สรุปเวทีแม่น้ำโขง 1 - 2 เมษายน 2553

fas fa-pencil-alt
รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
fas fa-calendar
1 เมษายน 2553

ศูนย์แม่โขงศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา ศูนย์สันติภาพความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับ โครงการฟื้นฟูนิเวศน์ในภูมิภาคแม่น้ำโขง โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กลุ่มรักษ์เชียงของ พันธมิตรแม่น้ำโขง จัดประชุมเวทีสาธารณะ “แบ่งปันแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม” ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานของชาวบ้าน ต่อการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์

        นายสุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพความขัดแย้ง กล่าวว่า มีประชากรในภูมิภาคนี้ประมาณ 2 ล้านคน ที่พึ่งพาและอาศัยแม่น้ำโขงดำรงชีวิต ทั้งยังเป็นที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งสร้างเขื่อน และมีการพัฒนามากมาย แต่ขณะนี้การพัฒนาทำให้เกิดความขัดแย้งและไม่เป็นธรรมแก่ชาวบ้านที่อาศัยบริเวณลุ่มแม่น้ำโขง ปรากฏการณ์ความแห้งแล้งของแม่น้ำโขงในขณะนี้ ส่งผลกระทบในพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง ทั้งในจีน ยูนนาน ภาคเหนือของพม่า และลาว แสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของลำน้ำ จึงหวังให้คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) จัดการกับความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่ในภูมิภาคนี้ จากการพัฒนาลุ่มน้ำโขงได้ มีการจัดสรรผลประโยชน์แก่ประชาชนอย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะกับชนกลุ่มน้อยที่ไม่ค่อยจะมีสิทธิมีเสียงในสังคม อย่างจริงจัง

          น.ส.แพม ธาม แฮง ผู้ประสานงานโปรแกรมพัฒนาลุ่มน้ำ สำนักงานเลขาธิการเอ็มอาร์ซี กล่าวว่า จากการติดตามบทบาทโครงการพัฒนาต่างๆของแต่ละประเทศที่ดำเนินกิจกรรมในลุ่ม น้ำโขงค่อนข้างยากที่จะทำให้ทุกประเทศทำงานไปในทิศทางเดียวกัน เพราะแต่ละประเทศมีแผน มีผลประโยชน์ต่างกัน

          นายคาร์ล มิดเดิลตัน นักวิชาการสาขาวิชาการพัฒนาระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า ล่าสุด คณะกรรมการเขื่อนโลกสรุปว่าเขื่อนไม่มีประโยชน์ในการพัฒนา ขณะที่เอ็มอาร์ซีระบุว่าเขื่อนทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงเกิดคำถามว่าแผนพัฒนาของเอ็มอาร์ซีล้าหลังหรือไม่ เช่น หากจะสร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแบบเมื่อ 10 ปีก่อน แผนของเอ็มอาร์ซีก็ถือว่าล้าหลังมาก ที่สำคัญยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม และยังไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างองค์ความรู้ของเอ็มอาร์ซีกับองค์ความรู้ท้องถิ่น

          นายเย่าเหวิน ตัวแทนจากสถานทูตจีน กล่าวถึงวิกฤติน้ำโขงแล้ง ซึ่งมีการเสนอข่าวจากสื่อว่ามีสาเหตุจากเขื่อนในจีนนั้น ได้ชี้แจงว่า ปัญหาน้ำโขงแห้งในจีนมาจากภาวะภัยแล้งที่รุนแรงที่สุดในรอบ 50 ปี ขณะนี้บริเวณภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีนประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงมากในรอบ 50 ปี โดยเฉพาะทางตอนใต้ของจีน เช่น ยูนนานเสฉวน เกว้ยตง ประสบภัยแล้งมากเช่นกัน สภาพที่ชาวบ้านประสบคือ ดินแตก บางที่เคยเป็นแม่น้ำมากก่อนแม่น้ำก็หายไป และมีฝนตกเพียงร้อยละ 10 ของน้ำฝนที่เคยตกประจำปี ชาวบ้านต้องตื่นแต่ตี 3 เพื่อไปหาน้ำมาใช้ในครอบครัว ถ้ามาเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปีที่ผ่านมา พบว่า ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ น้ำลดลง 31% ส่งผลกระทบต่อ 51 ล้านชีวิต พื้นที่ 9 แสนเฮกเตอร์ไม่ได้รับการเก็บเกี่ยว พื้นที่การเกษตร 2 ล้านเฮกเตอร์ได้รับผลกระทบและเสียหายไป
สาเหตุที่ทำให้น้ำโขงลดต่ำลงมาก บางคนกล่าวหาว่าเกิดจากการที่คนจีนสร้างเขื่อน จึงขออธิบายว่า ก่อนหน้านี้ เอ็มอาร์ซีออกแถลงการณ์ว่าระดับน้ำที่ลดลงในแม่น้ำโขงเป็นเพราะภัยแล้งในจีน และลาว ตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีนี้น้ำฝนจากตอนเหนือของจีนลงลงร้อยละ 85 ต่ำสุดในรอบ 50 ปี ถ้าวิเคราะห์สถานการณ์ การใช้พลังงานไฟฟ้าพบว่าฝนตกลดลงตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา อีกเหตุผลคือ น้ำจากแม่น้ำสาขาไหลเข้ามาไม่เพียงพอ น้ำจากแม่น้ำสาขาจากลาวและไทยไม่ได้ไหลลงแม่น้ำโขงตามที่คาดการณ์ไว้
ส่วนความสัมพันธ์ของน้ำในแม่น้ำโขงที่ลดลงกับการพัฒนาในจีนนั้น จากข้อมูลพบว่า สถานีไฟฟ้าจากเขื่อนทั้ง 3 แห่งในจีนส่งน้ำให้แค่ 25% ของแม่น้ำโขงเท่านั้น และในบางช่วงก็แค่ 13% จึงไม่ได้กระทบกับน้ำโขง และปัญหาดังกล่าวทางจีน ได้ส่งข้อมูลให้ เขื่อนจินหงและเขื่อนม่านหวาน รวมทั้งปริมาณฝนที่ตกลงมาทุกวันกับเอ็มอาร์ซีแล้ว

          นายจอน โดร์ ที่ปรึกษาด้านน้ำหน่วยงานออสเอด (AusAID) ภูมิภาคแม่น้ำโขง ประจำสถานทูตออสเตรเลีย กล่าวว่า การพัฒนาในภูมิภาคนี้ยังไม่สมดุล เพราะมีการแข่งขันแย่งชิงกันตลอด เช่น มีการพูดถึงเขื่อนในแม่น้ำโขง179 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ นอกจากนั้น ยังมีการผลักดันให้เกิดระบบชลประทานต่างๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะในกัมพูชา สมเด็จฯฮุน เซน เน้นพัฒนาด้านการปลูกข้าว ซึ่งจะต้องเพิ่มระบบชลประทานจาก 40%เป็น 70% จึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายมีธรรมาภิบาลเรื่องน้ำ

          
นาย วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (MEE Net) กล่าวว่า เวลานี้คณะกรรมการพัฒนาพลังงานของไทย ที่มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้อนุมัติแผนซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ของลาว โดยเสนอสร้างเขื่อนในแม่น้ำโขงสายหลักใกล้หลวงพระบาง แต่คนไทยไม่เคยรู้เรื่องนี้ และไม่ทราบผลการศึกษาเรื่องนี้จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) รวมทั้งเอ็มอาร์ซียังไม่ได้ศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม อยากเสนอให้เอ็มอาร์ซี เป็นตัวกลางในการต่อรองให้จีนเผยข้อมูลเรื่องเขื่อนให้มากขึ้น และควรต้องทบทวนแผนพัฒนาพลังงานในลำน้ำโขง รวมทั้งศึกษาแม่น้ำโขงตอนล่างให้มากกว่านี้ด้วย ในส่วนของรัฐบาลไทย ต้องหาทางชะลอแผนพัฒนาฝายไชยะบุรีเอาไว้ก่อน และกลับมาดูถึงความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศกันใหม่

          น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานโครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่า จากการติดตามแผนก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง การพัฒนามีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในแม่น้ำโขง พบว่ามีทั้งสิ้น 11 แห่งที่เสนอโดยรัฐบาลลาว และกัมพูชา มีทั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าและเก็บกักน้ำ ซึ่งทั้งหมดได้มีการลงนามศึกษาความเป็นไปได้ มาตั้งแต่ปี 2551 โดยเฉพาะฝาย 2 แห่งที่สร้างในเขตพรมแดนไทย-ลาว ที่จะกระทบกับไทย เป็นการทำลายระบบนิเวศ ส่งกระทบวิถีต่อแม่น้ำโขงเชียงแสน เชียงของ ความผันผวนในระดับน้ำ แม่น้ำโขงมีการขึ้นจาก 0.30-60 ซม. กระทบต่อปลา ความแห้งแล้งต่อภูมิภาคลุ่มน้ำโขง น่าจะมีการทบทวนเรื่องการให้ข้อมูลต่างๆ มากขึ้น และให้มีความร่วมมือในภูมิภาคอย่างเร่งด่วน เพราะการทำงานของเอ็มอาร์ซีขณะนี้ถือว่าล้มเหลว ส่วนอีก 2 ฝ่ายคือ ฝายปากแบง ตามแผนจะอยู่ท้ายน้ำจากบริเวณผาได และประเมินว่าจะทำให้น้ำท่วมมาถึงเขต อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ขณะที่ฝายไชยะบุรี ซึ่งจะสร้างแถว อ.เชียงคาน จ.เลย และดำเนินการโดยบริษัท ช.การช่าง ถือว่ามีความก้าวหน้า และน่าจับตามากที่สุด เพราะการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้ลงนามกับลาวแล้วว่าจะรับซื้อไฟฟ้าจาก ฝายเป็นระยะเวลา 29 ปี โดยฝายแห่งนี้มีกำลังการผลิต 1,260 เมกะวัตต์

          นายเจเร มี เบิร์ด ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สำนักเลขาธิการ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง กล่าวว่า ข่าวที่เผยแพร่ว่าเขื่อนในจีนทำให้น้ำในแม่น้ำโขงแห้ง และทูตจีนก็ได้ชี้แจงไปแล้ว และเอ็มอาร์ซีไม่ได้มองว่าลุ่มน้ำนี้เป็นเรื่องที่ตายตัว ซึ่งต้องยอมรับว่า 15 ปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงมากมาย จากพลเมืองที่เพิ่มขึ้น การพัฒนาพลังงานไฟฟ้า และการเกษตร ปัจจุบันจีนมีแผนสร้างเขื่อน 8 แห่ง โดย 3 แห่งได้เริ่มเปิดใช้แล้ว มีการพูดถึงการปรับระดับน้ำ การอพยพย้ายถิ่นของปลา โดยผลกระทบของเขื่อนที่อยู่แม่ในแม่น้ำโขงน้ำตอนบน พบว่าช่วงหน้าฝนน้ำจะไหลมาสู่ตอนล่างของแม่น้ำน้อยลง และจะไหลมากลงสู่ตอนล่างมากขึ้นในช่วงหน้าแล้ง แต่ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงที่ใช้ในการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมทำให้น้ำเกิดตะกอนมากขึ้น การกัดเซาะชายฝั่งริมแม่น้ำ เสียพื้นที่ชายฝั่งมากขึ้น ส่วนประเด็นการอพยพของปลาเป็นประเด็นในท้องถิ่นมากกว่า เพราะปลาไม่ได้อพยพไปถึงต้นน้ำ ทั้งนี้มีการรายงานและเผยแพร่ข้อมูลไว้ในเว็บไซต์ของเอ็มอาร์ซีไว้แล้ว รวมทั้งข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับจีนในช่วงหน้าแล้ง รายงานการวิเคราะห์ในเชิงเทคนิค ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้เกิดจากน้ำโขงสายหลัก แต่เกิดจากแม่น้ำสาขาและไต้ฝุ่นในจีนด้วย แต่ก็คาดว่าผลการหารือในเวทีนี้จะถูกนำเข้าสู่การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (เอ็มอาร์ซี) ที่หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ด้วย

สรุปเวทีประชาชนแม่น้ำโขง “แบ่งปันแม่น้ำโขงอย่างเป็นธรรม”
วันที่ 2 เมษายน 2553 ณ ห้องประชุม บริษัทรักลูก

เป็นการนำเสนอแลกเปลี่ยนนิเวศวัฒนธรรมของภาคประชาชนลุ่มน้ำโขง รวมทั้งแสดงผลการศึกษาศักยภาพ และทรัพยากรลุ่มน้ำโขงที่มีผลกระทบจากการพัฒนาในลุ่มน้ำ และรวบรวมข้อเสนอของภาคประชาชนในการพัฒนาลุ่มน้ำโขง เพื่อเสนอต่อสาธารณะและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

          
นายมนตรี จันทวงศ์  โครงการฟื้นฟูนิเวศในภูมิภาคแม่น้ำโขง กล่าวถึงข้อมูลที่ชี้ชัดว่า 4 เขื่อนของจีนที่สร้างและเปิดใช้งานแล้วบนลุ่มน้ำโขงตอนบน เป็นสาเหตุหลักทำให้แม่น้ำโขงแห้ง คือ เขื่อนมันวาน (2535) เขื่อนต้าเส้าชาน (2546) เขื่อนจิงหง (2552) และล่าสุดคือเขื่อนขนาดใหญ่เสี่ยววาน (ก.ย.2552) ความจุ 14,560 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่าเขื่อนภูมิพล ซึ่งมีข้อมูลของกรมทรัพยากรน้ำไทยในปี 2547 ว่าเมื่อเปิดเขื่อนมันวานในปี 2535 สถานีวัดระดับน้ำที่เชียงแสนมีค่าเป็นศูนย์ทั้งที่อยู่ในช่วงต้นฤดูฝนปี 2536
กรมทรัพยากรน้ำของไทยออกรายงานเดือนกุมภาพันธ์ โดยเปลี่ยนปีที่เขื่อนมันวานเปิดใช้จาก 2535 เป็น 2537 การที่น้ำโขงหายไปในปี 2536 จึงถูกตีความว่าเป็นภัยธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับเขื่อนจีน เป็นการเล่นกลทางตัวเลข เป็นเอกสารที่น่าอับอายที่สุดของทางการไทยที่แก้ต่างจีน

          ที่จีนอ้างรายงานเอ็มอาร์ซีที่ระบุว่าแม่น้ำโขงแห้งตั้งแต่เชียงแสนถึงภาค อีสานของไทย ช่วง ก.พ.-มี.ค. ไม่เกี่ยวกับเขื่อนจีน แต่เป็นเพราะฝนตกน้อย กระทั่งถูกกดดันจีนจึงออกมาให้ข้อมูลสถานีวัดน้ำ 2 แห่ง  “ ข้อมูลที่จะมีประโยชน์ต้องย้อนหลังไป 15-30 ปี และการอ้างว่าแม่น้ำโขงที่ไหลมาจากจีนมีเพียง 16% นั้นเป็นการวัดที่ปลายท่อ แต่หากวัดที่เชียงแสน-สามเหลี่ยมทองคำซึ่งเป็นจุดที่น้ำโขงไหลเข้าไทยมาจาก จีนถึง 90% หากดูที่เชียงคานเป็น 70% ที่โขงเจียม 40% ส่วนที่จีนบอกว่า 3 เขื่อนรวมกันเก็บน้ำแค่ 4% นั้นเพราะจีนไม่เคยยอมรับว่าเขื่อนขนาดใหญ่เสี่ยววานเปิดใช้แล้ว จึงต้องรวมปริมาณน้ำทั้ง 4 เขื่อน
สามเหลี่ยมทองคำปริมาณน้ำ 4 เดือนช่วงฤดูแล้ง 10,000 ล้าน ลบ.ม. เทียบกับสัดส่วนน้ำใน 4 เขื่อน 17,000 ล้าน ลบ.ม. หรือ 1.7 เท่า หมายถึงถ้า 4 เขื่อนกักเก็บน้ำ จะไม่มีน้ำสักหยดไหลลงเชียงแสน อีก 5 ปีข้างหน้าเมื่อเขื่อนนิวจาตู้ที่ใหญ่กว่า 4 เขื่อนรวมกันสร้างเสร็จ อะไรจะเกิดขึ้น
         
นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ เครือข่ายพลังงานและนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง กล่าวว่า ที่ราบสูงธิเบตเป็นแหล่งกำเนิดแม่น้ำนานาชาติหลายสาย เช่น แยงซีเกียง โขง สาละวิน น้ำโขงส่วนใหญ่จึงมาจากหิมะและน้ำแข็งที่ละลาย ถึงแล้งอย่างไรจึงมีน้ำ เป็นการชดเชยจากธรรมชาติที่ฝนน้อยในหน้าแล้ง คนลุ่มน้ำเดียวกันมีชะตาชีวิตที่ผูกพันกัน แต่คนต้นน้ำจะได้ใช้น้ำก่อนและส่งผลกระทบกับคนกลางน้ำ ปลายน้ำ จีนยังคงถือว่าเป็นแม่น้ำในประเทศ เพราะไม่ต้องการขอความเห็นชอบในการสร้างเขื่อน
         ความล้มเหลวของเอ็มอาร์ซี เป็นพิมพ์เขียวของคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงที่เกิดขึ้นเพื่อต่อต้านการขยายตัวของคอมมิวนิสต์ในภูมิภาคนี้ยุคสงครามเย็น ขณะนั้นมีแผนสร้าง 5 เขื่อนใหญ่แต่อเมริกาแพ้สงครามเวียดนามก่อน มาถึงในยุคนี้รัฐบาลไทยคิดโครงการโขง-ชี-มูลในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ทำให้ ลาว เวียดนาม กัมพูชา เกรงจะได้รับผลกระทบ ในสมัยรัฐบาลนายชวน หลีกภัย ปี 2538 จึงมีการทำข้อตกลงการใช้น้ำโขงอย่างเท่าเทียม 4 ประเทศ แต่ไทยก็ยังยืนที่จะทำโครงการโขงชีมูล กระทั่งมีการต่อต้านเขื่อนราษีไศลเสียก่อน ต่อมาเวียดนามสร้างเขื่อนยาลีฟอทำให้เกิดน้ำท่วมน้ำเสีย ชนพื้นเมืองขมุในลาว เวียดนาม ได้รับผลกระทบ จึงเกิดเวทีความร่วมมือเอ็มอาร์ซี แต่ก็ไม่สามารถจัดการโขงชีมูล และเขื่อนยาลีฟอได้ กรณีที่สามคือน้ำท่วมปี 2551 น้ำแล้งปี 2553 ก็ไม่เคยแจ้งเตือน ถือเป็นความล้มเหลวของเอ็มอาร์ซี ระดับน้ำกลายเป็นข้อมูลที่เอาไปรับใช้นักสร้างเขื่อน

         มีโครงการที่จะสร้าง 11 เขื่อนบนลำน้ำโขงสายหลักตอนล่าง เช่น เขื่อนปากแบ่ง หลวงพระบาง ไชยะบุรี ปากลาย สารคาม ปากชน และเขื่อนบ้านกุ่ม ซึ่ง 2 เขื่อนอยู่ชายแดนไทย-ลาว และอีก 25 เขื่อนบนลำน้ำสาขา ซึ่งผลกระทบจะมากกว่า 4 เขื่อนของจีนในปัจจุบันอีกเท่าทวี

          จากการศึกษาของเอ็มอาร์ซี บนสมมุติฐานว่าภายใน 2558 จะมี 8 เขื่อนจีน ตามมาอีก 25 เขื่อนบนลำน้ำสาขา เขื่อนในจีนจะกักตะกอน 25% เขื่อนใต้ลงมาจะกักอีก 40% หมายถึงจะไม่มีตะกอนหรือความอุดมสมบูรณ์ไหลลงแม่น้ำอีกแล้ว ตะกอนและดอนทรายเดิมก็จะถูกกวาดออกไปเหลือแต่หินและปัญหาตลิ่งพัง
          ในอีก 20 ปีข้างหน้าป่าบุ่งทาม 3 แสนไร่ของคนลุ่มน้ำสงครามจะหมดไปเพราะไม่มีน้ำท่วม พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญจะได้รับผลกระทบ 12 แห่ง เกาะแก่งในแม่น้ำโขงเปลี่ยนแปลง วังปลาถูกกระทบ ปลาบึก ปลาโลมาอิระวดี ตะเข้น้ำจืดสูญพันธุ์ คือสิ่งที่จะเกิดกับไทย แต่ที่จะเกิดกับกัมพูชาสาหัสกว่า ทะเลสาปเขมรจะหายไป ผลผลิตปลาเขมรจะลดลง 43%  ชาวประมง 1 ล้านคนจะสูญเสียอาชีพ
          สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเป็นที่รวมผลกระทบจากการสร้างเขื่อน เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว 40%  ประชากร 16 ล้านคนของเวียดนามอยู่ตรงนี้ ส่วนลาว 25% ของผลผลิตปลาลดลง และเวียดนาม 23%
         รัฐบาลทุกประเทศบนลุ่มน้ำโขงล้วนอยากสร้างเขื่อน จึงไม่ควรกล่าวโทษเฉพาะจีน แต่ต้องสร้างความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศลุ่มน้ำโขง ตอนล่างคือไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ตอนบนคือจีน พม่า และสำหรับประเทศไทยเอง 11 โครงการเขื่อนบนลำน้ำโขงตอนล่างนี้ต้องรับเต็มๆ เพราะบริษัทในไทยเป็นคนสร้าง และเพื่อขายไฟฟ้าให้ไทย จึงต้องหันกลับมาดูรัฐบาลตัวเองด้วย และถ้าเขื่อนไชยะบุรีสร้างได้ ก็ต้องเลิกด่าจีนแต่หันกลับมาด่าตัวเอง
ในวันพรุ่งนี้ (3 เม.ย.) ชาวบ้านภาคเหนือและอีสานประมาณ 200 คน ในนามเครือข่ายอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง-ล้านนา จะไปประท้วงที่สถานฑูตจีนประจำประเทศไทย พร้อมออกแถลงการณ์ หยุดเขื่อนแม่น้ำโขง ปล่อยให้สายน้ำไหลอย่างอิสระ โดยมีข้อเรียกร้องคือ

1.     รัฐบาลจีนต้องหยุดการ สร้างเขื่อนทั้งหมดในลำน้ำโขง

2.    รัฐบาลจีนต้องหยุดโครงการระเบิดแก่งในลำน้ำโขง

3.    รัฐบาลในประเทศลุ่มน้ำโขงทั้งหมดต้องตั้งคณะกรรมการซึ่งมีประชาชนท้องถิ่น ผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนและโครงการระเบิดเกาะแก่งในลำน้ำโขงของแต่ละ ประเทศร่วมด้วย เพื่อแสวงหาแนวทางจัดการทรัพยากรในลำน้ำโขงอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

4.    คณะกรรมการชุดดังกล่าวมีภารกิจหลักคือทบทวนทั้ง 4 เขื่อนในจีนที่สร้างเสร็จแล้ว

 

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง