สมัครดันเมกะโปรเจ็กต์แสนล. ผันน้ำงึม-เมยลอดอุโมงค์มาไทย
นายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ขณะนี้กรมได้จัดทำแผนลดปัญหาการขาดแคลนน้ำหลักๆ ไว้ 3 โครงการ มูลค่าการใช้งบประมาณ รวม 133,702 ล้านบาท ประกอบด้วย
1) โครงการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก 6,552 แห่ง ใช้งบประมาณ 14,942 ล้านบาท
2) โครงการผันน้ำน้ำงึม-ห้วยหลวง-หนองหานกุมภวาปี-แม่น้ำชี ใช้งบประมาณ 76,760 ล้านบาท และ
3) โครงการผัน น้ำจากแม่น้ำเมยเข้าสู่เขื่อนภูมิพล ใช้งบประมาณ 42,000 ล้านบาท
ในส่วนของโครงการปรับปรุงฟื้นฟู แหล่งน้ำขนาดเล็กนอกเขตชลประทาน 6,522 แห่งทั่วประเทศนั้น ครม.ได้มีมติ "อนุมัติ" ให้กรมทรัพยากรน้ำดำเนินการเมื่อวันที่ 10 มิถุนายนที่ผ่านมา ในระยะเวลา 3 ปี (2552-2554) ซึ่งโครงการนี้จะทำให้มีน้ำเพิ่มขึ้น 875 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับพื้นที่รับประโยชน์ประมาณ 2.3 ล้านไร่ ครอบคลุมประชาชนประมาณ 400,000 ครัวเรือน
โดยในปีงบประมาณ 2552 กรมทรัพยากรน้ำจะดำเนินการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำให้ได้จำนวน 1,500 แห่ง ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท มีน้ำใช้เพิ่มขึ้น 200 ล้านลูกบาศก์เมตร และในปีงบประมาณ 2553-2554 จะดำเนินการอีก 5,052 แห่ง งบประมาณ 11,942 ล้านบาท งบประมาณส่วนใหญ่ 32% จะจัดสรรให้กับพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีความเดือดร้อนเรื่องน้ำและมีความต้องการมากที่สุด
ด้านโครงการแนวผันน้ำในพื้นที่ตะวันออกเฉียงเหนือ น้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว- ชี จัดเป็นโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน ที่มีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานให้ดำเนินการและเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีแล้ว โครงการนี้จะมีปริมาณน้ำที่ผันประมาณ 2,578 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถเปิดพื้นที่การเกษตรได้ 3.2 ล้านไร่ ใช้งบประมาณ 76,759 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 5 ปี (2552-2556)
แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 ผันน้ำจากลุ่มน้ำห้วยหลวง จังหวัดหนองคาย ข้ามมายังหนองหาน กุมภวาปี จังหวัดอุดรธานีในลุ่มน้ำชี เพื่อนำน้ำไปยังอ่างเก็บน้ำลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถผันได้ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร เปิดพื้นที่การเกษตรได้ประมาณ 1 ล้านไร่ ตลอดสองข้างแนวการผันน้ำสามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจากใช้อาคารประตูระบายน้ำห้วยหลวง อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย ในระยะที่ 1 จะใช้งบประมาณ 32,108.4 ล้านบาท
ระยะที่ 2 เปิดการเจรจากับ สปป.ลาว เพื่อขอผันน้ำจากเขื่อนน้ำงึม 1 ผ่านอุโมงค์ผันน้ำลอดใต้แม่น้ำโขงระยะทาง 17 กิโลเมตร เข้ามาสู่ห้วยหลวงและกระจายน้ำไปตามแนวผันน้ำของระยะที่ 1 ซึ่งเมื่อรวมกับระยะที่ 2 นี้จะสามารถผันน้ำได้อีกประมาณ 1,978 ล้านลูกบาศก์เมตร เปิดพื้นที่ชลประทานของอ่างเก็บน้ำลำปาวเพิ่มได้อีก 2.2 ล้านไร่ ก่อนจะส่งน้ำลงลำน้ำชี ใช้งบประมาณดำเนินการ 44,615.5 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (2553-2556) ซึ่งโครงการดังกล่าวนอกจากจะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว ยังสามารถขยายผลการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำในบริเวณเขื่อนลำปาวได้อีกด้วย
และสุดท้ายโครงการผันน้ำจากแม่น้ำเมยเข้าสู่เขื่อนภูมิพลปีละ 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะสร้างเขื่อนดักน้ำไว้ในบริเวณแม่น้ำเมย ไม่ให้น้ำไหลลงสู่ แม่น้ำสาละวิน และทำอุโมงค์ผันน้ำเข้าเขื่อนภูมิพล จังหวัดตาก ระยะทางประมาณ 62 กิโลเมตร งบประมาณดำเนินการ 42,000 ล้านบาท ซึ่งน้ำที่ผันมาเข้าเขื่อนภูมิพลนี้จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ให้กับพื้นที่บริเวณภาคเหนือตอนล่าง ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดกำแพงเพชร สุโขทัย และยังลดภาระให้กับเขื่อนสิริกิติ์ ที่เดิมจะต้องส่งน้ำมาให้กับพื้นที่บริเวณดังกล่าวด้วย โครงการนี้จะใช้เวลา 5 ปี นับจากคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการ