สนั่น บรรหาร ความคิดไม่เปลี่ยน ไม่ดูข้อมูลทั้งลุ่มน้ำ ไม่มองทางเลือกอื่น

fas fa-pencil-alt
สายัณน์ ข้ามหนึ่ง-องค์กรแม่น้ำเพื่อชีวิต
fas fa-calendar
26 สิงหาคม 2554

เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2554 ที่ผ่านมานายสนั่น ขจรประศาสน์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เดินทางไป แจกถุงยังชีพที่ ต.หอไกร อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ได้กล่าวระหว่างการแจกถุงยังชีพว่าจะดันสร้าง “เขื่อนแก่งเสือเต้น” ให้ได้ และบอกว่านายกยิ่งลักษณ์ ไม่รู้เรื่อง ไปฟังคนอื่นแนะ



สิ่งที่นายสนั่นทำมาโดยตลอดคือการหนุนสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น โดยอ้างเรื่องน้ำท่วม น้ำแล้ง และป่าไม่มีเหลือแล้ว แต่นายสนั่นไม่เคยรู้เรื่องสภาพของลุ่มน้ำยม หรือแม้แต่แม่น้ำน่านที่ไหลผ่านจังหวัดตัวเองเลย เห็นแต่ก้อนน้ำที่ไหลผ่านจังหวัดตนเอง และคิดที่จะทำอย่างไรให้จังหวัดตัวเองรอดจากน้ำท่วม จึงต้องทำอะไรก็ได้ที่จะแก้น้ำท่วมให้ได้แบบเด็ดขาด แต่ไม่เคยรู้เลยว่าปริมาณน้ำที่ท่วมเหล่านี้มาจากที่ใดบ้าง ปริมาณเท่าไร

นอกจากนายสนั่นแล้วยังมีอดีตนายก อย่างนายบรรหาร ออกมาหนุนแก่งเสือเต้นอย่างสุดตัว สนับสนุนอยู่ 2-3 วัน ก็เริ่มเสียงอ่อน บอกว่าคงยากที่จะสร้างได้สำเร็จเพราะมีคนค้านเยอะ คงต้องเลือก เขื่อนยมบน ยมล่างแทน ชาวบ้านจะไม่ได้ค้าน กลยุทธ์แบบนี้ ลอกแบบมาจากนายสนั่น เมื่อครั้งรัฐบาลที่แล้ว เพื่อสร้างทางเลือกให้สังคมคล้อยตาม เพราะไม่เลือกเขื่อนขนาดยักษ์แต่เลือกเขื่อนขนาดใหญ่ 2 เขื่อนแทนดีกว่า โดยอาศัยโอกาสที่คนในสังคมทั่วไปไม่รู้ข้อมูลทั้งหมด คนทั่วไปก็จะบอกว่าดีแล้วชาวสะเอียบจะได้ไม่ต้องอพยพ รัฐบาลสร้างทางเลือกให้แล้ว แต่เอาเขาจริงเขื่อนยมบน ยมล่าง ก็คือแก่งเสือเต้นแยกร่างเป็นสองเขื่อน ก่อสร้างในพื้นที่เดียวกัน เขื่อนยมล่างสันเขื่อนสูงประมาณ 50 เมตร หรือประมาณตึก 17 ชั้น จุน้ำได้ประมาณ 500ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บน้ำท่วมป่าสักทองและที่ทำกินของชาวสะเอียบ เขื่อนยมบน ก็คือหางของเขื่อนแก่งเสือเต้นเดิม ซึ่งท่วมไปจนถึงอำเภอเชียงม่วนอีก 11 หมู่บ้าน ความสูงสันเขื่อนประมาณ 30เมตร ประมาณตึก 10 ชั้น จุน้ำได้ประมาณ 250 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกเหนือไปจากนั้นใช้งบมากกว่าแก่งเสือเต้น

ทั้งนายสนั่นและนายบรรหารก็ไม่ต่างกันคือทำยังไงก็ได้ขอให้ได้สร้าง เพื่อรอรับเหมาก่อสร้าง เพื่อให้ได้สัมปทานป่าสักทอง ไม่เคยมองว่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้จริงหรือไม่

วาทะกรรมที่ทั้งสองคนพูดทั้งเรื่องเขื่อนยมบน ยมล่าง ให้เป็นทางเลือกแทนแก่งเสือเต้น ได้ทำให้ อดีตนายกนายอภิสิทธิ ยังคล้อยตามถึงขั้นเอ่ยปากเห็นด้วย ทั้งที่จริงแล้วอดีตนายกอภิสิทธิยังไม่รู้เลยว่าเขื่อนยมบน ยมล่างอยู่ตรงไหนของลุ่มน้ำยม การสร้างกระแสแบบนี้เป็นการวางหมากของทั้งสองตั้งแต่มีการศึกษาของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่เสนอทางเลือกนี้เมื่อ 2-3 ปีก่อน ตามที่กรมชลประทานว่าจ้างให้ศึกษาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้ง ผลที่ออกมาจึงมีแค่เขื่อนแก่งเสือเต้นขนาดยักษ์ 1,175 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเขื่อนขนาดใหญ่ อย่างยมบน ยมล่าง โดยไม่มีทางเลือก อื่นๆ เลย

เขื่อนเดียวยังไม่พอ อยากได้เพิ่มเป็นสองเขื่อน

เขื่อนยมบน ยมล่าง คือแก่งเสือเต้นแยกร่างเป็นสองเขื่อน เขื่อนยมบนจะสร้างเหนือบริเวณหมู่บ้านแม่เต้น ส่วนเขื่อนยมล่างจะขยับลงมาด้านล่างใต้บริเวณจุดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น อีกประมาณ 10กิโลเมตร โดยระดับเก็บกักน้ำปกติ ของเขื่อนยมล่างอยู่ที่ 230 ม.รทก. ซึ่งระดับกักเก็บน้ำก็ท่วมถึงพื้นที่ป่าสักทอง เหมือนเดิม ส่วนเขื่อนยมบน ระดับกักเก็บที่ 258 ม.รทก. เท่ากับเขื่อนแก่งเสือเต้นเดิม ที่สำคัญ 2เขื่อนนี้ใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นซะด้วยซ้ำ คือ 14,000 ล้านบาท (ใช้งบประมาณมากกว่าเขื่อนแก่งเสืเต้นพันกว่าล้านบาท)

สิ่งที่นายบรรหารอยากได้จากแก่งเสือเต้น และ ยมบน ยมล่าง

นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี คนจังหวัดสุพรรณ ก่อนลงเล่นการเมืองได้ร่วมกับพี่ชายก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้าง และเป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้กับการประปาส่วนภูมิภาค จนมีฐานะร่ำรวย นายบรรหารคือบุคคลสำคัญที่ร่วมผลักดันการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นมาโดยตลอด ในช่วงที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเขาคือผู้ที่ประกาศตัวอย่างชัดเจน ทำไมนายบรรหารถึงอยากสร้างเขื่อน เป็นคำถามที่หลายคนถามมาโดยตลอด นอกเหนือไปจากการการลงเล่นทางการเมืองแล้วธุรกิจสำคัญที่สร้างรายได้อย่างมหาศาล คือ บริษัทรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่ บริษัท สหะศรีชัยก่อสร้าง บริษัท ช.การช่าง มีความเชี่ยวชาญด้านรับเหมาก่อสร้างทั่วไป แต่สิ่งที่บริษัทรับเหมาแห่งนี้มีไม่เหมือนใครคือ การผูกขาดทางการเมือง หน่วยงานของรัฐ และเทคโนโลยีทางด้านฐานรากขนาดใหญ่ของโครงสร้างต่างๆ รวมไปถึงการสร้างเขื่อนทั้งหมดของประเทศไทย ดังนั้นโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่หรือเขื่อนที่สร้างในประเทศไทย บริษัทนี้เหมาเรียบ เพราะมีการลงทุนที่มีเม็ดเงินมหาศาล ซึ่งเป็นผลกำไรที่ดีของบริษัท

สิ่งที่นายสนั่นอยากได้จากสถานการณ์น้ำท่วมและกระแสการคัดค้านแก่งเสือเต้น

หัวหน้าชลประทานจังหวัดพิจิตร ตัวจริงหนีไม่พ้น นายสนั่น โครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างต่างๆ ที่เกี่ยวกับงานแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ในพื้นที่จังหวัดพิจิตรและใกล้เคียง เขาคือผู้ผลักดันเกือบทั้งหมด รวมถึงมวลชนชาวนาที่พร้อมปิดถนนเรื่องราคาข้าว สิ่งที่เขาต้องรักษาคือฐานเสียงชาวนา สิ่งที่ชาวนาต้องการคือน้ำทำนาปีละสามครั้งอย่างเพียงพอ และน้ำไม่ท่วมนา ดังนั้นจึงต้องหนุนแก่งเสือเต้นอย่างสุดตัว ความต้องการสูงสุดคือรักษาฐานเสียงของตนเอง สิ่งที่น่าเห็นใจคือชาวบ้าน ชาวนาที่ต้องฝากความหวังกับนักการเมืองที่ไม่ได้ตั้งใจแก้ปัญหาให้พี่น้องอย่างเต็มที่ ใช้ความเชื่อของตัวเอง และใช้การเมืองนำหน้ามากกว่าแก้ปัญหา

เขื่อนแก้ไขปัญหาได้จริงหรือ

ตัวอย่างของลุ่มน้ำน่าน คือ มีพื้นที่น้ำท่วมสองฝั่งของลุ่มน้ำน่านในหลายจังหวัดเนื่องจากปริมาณน้ำฝนที่ตกมีทั้งเหนือเขื่อนและใต้เขื่อนปริมาณที่มากพอๆ กัน จึงส่งผลให้เกิดน้ำล้นตลิ่งท่วมตั้งแต่เริ่มมีฝนตก สถานการณ์ปริมาณน้ำ ณ วันนี้ยังมากขึ้นเนื่องจากเขื่อนสิริกิติ ต้องปล่อยน้ำออกเพื่อรักษาตัวเขื่อน มวลน้ำเพิ่มขึ้น ไหลลงมาสมทบกับปริมาณน้ำที่ท่วมอยู่แล้ว จึงมีน้ำท่วมในระดับเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างลุ่มน้ำวัง บริเวณบ้านตาก มีน้ำท่วมพื้นที่ทางการเกษตรของชาวบ้าน ซึ่งแม่น้ำวังมีเขื่อนกิ่วคอหมา และเขื่อนกิ่วลม แต่ในปีนี้ฝนตกใต้เขื่อนเป็นจำนวนมาก ทำให้มีปริมาณน้ำท่วมบริเวณปากแม่น้ำวังที่จะไหลลงแม่น้ำปิงเป็นพื้นที่กว้าง

ตัวอย่างลุ่มน้ำยม พื้นที่แก้มลิงทุ่งทะเลหลวงของจังหวัดสุโขทัยน้ำได้ล้นตลิ่งไหลลงไปท่วมชาวบ้านรอบทุ่งทะเลหลวง ที่จากเดิมพื้นที่เหล่านี้ไม่มีน้ำท่วมมากนักจนถึงขั้นวิกฤต แต่ในปีนี้ท่วมเป็นวงกว้าง เนื่องจากการออกแบบและกำหนดพื้นที่แก้มลิงที่ผิดพลาด และระบบการระบายน้ำในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยก็ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะหน่วยงานราชการและเอกชนได้ถมที่ปิดกั้นลำรางสาธารณะไปหมดแล้ว

ตัวอย่างลุ่มน้ำปิง ทางเหนือเขื่อนภูมิพล เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมจังหวัดแม่ฮ่องสอน ขณะที่ใต้เขื่อนทางจังหวัดตากน้ำก็ท่วมเช่นกัน นั่นเป็นเพราะฝนที่ตกกระจายตัวไปทั่วภาคเหนือ มิได้ตกลงเฉพาะในอ่างเขื่อนที่สร้างไว้แล้วเท่านั้น

ในลุ่มน้ำที่มีเขื่อนอยู่แล้วยังมีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นตลอด เขื่อนจึงไม่ใช่แนวทางแก้ไขปัญหาที่คลอบทุกทาง มันเป็นความผิดพลาดที่ต้องได้รับการทบทวน มากกว่าการทำซ้ำให้เกิดปัญหามากขึ้น ชาวบ้านสะเอียบเสนอทางเลือกในการจัดการน้ำ ขนาดกลาง ขนาดเล็กในลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำยม เพื่อแก้ปัญหาเรื่องน้ำในระดับพื้นที่ มากกว่าการเสนอการสร้างเขื่อนใหญ่ที่ทำลายป่า และสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนวิธีคิดการมองแม่น้ำว่าเป็น H2O แบบฝรั่ง หรือการมองน้ำที่ไหลลงทะเลอย่างเปล่าประโยชน์ของนักวิชาการหลายคนคอยบอก แม่น้ำไม่เคยไหลลงทะเลอย่างเปล่าประโยชน์ แต่ได้ให้อะไรมากมายตามรายทางที่ไหลผ่าน ทุกวันนี้หลายคนมองเรื่องน้ำท่วมเป็นภัยพิบัติ แต่สำหรับผมมันคือ ฤดูกาลที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนตามฤดูกาลของมัน ฤดูแล้งอยากมีน้ำเยอะๆ ฤดูฝนไม่อยากให้มีน้ำท่วม สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มเปลี่ยนที่ตัวคนมากกว่า รวมถึงนักการเมืองทั้งหลายต้องเลิกเอาการตัดสินใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่มองทางเลือกอื่น ๆ

ดังนั้น นายสนั่น และนายบรรหาร ควรเปลี่ยนความคิดได้แล้ว ต้องมองภาพปัญหาน้ำ ปัญหาทรัพยากรทั้งลุ่มน้ำ และต้องเปิดใจในแนวทางการแก้ไขปัญหาทางเลือกอื่นๆ อย่างเปิดกว้าง มากกว่าการ ดันเขื่อนแก่งเสือเต้นแก่งเสือเต้น หรือเขื่อนยมบน ยมล่าง เท่านั้น

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง