'สมิทธ'ยันน้ำโขงแห้งไม่เกี่ยวจีน แต่เพราะโลกร้อน
"สมิทธ ธรรมสโรช" ฟันธงน้ำโขงจีนกักไว้จริงแต่เพื่อทำพลังงานไฟฟ้าแล้วก็ปล่อย ยืนยันไม่เกี่ยวกับเหตุแห้งขอด ด้าน "ปราโมทย์ไม้กลัด" อัดราชการยืดยาด ระบุลำตะคองน้ำน้อย น้ำขาดแคลน แต่ไม่ใช่ภัยแล้ง ...
เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 5 มี.ค. ที่โรงแรมเฮอร์มิเทจ รีสอร์ทแอนด์สปา อ.เมือง จ.นครราชสีมา นายสมิธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อดีตประธานศูนย์เตือนภัยแห่งชาติ เป็นประธานเปิดการโครงการประชุมสัมมนา เตือนภัยแล้ง และแก้ปัญหาแหล่งน้ำ โดยมีนายปราโมทย์ ไม้กลัด รองประธานกรรมการมูลนิธิฯ อดีตอธิบดีกรมชลประทาน บรรยายพิเศษเรื่องทฤษฎีและหลักปฏิบัติการจัดหาน้ำเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง โดยมีนายประหยัด เจริญศรี รองผู้ว่าฯนครราชสีมา ให้การต้อนรับ ร่วมกับนายแพทย์สำเริง แหยงกระโทก นายก อบจ.นครราชสีมา และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง 32 อำเภอเข้าร่วมสัมมนากว่า 150 คน
นายสมิทธ กล่าวว่า คาดการณ์ว่าในฤดูร้อนปีนี้จะยาวนาน อุณหภูมิที่ปกคลุมพื้นที่ในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะสูงผิดปกติ เนื่องจากมีปรากฏการณ์แอลนิโน่ ซึ่งจะเกิดภาวการณ์ขาดแคลนน้ำ เพราะมีการระเหยของน้ำสูงมาก และจะมีผลกระทบต่อการใช้น้ำในการกสิกรรม และเลี้ยงสัตว์ โดยเฉพาะปัญหาที่จะเกิดขึ้นในโอกาสข้างหน้าคือ น้ำสำหรับใช้ในการบริโภคจะมีปัญหามาก เชื่อว่าจะเกิดปัญหาการแย่งน้ำเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ถ้าไม่มีการจัดการที่ดี เพราะน้ำในแม่น้ำโขงก็ดี หรือในแม่น้ำหลักสำคัญของประเทศไทยก็ขาดแคลนและปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆไม่สามารถเก็บกักไว้ได้ในฤดูฝนที่แล้ว
ต่อข้อถามถึงกรณีแม่น้ำโขงแห้งขอดจนเดินข้ามได้น่าจะเกิดจากการที่ประเทศจีนปิดเขื่อนไม่ปล่อยน้ำมาหรือไม่ นายสมิทธ ตอบว่า คงไม่เกี่ยวข้อง เพราะประเทศจีนกักน้ำไว้จริง แต่เขากักน้ำไว้เพื่อทำพลังงานไฟฟ้า เมื่อพลังงานเต็มเขาก็ปล่อยออกมา ฉะนั้นการที่ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลง ไม่ใช่เขื่อนที่ประเทศจีนกัก แต่เป็นผลกระทบจากสภาวะโลกร้อน การละลายของหิมะที่ปกคลุมอยู่ในเทือกเขาหิมาลัยอาจจะมีการละลายรวดเร็วอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นน้ำส่วนหนึ่งก็ไหลลงทะเลไปหมดแล้ว ฉะนั้นเหลือในฤดูแล้งนี้ปริมาณหิมะไม่พอที่จะมาให้ปริมาณของน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การวิธีการแก้ปัญหาก็คือวิธีการขุดสระ ขุดบ่อเก็บกักน้ำไว้ถึงจะมีน้ำไว้อุปโภค บริโภค ไปตลอดฤดูแล้งอันนี้เป็นปัญหาหลักที่เราไม่เคยแก้ไขให้เป็นรูปธรรมเลย
ด้านนายปราโมทย์ กล่าวว่า ปีนี้ภัยแล้งยังไม่แน่ว่าจะแล้งกว่าปี 2547 หรือไม่ แต่แนวโน้มว่าจะเป็นความแห้งแล้งที่มากมายทีเดียว ตนคิดว่าในอนาคตหรือจากนี้ต่อไปการข้างหน้าความแห้งแล้งแบบนี้จะเกิดขึ้นทุกปี มากบ้างน้อยบ้างตามสภาวะเหตุการณ์ของปีนั้นๆ ตนยืนยันได้เลยว่า ประเทศไทยจะไม่พ้นจากสภาวะภัยแล้งหรือความแห้งแล้งนับจากนี้เป็นต้นไป และเป็นเหตุการณ์ที่เกิดประจำประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือ ภาคอีสาน หรือภาคใต้ ทางภาคกลางความแห้งแล้งก็เกิด แต่เพราะมีการทำโครงการพัฒนาแหล่งน้ำไว้ค่อนข้างจะมาก ฉะนั้นก็เลยแก้ไขปัญหาได้ ถ้าเราดำเนินการตั้งแต่วันนี้ในส่วนของอนาคตว่า เราจะแก้ปัญหาความแห้งแล้งหรือภัยแล้งหมู่บ้านชนบทโดยเราเริ่มทำกันปีนี้ ปีหน้าทำปีต่อๆไป 3–4 ปี ก็จะจบ ทุกหมู่บ้านมีน้ำใช้ ทำการเพาะปลูกในหน้าแล้งตามสมควรพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ ทำพืชผักสวนครัว พืชไร่ พืชอายุสั้น ผู้คนในหมู่บ้านในชุมชนมีความสุขในฤดูแล้งไม่มีปัญหาเลย เราก็แก้ปัญหาภัยแล้งได้ ตนสามารถพูดได้เลยว่าไม่สามารถแก้ตามระบบราชการได้ 20–30 ปีก็แก้ไม่จบ
สำหรับกรณีแม่น้ำโขงแห้ง คิดว่าสาเหตุหลักไม่เกี่ยวกับประเทศจีนสร้างเขื่อน จากข้อมูลน้ำในแข่งน้ำโขงทุกวัน มีปริมาณน้ำไหลมาเท่าไหร่ ผ่าน จ.นครพนม 1,400 ลบ.ม.ต่อวินาที ถือว่ามากที่อยู่ในล่องน้ำลึกที่เป็นน้ำ 2 ส่วนระหว่างลาว-ไทย แต่ทำไมมองไม่เห็นน้ำ เพราะแม่โขงกว้างมากและมีล่องน้ำลึก แต่ทีนี้เราไม่มีปัญญาเอามาใช้เอง และผ่าน จ.มุกดาหาร ผ่านโขงเจียม เข้าประเทศลาว กัมพูชาไป การที่จะให้น้ำมันเต็มถึงครึ่งตลิ่งมันเป็นไปไม่ได้ และน้ำผ่าน อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี ไม่น้อยกว่า 1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที เดือน มี.ค.–เม.ย. ดูตามสถิติก็อยู่ประมาณนี้ หรือน้อยกว่านี้บ้างนิดหน่อย และเข้าสู่เวียดนามซึ่งเป็นปลายทาง และการสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำของจีนที่เป็นขั้นบันได้ ทราบว่าสร้างเสร็จไปแล้ว 4–5 เขื่อนได้ เขาสร้างระบบเขื่อนเก็บกักน้ำ เก็บน้ำอุทกภัยโดยเก็บน้ำในหน้าฝนไว้ ทั้งเก็บ ทั้งปล่อยด้วย และมาปล่อยมากๆคือปล่อยหน้าแล้ง เพราะต้องผลิตไฟฟ้า และมันก็จะเพิ่มปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงระดับหนึ่ง เมื่อดูประเทศไทยลุ่มน้ำเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิตติ์ก็ทำหน้าที่เก็บน้ำ เวลานี้น้ำไหลลงเขื่อนทั้งสองแห่งวันหนึ่งไม่เกิน 5 ล้าน ลบ.ม. ถ้าไม่มีเขื่อนก็จะผ่านไป 5 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน กรุงเทพฯไม่พอใช้แน่ แต่เวลานี้ทั้งสองเขื่อนปล่อยน้ำวันละ 50 ล้าน ลบ.ม.เอาน้ำที่เก็บไว้ปล่อยหล่อเลี้ยง ปิง น่าน ปากน้ำโพ แม่น้ำเจ้าพระยา นี้คือระบบเขื่อนเก็บกัก ไม่ได้เก็บไว้ในหน้าแล้ง
นาย ปราโมทย์ กล่าวด้วยว่า อ่างลำตะคอง มีไม่ถึงครึ่งอ่างปีนี้เรียกว่าน้อย แต่เมื่อปลายปี 2547 น้อยกว่ามาก แต่น้ำน้อยปีนี้ไม่ได้ถือว่าเป็นวิกฤติ และการใช้ก็ต้องใช้อย่างเข้มงวดคือเรื่องสำคัญ อย่างกรณีเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนครปีนี้น้อยเหลือ 30% ถือว่าน้อยเป็นประวัติการณ์เท่าที่ผ่านมา หรือเรียกว่าน้อยที่สุดตั้งแต่สร้างเขื่อนมา รวมทั้งลำน้ำพุงเหลือ 20%เหมือนกัน และยังมีอุบลรัตน์ , จุฬาภรณ์ , ลำพระเพลิง ก็น้อย ซึ่งไม่ใช่ของแปลก สำหรับของตน แต่มันเป็นวัฏจักรธรรมชาติ อันนี้มันไม่ใช่เป็นวิกฤติถาวร แต่เป็นวิกฤติบางครั้งบางปี แต่ภัยแล้งในพื้นที่นอกเขตเป็นวิกฤติประจำทุกปี ฉะนั้นพื้นที่ที่มีอ่างเก็บน้ำคอยดูแลถึงจะน้อยยังไงก็มีน้ำ ฉะนั้นปีไหนน้ำน้อยก็จะต้องบริหารจัดการน้ำที่ดีให้สิทธิขาด ให้มันผ่านเหตุการณ์ไปให้ได้.