สรุปแนวทางการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม ของธนาคารแห่งญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ
JBIC Environmental Guidelines
: เครื่องมือประชาชนเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมจากโครงการเจบิก

fas fa-pencil-alt
searin
fas fa-calendar
เมษายน 2545

สรุปจาก Japan Bank for International Cooperation Guidelines for Confirmation of Environmental and Social Considerations, April 2002, Japan Bank for International Cooperation

ธนาคารแห่งญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ หรือเจบิก (Japan Bank for International Cooperation) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของธนาคารนำเข้าและส่งออกแห่งญี่ปุ่น และกองทุนความร่วมมือทางเศรษฐกิจโพ้นทะเล เป็นหน่วยงานสนับสนุนความร่วมมือ ในการพัฒนาต่างประเทศของญี่ปุ่นในรูปของความช่วยเหลือประเทศด้อยพัฒนาผ่านเงินช่วยเหลือ และเงินกู้แก่โครงการพัฒนาต่างๆ ปัจจุบัน เจบิกเป็นธนาคารที่ให้เงินทุนขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

หลายปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่ได้รับการสนับสนุนจากเจบิกต่อชุมชนท้องถิ่นได้ทวีตัวขึ้นอย่างมหาศาล ชุมชนที่ได้รับผลกระทบได้ลุกขึ้นมาทวงถามถึงความรับผิดชอบต่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้น ผนวกกับการรณรงค์ขององค์กรพัฒนาเอกชนทั้งในญี่ปุ่นและในประเทศยากจน ตลอดจนการปรับนโยบายของสถาบันการเงินระหว่าง ประเทศต่างๆ อาทิ ธนาคารโลก ให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น ได้กดดันให้เจบิกต้องปรับตัวและหันกลับมาทบทวนนโยบายของตนเองในการให้ความช่วยเหลือผ่านโครงการต่างๆ

ในเดือนเมษายน ๒๕๔๕ เจบิกจึงได้มีนโยบายใหม่ในการดำเนินโครงการ เรียกว่า แนวทางการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Guidelines) เพื่อให้โครงการใหม่ของเจบิกมีการพิจารณามิติสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น   แนวทางการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมนี้มีผลบังคับใช้กับทุกโครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากเจบิกตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๔๖ เป็นต้นไป

สาระสำคัญ
ในแนวทางการปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อม เจบิกระบุในคำนำว่า “เป็นนโยบายของเจบิกในการให้การสนับสนุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และโครงการซึ่งปกป้องทรัพยากรโลก อาทิ โครงการเพื่อลดการแพร่ก๊าซเรือนกระจก และเจบิกมีนโยบายที่จะเข้าร่วมอย่างแข็งขันในการสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาให้เกิดความตระหนักในมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม”

นโยบายใหม่ของเจบิกให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเด็นทางสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในประเทศที่ตั้งโครงการรวมถึงประชาชนในพื้นที่และองค์กรพัฒนาเอกชน โครงการใหม่ของเจบิกจำเป็นต้องมีกระบวนการที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ โดยการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดและมีความสำคัญเท่าเทียมกันกับด้านการเงิน เศรษฐกิจ และด้านเทคนิค

ในการพิจารณาด้านนโยบายสิ่งแวดล้อม ข้อมูลที่นำมาพิจารณาต้องมาจากทุกฝ่าย ไม่เฉพาะเจ้าของโครงการเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงข้อมูลและความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบและองค์กรพัฒนาเอกชนด้วย และนำการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมมาพิจารณาในการตัดสินใจอนุมัติให้เงินกู้แก่โครงการ

  • หลักการพื้นฐาน: ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการต้องได้รับการพิจารณาตั้งแต่ขั้นแรกสุดของโครงการ ทั้งนี้ต้องมีการศึกษาทางเลือกอื่นๆ การป้องกัน และการลดผลกระทบ ผนวกอยู่ในเนื้อหาโครงการ

  • การศึกษาทางเลือก: ต้องมีการเสนอทางเลือกอื่นๆ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อหาโครงการที่เหมาะสมที่สุดต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

  • ขอบเขตการพิจารณาผลกระทบ: ครอบคลุมทุกปัจจัยซึ่งกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของมนุษย์และสิ่งแวดล้อม เช่น อากาศ น้ำ ขยะ และระบบนิเวศ ส่วนด้านสังคมครอบคลุมถึงการอพยพประชาชน มรดกทางวัฒนธรรม และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโลก นอกจากนี้การพิจารณายังครอบคลุมถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการดำเนินโครงการ

  • การเปิดเผยข้อมูลแก่สาธารณะและการมีส่วนร่วมของประชาชน: โครงการต้องมีความร่วมมือและได้รับการยอม รับว่ามีความเหมาะสม ในด้านสังคม สำหรับโครงการที่อาจมีผลกระทบร้ายแรงต่อสิ่งแวดล้อมจำเป็นต้องมีการเปิดเผยข้อมูลตั้งแต่ขั้นตอนแรกของโครงการแก่ประชาชน รวมทั้งเสนอทางเลือกอื่นๆ และมีการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้ได้รับผลกระทบและชุมชนท้องถิ่น

  • การติดตามการดำเนินโครงการ: หลังจากเริ่มโครงการ เจ้าของโครงการต้องติดตามการดำเนินโครงการว่า ๑) มีผลกระทบที่ไม่คาดการณ์มาก่อนเกิดขึ้นหรือไม่ ๒) ประสิทธิภาพของมาตรการแก้ไขปัญหาที่ได้เตรียมการไว้ว่าได้ผลหรือไม่ จากนั้นเจ้าของโครงการต้องดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ต้องมีการเปิดเผยผลการติดตามการดำเนินโครงการแก่ประชาชนและผู้ได้รับผลกระทบด้วย

  • การศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ-EIA): สำหรับโครงการที่คาดว่าจะเกิดผลกระทบร้ายแรง ต้องทำรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเป็นภาษาราชการของประเทศ และในการอธิบายโครงการให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นต้องมีเอกสารเป็นภาษาและรูปแบบที่ประชาชนสามารถเข้าใจได้
    เจบิกปารถนาอย่างยิ่งให้มีการปรึกษาหารือกับชุมชนท้องถิ่นในกระบวนการเลือกหัวข้อในการทำอีไอเอ และการร่างอีไอเอ ประชาชนในท้องถิ่นและองค์กรพัฒนาเอกชนที่เข้าร่วมการปรึกษาหารือ จะต้องได้รับข้อมูลล่วงหน้าเพื่อให้เกิดความเข้าใจโครงการอย่างพอเพียงก่อนเข้าร่วมการปรึกษาหารือ
    ทั้งนี้อีไอเอต้องมีการวิเคราะห์ทางเลือกอย่างเป็นระบบทั้งสถานที่ตั้งโครงการ เทคโนโลยีที่ใช้ การดำเนินโครงการ และทางเลือก “หากไม่มีโครงการนี้” แต่ละทางเลือกต้องระบุถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม และแนบการประเมินผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของแต่ละทางเลือกด้วย

  • ลักษณะโครงการที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ
    เจบิกได้ระบุโครงการที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ มีตัวอย่างอาทิ

1.     โครงการขนาดใหญ่ การขุดเจาะแร่ธาตุและน้ำมัน การผลิตและขนส่งสารเคมีอันตราย โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน ถนน สะพาน สนามบิน และท่าเรือ กิจการป่าไม้ เขื่อน การเกษตรขนาดใหญ่ การบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ

2.    ลักษณะโครงการ ครอบคลุมโครงการขนาดใหญ่ที่ ๑) ต้องอพยพประชาชนโดยไม่ได้รับการยินยอม ๒) สูบน้ำใต้ดิน ๓) พัฒนาที่ดิน และ ๔) การทำไม้

3.    พื้นที่สำคัญ พื้นที่อนุรักษ์ (เช่น พื้นที่ชายฝั่ง พื้นที่ชุ่มน้ำ) พื้นที่ของชนพื้นถิ่นหรือชนกลุ่มน้อย เขตมรดกทางวัฒนธรรม พื้นที่ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่กระจายของเกลือและการพังทลายของดิน

นี่คือเครื่องมือใหม่สำหรับประชาชนที่จะใช้ปกป้องสิ่งแวดล้อม สังคม และวิถีชีวิต จากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่สนับสนุนโดย หรืออาจได้รับการสนับสนุนจากเจบิก

อ่าน Guidelines ฉบับเต็ม http://www.jbic.go.jp/english/environ/guide/finance/index.php
ติดต่อข้อมูลเพิ่มเติม
This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

 

 


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง