"สมัคร"เห็นชอบ 5.8 หมื่นล. ผันน้ำ-ขุดลอกคูคลองทั่วปท.
"สมัคร"เห็นชอบโครงการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง ถึงเขื่อนภูมิพล ค่า 4.3 หมื่น ล. อ้างเพื่อเพิ่มพื้นที่ชลประทาน ผลิตไฟฟ้า ปลูกข้าวอีก 7 แสนตัน ไฟเขียวใช้ 1.5 หมื่น ล. ฟื้นฟูแหล่งน้ำทั่ว ปท. 6,607 แห่ง เล็งจีบจีนร่วมประชุมขุดลอก อธิบดีกรมน้ำตีปีก นายกฯอนุมัติหลักการผันน้ำโขง
นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ที่ห้องสีเขียว ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม
นายสมัครหารือที่ประชุมเกี่ยวกับการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติว่า แม้ประเทศไทยจะมีแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่เป็นจำนวนมาก อาทิ อ่างเก็บน้ำ คู คลอง หนอง บึง กว่า 6,000 แห่งทั่วประเทศ แต่ปัจจุบันแหล่งน้ำเหล่านี้ตื้นเขิน ทำให้การกักเก็บน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค ประชากรต้องอาศัยแหล่งน้ำตามธรรมชาติ จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดดำเนินการจัดทำโครงการขุด ลอก แหล่งน้ำธรรมชาติ โดยหาเจ้าภาพที่ชัดเจน เพื่อสำรวจและศึกษารายละเอียด พร้อมจัดหาอุปกรณ์ เครื่องมือและจัดหางบประมาณในการขุดลอก เพราะถือเป็นโครงการเร่งด่วนที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
นายสมัครกล่าวว่า การเดินทางไปเยือนประเทศจีนปลายเดือนมิถุนายนนี้จะช่วยเจรจากับผู้นำของจีนให้หาผู้เชี่ยวชาญในการขุดลอกแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จโดยเร็ว เพื่อประชาชนจะได้ใช้แหล่งน้ำที่มีอยู่เดิมในเกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจแหล่งน้ำ และให้ฝ่ายเลขาฯศึกษารายละเอียดและขั้นตอนต่างๆ พร้อมจัดหางบประมาณในการดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับแผนการผันน้ำเพื่อน้ำต้นทุนของประเทศ ตามที่กรมทรัพยากรน้ำ เสนอแนวผันน้ำ 4 แนว ประกอบด้วย 1.อ่างเก็บน้ำยวม จ.แม่ฮ่องสอน ตอนล่าง-เขื่อนภูมิพล ผันน้ำจากเขื่อนน้ำยวมตอนล่างไปลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล 2.เขื่อนท่าแซะ-บางสะพาน ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนท่าแซะ จ.ชุมพร ไปยังนิคมอุตสาหกรรม อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ 3.น้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว ผันน้ำจากท้ายเขื่อนน้ำงึม สปป.ลาว ลอดอุโมงค์ใต้แม่น้ำโขงมายังอ่างเก็บน้ำเขื่อนห้วยหลวง และต่อไปยังหนองหาน อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี 4.ฝายปากชม (เขื่อนผามอง)-อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ เป็นการนำน้ำจากฝากปากชม อ.ปากชม จ.เลย แยกไปลงที่ฝายกุมภวาปี และไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น
ขณะที่กรมชลประทาน เสนอแนวผันน้ำ 6 แนว ประกอบด้วย 1.เลย-ชี-มูล เพื่อชักน้ำโขง โดยแรงโน้มถ่วงเข้าแม่น้ำเลย ซึ่งมี 2 แนวคลองผันน้ำคือ ไปยังเขื่อนอุบลรัตน์ และไปทางทิศใต้ เพื่อไปยังลุ่มน้ำชีและมูลตอนบน 2.กก-อิง-น่าน โดยใช้ฝายเชียงราย (มีอยู่เดิม) ทดน้ำไปแม่น้ำอิง-ไปแม่น้ำยาว แล้วผันไปยังอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิริกิติ์ 3.อ่างเก็บน้ำแม่แตง-อ่างเก็บน้ำแม่งัด-อ่างเก็บน้ำแม่กวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้อ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จ.เชียงใหม่ 4.เขื่อนศรีนครินทร์-สะแกกรังและท่าจีน ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ไปยังลุ่มน้ำสะแกกรังและลุ่มน้ำท่าจีน 5.แนวผันน้ำในประเทศในพื้นที่ภาคตะวันออก เพื่อสร้างเครือข่ายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออก โดยการผันน้ำจากลุ่มน้ำข้างเคียงเข้ามาเป็นแหล่งน้ำต้นทุนให้กับพื้นที่ ประกอบด้วย โครงการท่อฉะเชิงเทรา-อ่างเก็บน้ำบางพระ โครงการผันน้ำเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก-อ่างเก็บน้ำบางพระ โครงการปรับปรุงท่อฉะเชิงเทรา-อ่างเก็บน้ำบางพระ โครงการผันน้ำอ่างประแสร์-อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล และโครงการผันน้ำจากจันทบุรีไปยังระยอง (คลองวัดโตนด-อ่างเก็บน้ำประแสร์) 6.เขื่อนรัชชประภา
ต่อมา พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบโครงการบริหารน้ำแห่งชาติเพื่อพัฒนาการเกษตรกรรมและอุปโภค โดยเห็นชอบให้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่าง ถึงเขื่อนภูมิพล วงเงิน 43,898 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1 ล้านไร่ และเพิ่มการกักเก็บน้ำสามารถผันน้ำได้ 2,182 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มน้ำอุปโภคบริโภคได้ 750 ล้านลูกบาศก์เมตร ผลิตไฟฟ้าได้ 558 ล้านหน่วย และสามารถผลิตข้าวได้เพิ่มขึ้น 7 แสนตัน โดยโครงการดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว หลังจากที่ประชุมอนุมัติแล้วจะให้มีการสำรวจและออกแบบรายละเอียด โดยนายกฯจะเข้าไปตรวจดูแผนที่เพื่อศึกษารายละเอียดโครงการ โดยโครงการผันน้ำยวมตอนล่างสู่เขื่อนภูมิพลจะมีระยะทางทั้งสิ้น 200 กิโลเมตร นั้นจะมีทั้งการขุดอุโมงค์การขุดคลองและการยกระดับน้ำ โดยจะมีการขุดอุโมงค์ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร เป็นระยะทาง 61.8 กิโลเมตร
นอกจากนี้ นายสมัครยังเห็นชอบโครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำทั่วประเทศจำนวน 6,607 แห่ง เช่น บึงบอระเพ็ด บึงสีไฟ และแหล่งน้ำอื่นๆ ที่พบว่าแหล่งน้ำอื่นๆ มีการทับถมของตะกอนทำให้แหล่งน้ำมีความตื้นเขิน ซึ่งบางแห่งลึกเพียง 1 เมตรเท่านั้น โดยจะใช้งบประมาณในการดำเนินการทั้งสิ้น 1.5 หมื่นล้านบาท พร้อมกันนี้นายสมัครยังระบุว่า การเดินทางไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อเชิญชวนให้บริษัทเอกชนจากจีนเข้าร่วมโครงการประมูลโครงการขุดลอกคูคลองต่างๆ รวมไปถึงเชิญบริษัททั้งจากประเทศไทยและบริษัทร่วมทุน เข้าร่วมประมูลการขุดลอกแหล่งน้ำในครั้งนี้ ซึ่งจะเป็นการเปิดประมูลแบบนานาชาติด้วย โดยดินที่ได้จากการขุดจะนำไปถมในพื้นที่ลุ่ม นอกจากนี้ ที่ประชุมยังเป็นชอบให้กรมชลประทาน ไปดำเนินการศึกษาโครงการผันน้ำในพื้นที่กลายแห่ง เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำกก แม่น้ำอิง แม่น้ำน่าน โดยให้เร่งศึษาให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์
ทางด้านนายศิริพงศ์ หังสพฤกษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ทส. กล่าวว่า หลังจากกรมเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการชลประทาน ร่วมกับนายสมัคร ล่าสุดนายสมัครเห็นชอบในหลักการแนวทางผันน้ำจากลุ่มน้ำโขงมาใช้ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตามการเสนอแนวผันน้ำงึม-ห้วยหลวง-ลำปาว-ชี แล้ว โดยแผนระยะแรกดำเนินการได้ทันที เนื่องจากใช้ประตูระบายน้ำห้วยหลวง อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ที่มีอยู่แล้ว จากนั้นจะข้ามไปที่หนองหานกุมภวาปี จ.อุดรธานี ในลุ่มน้ำชี ซึ่งกรมได้รับงบฯปรับปรุงหนองหาน 200 ล้านบาท และน้ำจะส่งไปเก็บที่อ่างเก็บน้ำลำปาว จ.กาฬสินธุ์ โดยจะผันน้ำในระยะนี้ได้จำนวน 600 ล้านลูกบาศก์เมตร คาดว่าจะเสนอรายละเอียดพร้อมกับวงเงินระยะแรก 32,108 ล้านบาท ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสัปดาห์หน้า
สำหรับระยะที่ 2 รัฐบาลจะเจรจากับทางการลาวเพื่อผันน้ำจากฝายทดน้ำปากน้ำงึม โดยก่อสร้างอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำโขงเข้าไปที่ห้วยหลวง และกระจายไปตามแนวผันน้ำของโครงการระยะแรก ผันน้ำได้ประมาณ 1,978 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้งบฯ 44,651.5 ล้านบาท ระยะดำเนินการ 4 ปี คาดว่าจะทำควบคู่ไปกับแผนระยะที่ 1 ได้ทันที เนื่องจากมีการออกแบบอุโมงค์ผันน้ำ และแนวทางเรียบร้อย อีกทั้งการทำอุโมงค์ความยาว 1.2 กิโลเมตร ไม่ต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) เพราะไม่เข้าข่ายกฎหมายสิ่งแวดล้อม
"สำหรับการขุดอุโมงค์นั้น จะใช้วิธีการขุดเจาะในเนื้อหินแข็งใต้ลำน้ำโขงต่ำกว่าท้องน้ำมากกว่า 23 เมตร จึงไม่ต้องห่วงว่าจะกระทบต่อตะกอน และขัดขวางทิศทางการไหลของน้ำโขง ที่สำคัญไม่ต้องกังวลว่าจะส่งผลต่อการเกิดปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาค เพราะจากการศึกษากรณีของเขื่อนน้ำงึมตั้งแต่ปี 2515 และประตูห้วยหลวง ที่ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2544 หลังก่อสร้างเสร็จก็ยังมีปรากฏการณ์บั้งไฟพญานาคตามปกติ ขณะที่การผันน้ำในโครงการนี้จะไม่มีการสร้างเขื่อน หรือฝายกั้นแม่น้ำโขงสายหลัก ซึ่งต่างกับการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้า" นายศิริพงศ์กล่าว