สร้างเขื่อนสาละวินในพม่า ซื้อไฟฟ้าแถมผู้ลี้ภัย
ขณะที่ปัญหาเขื่อนปากมูลยังรู้จะว่าจะลงเอยอย่างไร ข่าวการสร้างเขื่อนสาละวินถึงสองแห่งในเขตประเทศพม่าและบริเวณชายแดนไทย – พม่าซึ่งเงียบหายไปนานหลายปีก็เริ่มแว่วชัดเจนมากขึ้น คราวนี้ ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตบอกว่า คราวนี้ไม่มีปัญหาเรื่องคนจะออกมาประท้วงแน่ ๆ เพราะประเทศพม่ายังไม่มีเสรีภาพเหมือนประเทศไทย และไม่มีเอ็นจีโอคอยยุยงส่งเสริม หลังจากคำนวนต้นทุนและไฟฟ้าที่ได้ในขณะนี้พบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินอยู่ที่ราคา 90 สตางต์ต่อหน่วยเท่านั้น ช่วยประหยัดต้นทุนค่าไฟได้ปีละ 30,000 ล้านบาทเลยทีเดียว คนไทยส่วนใหญ่ที่ได้ฟังข้อมูลดังกล่าวคงรู้สึกอยากสนับสนุนให้สร้างเขื่อนสาละวินเต็มที่เพราะ ดูเหมือนไม่มีปัญหาและอุปสรรคใด ๆ ขวางกั้น แต่สำหรับคนที่ติดตามปัญหาของประเทศพม่าอย่างต่อเนื่องจะพบว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าจากเขื่อนสาละวินไม่ได้มีเพียงเท่านั้น และหากคิดคำนวนให้ถ้วนถี่จะพบว่า ค่าไฟฟ้าที่ได้จากการสร้างเขื่อนสาละวินอาจแพงกว่าเขื่อนทุกเขื่อนที่เคยสร้างในประเทศไทย เพราะยังมีค่าดูแลรักษา “ผู้ลี้ภัย” จากการสร้างเขื่อนที่รัฐบาลทหารพม่ามอบให้ และไม่มีใครตอบได้ว่าจะต้องจ่ายค่าดูแลนี้หนักหนาและนานเท่าใด
โครงการเขื่อนสาละวินทั้งสองแห่งที่กำลังพูดถึงในขณะนี้ คือ โครงการเขื่อนท่าซาง ตัวเขื่อนแม่และเขื่อนลูก (เนื่องจากทั้งสองโครงการใช้เทคโนโลยีผลิตไฟฟ้าแบบสูบน้ำจากเขื่อนด้านล่างกลับขึ้นไปใช้ใหม่ แต่ละโครงการจึงต้องสร้างเขื่อนสองเขื่อนควบคู่กัน คือ เขื่อนแม่และเขื่อนลูก ) กั้นแม่น้ำสาละวินบริเวณท่าเรือท่าซาง ตอนใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า ห่างจากชายแดนไทยด้านจังหวัดเชียงใหม่ประมาณ 130 กิโลเมตร มีบริษัท MDX บริษัทสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าเอกชนของไทยเป็นเจ้าของโครงการร่วมกับรัฐบาลพม่า เริ่มดำเนินโครงการในปี 2541 กำลังการผลิตรวมประมาณ 3,300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือหนึ่งแสนสองหมื่นล้านบาท
โครงการที่สองมีชื่อว่า โครงการเขื่อนสาละวินตอนบนและล่าง กั้นแม่น้ำสาละวิน บริเวณอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าของโครงการร่วมกับรัฐบาลพม่า โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำบนแม่น้ำเมย - สาละวินระหว่างชายแดนไทย - พม่า เมื่อปี 2532 และมีบริษัทผลิตไฟฟ้าเอกชนและกระทรวงการคลังของญี่ปุ่น (Electric Power Development Company หรือ EPDC) เป็นผู้ทำการศึกษา ผลการศึกษา เสนอให้สร้างกั้นแม่น้ำเมยและสาละวินระหว่างชายแดนไทย – พม่าทั้งหมด 8 เขื่อน แบ่งออกเป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำเมย 6 เขื่อน และแม่น้ำสาละวิน 2 เขื่อน คือ เขื่อนสาละวินตอนบนกำลังการผลิต 4,540 เมกะวัตต์ และเขื่อนสาละวินตอนล่าง กำลังการผลิต 792 เมะกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งหมดประมาณ 5,000 เมกกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนอย่างต่ำ 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือ สองแสนล้านบาท
เนื่องจากแต่ละโครงการต้องสร้างเขื่อน 2 เขื่อน คือ เขื่อนแม่และเขื่อนลูก พื้นที่ที่จะถูกน้ำท่วมจึงมีจำนวนมากเป็นสองเท่ากว่าเขื่อนทั่วไป ซึ่งหมายความว่า ผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจะต้องเพิ่มมากเป็นสองเท่าด้วยเช่นกัน
โครงการเขื่อนท่าซาง ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนใต้ของรัฐฉาน ประเทศพม่า จะทำให้เกิดน้ำท่วมผืนป่าเชียงตอง ผืนป่าดั้งเดิมและอุดมสมบูรณ์มากที่สุดแห่งหนึ่งในรัฐฉาน รวมทั้งเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวไทยใหญ่ และกลุ่มชาติพันธุ์อื่น ๆ นับสิบชาติพันธุ์ ซึ่งตั้งบ้านเรือนตลอดฟากฝั่งแม่น้ำสาละวินและอาศัยแม่น้ำสายนี้หล่อเลี้ยงชีวิตมาหลายชั่วอายุคน ส่วนโครงการเขื่อนสาละวินตอนบนและล่าง ซึ่งกั้นแม่น้ำสาละวินบริเวณชายแดนไทย-พม่าจะทำให้เกิดน้ำท่วมเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสาละวิน ของประเทศไทย และบ้านเรือนของกลุ่มชนชาติกระเหรี่ยงแดง หรือคะเรนนี ในรัฐคะยาห์ และชนชาติกะเหรี่ยง ในรัฐกะเหรี่ยง
ปัญหาสำคัญของการสร้างเขี่อนสาละวิน ที่นอกเหนือไปจากเขื่อนที่เคยสร้างในประเทศไทย คือ ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลเผด็จการทหารพม่าต่อกลุ่มชนชาติส่วนน้อย ซึ่งตลอดเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ประเทศพม่าเป็นประเทศที่มีถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยรัฐบาลเผด็จการทหารมากที่สุดในโลก และผู้ได้รับผลกระทบสืบเนื่องจากปัญหานี้มาตลอด คือ ประเทศไทย เห็นได้จากจำนวนค่ายผู้ลี้ภัยและผู้ลี้ภัยหลายแสนคนตลอดชายแดนไทย – พม่า รวมไปถึงแรงงานอพยพจากประเทศนับล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เข้ามาทำงานในเมืองไทยด้วยผลสืบเนื่องมาจากปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง ในประเทศบ้านเกิดของตน
ปัจจุบัน ผลพวงจากปัญหาผู้ลี้ภัยและแรงงานอพยพนับล้านคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยกำลังปรากฎชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสาธารณสุข ปัญหาอาชญากรรม และปัญหาเด็กไร้สัญชาติ ซึ่งจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่คนไทยต้องแบกรับตลอดไป แม้ว่าวันข้างหน้าประเทศพม่าจะยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนแล้วก็ตาม เพราะเด็ก ๆ เหล่านี้เกิดและเติบโตในเมืองไทย การกลับไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศพม่าจึงไม่ใช่เรื่องง่าย และหากประเทศไทยไม่เปิดโอกาสทางการศึกษาอย่างเหมาะสม โอกาสที่เด็กจะเติบโตและก่อปัญหาให้กับสังคมไทยในอนาคตก็จะเพิ่มมากขึ้น ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ลี้ภัยจึงมากมายมหาศาล และอาจมากกว่าเขื่อนใด ๆ ในประเทศไทยม
ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่หลายคนแสดงความเป็นห่วงคือ การข่มขืนผู้หญิงไทยใหญ่และชนชาติส่วนน้อยในพื้นที่ที่จะมีการสร้างเขื่อน เพราะการสร้างเขื่อนจะทำให้ทหารพม่าเข้ามาในพื้นที่นี้เพิ่มมากขึ้น และจากรายงาน “ใบอนุญาตข่มขืน” ซึ่งจัดทำโดยกลุ่มกิจกรรมผู้หญิงไทยใหญ่ (Shan Woman's Action Network หรือ SWAN) และมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทยใหญ่ (Shan Human Rights Foundation) เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พบว่าสถานที่ซึ่งผู้หญิงมากกว่าครึ่งหนึ่งของเหตุการณ์ข่มขืนโดยทหารพม่า 173 เหตุการณ์ เกิดขึ้นบริเวณใกล้เคียงกับที่ตั้งของเขื่อนท่าซาง ตัวแทนจากกลุ่มกิจกรรมผู้หญิงไทยใหญ่เล่าว่า เหตุการณ์ล่าสุดที่ได้รับรายงานเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมา คือ ผู้หญิง 3 คนข่มขืนและฆ่า พร้อมกับชาย 5 คน โดยทหารพม่ากองพันทหารราบเบาที่ 502 ในหมู่บ้านตองควายห่างจากสะพานท่าซางไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ 15 ไมล์ ปัจจุบัน พื้นที่แห่งนี้มีทหารเข้ามาในพื้นที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ
ตัวแทนจากกลุ่ม Salween Watch องค์กรซึ่งติดตามสถานการณ์การสร้างเขื่อนสาละวินอย่างต่อเนื่องกล่าวถึงสถานการณ์ล่า สุดเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมาว่า
“ปัจจุบันบริเวณใกล้กับที่ตั้งเขื่อนท่าซางมีทหารพม่าประจำการอยู่อย่างน้อย 17 กองพันทหารราบ จำนวน 6 กองพันเคลื่อนย้ายเพิ่งเข้ามาใหม่ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีกองกำลังทหารพม่าเข้ามาประจำการแต่อย่างใด ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้ได้ถูกพัฒนาให้เป็นศูนย์บัญชาการของทหารพม่าในพื้นที่ การสร้างถนนและการตัดไม้ในพื้นที่เหล่านี้ ทำให้ทหารพม่าเข้ามาเสริมกำลังทหารมากขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ขณะนี้พื้นที่ป่าลดลงเรื่อย ๆ เป้าหมายอย่างหนึ่งของการตัดไม้ให้เตียนโล่ง คือ การป้องกันไม่ให้ชาวบ้านไทยใหญ่ซึ่งอาศัยอยู่ตามราวป่าส่งเสบียงให้กับกองกำลังไทยใหญ่ นอกจากนี้ทหารพม่ายังรบังคับให้ชาวบ้านโยกย้ายออกจากพื้นที่สร้างเขื่อนไปอยู่ในเขตควบคุมของทหาร และถอนชื่อชาวบ้านออกจากทะเบียนประชากรในพื้นที่ ซึ่งหากรัฐบาลพม่าดำเนินการสร้างเขื่อน คนกลุ่มนี้ก็จะไม่ได้ค่าชดเชยใด ๆ เลย”
หลังจากบริษัท MDX และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตออกมาให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนว่าจะผลักดันให้มีการสร้างเขื่อนทั้งสองแห่งอย่างแน่นอน ตัวแทนเครือข่ายองค์กรพันธมิตรคัดค้านเขื่อนสาละวิน 69 องค์กรจากประเทศไทยและประเทศพม่าจึงเดินทางไปยื่นแถลงการณ์คัดค้านการสร้างเขื่อนสาละวินต่อนายไกรศักดิ์ ชุณหวัณ ประธานกรรมมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2545
องค์กรส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมการคัดค้านครั้งนี้ คือ องค์กรการเมืองและประชาชนจากประเทศพม่า หนึ่งในองค์กรสำคัญ คือ องค์กร National League for Democracy (Liberated Area) ของนางอองซานซูจี ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ได้ชัยชนะการเลือกตั้งเมื่อปี 1990 แต่ถูกรัฐบาลทหารชุดปัจจุบันทำการยึดอำนาจ องค์กร National Council of the Union of Burma ซึ่งองค์กรพันธมิตรทางการเมืองในประเทศพม่า 37 องค์กร และองค์กร National Democratic Front ซึ่งเป็นองค์กรพันธมิตรของชนชาติต่าง ๆ ในประเทศไทย 9 องค์กร นอกจากนี้ยังมีกลุ่มองค์กรชนชาติต่างๆ จากประเทศพม่าเข้าร่วมลงนามคัดค้านการสร้างเขื่อนแห่งนี้ โดยเฉพาะเครือข่ายองค์กรผู้หญิงชนชาติต่าง ๆ ในประเทศพม่า เนื่องจากพื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนสาละวินเป็นพื้นที่ที่มีสถิติการข่มขืนผู้หญิงชนชาติต่าง ๆ มากที่สุด
นายไกรศักดิ์ ชุนหวัณกล่าวแสดงความคิดเห็นหลังจากรับฟังแถลงการณ์ว่า
“ผมคิดว่า การสร้างเขื่อนสาละวินจะส่งผลกระทบกับประเทศไทยในด้านลบ ปัญหาสำคัญที่คนไทยจะต้องแบกรับคือ ปัญหาผู้ลี้ภัย และความมั่นคงตามชายแดน หากมีการสร้างเขื่อนทั้งในเขตรัฐฉานและชายแดนไทยตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้ลี้ภัยจะต้องมากขึ้น และประเทศไทยจะแบกรับภาระตรงนี้ไม่ไหว ซึ่งปัญหานี้จะก่อให้ปัญหาด้านความมั่นคงต่อไปอีก"
“นอกจากนี้ ภาพพจน์ของประเทศไทยจะได้รับผลกระทบในด้านลบเช่นกัน เพราะถือว่าช่วยสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชนในพม่า ขนาดประเทศญี่ปุ่น ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะเป็นผู้ให้เงินลงทุนในการสร้างเขื่อนสาละวิน ผมได้สอบถามไปยังรัฐบาลญี่ปุ่นแล้ว เขายังยืนยันว่า ญี่ปุ่นไม่มีการสนับสนุนการสร้างเขื่อนแห่งนี้ รวมไปถึงโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพม่า จนกว่าพม่าจะพัฒนาไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ดังนั้น ประเทศไทยควรคิดให้ดีก่อนจะเข้าร่วมลงทุนในโครงการนี้”
ความคืบหน้าของโครงการล่าสุด เมื่อวันที่ 20 ธันวาคมที่ผ่านมา บริษัท MDX จากประเทศไทยได้เดินทางไปยังกรุงร่างกุ้ง ประเทศพม่า และร่วมลงนามเห็นชอบในการสร้างเขื่อนท่าซางเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนโครงการเขี่อนสาละวินบริเวณชายแดนไทย – พม่า ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้เดินทางไปเจรจากับรัฐบาลพม่ามาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา และมีกำหนดจะเดินทางไปเจรจาเรื่องที่ตั้งของโรงไฟฟ้าอีกครั้งในต้นปี 2546 โดยทางกฟผ. ต้องให้ตั้งในเขตประเทศไทย เพื่อดำเนินการขอเงินกู้จากแหล่งทุนได้ง่ายกว่าในเขตประเทศพม่า ทั้งสองโครงการประเทศไทยเป็นผู้รับผิดชอบในการหาเงินกู้และดำเนินงานในเรื่องต่าง ๆ ทั้งหมด สำหรับไฟฟ้าที่ได้แบ่งเป็นสองส่วน สำหรับประเทศไทยและพม่า
ส่วน “ของแถม” คือ ผู้ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อน ประเทศไทยรับไปเต็ม ๆ ไม่ต้องแบ่งครึ่ง เพราะในเมื่อประเทศพม่ายังไม่มีเสรีภาพ ไม่มีเอ็นจีโอ ผู้ได้รับผลกระทบเหล่านี้จะหันหน้าไปพึ่งใคร ถ้าไม่ใช่ “พี่ไทย” ประเทศที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย