สภาที่ปรึกษาฯชี้ช่อง ป.ป.ช.สอบเขื่อนฉาว
มึนสารพัดปัญหาสุม"บางปะกง"
สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจฯ ส่งสัญญาณเตือนรัฐบาล ถึงความไม่ชอบมาพากล ในโครงการ สร้างเขื่อนบางปะกง ก่อนอนุมัติงบแก้ไขตลิ่งพัง 1.5 พันล้าน เผยสะท้อนความล้มเหลว การจัดเก็บน้ำ จนท.เห็นแก่ทุนนอก ที่เข้าช่วยเหลือ โดยลืมปัญหา ที่จะตามมา เดินหน้าสอบ การใช้งบย้อนหลัง พร้อมเปิดช่อง ป.ป.ช. และส.ส.เข้าไปตรวจสอบ
สำนักงานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดประชุมคณะทำงานศึกษาและติดตามการดำเนินงานโครงการเขื่อนทดน้ำบางปะกง หลังลงพื้นที่ศึกษาดูงานพบเกิดความผิดพลาดจริง สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการจัดการน้ำอย่างชัดเจน
นายชนะ รุ่งแสง ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวยอมรับในที่ประชุมว่า เขื่อนบางปะกงมีปัญหาจริง เพราะสร้างเสร็จและมีการปิด-เปิดบานระบายน้ำเพื่อทดลองใช้งานตั้งแต่เดือนมกราคม 2543 แต่จนถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว เขื่อนก็ยังไม่สามารถใช้งานได้ ดังนั้นในฐานะที่สภาที่ปรึกษาฯเคยเข้าไปศึกษาปัญหาดังกล่าว จำเป็นต้องเข้าไปตรวจสอบว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้งบประมาณในโครงการสร้างเขื่อนว่ามีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลหรือไม่
"โครงการนี้งบประมาณที่ใช้ในโครงสร้างพื้นฐานมูลค่า 1,970 ล้านบาท ไม่มีปัญหา ตัวอาคารไม่มีปัญหาอะไรเลย เพียงแต่ยังไม่มีประสิทธิผล คือ ยังไม่สามารถเดินเครื่องได้ เพราะทดลองปิดบานระบายน้ำแล้วเกิดปัญหาดินบริเวณริมตลิ่งทรุดตัว" นายชนะ ระบุ
ประธานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวอีกว่า สำหรับการเข้าไปตรวจสอบการใช้งบประมาณในการสร้างเขื่อนบางปะกงนั้น จะตรวจสอบตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่แผนฯ8 ในปี 2540-2544 และแผนฯ9 ซึ่งเริ่มใช้ในปี 2545-2549 โดยเขื่อนบางปะกงจะเป็นกรณีศึกษาแรกที่สภาฯ จะใช้เป็นแนวทางในการตรวจสอบการใช้งบประมาณก่อสร้างโครงการของรัฐแต่ละ โครงการ ว่าคุ้มค่าหรือไม่
"การตรวจสอบการใช้งบประมาณย้อนหลังตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯของคณะทำงาน จะไม่ชี้ถูกหรือชี้ผิดว่า ใครคอรัปชั่นหรือไม่ และไม่เกี่ยวกับการเมือง แต่เป็นการนำปัญหาที่เกิดขึ้นมาตรวจสอบว่า เหตุใดจึงเป็นอย่างนี้ เขื่อนบางปะกงยังต้องการน้ำจากอ่างเก็บน้ำสาขา ซึ่งตามแผนที่ไจก้าศึกษาต้องสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 8 อ่าง ตรงนี้เราจะต้องดูว่า หากสร้างต่อไปจะกระทบอย่างไร หากไม่สร้างจะมีผลอย่างไร จะต้องใช้งบประมาณเท่าใดในการแก้ปัญหา เพราะสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันไม่เอื้อให้นำงบมาใช้อย่างไร้ประโยชน์อีกแล้ว" นายชนะ กล่าว
ด้านนางวงจันทร์ วงศ์แก้ว คณะทำงานสภาที่ปรึกษาฯ กล่าวเสริมว่า ไม่ต้องการเห็นประเทศไทยไปผูกขาดกับเงินช่วยเหลือของต่างประเทศ หรือให้ต่างประเทศมากำหนดทิศทางการใช้ทรัพยากรของประเทศไทย โดยเฉพาะการใช้น้ำ เขื่อนบางปะกง เป็นตัวอย่างที่สะท้อนให้เห็นความล้มเหลวในการจัดการน้ำอย่างชัดเจน เพราะสร้างเขื่อนแล้วก็จะต้องสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 8 อ่าง ซึ่งหากมีการก่อสร้างอ่างต่างๆ เหล่านี้ก็จะมีผลกระทบเกิดขึ้นอีก
"เคยถามเจ้าหน้าที่กรมชลว่า ทำไมต้องสร้างเขื่อนนี้ เขาก็บอกว่าต้องเร่งสร้างเพราะว่าไจก้าให้ทุน แล้วเขื่อนนี้ก็อนุมัติในสมัย พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี เขื่อนนี้สะท้อนให้เห็นระบบอุปถัมป์ทั้งหมด การจัดการทรัพยากรน้ำไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อน แต่ควรจะเป็นการขุดแม่น้ำ หรือขยายลำน้ำเพื่อเก็บกักน้ำมากกว่าที่จะโค่นป่าเพื่อสร้างเขื่อน" หนึ่งในคณะทำงานผู้นี้กล่าว
ขณะที่นายอำนวย ทงก๊ก คณะทำงานที่ปรึกษาฯอีกผู้หนึ่ง มองว่า หากมีสร้างอ่างเก็บน้ำตามที่ไจก้าเคยศึกษาไว้ อีก 8 อ่างเก็บน้ำคือ โครงการคลองระบม โครงการคลองพระปรง โครงการคลองสียัด โครงการคลองพระสะทึง โครงการห้วยไคร้ โครงการคลองใสน้อย-ใสใหญ่ โครงการห้วยสโมง และโครงการลำพระยาธาร ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองพระปรง เพื่อนำน้ำส่งมายังเขื่อนบางปะกง คือชาวบ้าน จ.สระแก้ว ที่อาศัยอยู่ในเขตกิ่งอำเภอวังสมบูรณ์ และอำเภอวังน้ำเย็น ซึ่งขณะนี้ไจก้าศึกษาเสร็จแล้ว
"สร้างหรือไม่สร้างปัญหาความเสียหายต้องเกิดขึ้นแน่ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด แล้วก็มีหลายทางออกในการแก้ไขปัญหา อย่างอ่างแควระบม สร้างเสร็จไปแล้วและก็ผลาญป่าไม้ไปพอสมควร ในส่วนของเขื่อนบางปะกงนั้น ตอนนี้ไม่ต้องถามว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น เพราะปัญหาเกิดขึ้นตลอดริมน้ำบางปะกง จะแก้ปัญหาอย่างไร เหนือเขื่อนก็มีโรงงานอุตสาหกรรมไปตั้งอยู่ ท้ายเขื่อนก็มีฟาร์มหมู นากุ้ง อยากถามว่า เขื่อนบางปะกงมีปัญหาแล้วยังจะสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาอีกหรือไม่" นายอำนวย กล่าว
นายอำนวย กล่าวว่า การใช้งบประมาณก่อสร้างโครงการใดๆ ก็ตาม ควรจะใช้แบบมีเป้าหมายไม่ใช่ใช้ไปแล้วไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย หรือแม้แต่การตั้งงบประมาณขึ้นมาศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมภายหลังจากที่เขื่อนสร้างเสร็จแล้ว โดยส่วนตัวแล้วขอย้ำว่าไม่เคยไว้ใจอธิบดีกรมชลประทานคนไหนเลย กรมชลฯ กำลังใช้เงินอย่างเละเทะ ในการจ้างบริษัทที่ปรึกษาหลายบริษัท ไม่ทราบว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสียอยู่เบื้องหลังหรือไม่
อย่างไรก็ตาม การใช้งบของกรมชลฯไม่อยากให้ติดตามเฉพาะเรื่องการใช้งบฯแก้ปัญหาเขื่อนบางปะกงอย่างเดียว แต่อยากให้คณะทำงานช่วยกันจับตาดูการใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจที่กรมชลฯกำลังจะนำมาใช้ในปีงบประมาณนี้ด้วย
ส่วนนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ คณะทำงานศึกษาและติดตามการดำเนินงานโครงการเขื่อนบางปะกง สรุปว่า คณะทำงานของสภาพัฒน์จะแบ่งเป็น 2 ชุด ชุดแรกจะรวบรวมข้อมูลย้อนหลังเพื่อตรวจสอบการใช้งบประมาณตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 8 และ 9 ส่วนชุดที่ 2 จะรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงเพื่อกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหา โดยจะใช้ระยะเวลาในการศึกษาและตรวจสอบปัญหาเป็นระยะเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม-และจะแล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม2545
สำหรับการตรวจสอบการใช้งบประมาณของกรมชลนั้น เขา บอกว่า ทางคณะทำงานของสภาฯ จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องแต่จะต้องขอกรอบร่างทีโออาร์ของกรมชลมาดูว่า ได้ว่าจ้างบริษัทใดบ้างและใช้งบประมาณจำนวนเท่าไหร่ และเนื้องานกับเม็ดเงินที่จ่ายไปนั้นมีความเหมาะสมเพียงใด
"จะไม่มีการชี้ถูกผิดว่าใครคอรัปชั่นหรือไม่ แต่ทำได้เพียงส่งสัญญาณเตือนไปยังคณะรัฐมนตรีว่า อาจจะมีการใช้งบประมาณอย่างไม่ถูกต้องเช่น เขื่อนบางปะกงสร้างแล้วใช้งานยังไม่ได้ แต่ว่ากลับตั้งงบประมาณป้องกันตลิ่งพังไว้ในโครงการเลย 1,500 กว่าล้านตรงนี้สภาที่ปรึกษาคงทำอะไรไม่ได้ แต่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) หรือ ส.ส.สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ตรงนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องระวัง" นายสังศิต กล่าว