคำบอกเล่าที่เลื่อนลอย แต่มันเป็นคำบอกเล่าที่ประสบด้วยตนเองหลังจากที่เอาเรือหาปลาออกสู่แม่น้ำครั้งแล้วครั้งเล่าแต่กลับมามือเปล่า
เมื่อฝนเริ่มตกลงมาในเดือนพฤษภาคม น้ำในแม่น้ำโขงเริ่มเพิ่มระดับหลังจากที่แห้งลงไปเมื่อช่วงหน้าแล้งที่ผ่านมา ปลาในแม่น้ำโขงที่ได้ล่องลงไปเมื่อช่วงหน้าแล้ง บัดนี้มันได้ว่ายทวนน้ำขึ้นมาแล้วเพื่อผสมพันธุ์และวางไข่ ปลาหลากหลายชนิดในแม่น้ำโขงบริเวณพรมแดนไทย-ลาวซึ่งมีการสำรวจโดย ดร.ชวลิต วิทยานนท์ นักวิชาการประมงของไทยพบว่ามีมากถึง 200 กว่าชนิด และมีการสำรวจเก็บข้อมูลโดยชาวประมงริมฝั่งแม่น้ำโขงทางฝั่งไทยพบว่าปลาในแม่น้ำโขงมีมากถึง 102 ชนิด ปลาเหล่านี้หลายชนิดยังคงปรากฏให้เห็นอยู่ แต่บางชนิดเช่น ปลาเลิม ก็ไม่ค่อยปรากฏให้เห็นแล้ว ทำไมปลาในแม่น้ำโขงจึงลดจำนวนลง? คนมากขึ้นหรือปลาน้อยลง?
3 ปีมาแล้วที่ชาวประมงบ้านหาดไคร้จับปลาบึกไม่ได้ แต่ในเดือนเมษายนปีนี้ ชาวประมงบ้านหาดไคร้จับปลาบึกได้มากถึง 7 ตัว แต่การกลับมาของปลาบึกบอกถึงความสมบูรณ์ของธรรมชาติในแม่น้ำโขงจริงหรือ?
เส้นทางปลา
ในช่วงรอบปี ปลาในแม่น้ำโขงมีระยะเวลาในการเดินทางอพยพแตกต่างกัน ปลาส่วนใหญ่อพยพขึ้นสู่ตอนบนของแม่น้ำในช่วงฤดูน้ำหลากคือเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม แต่ก็มีปลาบางชนิดที่ขึ้นมาในเดือนมีนาคม ก่อนที่ระดับน้ำเพิ่มขึ้น คนหาปลาจะเริ่มไหลมอง แหตาถี่ขนาด 3–5 เซนติเมตร ปลาที่ได้ในช่วงนี้มีอาทิ ปลาเขี้ยวไก ปลาสวาด ปลาเกล็ดถี่ ปลาบอก ปลาเหล่านี้เป็นปลาที่มีขนาดไม่ใหญ่มากซึ่งจะว่ายทวนน้ำขึ้นมาในช่วงที่น้ำในแม่น้ำโขงลด ปลาที่มีขนาดใหญ่อย่างปลาบึกก็ว่ายทวนน้ำขึ้นมาเมื่อเดือนเมษายนมาถึง ไม่มีใครให้คำอธิบายได้ชัดเจนว่าปลาเหล่านี้มันว่ายไปถึงที่ใดของแม่น้ำสายยาวกว่า 4,800 กิโลเมตรนี้
เกาะแก่งที่มีอยู่จำนวนมากในแม่น้ำโขงตอนบนมิได้เป็นอุปสรรคต่อการขึ้น-ลงของปลา แก่งหินเหล่านี้กลับเป็นที่หลบภัยและที่หากินของปลาแห่งสายน้ำโขง ปลาจำนวนมากได้เข้าไปวางไข่ในคก ส่วนที่แม่น้ำเว้าเข้าไปในริมฝั่ง ด้วยน้ำที่ลึกของคก ปลาจำนวนมากจึงรอดพ้นจากเครื่องมือหาปลาไปได้
ปลาในแม่น้ำโขงนอกจากจะเดินทางในน้ำโขงแล้ว มันได้เดินทางออกไปหล่อเลี้ยงผู้คนยังที่ต่างๆ ปลาที่บ้านปากอิงใต้หลังจากที่ชาวประมงจับได้แล้วมันก็จะกระจัดกระจายไปตามครัวเรือนต่างๆ ในหมู่บ้าน ปลาบางส่วนออกเดินทางมาภัตตาคารสุดหรูในเมืองใหญ่ เช่นเดียวกันกับปลาบึกที่บ้านหาดไคร้ครั้งหนึ่งมันเคยเดินทางไปไกลถึงกรุงเทพฯ
บริเวณบ้านปากอิงใต้นั้นเมื่อคนหาปลาได้ปลาแล้วก็จะมีการขายเป็นลำดับต่อๆ กันไป ไม่มีใครคาดคะเนได้ว่าในวันหนึ่งๆ ปลาที่ว่ายทวนน้ำขึ้นไปมีกี่ชนิดและมีจำนวนมากน้อยเพียงใด
ความเชื่อของคนริมน้ำที่มีต่อปลานั้นเหนียวแน่นและยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน เช่น คนที่ไม่สบายหรือเป็นไข้อยู่จะไม่ได้กินปลาเลิมเพราะความเชื่อที่ว่าปลาเลิมเป็นปลามีพิษ และคนหาปลาในแม่น้ำโขงเชื่อว่าปลาบึกเป็นปลาเทพเจ้า เมื่อจับได้หรือก่อนลงมือจับก็ต้องมีการเซ่นสังเวยเทพเจ้าที่รักษาปลาบึกตัวนั้นด้วยไก่และเหล้า
เมื่อน้ำโขงขึ้น ปลาเริ่มทยอยว่ายทวนน้ำขึ้นมามากมายและหลายชนิดว่ายต่อไปยังแม่น้ำสาขาน้อยใหญ่ เช่นสบรวกบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ น้ำคำ น้ำกก ในเขตอำเภอเชียงแสน น้ำอิงในเขตอำเภอเชียงของ น้ำงาวในเขตอำเภอเวียงแก่น การหาปลาช่วงน้ำขึ้นนี้มีความคึกคักเป็นพิเศษเพราะเป็นช่วงที่คนหาปลาว่างจากการทำเกษตรก็จะทำการลงหาปลาในแม่น้ำโขง
บริเวณปากแม่น้ำที่ไหลลงมาบรรจบกับแม่น้ำโขงนั้นเป็นเส้นทางปลาที่สำคัญของคนหาปลา แต่ก็มิได้แปลว่าคนหาปลาพื้นบ้านเหล่านี้จะจับปลาไปทั้งหมด ในบางพื้นที่ล่องน้ำลึกก็อยู่ทางฝั่งลาว เช่นที่บ้านปากอิงใต้ ร่องน้ำลึกอยู่ที่ทางบ้านดอนไข่นก ปลาส่วนใหญ่ก็จะขึ้นมาทางร่องน้ำนั้น แต่เมื่อน้ำนองเต็มที่แล้วปลาก็จะเปลี่ยนร่องน้ำมาทางบ้านปากอิงใต้เพื่อเข้าไปในแม่น้ำอิง
พ่อค้าที่เข้ามารับซื้อปลาในตอนเช้ามีหลายจุดที่เป็นจุดนัดพบระหว่างคนหาปลากับคนรับซื้อปลา พี่อินเขียน อ่อนคำเหลือง คนรับซื้อปลาบอกว่า “สมัยก่อนพี่ล่องเรือจากบ้านสบสม อำเภอเชียงของ ลงไปตามแม่น้ำโขงจนถึงผาได บ้านห้วยลึก และที่คกสระ ปากน้ำงาว บ้านแจ๋มป๋อง อำเภอเวียงแก่น สบน้ำอิง พี่รับซื้อปลาจากคนหาปลามาขายอีกทอดหนึ่ง แต่ตอนนี้ไม่เรือแล้ว พี่โทรศัพท์ถามเอา ช่วงที่ปลาหายากก็ขี่มอเตอร์ไซค์เข้าไปในหมู่บ้าน มันถูกกว่า” พี่อินเขียนเพิ่มเติมว่าในช่วง 3 ปีมานี้ ตามจุดที่มีการซื้อขายปลาต้องเงียบเหงาเพราะคนหาจับปลาได้น้อยกว่าปีที่ผ่านมา “บางวันปลาในตลาดแทบจะไม่มีขาย ราคาก็แพงขึ้นมาก อย่างปลาแข้เมื่อ 3 ปีก่อนกิโลละ 140 แต่ปีนี้ 250 ปลาค้าวเมื่อก่อนกิโลละ 120 ตอนนี้ 180”
ราคาของปลาคนหาปลาจะเป็นคนกำหนดขึ้นมาเอง มันคงเป็นเพียงสิ่งเดียวที่คนริมน้ำโขงสามารถที่จะตั้งราคาขายขึ้นมาเองได้ เพราะสินค้าต่างๆ แม้แต่สินค้าเกษตรคนที่สามารถกำหนดราคาได้คือพ่อค้าไม่ใช่คนทำการเกษตร
ปลาที่ได้จากคนหาปลานั้นมันก็จะเดินทางต่อไปเรื่อยๆ จนสุดท้ายไม่รู้ว่ามันจะสิ้นสุดลงที่ไหน แต่คนริมน้ำโขงรู้ก็คือ แม่น้ำโขงเป็นที่หาอยู่หากินของคนแถบนี้มาหลายชั่วอายุคนแล้ว
เส้นทางคน
แม่น้ำโขงไหลผ่าน 6 ประเทศคือ จีน พม่า ลาว ไทย กัมพูชา เวียดนาม มีผู้คนที่ได้อาศัยใช้แม่น้ำสายนี้ไม่ต่ำกว่า 60 ล้านคน รวมพื้นที่ลุ่มน้ำโขงทั้งหมด 810,000 ตารางกิโลเมตร แม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศไหน ประเทศนั้นก็มีชื่อเรียกที่เป็นของเฉพาะของแต่ละประเทศไป เช่นเมื่อแม่น้ำโขงไหลผ่านประเทศจีนที่สิบสองปันนา คนริมฝั่งแม่น้ำโขงเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำล้านช้าง” คนจีนทั่วไปเรียก “หลานชางเจียง” เมื่อแม่น้ำโขงไหลผ่านกั้นพรมแดนระหว่างไทยและลาว คนไทยทั่วไปเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำโขง” แต่คนท้องถิ่นเรียกแม่น้ำสายนี้ว่า “แม่น้ำของ”
แม่น้ำโขงที่ประเทศไทยเริ่มที่สามเหลี่ยมทองคำ และไหลลงไปถึงผาได ก่อนเข้าประเทศลาว ชาวบ้านริมน้ำได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำสายนี้แตกต่างกันออกไป บางคนหาปลา บางคนทำการเกษตรริมฝั่งน้ำ วัฒนธรรมของการหาปลานี้เองที่เชื่อมร้อยให้ผู้คนริมแม่น้ำได้เรียนรู้และรู้จักกัน
เส้นทางของคนหาปลาที่บ้านแซวจะเริ่มที่ดอนมะโน เกาะกลางน้ำซึ่งในอดีตดอนแห่งนี้เคยเป็นที่ทำมาหากินของคนไทยมาก่อน และแห่งที่สองคือบริเวณก๊วนบ้านแซว คนหาปลามีทั้งคนที่มีอายุจนมาถึงคนหนุ่ม การสืบสานอาชีพของคนหาปลาก็ผ่านการถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนในครอบครัวเสมอมา
พี่แก่นจัน ธรรมวงค์ คนหาปลาบ้านหาดบ้ายเล่าว่า “ผมเกิดมาก็ได้เล่นได้คุ้นเคยกับแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เล็ก โตมาก็ได้หาปลาในแม่น้ำโขง แต่ก่อนปลาเยอะกว่านี้ แต่ตอนนี้ไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรขึ้น ปลาน้อยลง น้ำก็ขึ้น–ลงผิดธรรมชาติ ใส่เบ็ดแขวนปลาลูกไว้กลางคืนตอนเช้ามา เบ็ดเขินน้ำแล้ว น้ำมันลงเร็วมาก ปีนี้ผมซื้อเรือใหม่ก็เอาไว้หาปลา เพราะการหาปลาก็เป็นอาชีพหนึ่งที่ผมทำได้และก็พอมีรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว”
อุ้ยสม อินโน คนหาปลาบ้านดอนที่ ได้กล่าว่า “ตอนเมื่อหลายปีก่อน อุ้ยยังเคยใช้เบ็ดน้ำเต้า เบ็ดปลาเลิมอยู่ ตอนนี้ไม่มีคนใช้แล้ว เบ็ดน้ำเต้าก็กลายมาเป็นเครื่องประดับบ้านไป แต่ก่อนในน้ำโขงนี้หาปลาได้เยอะ ปล่อยเบ็ดน้ำเต้าไปเป็นสายก็ได้ปลาแล้ว ไม่รู้ว่าตอนนี้มันเป็นอะไรปลาน้อยลง อีกหน่อยถ้าจับปลาไม่ค่อยได้แล้วไม่รู้คนหาปลาจะไปหากินอย่างไรก็ไม่รู้”
ปลาจับได้ในแต่ละวันที่ได้มีความหมายอย่างยิ่งต่อคนหาปลาเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่หาปลาเป็นอาชีพหลักเช่นผู้เฒ่านามว่าลุงเสาร์ ระวังศรี ชาวบ้านเวียงแก้ว แม้จะมีอายุเลยวัยกลางคนมานาน แต่ลุงเสาร์ก็ยังหาปลาอยู่ ลุงเสาร์มักจะหาปลาอยู่ที่บริเวณผาพร ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่คนริมน้ำให้ความเคารพนับถือโดยเฉพาะคนลาว ลุงเสาร์ถ่ายทอดวิธีการหาปลาให้กับหลายๆ คนโดยเฉพาะกับตี๋ หลานชาย หลายครั้งที่คนทั้งสองออกเรือหาปลาด้วยกัน ลุงเสาร์บอกว่า ”แต่ก่อนน้ำโขงมันไม่เป็นอย่างนี้ถึงหน้าขึ้นมันก็ขึ้น ถึงหน้าลงมันก็ลง ปลาก็จับง่าย แต่ตอนนี้น้ำโขงมันเปลี่ยน ได้ยินว่าเขื่อนในจีนมันกักเก็บน้ำ” แม้จะไม่เคยไปถึงประเทศจีน แต่ด้วยวิถีที่พึ่งพิงแม่น้ำโขง ลุงเสาร์รับรู้ได้ถึงความเปลี่ยนแปลง
เส้นทางปลา เส้นทางคนบนสายน้ำโขง
เส้นทางปลาเส้นทางคนบนสายน้ำโขงยังเชื่อมโยงเกาะเกี่ยวกันไว้ด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคนกับปลา คนกับแม่น้ำ แต่จะมีสักกี่คนที่จะเห็นความสัมพันธ์เหล่านี้ ผู้มีอำนาจในสังคมไม่เคยมองเห็นเส้นทางของทั้ง 3 สิ่งนี้ โครงการพัฒนาต่างๆ จึงถาโถมลงมาสู่แม่น้ำโขงอย่างไม่บันยะบันยัง ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน 8 แห่งและระเบิดแก่งเพื่อการเดินเรือสินค้า หลายฝ่ายก็ต่างเห็นผลประโยชน์ว่า การพัฒนาคือการที่ให้เกิดความเจริญ แต่กลับหลงลืมไปว่า การพัฒนานี้เองที่ได้ทำลายวิถีชีวิตของผู้คนที่พึ่งพิงแม่น้ำสายนี้เพียงใด
แม้จะมีการระงับโครงการระเบิดแก่งช่วงพรมแดนไทย-ลาวไว้เป็นการชั่วคราว แต่การสร้างเขื่อนในเขตจีนยังคงรุดหน้า เขื่อนกั้นแม่น้ำโขงในวันนี้ได้ทำให้ทางเดินของปลา แม่น้ำ และผู้คนริมน้ำตีบตันลงทุกที คนหาปลาจับปลาไม่ได้ บางครั้งคนหาปลาจึงต้องจำใจแขวนเครื่องมือหาปลาคู่ใจแล้วแปรเปลี่ยนเส้นทางเดินของตัวเองเป็นแรงงานรับจ้างรายวัน เรือหาปลาหลายลำจึงถูกปล่อยไว้เดียวดายริมน้ำ
“ถ้าเป็นไปได้ก็ไม่อยากให้เขาระเบิดแก่งหรือสร้างเขื่อน ระดับน้ำมันเปลี่ยน ปลาก็ไม่ขึ้นมา คนที่ไม่มีที่ดินอย่างพี่ก็ได้อาศัยแม่น้ำนี้แหละเป็นที่หากิน ไม่ต้องทำลายมันหรอกปล่อยมันไว้อย่างนี้แหละดีแล้ว คนอีกเยอะยังพึ่งพาแม่น้ำโขงอยู่” พี่สมบูรณ์ พงษ์สวัสดิ์ ชาวบ้านห้วยลึกกล่าวขึ้นมาก่อนเบนหัวเรือออกจากฝั่งเพื่อไปไหลมอง
ไม่มีใครรู้ว่าเย็นนี้พี่สมบูรณ์กลับมาจะมีปลากลับมาด้วยหรือเปล่า แต่สิ่งหนึ่งที่คนแห่งแม่น้ำโขงได้รับรู้คือการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำและเส้นทางของปลา เช่นเดียวกันกับคนหาปลาก็ดูเหมือนว่าเส้นทางหาปลาอันเคยสดใสในอดีตบัดนี้มันได้ถูกทำให้แคบและลำบากเต็มทีแล้ว
ไม่ใครบอกได้ว่า จากนี้ไปเส้นทางการหาปลาของคนแม่น้ำโขงยังจะมีอยู่หรือไม่ หรือว่ามันจะสูญหายไปเช่นเดียวกับเกาะแก่งบ้านของปลา และการหายไปของปลาในแม่น้ำโขง...